ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เล่าขานประวัติศาสตร์ เดิมคนอยุธยากินข้าวเหนียว., ส้มตำไม่ใช่อาหารของคนลาว  (อ่าน 1412 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29347
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

สุจิตต์ วงษ์เทศ


เล่าขานประวัติศาสตร์ ยัน..ไทย100%ไม่มีแล้ว

หมายเหตุ – เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน บรรยายหัวข้อ ?ประวัติศาสตร์สังคมอยุธยา : วิถีชีวิตของคน? ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนางศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ได้จัดกิจกรรมตามโครงการบรรยายความรู้และการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม สู่นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักวิชาการ และประชาชนผู้สนใจ

 ans1 ans1 ans1 ans1

สําหรับผมเองไม่ใช่นักวิชาการของประเทศ เพราะไม่เคยรับราชการเป็นอาจารย์ เป็นเพียงนักเก็บงานวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ ที่สนใจงานด้านประวัติศาสตร์เท่านั้น ใช้ความคิดสรุปแนวทางตามหลักการและเหตุผล รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาจไม่ตรงกับสิ่งที่ส่วนราชการ นักวิชาการ ตำรา ทั้งของรัฐ กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากร ตีพิมพ์เผยแพร่ ยัดเยียดความเป็นหนึ่งเดียวทางประวัติศาสตร์แบบครอบงำ และผมไม่ได้ยึดตามกระแสหลักเพราะมีความคิดเป็นอิสระที่ถือปฏิบัติได้ ดังนั้นการมาฟังบรรยายในวันนี้ ขอให้ฟังเพลินๆ เป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนในอีกมุมมอง

อยากจะบอกให้รับทราบว่า มีหลายเรื่องที่รัฐตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงหน่วยงานรัฐหรือนักวิชาการของรัฐได้จัดทำเป็นตำรา เขียน ตีพิมพ์ ยัดเยียดจากมโนความคิดของคนกลุ่มนี้และต้องการให้ทุกคนในชาติรับรู้และยึดถือเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในประเทศไทยมีหลายเรื่อง ยกตัวอย่างในด้านประวัติศาสตร์ เช่น
       โคตรตำนาน..ตอกย้ำว่า
       1.คนไทยมาจากเทือกอาณาจักรน่านเจ้า เทือกเขาอัลไต
       2.กรุงสุโขทัยคือราชธานีที่ 1 ของประเทศไทย
       3.พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี และเดินทางอพยพโยกย้ายจนมาสร้างบ้านแปลงเมืองตั้งกรุงศรีอยุธยา

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการนำโคตรตำนานที่รัฐยัดเยียดตอกย้ำให้ประชาชนได้มีความคิดแบบเดียวกัน ซึ่งผิด เพราะเมื่อนานวันทุกคนเชื่อ และเชื่อในสิ่งผิด คนที่เห็นต่างเห็นแย้งจะทำอย่างไร สำหรับผมบอกได้คำเดียว ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเช่นนี้


 :96: :96: :96: :96:

เพราะโลกประชาธิปไตย มันเห็นคนละด้านคนละมุมได้ และที่พูดนี้ผมไม่ได้พูดเรื่องการเมืองนะ ย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่กำลังพูดในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว และทุกคนที่กำลังถกเถียงกันก็เกิดไม่ทัน ดังนั้นก็มีสิทธิที่จะคิดคนละมุม คิดตรงข้าม มองคนละมุม อธิบายคนละอย่าง คนละความคิด คนละเหตุผล คนละวิถี เรียกว่าต่างคนต่างมีเหตุผล อย่าได้มาผูกขาดในทุกเรื่อง อย่าได้มาผูกขาดความคิด

การคิดเห็นไม่ตรงและนำเสนอออกมา เขาก็มีการนำเสนอที่ใช้หลักเหตุผล ตรรกะและหลักฐาน มาโต้แย้ง ที่พูดนี่เป็นเรื่องความคิดทางประวัติศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ อยากจะย้ำว่ามนุษย์นั้นต่างความคิด ต้องรับในความแตกต่าง และไม่ควรตัดเสื้อแบบเดียวกันให้ทุกคนในประเทศสวมใส่

ที่พูดมาเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะผมคิดไม่ตรงกับนักวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากร รวมถึงกระทรวงใหม่คือกระทรวงวัฒนธรรมในบางเรื่องบางประเด็น แต่ที่แย้งในความคิดเป็นการแย้งที่มีหลักฐานเชื่อมโยง ไม่ได้แย้งแบบขาดหลักฐานหรือการเชื่อมโยง





สำหรับประเด็นการบรรยายวันนี้ อยากจะบอกว่า ความเป็นคนไทย 100% หรือที่เรียกว่าคนไทยสายเลือดบริสุทธิ์เป็นไทยแท้ 100% นั้นไม่มีแล้ว เพราะคนไทยร้อยพ่อพันแม่มาตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยอยุธยาก็เป็นพวกร้อยพ่อพันแม่ เรามันพวกลูกผสม ผสมทั้งสายเลือด สายพันธุ์ ผสมทั้งวัฒนธรรม ปนเปกันไปหมดในอุษาคเนย์

ดังนั้นอย่าไปจริตวิตกแสดงออกว่าเป็นไทยแท้ออกมา เพราะความจริงไทยแท้คืออะไร มันไม่มีสิ่งหนึ่งพอจะยืนยันได้และแสดงความภาคภูมิใจได้คือ ภาษาไทย หรือภาษาไตไท เป็นภาษาสากลในภูมิภาคนี้ สมัยก่อนชนชาติไหนในบ้านในเมืองของตนเองก็มีภาษา แต่พอติดต่อค้าขายกับคนกลุ่มอื่นก็ใช้ภาษาไตไท เป็นภาษาสากลในภูมิภาคแบบนี้

แนวคิดอักษรไทยประเด็นนี้ คนคิดแรกก่อนผมและเขียนไว้คือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านบอกว่า อักษรไทยคือ อักษรเขมรกับอักษรมอญที่นำมาดัดแปลง ทำให้ง่ายขึ้น เขียนง่าย อ่านง่ายที่สุดในอุษาคเนย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่สำคัญถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับคนในภูมิภาคนี้ ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่หรือภาษาหลัก โดยอักษรไทยและอักขรวิธีเก่าสุดที่พบอยู่ในสมุดข่อยก็อยู่ในยุคอยุธยา ตรงกับแนวคิดของ จิตร ภูมิศักดิ์

ดังนั้น ในความคิดของผมบอกได้ว่าคนอยุธยาก็เกิดและเจริญอยู่ตรงนี้มาแต่แรก ไม่ได้โยกย้ายมาจากที่ไหน อยุธยาเป็นมรดกทุกด้านของคำว่าดินแดนสุวรรณภูมิ และกรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์ก็จำลองอยุธยาไปทุกๆ เรื่อง


 ask1 ans1 ask1 ans1

หากถามเรื่องประชาชน คนอยุธยาประกอบด้วยใครบ้าง ต้องบอกว่า คนอยุธยามี 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิม สืบบรรพชนมาก่อนยุคประวัติศาสตร์และยุคสุวรรณภูมิมีมาหลายพันปีแล้ว อยู่ตรงนี้ไม่ได้หนีทัพหรือหนีโรคห่ามาจากที่ไหน เป็นคนอยู่ตรงนี้มานาน

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่โยกย้ายมาจากภายนอก ทยอยเข้ามาในหลายยุคหลายสมัย ทั้งที่เข้ามาตั้งชุมชนเพื่อทำการค้า รวมถึงการกวาดต้อนเชลยศึกเชลยสงครามเข้ามาตั้งบ้านเรือนในอยุธยา พบว่าลาลูแบร์จดบันทึกว่าชนชาติต่างๆ ในอยุธยามีมากถึง 21 ชนชาติ และประชากรในยุคอยุธยา ช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ รวมทุกชนชาติทั้งคนดั้งเดิมและกลุ่มคนโยกย้าย มีรวมกันถึง 1,900,000 คน เฉพาะคนจีนในอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มาถึง 100,000 คน มากและปนเปกันขนาดนี้ จะเหลืออะไรในความเป็นคนไทย 100% และคนไทยในปัจจุบันมันตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ด้วยไม่มีสิ่งการันตีว่าอะไรที่เป็นคนไทย 100%


 ask1 ask1 ask1 ask1

มีหลายประเด็นที่ผลงานวิชาการของรัฐเป็นการแสดงเอาเรื่องเท็จมาทำเป็นเรื่องจริงและทำเป็นตำรา เช่น บอกว่าในอดีตคนไทยกินข้าวเจ้า หากคนลาวถึงจะกินข้าวเหนียว ความจริงแต่ก่อนคนย่านนี้หรือคนสุวรรณภูมิกินข้าวเหนียว

ถามว่าดูจากอะไร ในเมื่อตำราเขียนว่ากินข้าวเจ้า ผมก็ดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กรมศิลปากรเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่ะแหละ หลักฐานที่นำมาแย้งไม่ได้สร้างใหม่แต่เป็นหลักฐานในมือของรัฐ ก็คืออิฐที่ขุดขึ้นมาได้จากเมืองเก่าในภูมิภาคนี้ เพราะส่วนประกอบของอิฐคือแกลบ และแกลบในอิฐเป็นแกลบหรือเปลือกของข้าวเหนียวไม่ใช่ข้าวเจ้า แล้วถามว่ากินข้าวเจ้าเมื่อไร ก็เมื่อมีการแพร่ของวัฒนธรรมและศาสนาอินเดียเข้ามา และครั้งแรกกินอยู่ในวงสังคมชั้นสูง

ข้าวปลาอาหารยุคอยุธยาของประชาชนทั่วไปคือ กินข้าวเหนียว กับข้าวก็สัตว์นำมาปิ้งย่าง อาหารหมักดองก็มี แต่คติความเชื่อของคนคือ เน่าแล้วอร่อย อันเป็นลักษณะจำเพาะเก่าแก่ของอุษาคเนย์ที่มีมายาวนานไม่น้อยกว่า 3,000 ปี คือเน่าแล้วอร่อย เช่น ปลาร้า ปลาแดก ปลาส้ม ปลาเจ๋า น้ำปลา กะปิ ถั่วเน่า แต่หลังจากติดต่อกับคนในภูมิภาคอื่นก็มีอาหารจากที่อื่นตามเข้ามา เช่น ต้มจืด จากจีน หรือแกงกะทิจากแขก

อยุธยาไม่มีส้มตำเพราะสมัยนั้นไม่มีมะละกอ มะละกอเพิ่งจะเข้ามาแพร่หลายในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดังนั้นส้มตำเป็นคำที่คิดขึ้นมาใหม่ เป็นการสร้างคำใหม่ โดยเจ๊กปนลาวในกรุงเทพฯยุคต้นรัตนโกสินทร์ ที่ใช้เรียกอาหารที่ทำจากมะละกอ เป็นพืชชนิดใหม่นำเข้าผ่านมาทางมะละกอ อีกทั้งมะละกอเป็นพืชเมืองของอเมริกาใต้ เข้าสู่ยุโรปโดยโคลัมบัส จากนั้นเข้าแพร่หลายสู่อุษาคเนย์โดยพ่อค้าชาวสเปน

ที่พูดเรื่องอาหารเพราะอยากให้รู้ว่าความเป็นไทยหนึ่งเดียว มันเพียงเกิดมาในช่วงสมัย ร.5 เท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่มี คนภาคเหนือเขาก็เรียกตัวเองว่าล้านนา คนอีสานคนไทยก็เรียกเขาว่าคนลาว ทุกวันนี้หากใครกินข้าวเหนียวคนไทยในปัจจุบันยังเรียกว่า คนลาว จึงเป็นการตอกย้ำได้ว่าความเป็นไทยแท้ 100% ไม่มี


ที่มา : สกู๊ป น.1 มติชนรายวัน
เผยแพร่ : 10 ก.ค. 59
http://www.matichon.co.th/news/207118
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ