ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา ใน ‘ร่างรธน.ฉบับลงประชามติ’  (อ่าน 1057 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29346
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





ปัญหาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา ใน ‘ร่างรธน.ฉบับลงประชามติ’

รัฐสมัยโบราณไม่ได้แยกศาสนากับรัฐ-การเมืองออกจากกัน ผู้ปกครองถ้าไม่ใช่มนุษย์ที่ได้อำนาจเทวสิทธิ์จากพระเจ้าก็เป็นเทพอวตาร หรือไม่ก็เป็นโอรสของเทพตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ขณะเดียวกันศาสนาก็เข้ามาแบ่งปันตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจและผลประโยชน์จากรัฐ บางยุคศาสนจักรกับอาณาจักรก็คานอำนาจกัน บางยุคก็แย่งชิงอำนาจกัน

แล้วในที่สุดสังคมมนุษย์ก็ได้เรียนรู้ว่าการรวมเป็นหนึ่ง หรือการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างรัฐกับศาสนาก่อให้เกิดระบบการปกครองแบบเผด็จการที่ครอบงำกดขี่ จนเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่ต่างๆของโลก และได้ข้อสรุปว่า ต้องแยกศาสนากับรัฐออกจากกันอย่างเด็ดขาด นั่นคือให้เรื่องของรัฐ-การเมืองเป็นเรื่องทางโลก ไม่นำความเชื่อทางศาสนามาเป็นหลักในการปกครอง ส่วนศาสนาให้เป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล รัฐไม่มีหน้าที่อุปถัมภ์ส่งเสริมศาสนา ไม่มีอำนาจตัดสินถูก ผิดในเรื่องความเชื่อทางศาสนา ไม่ให้อำนาจทางกฎหมายแก่องค์กรศาสนาใดๆไปใช้ควบคุมความเชื่อทางศาสนาหรือการตีความคำสอนและการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น


 :96: :96: :96: :96:

รัฐรักษาเสรีภาพทางศาสนา โดยมีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือกนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใดๆก็ได้ เสรีภาพทางศาสนารวมทั้งเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิเสธความเชื่อศาสนาใดๆ ด้วย และรัฐต้องรักษาความเสมอภาคทางศาสนาโดยปฏิบัติต่อคนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนาอย่างเสมอภาคกัน รัฐจึงยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้มีสถานะสำคัญเหนือศาสนาอื่นไม่ได้ และจะเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองด้วยเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนาไม่ได้

หลักการแยกศาสนาจากรัฐดังกล่าว สอดคล้องกับทั้งสภาพสังคมสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมความเชื่อ และการยอมรับสิทธิอำนาจในการกำหนดตัวเองของปัจเจกบุคคล สอดคล้องกับธรรมชาติของศาสนาเองที่เป็นเรื่องของความเชื่อหรือศรัทธาที่เกิดกับจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งย่อมแตกต่างหลากหลายไปตามการเรียนรู้และประสบการณ์ของแต่ละคน จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะสามารถกำหนดหรือควบคุมให้ประชาชนแต่ละคนเห็นตรงกันหรือเชื่อแบบเดียวกันได้

 ans1 ans1 ans1 ans1

เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับจะลงประชามติ มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

แต่เมื่อไปดู “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 ว่า (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา …

จะเห็นว่า มาตรา 31 รับรองเสรีภาพทางศาสนา แต่มาตรา 50 (1) เป็นการปฏิเสธเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่ เพราะไปกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ “พิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง…ศาสนา…” คำถามคือ คนไม่นับถือศาสนาต้องถูกกำหนดให้มีหน้าที่นี้ด้วยหรือ ถ้าเขาปฏิเสธศาสนา ตั้งคำถาม วิจารณ์ศาสนา ชวนกันเลิกนับถือศาสนา จะถือว่า “เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง…ศาสนา…” หรือไม่


 :41: :41: :41: :41:

ยิ่งกว่านั้น มาตรา 67 ระบุว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของ พระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

คำถามคือ มาตรา 67 ขัดหลักความเสมอภาคทางศาสนาหรือไม่ เพราะให้ความสำคัญกับ “พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท” เหนือกว่าศาสนาอื่นๆและพุทธนิกายอื่นๆ และทำให้เสรีภาพทางศาสนามีปัญหา เพราะเป็นการบัญญัติความผิดต่อศาสนาที่คลุมเครือว่า “บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด” ที่อาจเป็นเหตุให้ตีความได้ครอบจักรวาล เช่นสอนผิดจากพระไตรปิฎก พุทธพาณิชย์ วิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ฯลฯ ก็อาจถูกตีความว่าเป็นการบ่อนทำลายศาสนาได้

ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ควรมีนักโทษมโนธรรมสำนึกทางการเมือง คือไม่ควรมีคนต้องติดคุกเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างจากคนอื่น แต่สังคมไทยกลับมีนักโทษมโนธรรมสำนึกทางการเมืองมากขึ้นๆ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติก็อาจนำไปสู่การสร้าง “นักโทษมโนธรรมสำนึกทางศาสนา” ขึ้นมาอีก ด้วยการกำหนดความผิดที่คลุมเครือว่า “บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่ารูปแบบใด” ราวกับเราอยากย้อนไปสู่การล่าแม่มดแบบยุคกลาง

 :25: :25: :25: :25:

กล่าวโดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามสำคัญ คือ

1. รัฐไทยปัจจุบันจะทำหน้าที่ทางศาสนาแบบใดกันแน่ แบบรัฐสมัยโบราณหรือแบบรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ จากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะกำหนดให้รัฐไทยปัจจุบันทำหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐโบราณ ฉะนั้น จึงทำให้รัฐไทยไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตยได้ คำถามคือ เราจะยอมแลกการที่รัฐไทยไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่กับความมั่นคงของพุทธศาสนาเถรวาท(?) เช่นนั้นหรือ

2. เราแน่ใจได้อย่างไรว่าพุทธศาสนาเถรวาทจะมั่นคงจริง โดยอาศัยการคุ้มครองและควบคุมด้วยกฎหมาย และมีหลักคำสอนใดหรือในพุทธเถรวาทที่ให้ความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐลงโทษคนด้วยข้อหา “บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา” พุทธะสอนให้ใช้อำนาจรัฐลงโทษคนที่ถูกล่าวหาว่าบ่อนทำลายพุทธศาสนาเช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นเราจะอธิบายคำสอนเรื่องขันติธรรม ปัญญา กรุณาอย่างไร

ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องตอบคำถามนี้ด้วยตนเองในวันลงประชามติ(ถ้ามี)



ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา
วันที่ : 22 พ.ค. 59 เวลา: 20:42 น.
ขอบคุณบทความและภาพจาก : http://www.matichon.co.th/news/144650
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ