ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เจาะลึก "วันวิสาขบูชา" ล้ำค่ากว่าที่คุณคิดมาก่อน หรือไม่.?  (อ่าน 4639 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29289
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระกุมารโพธิสัตว์ประสูติแล้วเสด็จพระราชดำเนิน ๗ ก้าว มีดอกบัวทิพย์รองรับพระบาท


เจาะลึก "วันวิสาขบูชา" ล้ำค่ากว่าที่คุณคิดมาก่อน หรือไม่.?
ขอบคุณบทความจาก : www.winnews.tv/news/3225  โพสต์โดย trinnapas
ขอบคุณภาพจาก : http://www.sookjai.com/?topic=1067.0



วันวิสาขบูชา นอกจากเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับเดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 เหตุการณ์แล้ว ยังมีอะไรที่ลึกซึ้งควรค่าแก่การเรียนรู้..อีกมากมายนัก

    กล่าว คือ เหตุการณ์ ตรงกันทั้ง 3 เหตุการณ์ ดังนี้
    1. เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ณ พระราชอุทธยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเทวทหะ
    2. เช้ามืด วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้พระศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราตำบลเอุรุเวราเสนานิคม หลังออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันเป็นสถานที่สังเวชนียสถานเรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
    3. หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วได้ออกประกาศธรรมะ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ทรงดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตระประเทศ ประเทศอินเดีย)



สหชาติทั้ง 7 ที่บังเกิดขึ้นพร้อมกับการประสูติของพระโพธิสัตว์


เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)

จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และ อรรถกถากล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา

    "อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

คำแปล : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี" ดังนี้


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371


โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน


พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวชโดยประทับบนหลังม้ากัณฐกะ พร้อมกับนายฉันนะ และมีเหล่าเทพตามเสด็จ


การออกผนวช

พระองค์ทรงดำริว่า "...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!"

อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316


    ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า
    "เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด"


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316


พระโพธิสัตว์ตัดพระเมาลีอธิษฐานเพศเป็นนักบวชพระอินทร์และพระพรหมเสด็จมารับมวยพระเกศา เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ เทวโลก


    นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้นๆว่า
    "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง, ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด"


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738


ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

   "...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว..."


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489



พระโพธิสัตว์ทรงตรัสรู้อริยสัจสี่สำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระศาสดาเอกของโลก ในวันเพ็ญเดือนหก


ตรัสรู้

ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ บำเพ็ญทุกกรกริยา คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์พราหมณ์ คือพรามหณ์ทั้ง 5 ได้ช่วยกันอุปัฏฐาก ดูแล เป็นเวลา 6 ปี

เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคยทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปี



พระโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา โดยนางได้หุงข้าวด้วยนมวัวที่เตรียมจากแม่วัว 1000 ตัว


นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาส ไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา

จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา 8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า

    "..หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย..."


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปญิจมสุตฺต กมฺมกรณวคฺค ทุก. อํ 20/64/251


พระโพธิสัตว์ทรงผจญพญามาร ทรงชนะมารด้วยทศบารมีที่ทรงบำเพ็ญมานับประมาณไม่ได้


จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิจนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง 3 คือ

     ปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือสามารถระลึกชาติได้
     มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ สามารถมีตาทิพย์ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายได้
     ปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณคือสิ้นกิเลศอาสวะทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง ด้วยอริยสัจ 4
     อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ 3 แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช 45 ปี



พญาวัสวดีมารถือโอกาสเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้บริษัท 4 ของพระองค์ได้เจริญแพร่หลายแล้ว พระศาสนาได้ดำรงมั่นเป็นหลักฐาน สมดังมโนปณิธานแล้ว ขออาราธนาพระองค์เสด็จปรินิพพานเถิด


วันปรินิพพาน

พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินในเอเชีย เมื่อพระองค์ทรงปักฐานพระพุทธศาสนามั่นคงแล้ว เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน   

แต่ก่อนพระปรินิพพาน 3 เดือน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร

    "...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย, สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้..."


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/142/109


พระพุทธองค์ตรัสให้พระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำสายหนึ่งระว่างทางที่มุ่งสู่เมืองกุสินารา ทรงตรัสว่า "เราจักดื่มน้ำระงับความกระหายให้สงบ"พระอานนท์กราบทูลว่า "แม่น้ำตื้นเขิน เกวียนประมาณ 500 เล่ม


เสด็จไปเมืองกุสินารา

ในกลางทางก่อนถึงเมืองกุสินารา พระองค์ทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า

   "...อานนท์! เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

    อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้..."


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117


พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล สุภัททปริพาชกเข้าไปหาพระอานนท์ บอกว่าตนประสงค์จะขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทูลถามปัญหาบางอย่างซึ่งข้องใจมานาน พระอานนท์ปฎิเสธปริพาชกว่าอย่าเลย อย่าได้รบกวนพระพุทธองค์เลยเพราะพระองค์กำลังจะปรินิพพาน


ประทับสีหไสยาสน์

ขณะทรงประทับสีหเสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ได้เกิดอัศจรรย์ คือ ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์ไม้จันทร์ ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ


พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระบรมศาสดาได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาท


ประทานพระปัจฉิมโอวาท

สุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า

   "...อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว..."

จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า

   "...หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ...

แปลว่า : ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"


อ้างอิง : สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117


ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ


ปรินิพพาน

พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก กิเลสตัณหา อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้ การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน)

เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป  พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมราตรี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ตามการนับของไทย (หากเป็นกัมพูชาหรือ พม่าจะนับเป็น พ.ศ. 1 ทันที ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช)


อ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/ความสำคัญวิสาขบูชา


พุทธกิจหลักประจำวัน 5 ประการ 1. ในเวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์โลก, 2. ในเวลาเย็น ทรงแสดงธรรมแก่ผู้สนใจในการฟังธรรม, 3. ในเวลาค่ำ ทรงประทานพระโอวาท ให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย, 4. ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย, 5. ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมที่ประองค์ทรงแสดง แล้วเสด็จไปอนุเคราะห์แสดงธรรมแก่ผู้ที่ปรากฏในข่ายพระญาณ


พุทธกิจ 5 ประการ ของพระพุทธเจ้า

ตลอด 45 พรรษาที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เผยแผ่พุทธศาสนา พระองค์ได้ปฏิบัติพุทธกิจ ๕ ประการ คือ กิจที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำประจำอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาดเลย ได้แก่
        1. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จนำหมู่สงฆ์บิณฑบาต
        2. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรมสาธุชน
        3. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทและตอบคำถามแด่เหล่าภิกษุ
        4. อฑฺฒรตฺเต เทวปณฺหนํ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
        5. ปจฺจุสฺเสว คเตกาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ จวนสว่างทรงตรวจพิจาณาสัตว์ที่สามารถ และที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่


สรุปว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ 5 ประการนี้ให้หมดจด

จากความรู้เรื่องความรู้สึกนึกคิดของพระพุทธองค์ตั้งแต่วันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน และช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงกรำงานหนักในด้านการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระองค์ที่กว่าจะได้มานั้น จะเห็นได้ว่า ในโลกนี้ จะมีบุคคลใดที่ทรงทำงานหนักตลอดเวลาเช่นเดียวกับพระองค์ นั้น คงไม่มีอีกแล้ว ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า พระพุทธองค์ทรงห่วงใยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารที่ยาวนานจนหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายมิได้นี้ นั่นเอง

ดังนั้น พี่น้องพุทธศาสนิกชนทุกคนที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว อย่าได้ดูเบา เพียรเร่งฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ให้สะอาด กาย วาจา ใจ ให้มากที่สุด ตามรอยแห่งพระพุทธองค์ จะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีโชคลาภวาสนาที่แท้จริง โดยเฉพาะวันวิสาขบูชา ปีนี้ ขอเชิญไปร่วมปฏิบัติบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เวียนเทียน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ร่วมกันทุกท่าน


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=539.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 19, 2016, 11:26:48 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ