ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จีวรพระ มาจาก “ผ้าห่มฝรั่ง” ฝีมือช่างกรีก-โรมัน  (อ่าน 3357 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29290
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ดินเผารูปพระภิกษุแสดงให้เห็นลักษณะการห่มจีวรของพระสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสุวรรณภูมิ พบที่เมือง อู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี



จีวรพระ มาจาก “ผ้าห่มฝรั่ง” ฝีมือช่างกรีก-โรมัน

จีวรพระ ที่มักเรียกกันทั่วไปว่าผ้าเหลือง แล้วเชื่อกันต่อๆ มาช้านานว่าเป็นผ้าห่มแขก ของชมพูทวีปหรืออินเดีย เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปจริงๆ ปรากฏว่าไม่ใช่ผ้าห่มแขก แต่เป็นผ้าห่มฝรั่ง จากโรมันโน่น

ไม่น่าเชื่อ! แต่ต้องจำนนด้วยหลักฐานสำคัญ คือพระพุทธรูปแบบแรกในโลกที่สร้างเป็นรูปมนุษย์ทำโดยช่างกรีก-โรมัน ห่มจีวรแบบโรมันชัดๆ จะคัดเรื่องกับรูปจากศิลปวัฒนธรรม [ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 143-150] มาดังนี้


 :96: :96: :96: :96:

ผ้า 3 ผืนของภิกษุ ครั้งพุทธกาล

ไตรจีวร เป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ที่ปรากฏในพระวินัยมาแต่ครั้งพุทธกาล มีข้ออนุญาตและข้อห้ามเกี่ยวกับจีวรในลักษณะต่างๆ เช่น เดิมพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้แต่จีวรที่เก็บเศษผ้าห่อศพมาเย็บปะติดปะต่อกันเรียกว่า “บังสุกุลจีวร” ต่อมาจึงทรงอนุญาตให้ใช้จีวรที่ผู้มีศรัทธาถวายให้ เรียกว่า “คฤหบดีจีวร”

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการใช้ผ้าของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปยังทักขิณาคิรี (เขตภูเขาภาคใต้ของอินเดีย) ทอดพระเนตรเห็นนาชาวมคธมีขอบคันและกระทงนา จึงตรัสให้พระอานนท์ลองตัดจีวรเป็นรูปนั้นดู เมื่อทำเสร็จทรงสรรเสริญว่าฉลาด ต่อมาทรงอนุญาตให้ใช้จีวร 3 ผืน (ไตรจีวร) ประกอบด้วยสบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าช้อนนอกหรือผ้าพาด)

สีที่ใช้ย้อมจีวรทรงอนุญาตให้ทำจากรากไม้ ลำต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้และผลไม้ ทรงห้ามใช้สีไม่สมควร คือ สีเขียวล้วน สีเหลืองล้วน สีแดงล้วน สีเลื่อมล้วน สีดำล้วน สีแดงเข้ม สีแดงกลาย และเนื่องจากทรงห้ามสีเหลืองล้วน พระภิกษุบางรูปจึงนิยมย้อมกรัก คือสีจากแก่นขนุนทับอีกครั้ง เพื่อให้เป็นสีน้ำฝาด

ต่อมาเกิดปัญหาการแต่งกายไม่รัดกุมในที่สาธารณะ จึงทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าคาดเอว หรือ “รัดประคด” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง และจากเดิมที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีเฉพาะไตรจีวรสำหรับนุ่งห่มเวลาเดินทาง จนเมื่อพระภิกษุมีปัญหาเรื่องการเดินทางในฤดูฝนจึงทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าอาบน้ำฝนที่พุทธศาสนิกชนถวายได้อีกอย่างหนึ่ง



พระพุทธรูปศิลปะคันธารราฐ แสดงให้เห็นอิทธิพลของการนุ่งผ้าของชาวกรีก-โรมัน (ภาพจาก Benjamin Rowland. The Art and Architecture of India : Buddhist, Hindu, Jain, 1956)


พระพุทธรูปแบบแรกในโลก ห่มผ้าแบบกรีก-โรมัน

เป็นที่รู้แล้วยอมรับทั่วกันทั้งโลก ว่าพระพุทธรูปแบบแรกในโลกทำโดยฝีมือช่างกรีก-โรมัน เป็นต้นแบบให้พระพุทธรูปต่อมาอีกนานจวบจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือจีวร หรือผ้าเหลือง ก็เป็นอย่างเดียวกับผ้าห่มของพวกกรีก-โรมันด้วย ขอยกเรื่อง พระพุทธรูปอินเดียแบบคันธารราฐ พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (จากหนังสือท่องอารยธรรม สำนักพิมพ์ธุรกิจก้าวหน้า พ.ศ. 2539) มาดังต่อไปนี้

พระพุทธรูปแบบคันธารราฐเจริญขึ้นในแคว้นคันธาระทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ ประเทศอินเดีย หรือที่เป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน เชื่อกันว่าเป็นศิลปะแบบแรกที่กล้าสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นรูปมนุษย์

ศิลปะคันธารราฐเจริญขึ้นในสมัยที่ชนชาติยุยเจ้ หรือซิเถียน อันเป็นชนชาติที่อพยพมาจากภาคกลางของทวีปเอเชีย ได้เข้าครอบครองดินแดนแถบนี้ และได้ตั้งราชวงศ์กุษาณะ อันมีพระเจ้าแผ่นดินที่สำคัญคือพระเจ้ากนิษกะเป็นประมุข (ราว พ.ศ. 663-705)

พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกทางพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระเจ้า อโศกมหาราช แต่ในขณะนั้นคงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานยิ่งกว่าลัทธิเถรวาท เชื่อกันว่าพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์คงสร้างขึ้นในรัชกาลนี้

ดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เคยเป็นที่ซึ่งชนชาติกรีกเข้าครอบครองมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ทรงยกทัพเข้าไปรุกรานดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในราว พ.ศ. 217-218 และต่อมาชาวโรมันก็ตามเข้าไปค้าขายบ้าง เมื่อศิลปะคันธารราฐเกิดขึ้นนั้น พวกยุยเจ้คงจะได้ใช้ศิลปินกรีก-โรมันให้ทำงานให้แก่ตน ด้วยเหตุนั้นทั้งพระพุทธรูปและรูปบุคคลต่างๆ ในศิลปะคันธารราฐ จึงมีหน้าตาเป็นฝรั่งทั้งสิ้น



พระพุทธรูปศิลปะคุปตะ ลักษณะของการห่มจีวร พัฒนาจากการห่มจีวรของพระพุทธรูปแบบคันธารราฐจนมีลักษณะเน้นความงามมากกว่าความสมจริง


สำหรับพระพุทธรูปนั้น น่าชมช่างกรีก-โรมันที่เป็นผู้คิดขึ้น เพราะขณะที่เขาคิดพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์ขึ้นนั้น พระพุทธองค์ได้ปรินิพพานไปแล้วร่วม 600 กว่าปี แต่ช่างก็ยังสามารถทำให้บุคคลโดยทั่วไปยอมรับว่าประติมากรรมที่ตนคิดขึ้นนั้นเป็นพระพุทธรูปได้ ในการนี้ช่างได้อาศัยสิ่งต่างๆ 3 อย่าง คือ

    1. เนื่องจากเป็นช่างกรีก-โรมัน จึงใช้ความงามหรือสุนทรียภาพตามแบบฝรั่ง เป็นต้นว่าพระพักตร์ก็งามตามแบบฝรั่ง มีพระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระขนงวาดเป็นวงโค้งมาบรรจบกันเหนือดั้งพระนาสิก ประภามณฑลเป็นรูปวงกลมเกลี้ยงอยู่เบื้องหลังพระเศียรเช่นเดียวกับเทวรูปอพอลโลของกรีก จีวรที่ครองก็เป็นผ้าหนา ส่วนใหญ่ห่มคลุมทั้งสองบ่า ริ้วเป็นริ้วใหญ่ตามธรรมชาติ คล้ายการห่มผ้าของพวกโรมัน

    2. กระทำตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ ซึ่งบ่งไว้นานแล้วว่ามหาบุรุษจะต้องมีลักษณะเช่นนั้นเช่นนี้ เช่นใบหูยาน (อันอาจเกิดจากการที่ชาวอินเดียแต่โบราณนิยมใส่ตุ้มหูหนัก เมื่อใส่นานๆ เข้าก็ถ่วงใบหูให้ยานลงมา ใบหูยานจึงกลายเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษไป) มีอูรณาหรืออุณาโลมอยู่ที่กลางหน้าผากหว่างขนคิ้ว หรือลายธรรมจักรบนฝ่ามือ ฯลฯ

    3. เป็นความคิดอย่างชาญฉลาดของช่าง ว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เห็นประติมากรรมแบบนี้แล้วทราบได้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธองค์ เมื่อสร้างรูปนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้วร่วม 600 กว่าปี พระรูปโฉมโนมพรรณของพระองค์เป็นอย่างไร ย่อมไม่มีผู้ใดทราบอย่างแน่ชัด จะสร้างให้เป็นภาพเหมือนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดีช่างย่อมทราบจากพระพุทธประวัติว่าเมื่อพระองค์ทรงออกผนวชนั้น พระองค์ทรงปลงพระเกศา


 :25: :25: :25: :25: :25:

นอกจากนี้ยังมีเรื่องปรากฏอีกว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าประเสนชิตแห่งแคว้นโกศล แรกจะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่กับพระสาวก พระเจ้าประเสนชิตยังต้องรับสั่งถามว่าพระพุทธเจ้าคือองค์ไหน ข้อนี้แสดงว่าพระพุทธองค์ก็ทรงมีลักษณะเช่นเดียวกับพระสาวกองค์อื่นๆ นั่นเอง แต่ถ้าช่างจะสร้างพระพุทธรูปให้มีเศียรโล้นตามความเป็นจริง ใครจะสามารถทราบได้ว่ารูปนั้นเป็นพระพุทธองค์เล่า

ข้อนี้จึงจำต้องชมความฉลาดของช่างคันธารราฐที่สามารถคิดแก้ไขได้ ด้วยการปล่อยให้พระพุทธรูปยังคงมีพระเกศายาว และพระเกศานี้รวบเป็นมวยไว้เหนือพระเศียรมีเส้นอาภรณ์เล็กๆ คาดอยู่ที่เชิงมวยนั้น

ในศิลปะคันธารราฐ พระเกศานี้ก็ทำเป็นเส้นเหมือนเส้นผมคนธรรมดา บางครั้งก็วาดเป็นมุมแหลมอยู่กลางพระนลาฏ ชั่วแต่มีประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่เบื้องหลังพระเศียรเท่านั้น

ต่อเมื่อพระพุทธรูปได้แพร่เข้าไปในหมู่ชาวอินเดียแล้วชาวอินเดียจึงคิดแก้ไขให้พระเกศาขมวดเป็นทักษิณาวรรต คือเวียนขวาตามแบบคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อทำพระเกศาเวียนขวาไว้เหนือมวยบนพระเศียรด้วย ลักษณะของมวยผมจึงหายไปและดูคล้ายกับว่าพระเศียรของพระพุทธเจ้าตรงกลางโป่งขึ้นไปข้างบนผิดปกติ

ลักษณะเช่นนี้อินเดียเขาเรียกว่า อุษณีษะ แต่ไทยเราเรียกว่า เกตุมาลา หรือเมาลี



(บน) เครื่องแต่งกายหลักของชาวกรีก ใช้ได้ทั้งชายและหญิง
(กลาง) ผ้าคลุมสำหรับผู้หญิงและใช้เป็นผ้าพันกายสำหรับผู้ชาย คาดว่าเป็นต้นแบบของจีวรพระ
(ล่าง) การห่มผ้าแบบต่างๆ ของชาวกรีก-โรมัน

การห่มผ้าแบบต่างๆ ของชาวกรีก-โรมัน

พระพุทธรูปศิลปะคันธารราฐ อิทธิพลการห่มผ้าแบบกรีก-โรมันบนจีวรพระพุทธรูป (ภาพจาก Benjamin Rowland. The Art and Architecture of India : Buddhist, Hindu, Jain, 1956)

พระพุทธรูปประทับยืนเมืองบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ลักษณะของจีวรแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลการห่มผ้าแบบกรีก-โรมัน (ปัจจุบันถูกทำลายแล้ว)



“จีวร” เก่าสุดในสุวรรณภูมิ อยู่สุพรรณบุรี

จีวรและการห่มจีวรที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศไทยคือ “ประติมากรรมดินเผารูปภิกษุสาวก 3 รูป” พบที่เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
ดินเผารูปพระภิกษุแสดงให้เห็นลักษณะการห่มจีวรของพระสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสุวรรณภูมิ พบที่เมือง อู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี



ดินเผารูปพระภิกษุแสดงให้เห็นลักษณะการห่มจีวรของพระสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสุวรรณภูมิ พบที่เมือง อู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี


ประติมากรรมดินเผารูปนี้ มีขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร สูง 16 เซนติเมตร เป็นประติมากรรมรูปพระภิกษุ 3 รูป ครองจีวร ถือบาตร ทำลักษณะอาการบิณฑบาต ลักษณะการห่มจีวรเป็นการครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรเป็นริ้ว ซึ่งเป็นลักษณะการห่มจีวรแบบศิลปะอมราวดี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-9 หรือราวหลัง พ.ศ. 600

เป็นหลักฐานรุ่นเก่าที่กำหนดอายุได้ ว่ามีการสร้างศาสนสถานขึ้นบริเวณสุวรรณภูมิก่อนสมัยทวารวดี อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างเมืองโบราณอู่ทองกับอินเดียสมัยอมราวดี ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ในเมืองอู่ทองเวลานั้นน่าจะห่มจีวรในลักษณะเดียวกันนี้



ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : มติชนออนไลน์
เผยแพร่ : 22 พ.ค. 59
ขอบคุณภาพและบทความจาก : http://www.matichon.co.th/news/144725
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 23, 2016, 12:29:43 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ