งานศพดั้งเดิมสนุกสนานเมื่อไม่นานมานี้ที่ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ มีลิเกเล่นหน้าศพ ตามประเพณีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอย่างที่ผู้อ่านข่าวทางทีวีช่องหนึ่งแสดงออกว่างุนงงสงสัย ที่ต้องประหลาดมากได้แก่ ระบบการศึกษาไทยพิกลพิการ จึงอธิบายไม่ได้เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมทำศพของบรรพชนตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญที่มีก่อนรับศาสนาจากอินเดีย
ขวัญ เกี่ยวข้องกับพิธีศพในวัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี) ราว 2,500 ปีมาแล้ว รากเหง้าพิธีศพในไทยทุกวันนี้ ดูจากลายเขียนสีบนภาชนะดินเผาใช้ฝังกับศพ เป็นลายขวัญ มีขดเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้นๆ เหมือนขวัญกลางกระหม่อมของคน
ผมเคยเขียนซ้ำหลายครั้งในหลายปีมานี้ว่า คนยุคบ้านเชียงไม่รู้จักความตายแบบที่คนเรารู้ปัจจุบัน จึงไม่รู้จักวิญญาณ แต่รู้ร่วมกันว่าคนที่นอนตายนั้น ขวัญหาย ต้องร่วมกัน เรียกขวัญ คืนร่าง จึงจะฟื้นเหมือนปกติ
การเรียกขวัญของคนยุคโน้น ได้แก่ ตีฆ้องกลอง, ดีดสีตีเป่า, ร้องรำทำเพลงสนุกสนาน เอะอะตึงตังดังสนั่นลั่นทุ่งนาป่าเขาไปไกลที่สุด หวังให้ขวัญได้ยิน จะได้กลับถูกทาง เป็นต้นแบบมหรสพในงานศพของไทยปัจจุบัน

ไทดำมีพิธีศพ โดยสร้างเฮือนแก้ว (คือ เรือนแก้ว หรือ หอแก้ว) ไว้บนหลุมฝังศพ เพื่อเชิญขวัญหรือผีขวัญให้สิงอยู่ที่นั่น ผมเพิ่งเห็น เลยเพิ่งซื้อมาอ่านพบเมื่อไม่กี่วันนี้เอง หนังสือ “ไทดำ” เมืองแถง “ทรงดำ” ถิ่นสยาม โดย บุญยงค์ เกศเทศ (สำนักพิมพ์อินทนิล พิมพ์ครั้งแรก 2554 หน้า 130-131)
เฮือนแก้วของไทดำ น่าจะตรงกับเฮือนดีของลาวลุ่มน้ำโขงที่เรียก “งันเฮือนดี”
งานศพไทยมีมหรสพ (คบงัน) ไม่ทุกข์โศก ก็ด้วยเหตุข้างต้นเกี่ยวกับขวัญ
พระราชนิพนธ์อิเหนาและวรรณกรรมอื่นๆ พรรณนาถึงโขนละครมอญรำระบำต่างๆ ในงานศพสนุกสนานอย่างยิ่ง จนทุกวันนี้มีโขนหน้าไฟ และการละเล่นต่างๆ ก่อนเผาศพเป็นเรื่องปกติ ไม่ประหลาด ที่ประหลาด คือ รักความเป็นไทย แต่ไม่รู้จักความเป็นมาของตัวเองต่างหากผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวัน
เผยแพร่ : 3 ส.ค. 59
http://www.matichon.co.th/news/235173