ฉีดน้ำและสาดน้ำสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ที่พม่า กระบอกฉีดน้ำที่เห็นในรูปลายเส้นมี 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นกระบอกไผ่ทั่วไป มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอก (ใช้วิธีเดียวกับหลอดเข็มฉีดยา) แล้วอัดฉีดให้น้ำพุ่งไปที่เป้าหมาย อีกแบบหนึ่งเป็นกระบอกน้ำเต้าสลักเป็นรูปนกหรือไก่ [ภาพ THE BURMESE NEW YEAR เมื่อ พ.ศ. 2431 (ตรงกับไทยสมัย ร.5) จาก THE GRAPHIC (ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 หน้า 13)]
รดน้ำ, สาดน้ำ สงกรานต์ วัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์สาดน้ำสงกรานต์ ไม่มีในอินเดีย และไม่เกี่ยวกับประเพณีโฮลีสาดสีของอินเดีย แต่เป็นพฤติกรรมสร้างใหม่จากรดน้ำขอขมาประเพณีพื้นเมือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ พฤติกรรมสาดน้ำอย่างก้าวร้าวรุนแรง มีผู้รู้อธิบายว่า น่าจะเริ่มขึ้นก่อนจากพม่าเพื่อต่อรองทางการเมืองกับอังกฤษเจ้าอาณานิคม แล้วแพร่หลายไปที่ต่างๆ โดยรอบ จนมาถึงไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อไม่นานมานี้ แต่น่าจะมีต้นเค้าจากประเพณีอื่นอีก ที่ควรสืบค้นต่อไปให้กว้างกว่านี้
รดน้ำขอขมา เป็นประเพณีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิในอาเซียน (ก่อนรับสงกรานต์ของแขกพราหมณ์จากอินเดีย) รดน้ำ หมายถึงตักน้ำรดราดขอขมากันอย่างนอบน้อมในระบบเครือญาติ ให้ชุ่มฉ่ำร่มเย็นหลังฤดูเก็บเกี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์ มีอยู่ก่อนรับคติสงกรานต์จากพิธีพราหมณ์อินเดีย หลังจากนั้นถึงผนวกรดน้ำตามประเพณีพื้นเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสงกรานต์
ประเพณีรดน้ำ บางท้องถิ่นเรียกรดน้ำดำหัว เป็นอย่างเดียวกับอาบน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ ถ้าทำกับพระพุทธรูปเรียกสรงน้ำพระ ครั้นทำกับพระสงฆ์เรียกรดสงฆ์ หรือรดสรง (ทางลาวเรียกฮดสง)
น้ำเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต จึงเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ระดับสากล ดังนั้นคนทั้งโลกใช้น้ำในพิธีกรรมผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : มติชนออนไลน์
เผยแพร่ : 11 เม.ย. 59
ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.matichon.co.th/news/102852