ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤตศีลธรรมพุทธไทยที่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย  (อ่าน 1077 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29347
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




วิกฤตศีลธรรมพุทธไทยที่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย

ถ้าเราเห็นด้วยกับมุมมองของเดวิด อาร์ ลอย นักปรัชญาชาวอเมริกันที่ว่า “อุดมคติของพุทธศาสนานั้นไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน ผ่านการเปิดเผยตัวตนและสภาวะที่แท้จริงของเราเอง” (ดู http://www.matichon.co.th/news/157648) มันคงง่ายขึ้นที่พุทธศาสนาไทยจะงอกงามไปกับสังคมเสรีประชาธิปไตย ที่ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล หรือเป็นความเชื่อส่วนตัวของคนแต่ละคนที่มีอิสระจะเลือกเรียนรู้ตามศรัทธาของตนเอง ไม่ใช่เรื่องของรัฐ หรือไม่ใช่เรื่องที่รัฐต้องใช้อำนาจในการกำหนดนิยามการสอนถูก สอนผิด การปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิดตามคัมภีร์ผ่านองค์กรศาสนาของรัฐ และมีอำนาจเอาผิดทางกฎหมายกับการกระทำเช่นนั้น

แต่ความเป็นจริงพุทธศาสนาไทยหาได้ “เรียบง่าย” เช่นนั้นไม่ หากมีความ “ซับซ้อน” เหลือประมาณ ถ้าได้อ่านความเห็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ที่ไม่ติดใจว่าที่มาของนายกฯจะเป็นคนนอกหรือไม่ โดยเขาให้เหตุผลว่า “…ในฐานะศิษย์สวนโมกข์ อาจารย์พุทธทาสบอกว่า คนที่มาเป็นผู้นำมาอย่างไรนั้น ไม่สำคัญเท่ากับคนมีธรรมะ มีศีลธรรม ขอให้ได้คนดีก็แล้วกัน เพราะไม่ได้อยู่ที่วิธีการมา แต่อยู่ที่คน” เราย่อมเข้าใจได้ว่า พุทธศาสนาไทยไม่เคยจำกัดตัวเองอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงด้านในของปัจเจกบุคคล หากพยายามเสนอคำตอบทางสังคมการเมืองเสมอมา


 ask1 ask1 ask1 ask1

หากถามว่านั่นเป็นความเห็นของนายสุเทพที่ตีความคำสอนของท่านพุทธทาสอย่างผิดๆใช่หรือไม่ เมื่อเปิดดูหนังสือ “สรรนิพนธ์พุทธทาส” หน้า 280 จะพบมุมมองของท่านพุทธทาส เช่นว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเลวที่สุดถ้าประชาชนไม่มีศีลธรรม; ยิ่งมีเสรีภาพเท่าไรยิ่งเลวมากเท่านั้น…” และหน้า 260 “…ถ้าว่ามีความดีหรือมีคนดีแล้ว ระบบการปกครองชนิดไหนก็เป็นเรื่องถูกต้องไปหมด เป็นธรรมาธิปไตยไปหมด ถ้าเรามีคนดีจริงเพียงคนเดียวเท่านั้นมันหาง่ายกว่าหาตั้งฝูง แม้ให้เป็นเผด็จการ เขาก็เป็นเผด็จการอย่างดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด…”

เป็นเรื่องประหลาดสำหรับมุมมองที่ว่า “ยิ่งมีเสรีภาพเท่าไรยิ่งเลวมากเท่านั้น” เพราะสำหรับคนที่เข้าใจความหมายของเสรีภาพตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ย่อมรู้ว่า “การมีเสรีภาพไม่ใช่ที่มาของความเลว” หากแต่ “การมีเสรีภาพเป็นเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการเกิดความดีที่หลากหลาย” เนื่องจากการมีเสรีภาพมี “ขอบเขต” ชัดเจนอยู่ว่าคุณต้องไม่ใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิหรือก่ออันตรายแก่คนอื่น ฉะนั้นการมีเสรีภาพตามระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย จึงไม่ได้แปลว่าคุณจะทำเลวตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ ขณะเดียวกันการมีเสรีภาพก็คือการสร้าง “พื้นที่เพื่อความเติบโต” ทางสติปัญญา ความคิด จินตนาการและพลังสร้างสรรค์ต่างๆของปัจเจกบุคคลที่เป็นไปได้ และเป็นการสร้าง “พื้นที่การตรวจสอบถ่วงดุล” ที่จะป้องกันอำนาจผูกขาดใดๆไม่ให้กระทำสิ่งเลวร้ายได้ตามอำเภอใจ

 ans1 ans1 ans1 ans1

แท้จริงแล้วในระบบเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพต่างหากที่จะเป็นเงื่อนไขของความเลวร้ายต่างๆ หรือทำให้ “ศีลธรรมทางการเมือง” เป็นไปไม่ได้ เช่น ถ้าไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ปกครองเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ถ้าที่มาของผู้ปกครองไม่ได้มาจากเสรีภาพในการเลือกของประชาชน ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่า นาย ก. นาย ข.คือ “คนดี” ที่สมควรเป็นผู้ปกครอง

ยิ่งกว่านั้นในสังคมสมัยใหม่เราต่างเข้าใจวลีที่ว่า “absolute power, absolute corruption” กันเป็นอย่างดี ฉะนั้น ในสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนสูง การพูดถึงความดี คนดีพร้อมๆกับปฏิเสธเสรีภาพตามระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยตัวมันเอง จึงเป็นเป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย หรือไม่สามารถเข้าใจได้

ความคิดที่ว่าระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยตัวของมันเอง หรือการมีเสรีภาพตามระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งที่ดีพอ มันจะดีได้ก็ต่อเมื่อมี “ศีลธรรม” หรือต้องถือ “ธรรมาธิปไตย” มากำกับอีกที ดูเหมือนจะเป็น “ความคิดสำคัญ” ของปราชญ์พุทธศาสนาไทยยุคปัจจุบัน


 :96: :96: :96: :96:

ดังในหนังสือ “สิทธิมนุษยชนสร้างสันติสุขหรือสลายสังคม” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า 19 เขียนว่า “…ถ้าหมู่มนุษย์ปฏิบัติอยู่ในศีล 5 ก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน และถ้ามองให้ละเอียดลงไปก็จะเห็นว่าสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติที่แยกกระจายไปในรายละเอียดเป็นข้อย่อยมากมายนั้น ก็อยู่ในขอบเขตของศีล 5 นี่เอง หรือพ้นจากนั้นไปก็อยู่ในหลักธรรม เช่นเรื่องทิศ 6 เป็นต้น…”

การขยายความศีลธรรมพุทธศาสนามาครอบคลุมหลักสิทธิมนุษยชนสากลเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากหลักสิทธิมนุษยชนสากลคือหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ที่ครอบคลุมทั้งเสรีภาพทางความคิดเห็น การแสดงออก เสรีภาพในการใช้ชีวิต เสรีภาพทางการเมือง สิทธิเลือกตั้ง สิทธิเท่าเทียมทางเพศและอื่นๆ ขณะที่ระบบศีลธรรมพุทธศาสนาไม่ได้มีมโนทัศน์ (concept) ในเรื่องพวกนี้โดยตรงเลย และถึงแม้พุทธศาสนาจะอยู่คู่สังคมไทยมาเกือบพันปี ก็ไม่เคยปรากฏกว่าพุทธศาสนาได้ “ทำหน้าที่” เป็นพลังทางสติปัญญาและเป็นพลังให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงใดๆที่จะนำไปสู่การมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลในสังคมไทยแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม พลังทางศีลธรรมของพุทธศาสนาไทยกลับเป็นไปในทางสนับสนุนอำนาจที่ขัดกับหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล เห็นได้จากปรากฏการณ์วิกฤตการเมืองกว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน ที่มีการอ้าง “วาทกรรมการเมืองเชิงศีลธรรม” ของท่านพุทธทาสต่อสู้ทางการเมือง ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เวที พธม.-กปปส.จนถึงอ้างความคิดท่านพุทธทาสสนับสนุนความชอบธรรมของร่างรัฐธรรมนูญ คสช.โดยนายสุเทพดังกล่าวแล้วข้างต้น

 :25: :25: :25: :25:

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง มีการอ้างความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ในหนังสือ “กรณีธรรมกาย” เพื่อตัดสินว่าคำสอนและแนวปฏิบัติของวัดพระธรรมกายเป็น “สัทธรรมปฏิรูป” (ธรรมะปลอม,ไม่ใช่พุทธแท้?) เพื่อเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมเอาผิดเรื่องทำพระธรรมวินัยให้วิปริตและประพฤติผิดพระธรรมวินัย จนนำมาสู่ขบวนการ “ปฏิรูปพุทธศาสนา” ที่เป็นส่วนหนึ่งของการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวกันที่เป็นแนวร่วม กปปส.

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวพุทธที่อ้างความคิดท่านพุทธทาสต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวพุทธที่อ้างความคิดพระพรมคุณาภรณ์สนับสนุนการเอาผิดธรรมกาย ต่างมี “จุดร่วมเดียวกัน” คือจุดร่วมที่ยืนยันการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแก้ปัญหาทางการเมืองและปัญหาทางศาสนา อันเป็นจุดร่วมที่ “ยึดถือเป้าหมายสำคัญกว่าความชอบธรรมของวิธีการ” ซึ่งเป็นจุดร่วมที่สะท้อน “วิกฤตศีลธรรมพุทธศาสนาไทย” อย่างเห็นได้ชัด

เป็นวิกฤตศีลธรรมพุทธศาสนาไทยที่ “สอบไม่ผ่าน” การเคารพหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน เป็นวิกฤตที่สะท้อนปัญหาสำคัญที่สุดว่า ศีลธรรมพุทธศาสนาไทยไปกันไม่ได้กับคุณค่าสมัยใหม่ หรือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย



ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา
ที่มา : มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news/160456
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ