คุณ saieaw

ช่วย อธิบาย คำว่า สัมปยุต ด้วย คะ คือ อะไร แบบว่าไม่เข้าใจ คะ

ความหมายจองคำว่า"สัมปยุต"สัมปยุต [สําปะยุด] ก. ประกอบด้วย. (ป. สมฺปยุตฺต; ส. สมฺปฺรยุกฺต)_____________________________________
ที่มา : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
สัมปยุต [สำ-ปะ-ยุด] (มค. สมฺปยุตฺตสก. สมฺปฺรยุกฺต) ก. เกี่ยวข้อง, ติดต่อ, ประกอบด้วย___________________________________
ที่มา : พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
สัมปยุต ประกอบด้วย ; สัมปยุตต์ ก็เขียน________________________________________________________
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
"สัมปยุต ในภาษาบาลีแปลว่า ประกอบด้วย" คำว่าสัมปยุตนี้พบได้ทั่วไปในชั้นพระไตรปิฎก และในชั้นอรรถกถา ขอยกเอาข้อธรรมใน "วิภังคสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค" มาแสดงบางส่วนดังนี้ :-
[๑๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ฉันทะที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน.? ฉันทะที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า ฉันทะที่ย่อหย่อนเกินไป.
[๑๑๘๑] ก็ฉันทะที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน.? ฉันทะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่ต้องประคองเกินไป.
[๑๑๘๒] ก็ฉันทะที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน.? ฉันทะที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่หดหู่ในภายใน.
อรรถกถาวิภังคสูตรอธิบายไว้ว่า.....
ในคำว่า ประกอบด้วยความเกียจคร้าน นี้ ภิกษุเมื่อปลูกความพอใจให้เกิดขึ้นแล้วนั่งเอาใจใส่กัมมัฏฐานอยู่.
ทีนั้น เธอมีอาการย่อท้อหยั่งลงในจิต เธอรู้ว่า อาการย่อท้อหยั่งลงในจิตเรา ก็เอาภัยในอบายมาข่มจิต ทำให้เกิดความพอใจขึ้นมาอีก แล้วตั้งจิตตั้งใจทำกัมมัฏฐาน.
ทีนั้น เธอเกิดมีอาการย่อท้อหยั่งลงในใจอีก เธอก็ยกเอาภัยในอบายมาข่มจิตอีก ปลูกความพอใจให้เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำกัมมัฏฐานดังว่ามานี้ ความพอใจของเธอชื่อว่า ย่อมประกอบด้วยความเกียจคร้าน เพราะความที่เธอถูกความเกียจคร้านครอบงำ ด้วยประการฉะนี้.
คำว่า สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน เป็นคำที่ใช้แทนคำว่า ประกอบด้วยความเกียจคร้าน นั้นเอง.
ในคำว่า ประกอบด้วยอุทธัจจะ นี้ ภิกษุเมื่อทำความพอใจให้เกิดขึ้นแล้ว ก็นั่งตั้งใจทำกัมมัฏฐานอยู่. ทีนั้น จิตเธอตกไปในความฟุ้งซ่าน เธอก็มารำพึงถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ทำใจให้ร่าเริงให้ยินดี ทำให้ควรแก่การงาน แล้วยังความพอใจให้เกิดขึ้นใหม่อีก แล้วก็พิจารณากัมมัฏฐาน.
คราวนี้จิตของเธอก็ตกไปในความฟุ้งซ่านอีก เธอก็มารำพึงถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อีก ทำใจให้ร่าเริงให้ยินดี ปลูกฝังความพอใจให้เกิดขึ้นใหม่ แล้วก็พิจารณากัมมัฏฐาน เพราะเหตุนี้ ความพอใจของเธอก็ย่อมชื่อว่าประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน เพราะถูกความฟุ้งซ่านครอบงำด้วยประการฉะนี้.
ในคำว่า ประกอบด้วยถีนมิทธะ นี้ ภิกษุทำความพอใจให้เกิดขึ้นแล้ว ก็นั่งตั้งใจทำกัมมัฏฐานอยู่.
ทีนั้น ความง่วงเหงาหาวนอนก็เกิดขึ้นแก่เธอ เธอทราบได้ว่าถีนมิทธะเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ก็เอาน้ำมาล้างหน้า ดึงใบหู ท่องธรรมที่คล่อง(ด้วยเสียงดัง) หรือสนใจความสำคัญว่าแสงสว่างที่ถือเอาไว้ เมื่อตอนกลางวัน บรรเทาถีนมิทธะออกไป แล้วยังความพอใจให้เกิดขึ้นอีก พิจารณากัมมัฏฐานอยู่.
ทีนั้น ถีนมิทธะเกิดขึ้นแก่เธออีก เธอก็บรรเทาถีนมิทธะออกไปอีกตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ทำความพอใจให้เกิดขึ้นใหม่ แล้วพิจารณากัมมัฏฐานอยู่ เพราะเหตุนี้ ความพอใจของเธอจึงชื่อว่าประกอบด้วยถีนมิทธะ เพราะถีนมิทธะครอบงำด้วยประการฉะนี้. เนื้อความ :
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=6907&Z=7002&pagebreak=0อรรถกถา :
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1179