ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นตฺถิ โลเก อนามตํ : สถานที่ที่ได้ชื่อว่า ไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก  (อ่าน 9701 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


มรณสติ : ความตายไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
(Mindfulness of death, Contemplation on death)

อันทุกคนที่เกิดมานั้น ย่อมเข้าถึงความเปลี่ยนแปลงตามสภาพ คือ เข้าถึงความแก่ ความเจ็บ และความตาย ความตายเป็นสิ่งที่ใครๆไม่ปรารถนา ไม่ต้องการ ไม่อยากจะได้ยิน ถึงเราจะเกลียดกลัวความตายอย่างไร ในที่สุดเราก็ไม่สามารถจะหลีกหนีจากความตายไปได้ แต่เมื่อเราหันหน้ามาเผชิญกับความตาย โดยอาศัยสติ สังเวคะ และญาณแล้ว ปรารภการเจริญมรณสติอยู่เป็นประจํา ทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก

   ดังพระบาลีที่ปรากฏอยู่ในปกรณ์วิเศษ ชื่อว่าวิสุทธิมรรค ว่า 
   ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ    เทหนิกฺเขปนํ คติ
   ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ     อนิมิตฺตา น นายเรติ


   แปลความว่า ในโลกที่เป็นอยู่ ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ไม่มีเครื่องหมาย รู้ไม่ได้  คือ     
      ๑. ชีวิต
      ๒. พยาธิ
      ๓. กาล
      ๔. สถานที่เสียชีวิต
      ๕. คติ 
 
มรณสติ แปลว่า การระลึกถึงความตาย หรือการนึกถึงความตายบ่อยๆ วิธีระลึกถึงความตาย มีถึง ๘ วิธี ขอยกวิธีที่ ๖. คือ อนิมิตฺตโต(โดยชีวิตไม่มีนิมิต) ในโลกที่เรากําลังอาศัยอยู่ มีหลายเรื่องที่เราคิดไม่ถึง ไม่รู้ล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ทําให้เราได้รู้ว่า ความตายมีโอกาสจะมาเยือนเราเมื่อไรก็ได้
 
@@@@@@@

เรื่องที่ ๑. ชีวิต :  คําว่า ชีวิตนั้นมาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า ชีวิตํ แปลว่า ความเป็นอยู่ ควบคู่กับคําว่า มรณํ แปลว่า ความตาย ดังเวลาที่เรามาเคารพศพ มาจุดธูปหน้าศพ ได้เห็นรูปภาพของผู้วายชนม์ที่ตั้งอยู่หน้าศพ มีข้อความใต้รูปภาพ คือ
    คําว่า ชาตะ และ คําว่า มรณะ
    ชาตะ แปลว่า เกิดแล้ว มรณะ แปลว่า ความตาย
    เกิดกับตายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน วันใดที่ปราศจากชีวิต ไออุ่น วิญญาณก็ได้ชื่อว่าตาย เหตุนั้นสิ่งที่ทุกคนรักและหวงแหนมากกว่าสิ่งอื่นใดก็คือชีวิต และชีวิตนั้นมีการพัฒนาการตามลําดับ ตั้งแต่ที่เรายังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่

    สมจริงดังพระพุทธพจน์ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อินทกสูตร เล่มที่ ๑๕ ว่า
    ปฐมํ กลลํ โหติ            กลลา โหติ อพฺพุทํ                   
    อพฺพุทา ชายเต เปสิ       เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน                     
    ฆนา ปสาขา ชายนฺติ       เกสา โลมา นขาปิ จ                     
    ยญฺจสฺส ภุญฺชติ มาตา     อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ                   
    เตน โส ตตฺถ ยาเปติ       มาตุกุจฺฉิคฺคโต นโร


    แปลว่า
    รูปนี้เป็นกลละก่อน จาก กลละเป็นอัพพุทะ 
    จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเป็นฆนะ
    จากฆนะเป็นปัญจสาขา ต่อจากนั้นมีผม ขน และเล็บเกิดขึ้น 
    คุณแม่ของทารกผู้อยู่ในครรภ์ บริโภคข้าว น้ำ และอาหารอย่างใด
    ทารกผู้อยู่ในครรภ์คุณแม่นั้น ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้น ในครรรภ์

    @@@@@

    - พระดํารัสว่า ก่อนมีความหมายว่า ชื่อว่าติสสะหรือผุสสะ(ชื่อจริงหรือชื่อเล่น) ยังไม่มีในปฏิสนธิก่อน แต่มีน้ำใสเท่าหยาดน้น้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายเส้นด้ายที่ทําด้วยขนแกะแท้สามเส้น ซึ่งโบราณาจารย์กล่าวว่า กลุ่มรูปที่มีสีคล้ายหยาดน้ำมันงาและเนยใสที่ไม่ขุ่นมัว เรียกว่า น้ําใส(กลละ)
    - พระดํารัสว่า จากกลละเป็นอัพพุทะ มีความหมายว่า เมื่อน้ําใสล่วงไป ๗ วัน ก็มีสีคล้าย น้ําล้างเนื้อ จึงชื่อว่า อัพพุทะ(ฟองน้ําใส)
    - พระดํารัสว่า จากอัพพุทะเป็นเปสิ มีความหมายว่า เมื่อฟองน้ําใสล่วงไป ๗ วัน  ก็กลายเป็นชิ้นเนื้อคล้ายดีบุกเหลว ชิ้นเนื้อนั้นพึงเปรียบเทียบด้วยเม็ดพริกไทยแห้ง เด็กชาวบ้านเอาพริกไทยสุกทําห่อไว้ที่ชายผ้า ขยําแล้วเติมน้ําใสใส่ลงในกระเบื้องตากแดด เม็ดพริกไทยแห้งๆย่อมหลุด ตกจากเปลือกทั้งหมด ชิ้นเนื้อก็เป็นเช่นนี้
    - พระดํารัสว่า จากเปสิเป็นฆนะ มีความหมายว่า เมื่อชิ้นเนื้อล่วงไป ๗ วัน ก็เกิดก่อนเนื้อ ที่เรียกว่า ฆนะ มีขนาดเท่าไข่ไก่ 
    - พระดํารัสว่า จากฆนะเป็นปัญจสาขา มีความหมายว่า ในสัปดาห์ที่ ๕. เกิดปุ่มใหญ่ขึ้น ๕ แห่ง เพื่อเป็นมือและเท้าอย่างละ ๒ และศีรษะ ๑

ดังนั้นบางคนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นกลละก็มี เป็นอัพพุทะก็มี เป็นเปสิก็มี เป็นฆนะก็มี เป็นปัญจสาขาก็มี คลอดออกมาแล้วยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลก ก็ถูกคุณแม่วัยรุ่นใส่ถุงสีดํานําไปทิ้งก็มี ชีวิตของทุกคนนั้น จึงเป็นชีวิตที่สั้น มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ไม่ควรประมาท ควรรีบทําบุญกุศล ทําความดี ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย 


@@@@@@@

เรื่องที่ ๒. พยาธิ :  ความเจ็บป่วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า พฺยาธิธมฺโมมฺหิ พฺยาธึ อนตีโต เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้

เราเคยหนีความรัก บ่ายเบี่ยงความจริง ผัดวันประกันพรุ่งกับการทํางาน ในที่สุดก็ไม่สามารถจะหนีความจริงของชีวิตในเรื่องความเจ็บป่วยนี้ไปได้ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเกิดที่ร่างกาย เพราะร่างกายเป็นบ่อเกิดของโรคมากมายหลายร้อยชนิด

    สมจริงดังพระพุทธพจน์ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่มที่ ๒๕ ว่า
    ปริชิณฺณมิทํ รูปํ โรคนิทฺธํ ปภงฺคุณํ
    ภิชฺชติ ปูติ สนฺเทโห มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ 


    แปลความว่า
    รูปนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เป็นธรรมเน่าเปื่อย   
    กายอันเปื่อยเน่าจะแตก เพราะว่า ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด   

    @@@@@@

ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อาการ ๓๒ มีอยู่ใน ธาตุดินและธาตุน้้ำ ดังนี้ คือ
 
   - ธาตุดิน ๒๐ คือ 
   เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เรียกว่า ตจปัญจกะ(ห้าทั้งหนัง) ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง     
   มังสัง นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง เรียกว่า วักกปัญจกะ(ห้าทั้งไต) เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
   หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง เรียกว่า ปัปผาสปัญจกะ(ห้าทั้งปอด) หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
   อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง มัตถะลุงคัง เรียกว่า มัตถะลุงคะปัญจกะ(ห้าทั้งมันสมอง) ลําไส้ใหญ่ ลําไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง 

    - ธาตุน้ำ ๑๒ คือ
    ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท เรียกว่า เมทฉักกะ(หกทั้งมันข้น) ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น     
    อัสสุ วะสา เขโฬ สิงฆาณิกา ละสิกา มุตตัง เรียกว่า มุตตฉักกะ(หกทั้งมูตร) น้ําตา มันเหลว น้ําลาย น้ํามูก ไขข้อ มูตร 
 
   - ธาตุไฟ ๔ คือ ไออุ่น ไฟทําให้เสื่อมโทรม ไฟแผดเผา ไฟที่ย่อยอาหาร 

   - ธาตุลม ๖ คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ํา ลมในท้อง(ลมในช่องท้องนอกลําไส้ใหญ่) ลมในลําไส้ใหญ่ ลมพัดไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้าออก   

@@@@@@

แต่ละอาการที่ว่ามานั้นเป็นที่มาของโรค ถึงแม้ว่าเราจะพยายามทําทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดโรคขึ้น ก็ไม่สามารถจะพ้นจากโรคได้ ดังนั้นเมื่อเวลาที่เรายังไม่เจ็บป่วย ขอให้ใช้ช่วงที่เรายังแข็งแรงอยู่นั้น ขวนขวายทําประโยชน์ตน ทําประโยชน์ผู้อื่น และทําประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน

ถึงคราวจะต้องผจญ กับความเจ็บป่วย จะได้ไม่เกิดความกังวลใจว่า สิ่งนี้ยังไม่ได้ทํา สิ่งโน้นยังทําไม่เสร็จ ขออย่าได้นิ่งนอนใจววา เรายังแข็งแรงอยู่จะทําอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ ถึงเวลาเราเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ  อยู่โรงพยาบาล นอนให้น้ำเกลือ รอเข้ารับการผ่าตัด ใครๆก็ไม่สามารถจะถ่ายเทหรือแบ่งเบา ความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บไปได้     


@@@@@@@

เรื่องที่ ๓. กาล : เวลาที่เสียชีวิต เวลาเป็นสิ่งที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เวลาเป็นสิ่งที่เราสมมติกัน ขึ้นมาก็จริง แต่ก็มีประโยชน์ในการที่เราจะใช้เวลาห์มีคุณค่ามากที่สุด เวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน จากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี วันคืนเคลื่อนคล้อย กาลเวลาก็น้อยลงทุกที

ดังมีปริศนาธรรมปัญหาโบราณ เล่าขานกันมาว่า มียักษ์ตนหนึ่ง มีนัยน์ตา ๒ ข้าง, ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่, มีปาก ๑๒ ปาก, มีฟันไม่มาก ปากละ ๓๐ ซี่, กินสัตว์ทั่วปฐพี
    ถามว่า ยักษ์ตนนี้ชื่ออะไร.? 
    ยักษ์ตนนี้ชื่อ กาลยักษ์ (ยักษ์คือกาลเวลา)
    มีนัยน์ตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่าง หมายถึง เวลากลางวันหรือข้างขึ้น, ข้างหนึ่งริบหรี่ หมายถึง เวลากลางคืนหรือข้างแรม 
    มีปาก ๑๒ ปาก หมายถึง ๑ ปี มี ๑๒ เดือน 
    มีฟันไม่มากปากละ ๓๐ ซี่ หมายถึง ๑ เดือนอย่างน้อยมี ๓๐ วัน 
    กินสัตว์ทั่วปฐพี หมายถึง จะอาศัยอยู่ที่ใด ก็จะถูกกาลยักษ์นี้กลืนกินทั้งหมด

    ดังพระบาลีว่า
    กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา
    แปลว่า กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมกับตัวเอง   

@@@@@

เวลาที่เราจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนั้นน้อยนัก อยู่กันไม่กี่ปีก็จากกันแล้ว พบกันครั้งสุดท้ายอาจจะวันนี้ พรุ่งนี้ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากันอีก ได้พูดคุยกันอีก เวลาตกฟากของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดเวลากลางวัน บางคนเกิดเวลากลางคืน หรือบางคนนั้นขอปรึกษาหารือกับคุณหมอว่า ขอคลอดวันนั้นวันนี้ได้ แต่เวลาเสียชีวิตกลับไม่เป็นเช่นนั้น เสียชีวิตตอนเช้าก็มี ตอนสายก็มี ตอนบ่ายก็มี ตอนเย็นก็มี 

        เห็นหน้าอยู่ เมื่อเช้า สายตาย
        สายอยู่ สุขสบาย บ่ายม้วย
        บ่ายสดชื่น รื่นราย เย็นดับ ชีพแฮ
        เย็นอยู่ หยอกลูกด้วย ค่ําม้วยอาสัญ
   


@@@@@@@

เรื่องที่ ๔. เทหนิกเขปนะ : สถานที่เสียชีวิต สมัยก่อนส่วนมากจะเกิดที่บ้านอาศัยหมอตําแยเป็นผู้ช่วยทําคลอด เพราะว่าโรงพยาบาลอยู่ไกล เดินทางไปไม่สะดวก ปัจจุบันเกิดที่โรงพยาบาล ณ ห้องทําคลอด บางคนตั้งใจไว้ว่า เกิดที่ไหนขอตายที่นั่น ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มฤตยู คือ มัจจุราช พญาความตายเมื่อได้โอกาสได้จังหวะ ก็จะปิดฉากชีวิตได้ทุกที่ ไม่มีโอกาสให้เลือก สุดท้ายสถานีปลายทาง ของชีวิตมาเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลก็ได้ เสียชีวิตที่ห้องไอซียูก็ได้ ขับรถไปทํางานประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตภายในรถก็ได้ โดยสารเรือเรือล้ม โดยสารเครื่องบินเครื่องบินพลัดตกทําให้เสียชีวิต ดังนั้น สถานที่ เสียชีวิตจึงมีได้ทุกที่ไม่ว่าจะบนบก ในน้ําหรือกลางอากาศ

    นตฺถิ โลเก อนามตํ
    แปลว่า สถานที่ที่ไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก


@@@@@@@

เรื่องที่ ๕. คติ : ที่ไปเกิด คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว บางคนได้มีโอกาสทําประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น บางคนก่อกรรมทําชั่วผิดศีลผิดธรรม หลังจากตายจะมีคติเป็นเช่นไร.?

คนที่มีกิเลสเป็นเหตุให้ทํากรรม คือ ทํากรรมดีบ้าง ทํากรรมชั่วบ้าง ก่อนที่จะเสียชีวิตจิตจะยึดเหนี่ยวอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทําให้เกิดในคติ ๕ คือ นรก กําเนิดสัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ และเทวดา หรือที่เรารู้จักกันว่า ภูมิ ๓๑ แบ่งออกเป็น อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๖ อรูปภูมิ ๔   

    กรรมอารมณ์ คือ กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่ทําวิบากปฏิสนธิให้เกิดในภพถัดไป 
    กรรมนิมิตอารมณ์ คือ อารมณ์มีรูป เป็นต้น ที่เคยได้และสิ่งที่เป็นเครื่องอุปกรณ์ในเวลาทํากรรมนั้น เช่น ผ้าไตรจีวรและดอกไม้ที่ได้เคยถวายพระสงฆ์

    คตินิมิตอารมณ์ คือ สิ่งที่พึงด์และสิ่งที่พึงใช้สอยในภพที่จะเกิดขึ้นถัดไป 
    - หากเห็นภาพสวนนันทวัน ภาพวิมาน ภาพหญิงมีครรภ์ เป็นสุคตินิมิต 
    - หากเห็นภาพป่าไม้ ภาพโพรงไม้ ภาพเปลวไฟ ภาพนายนิรยบาล เป็นทุคตินิมิต



อ้างอิง : ไดอารี่อิ่มบุญ เรื่อง มรณสติ (Mindfulness of death) จากเว็บอิ่มบุญ (ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)
สามารถดาวน์โหลด pdf file มรณสติ (Mindfulness of death) ได้ที่
http://imboon.com/pdf/diary/3-mindfulness_of_dealth.pdf
ที่มา :  http://imboon.com/diary.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 29, 2018, 11:14:11 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ระลึกถึงความตาย และ วิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
น เหว ติฏฐํ นาสีนํ สยานํ ปตฺถคุ ํ
ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส กิจฺจกโร สิยา โร น มชฺเชติ


ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักแสดงพระธรรมเทศนา ประดับสติปัญญาของท่านสาธุชนทั้งหลาย เพื่ออุทิศกุศลแก่ท่านผู้ได้ล่วงลับไปแล้ว นับการเวลาผ่านโดยลำดับ

@@@@@@

การบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

อันการบำเพ็ญกุศลเช่นนี้ นับว่าเป็นการอนุวัตรตามประเพณีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยทั่วไปถือว่าเป็นการประกาศคุณความดีของบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน กล่าวคือท่านผู้ล่วงลับไปแล้วฝ่ายหนึ่ง และท่านที่ยังดำรงชีวิตอยู่และมาเป็นเจ้าภาพอีกฝ่ายหนึ่ง

ในส่วนของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว การประกอบพิธีนี้เป็นการประกาศถึงความดีของท่าน ว่าท่านได้เคยกระทำความดีงาม มีอุปการคุณแก่ท่านที่ดำรงชีวิตอยู่ โดยเฉพาะแก่ท่านผู้เป็นเจ้าภาพนั้น จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงคุณความดีนั้นหรืออุปการคุณนั้น แล้วขวนขวายกระทำกิจต่าง ๆ อันพึงกระทำเพื่อระลึกถึงท่าน อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ตามประเพณีนิยมที่ได้สืบกันมาในสังคมและตามหลักของพระศาสนา

ส่วนในฝ่ายของเจ้าภาพที่ได้มาประกอบพิธีนี้ ก็เป็นการประกาศถึงความดีของท่าน ว่าเป็นผู้มีกตัญญูเวทิตาธรรม เมื่อท่านผู้มีอุปการคุณซึ่งได้ทำความดีแก่ตนไว้ ได้ล่วงลับไปแล้ว ก็มิได้นิ่งอยู่เฉย ได้ขวนขวายกระทำกิจที่ควรทำ มีความรำลึกถึงท่านและพยายามแสดงตอบแทน ในเมื่อไม่สามารถจะกระทำได้ด้วยประการอื่น เพราะท่านผู้มีพระคุณได้ล่วงลับไปแล้ว ก็กระทำโดยวิธีการอุทิศส่วนกุศลตามประเพณีนิยมที่ต้องด้วยหลักพระพุทธศาสนา


@@@@@@

การบำเพ็ญกุศลเป็นโอกาสที่จะได้กระทำความดีงาม

แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เป็นเพียงการแสดงความสัมพันธ์และความดีต่อกัน ระหว่างเจ้าภาพกับท่านผู้ล่วงลับไปเท่านั้น การที่พุทธศาสนิกชนแต่โบราณมาได้ตั้งหลักให้มีพิธีกรรมเช่นนี้ขึ้น ก็ย่อมมุ่งหมายเพื่อให้เป็นโอกาสที่จะได้กระทำความดีงาม ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย จุดมุ่งหมายสำคัญของพิธีนั้นก็อยู่ ณ ที่นี้ คือได้อาศัยโอกาสเช่นนี้ กระทำสิ่งที่ดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตัวเจ้าภาพเอง และเป็นคุณประโยชน์แก่สาธุชนทั้งหลายที่ได้เกี่ยวข้องมาร่วมพิธีด้วย สำหรับท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้วนั้น ก็จะได้รับการอุทิศกุศลตามความเชื่อในพุทธศาสนาและประเพณี ให้ท่านได้รับผลแห่งบุญกุศลที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของท่านในภพสืบต่อไป ส่วนทางเจ้าภาพก็ได้ประกอบการบุญการกุศล ได้เป็นโอกาสที่ญาติมิตรผู้หวังดีทั้งหลาย จะได้มาทำบุญทำกุศลร่วมกันงอกงามในคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

@@@@@@

ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ

ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้หาโอกาสทุกอย่างที่จะกระทำสิ่งที่ดีงาม คือเมื่อมีเหตุการณ์อันน่าพึงใจก็ตาม ไม่น่าพึงใจก็ตาม เกิดขึ้น พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้โอกาสนี้ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์เป็นกุศลมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป สำหรับในกรณีนี้ ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ จัดว่าเป็นส่วนอนิฏฐารมณ์ เป็นการพลัดพรากจากกัน แต่ว่าวิสัยของพุทธศาสนิกชนแล้ว แม้จะประสบกับสิ่งที่เป็นอารมณ์อันไม่น่าพึงใจ มีเหตุการณ์อันทำให้เกิดความทุกข์ความโศกเศร้า

แต่ก็ใช้เหตุการณ์ที่โศกเศร้านี้แหละทำสิ่งที่เป็นกุศล เป็นคุณประโยชน์ยิ่งขึ้นทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ตนเองก็ได้บำเพ็ญกุศลทำความดีในทานศีลภาวนามากยิ่งขึ้น ได้ช่วยบำเพ็ญประโยชน์บำรุงพระศาสนา จัดพิธีต่างๆ อันเป็นประโยชน์ ที่จะช่วยให้ท่านผู้มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลได้รับความเจริญงอกงาม ฝึกฝนอบรมสติปัญญาของตนเอง ดังเช่นที่ได้มีพระธรรมเทศนาเช่นนี้ ก็นับได้ว่าเป็นการนำเอาโอกาสหรือเหตุการณ์นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง


@@@@@@

ดูความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

ที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ อันนี้ก็เป็นการกล่าวตามวิสัยของปุถุชนทั้งหลาย คือมนุษย์ปุถุชนนั้น ย่อมวัดสิ่งทั้งหลายไปตามความถูกใจไม่ถูกใจของตนเอง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ เราก็ไม่ชอบ ส่วนสิ่งใดที่เราถูกใจ เราก็ชอบ เราก็อยากให้เกิดให้มีขึ้น แต่ถ้ากล่าวตามเหตุผลที่แท้จริงแล้ว เรื่องความตายนี้ท่านก็จัดอยู่ในคติของธรรมดา คือเป็นเรื่องธรรมดาอย่างหนึ่ง มีเกิดก็ต้องมีตาย คือเกิดมาแล้วก็ต้องตาย หรือที่ตายก็เพราะได้เกิดมาแล้ว ความเกิดกับความตายนั้นเป็นของคู่กัน จะเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และเป็นไปตามกระบวนการเหตุผลหรือเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเกิดก็มีดับ หรือว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปในที่สุด

แต่กระนั้นก็ตามปุถุชนทั้งหลายก็ย่อมปรารถนาในส่วนที่ตนถูกใจ อยากจะเลือกเอาอย่างเดียว คือตามปรกติจะชอบพูดถึงความเกิด เมื่อมีความเกิดขึ้นก็มักจะกล่าวหรือยินดีพูดถึงด้วยความชอบใจ มีความลิงโลดตื่นเต้นกันต่าง ๆ แต่ส่วนความตายนั้นไม่อยากพูดถึงไม่อยากฟังตลอดจนแม้แต่นึกถึงก็ไม่อยาก อันนี้ตรงข้ามกับในทางธรรม

@@@@@@

ความตายเป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ปุถุชน

ในทางธรรมนั้นท่านกลับชอบพูดถึงความตาย ท่านไม่ชอบพูดถึงความเกิดที่คนทั้งหลายชอบหรือปรารถนา เพราะว่าความตายท่านพูดขึ้นมาแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ให้ได้ความคิดในธรรมะ แม้ในโอกาสใดท่านจะพูดถึงความเกิดบ้าง ท่านก็จะพูดในแง่ที่สัมพันธ์กับความตาย เป็นเครื่องเตือนสติเช่นเดียวกัน บางครั้งท่นถึงกับพูดว่า ถ้าจะกลัวตายก็ควรจะกลัวเกิด เพราะว่าในเมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องตาย ในเมื่อไม่อยากตายก็ต้องไม่อยากเกิด การที่พูดอย่างนี้ก็เป็นวิธีการของท่าน ในการที่จะให้เป็นอนุสติเตือนใจมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อจะให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย เมื่อนึกถึงความเกิดแล้วก็มีความดีใจ ก็อาจจะเกิดความมัวเมาประมาท แทนที่จะคิดเร่งขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ความดีงามต่างๆ ก็อาจจะหันไปเพลิดเพลินสนุกสนาน หาแต่ความสุขความปรนเปรอตนเอง และก้ไม่อยากนึกถึงความตาย เพราะจิตใจสลดหดหู่ และทำให้เกิดความท้อแท้ อันนี้ในทางธรรมถือเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง

ทางหลักธรรมท่านจึงสอนให้ระลึกถึงความตาย ทั้งนี้ก็เป็นการพูดทวนกระแสจิตของมนุษย์ แต่มุ่งเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง มุ่งจะให้ยอมรับความจริง และเผชิญหน้าความจริง และแนะวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องคือมิใช่กล่าวเพียงระลึกถึงความตาย แต่ท่านให้ระลึกถึงความตายแล้วแนะวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตายด้วย


@@@@@@

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตาย

มนุษย์ปุถุชนนึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องอย่างไร และในทางพระศาสนาสอนหรือแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร มนุษย์นึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องคือ มีความหวาดหวั่นพรั่นกลัว มีความสลดหดหู่ท้อแท้ หรือจะขยายให้พิสดารต่อไปอีก ก็สัมพันธ์กับบุคคลที่ตายนั้นที่ตนระลึกถึง ถ้าหากระลึกถึงความตายของบุคคลที่ตนเกลียดชัดหรือไม่พอใจ บุคคลที่เป็นศัตรู มนุษย์ปุถุชนก็จะมีความดีใจ

แต่ถ้าหากว่าบุคคลที่ตายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นบุคคลทั่วๆ ไป ก็จะระลึกถึงด้วยความเฉย หรือถ้าจะระลึกถึงตัวความตายนั้น ก็จะมีความหวาดหวั่นพรั่นใจหวาดเสียวหรือมีความสลดหดหู่ท้อแท้

รวมความว่า จิตมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถตั้งอยู่ในความดีงามที่แท้จริงได้ แต่เอนเอียงไปในด้านต่าง ๆ ถึงแม้ถ้าไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น นึกถึงความตายของตนเอง ก็จะมีความหวาดกลัว ความหดหู่ท้อแท้ ดังได้กล่าวมาแล้ว




ระลึกถึงความตายจิตไม่ประมาท

ส่วนในทางพระศาสนานั้น ท่านสอนให้ระลึกถึงความตายเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจตนเอง ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันจะต้องเกิดมีขึ้น เป็นเรื่องสืบต่อไปจากความเกิด ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่ต้องไปกลัว แต่มีข้อที่น่าพิจารณาว่า ความตายนั้นซึ่งเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงเมื่อไรไม่แน่ ชีวิตของคนเราอาจจะสั้นหรืออาจจะยาวไม่มีเครื่องกำหนดให้มองเห็นได้ชัดเจน

เพราะฉะนั้น จึงความใช้เป็นเครื่องเร่งเร้าตนเองให้มีความไม่ประมาท กล่าวคือ ชีวิตนี้มีกิจหน้าที่อะไร ก็ควรเร่งรัดจัดทำ ชีวิตของตนจะมีค่าและความดีงามอย่างไร ก็ควรเร่งขวนขวายประกอบกรรมที่จะให้เป็นอย่างนั้น ให้ชีวิตของตนมีคุณค่า ให้อยู่อย่างมีประโยชน์ และตายไปก็มีคุณค่าเหลือทิ้งไว้ เป็นประโยชน์แก่คนอื่นภายหลังด้วย อันนี้เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา สำหรับให้ระลึกถึงความตาย


@@@@@@

พิจารณาความตายเพื่อให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต

ส่วนในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไป ท่านก็สอนให้พิจารณาถึงความตายนั้น ในฐานะเป็นคติธรรมดาดังได้กล่าวแล้ว แต่ความหมายของคติธรรมดา คือให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต ว่ามีการเริ่มต้นและสิ้นสุด เพื่อจิตใจจะได้ไม่ถูกครอบงำบีบคั้น ด้วยความทุกข์จากความพลัดพราก จากการที่นึกถึงความตายของตนเอง เป็นต้น คือรู้เท่าทันความเป็นไปของธรรมดา แล้วก็มีจิตใจสบายดำรงอยู่ในปกติได้เสมอ

รำลึกถึงความตายด้วยความไม่หวาดหวั่น และเป็นอยู่ด้วยปัญญา คือ การทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้และเข้าใจธรรมดานั้น หมายความว่า อยู่ด้วยความรู้เหตุผล อะไรเป็นสิ่งควรทำก็กระทำไป อะไรเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ควรแก้ไข ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็เป็นคำสอนขั้นสูงขึ้นไปในทางพระศาสนา

@@@@@@

ขั้นตอนการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตาย

สรุปว่าท่าทีการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตายนี้ แสดงถึงความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของมนุษย์เป็น ๓ ขั้นด้วยกัน คือ

ขั้นที่ ๑. มนุษย์ปุถุชนทั่วไป ท่านว่าเป็นปุถุชนที่ยังมิได้สดับ คือยังไม่มีการศึกษา ก็จะระลึกถึงความตายด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัว เศร้าหดหู่ท้อแท้ ระย่อท้อถอย

ขั้นที่ ๒. สูงขึ้นไป เป็นอริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้สดับแล้ว ก็ระลึกถึงความตายโดยเป็นอนุสติ สำหรับตักเตือนใจไม่ให้ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติ ประกอบหน้าที่ คุณงามความดีให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ มีคุณค่า

ขั้นที่ ๓. คือให้รู้เท่าทันความตาย ซึ่งมีคติเนื่องในธรรมดา จะได้มีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความพลัดพรากเป็นต้น มีใจปลอดโปร่งโล่งสบาย และเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่กระทำการไปตามเหตุผล ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย

@@@@

เรื่องท่าทีปฏิบัติเช่นนี้ มิใช่เฉพาะต่อความตายเท่านั้น แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป มนุษย์ก็จะปฏิบัติด้วยท่าที ๓ ประการเหล่านี้ แต่ข้อสังเกตน่าจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ในประการที่ ๒ ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงคำสอนในทางพระศาสนา ว่าให้มนุษย์ขวนขวายเร่งกระทำการต่าง ๆ โดยนำเอาการระลึกถึงความตายนั้นมาเป็นเครื่องเร่งเร้า

มนุษย์ทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ก็อาศัยสิ่งต่าง ๆ เป็นเครื่องเร่งเร้าตัวเองในการกระทำการต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเครื่องเร่งเร้าของมนุษย์นั้นมิใช่เป็นเรื่องคุณธรรมหรืออนุสติ อย่างเช่นในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ หรือมีบ้างก็ปนกันไปกับเครื่องเร้าอย่างอื่น

@@@@

เครื่องเร้าอย่างอื่นที่มีอยู่มาก เป็นไปโดยปกติธรรมดานี้มีอะไร เครื่องเร่งเร้าโดยทั่วไปนั้นก็ได้แก่สิ่งบีบคั้น คือความทุกข์และกิเลสที่อยู่ภายในจิตใจ คือมนุษย์นั้น ที่จะกระทำการต่าง ๆ มีความพยายามอะไรโดยมากนั้น ต้องมีเครื่องเร่งเร้าขึ้นมา แต่เครื่องเร่งเร้านั้นคือเครื่องบีบคั้นนั้นเอง คือมนุษย์ถูกบีบคั้นก็ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ โดยมากไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ เพียงด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญารู้เหตุรู้ผลเท่านั้น แต่ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเข้ามาเช่น มีความกลัว หรือมีปัญหาเข้ามาเร่งรัดตนเอง โดยเฉพาะก็คือเรื่องกิเลสภายในจิตใจ

กิเลสก็คือ ความโลภ ความอยากได้ ก็เป็นเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นในใจให้กระทำการต่างๆ หรือเพราะโทสะ ความโกรธ ความชิงชัง ความต้องการทำลาย ความขัดเคือง ความขัดแย้ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุเร่งเร้าบีบคั้นในใจ ให้กระทำการเพียรพยายามดิ้นรนขวนขวายและโมหะแสดงออกมาในรูปของความกลัว ความหวาดระแวงเป็นต้น ก็เป็นเครื่องบีบคั้น ทำให้ดินรนขวนขวายทำการต่างๆ


@@@@@@

ชนิดแห่งความประมาท

อันนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชนที่เป็นไปโดยมาก แต่ถ้าหากว่าไม่มีกิเลสมาเป็นเครื่องเร่งเร้า ไม่มีเครื่องบีบคั้นมาบีบรัดตนเองแล้ว ปุถุชนก็มักจะตกอยู่ในความนิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ขวนขวายกระทำการต่าง ๆ การที่อยู่ในความนิ่งเฉย ไม่ประกอบกิจที่ควรทำ ไม่ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำนี้ คือลักษณะที่ท่านเรียกว่าความประมาท รวมความว่าเพราะอำนาจกิเลส จึงทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ แต่ในเมื่อไม่มีกิเลสที่บีบคั้น มนุษย์ก็ตกอยู่ในความประมาท ซึ่งก็คืออยู่ในอำนาจของกิเลสเช่นเดียวกัน

แต่กิเลสในที่นี้หมายถึง ความติดในความสุข ความเพลิดเพลินที่มีอยู่สบายแล้วก็เลยไม่ดิ้นรนกระทำการที่ควรทำ เพราะฉะนั้นตกลงว่า ถ้าเป็นปุถุชนโดยสมบูรณ์แล้วก็จะอยู่ด้วยกิเลส ทำการขวนขวายต่างๆ ก็ด้วยกิเลส อยู่เฉย ๆ ก็ด้วยกิเลส ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ความประมาท นี้เป็นขั้นหนึ่ง

@@@@@

เพียรพยายามด้วยคุณธรรม

ในทางธรรมะต้องการให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจ คุณธรรมให้พยายามนำคุณธรรมเข้ามาแทน เข้ามาเป็นเครื่องเร่งเร้ากระตุ้น เช่น เอาความสำนึก เอาศรัทธา ความกรุณาอย่างเช่น การระลึกถึงความตายที่ท่านเรียกว่ามรณานุสติ เป็นต้น มาเป็นเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าใจให้ขวนขวายกระทำการต่าง ๆ มิใช่กระทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และแม้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลสเข้ามาบีบคั้น ก็ให้สามารถขวนขวายทำสิ่งที่ดีงาม อันเป็นการกระทำได้ด้วยคุณธรรมของตนเอง คือมีความไม่ประมาทได้เสมอ

เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ต่างกันในการขวนขวายกระทำความเพียรของปุถุชน กับการปฏิบัติตามคำสอนในทางพระศาสนาก็คือ ฝ่ายหนึ่งนั้นดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจของกิเลส ส่วนในทางธรรม ให้ดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามด้วยอำนาจคุณธรรม นี้เป็นขั้นสอง คืออาศัยการกระตุ้นเตือนเร่งเร้า



   ยังมีต่อ...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 31, 2018, 09:36:00 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
...ต่อจากด้านบน

คติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดา

สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือขั้นรู้เท่าทันธรรมดา เรื่องคติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดานี้ เมื่อนำมาสั่งสอนแก่ปุถุชนก็ก่อปัญหาขึ้นได้อีก คือมนุษย์ปุถุชนนั้น พอจะเห็น พอจะเชื่อ เข้าใจเรื่องความเป็นไปตามธรรมดาได้ พอมองเห็นธรรมดาก็ปรับใจตนเองได้ ใจก็สบาย ที่เคยมีความทุกข์อะไรต่อมิอะไรต่างๆ เช่น ความพลัดพรากจากคนหรือของซึ่งเป็นที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาแล้วไม่สมหวังต่างๆ ที่เคยทำให้ตนเองมีความทุกข์ เป็นเครื่องบีบคั้นให้ดิ้นรนขวนขวายพยายามนั้น พอได้รับคำสอนทางพระศาสนาให้รู้เท่าทันธรรมดาแล้วก็เลยเชื่อ มองเห็นตามก็เลยปรับใจได้ สบายใจ พอสบายใจก็เรียกว่าทุกข์น้อยลงหรือหมดทุกข์

แต่ปัญหาของปุถุชนก็ตามมาอีก ปุถุชนจะไม่ได้อยู่เพียงนั้น พอปรับใจได้ แล้วสบายใจก็หยุด ไม่ดิ้นรนขวนขวายที่จะกระทำกิจที่ควรทำ กลับอยู่นิ่งเฉยเสีย ปัญหาที่แท้จริงก็ไม่ได้แก้ไข ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็มิได้ขวนขวายจะศึกษาให้รู้และเข้าใจ เพื่อจะแก้ไขให้เรียบร้อย ตกลงก็เกิดเป็นโทษได้อีก เพราะฉะนั้น เรื่องของมนุษย์ปุถุชนแล้ว แม้ได้รับคำสอนในทางธรรม ก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักคอยฝึกพยายามที่จะดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ

@@@@

ในที่นี้ มีข้อที่ควรกล่าวแทรกเข้ามาเป็น ๒ เรื่อง คือเรื่องการปรับและการเฉย

    การปรับตัวเอง การปรับมี ๒ อย่าง คือ ปรับภายนอก กับปรับภายใน
    - ปรับภายนอก หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดเป็นปัญหาวุ่นวายภายนอก แล้วเราจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ให้สงบลงได้ก็เรียกว่าปรับภายนอก
    - อีกอย่างหนึ่งคือ ใจของตนเองที่วุ่นวายเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ปรับใจของตนเองได้ด้วยความรู้ความเห็นธรรมดา เรียกว่าการปรับใจหรือการปรับภายใจ

@@@@

มนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะมุ่งไปที่การปรับภายนอก อะไรๆ ก็พยายามจะไปแก้ภายนอกให้เข้ากับที่ตนเองต้องการ เสร็จแล้วระหว่างนั้นก็เกิดความทุกข์ ความเดือนร้อนมาก เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจตัวเอง ที่นี้ พอได้รับคำสอนทางธรรมก็รู้จักหันเข้ามาปรับภายใน คือปรับใจของตนเองได้ ข้างนอกจะเป็นอย่างไรใจก็พอมีความสุข แต่ว่าหากไม่รู้จักความพอดีสมดุล ก็เกิดปัญหาได้ทั้งสองอย่าง คือปรับแต่ภายนอกภายในไม่ปรับก็มีความทุกข์มาก

ถ้าปรับแต่ภายในใจ พอมีความสุข ส่วนข้างนอกไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อยก็เกิดปัญหาต่อไป เรื่องของปุถุชนก็มักจะวนเวียนอยู่สองประการนี้ นี่คือเรื่องของการปรับ เพราะฉะนั้น จะต้องหาความพอดีในระหว่างการปรับสองอย่าง ถ้ากล่าวโดยทั่วไปก็ต้องปรับทั้งสอง


@@@@@@

การเฉยของมนุษย์

เรื่องความเฉย ได้กล่าวว่า บุคคลเมื่อปรับใจตนเองได้ หรือสิ่งต่าง ๆ เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่วุ่นวายก็เฉย ความนิ่งเฉยนี้ในทางพระศาสนากล่าวโดยย่อมีสองอย่าง

อย่างหนึ่งคือ เฉยโดยไม่รู้ เฉยโง่ ๆ ท่านเรียกว่า อัญญาณุเบกขา คือเฉยเรื่อยเปื่อย เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว คือไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็นิ่งเฉย หรือว่าเฉยโดยไม่เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นไป ไม่ได้เกิดจากความรู้ความเข้าใจ อันนี้เป็นความเฉยที่เกิดจากโมหะ หาใช้คุณธรรมไม่ เป็นอุเบกขาขนิดหนึ่ง แต่เป็นอกุศลเรียกว่า อัญญาณุเบกขา

อย่างที่สอง เป็นการเฉยอย่างถูกต้องตามหลักธรรมเป็นโสภณเจตสิก คือความเฉยที่เกิดจากความรู้ หมายความว่ารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ควรจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ก็เลยเฉยไว้ ไม่ตื่นเต้น โวยวาย รอทำไปตามลำดับจังหวะขั้นตอน อันนี้เป็นความเฉยที่ถูกต้องในทางธรรมะ

@@@@

ปุถุชนโดยมากมักจะเฉยแบบที่หนึ่ง คือเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยด้วยโมหะหรืออัญญาณุเบกขา เฉยด้วยความไม่รู้ก็เกิดโทษ ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจ แยกได้ระหว่างเรื่องการปรับสองอย่าง และการเฉยสองอย่างนี้ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เกี่ยวด้วยความประมาทและความไม่ประมาท กล่าวคือเมื่อปรับภายในได้ แต่ว่าไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป ก็เฉยโดยไม่รู้หรือไม่หาความรู้ ไม่ใช่เฉยที่เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็กลายเป็นความประมาท

เรื่องประมาทเช่นนี้ไม่เฉพาะปุถุชนเท่านั้น แม้แต่พระอริยะบุคคลท่านก็กล่าวว่ายังประมาทได้ ตราบใดที่ยังเป็นอริยบุคคลเบื้องต้น คือไม่บรรลุอรหัตตผล พระโสดาบัน พระสกิทาคามี เหล่านี้ล้วนประมาทได้ทั้งสิ้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ประมาท ท่านใช้คำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่สามารถจะประมาทได้

@@@@@@

การเพลิดเพลินในความสุขคือความประมาท

พระโสดาบันนั้น ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่า เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิดความพอใจ เคยมีความทุกข์มากมายก็ไม่มีความทุกข์ หรือทุกข์เหลือน้อยเหลือเกินแล้ว มีความสุขสบายเกิดขึ้นมาก ก็มีความพอใจว่าเราได้เพียรพยายามปฏิบัติธรรมมาได้บรรลุผลสำเร็จเพียงนี้ มีคุณธรรมในตนแล้วอย่างนี้ๆ ได้ละกิเลสแล้วอย่างนี้ๆ ได้ประกอบด้วยธรรมวิเศษอย่างนี้ๆ ก็มีความพอใจเป็นเหตุให้หยุดเฉยอยู่สบายๆ

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นี้เป็นผู้ประมาทแล้ว เพราะไม่ขวนขวายเร่งรัดตนเองในการทำความเพียรเพื่อคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งขึ้นไป ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้ไม่อาจประมาทเพราะอะไร เพราะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ประมาท ได้กล่าวแล้วว่าคนที่ประมาทนั้นเพราะยังมีกิเลส คือจะด้วยปรับใจตนเองได้ หรือด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายยังไม่บีบคั้นก็ตาม ก็มีกิเลสเป็นเหตุให้ติดในความสุข เพลินในความสบาย การที่เพลินติดในความสุขนั่นแหละ เป็นลักษณะของกิเลส คือเกิดจากกิเลส และเป็นตัวที่เรียกว่าความประมาท

@@@@

ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นอยู่ด้วยปัญญา รู้เท่าทันธรรมดาและกระทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดานั้น ขั้นที่หนึ่ง ในใจของท่านเองก็ปรับได้ มีความสุขในทุกสถานการณ์ ขั้นที่สอง การปฏิบัติดำเนินชีวิตของท่านก็คือปฏิบัติไปด้วยความรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยอะไร อะไรจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นปัญหาก็ศึกษาหาเหตุปัจจัยและแก้ไขเสีย ก็ทำให้การปรับภายนอกดำเนินไปได้ หรือรู้จนกระทั่งว่า สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปไม่ได้ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน นี้ก็เป็นเครื่องวัดความแตกต่างเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่ปุถุชนขึ้นมาถึงอริยบุคคล แล้วกระทั่งเป็นพระอรหันต์

ที่นี้ กลับมากล่าวถึงด้านปุถุชนต่อไป สำหรับปุถุชนนั้นเป็นอันว่า ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเร่งเร้ามาช่วยให้ดิ้นรนขวนขวายกระทำการต่าง ๆ แต่เพราะเหตุว่าปุถุชนโดยทั่วไปนั้น คอยอาศัยเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นที่เป็นอกุศล โดยอาศัยความทุกข์บ้าง โดยอาศัยกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงบ้าง ในทางพระศาสนาเห็นว่าเป็นโทษ จึงได้แนะนำในทางที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น คือนำเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้าตนเอง เอาศรัทธามาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง เอามรณสติมาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง ก็ทำให้มนุษย์อยู่ด้วยความดีงอกงามมากขึ้น กระทำสิ่งที่ดีงาม และกระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อกันมากขึ้น

@@@@@@

ปรับปรุงตนเองให้เจริญคุณธรรมเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรจะระลึกไว้ว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้วิธีเร่งเร้าบีบคั้นด้วยความทุกข์เป็นต้น แม้ตลอดด้วยคุณธรรมดังที่กล่าวมาเป็นเครื่องมากระตุ้นตนให้ขวนขวายทำการต่าง ๆ ตราบนั้นโลกมนุษย์ก็ยังไม่มีความปลอดภัย หมายความว่า มนุษย์ยังไม่สามารถเป็นผู้อยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์อย่างแท้จริง การที่ต้องอาศัยสิ่งเร่งเร้ามาเร่งรัดกระตุ้นตนเองให้กระทำการต่างๆนั้น ย่อม

    (๑) มีโอกาสที่จะเกิดความประมาทอยู่เสมอ หมายความว่า ขาดเครื่องกระตุ้นเร่งเร้ามาเมื่อไร ก็จะตกอยู่ในความประมาทอีก
    (๒) การประกอบกรรมทำการต่าง ๆ ของมนุษย์ที่อยู่ด้วยเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าเช่นนั้น จะมีความไม่พอดีอยู่เสมอ มากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง ไม่พอดีที่จะแก้ปัญหา เพราะทำด้วยแรงแต่ขาดความรู้ หรือทำตามความแรงไม่ทำตามความรู้ เพราะฉะนั้น ก็จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนเองบ้าง แก่ผู้อื่นบ้าง อยู่เรื่อยไป

@@@@

ทางพระศาสนาจึงต้องให้มนุษย์ฝึกฝนตนเอง ให้เจริญงอกงามขึ้นไป ในคุณธรรมอยู่เสมอ คือ จะต้องให้พยายามเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นอยู่ด้วยรู้เข้าใจธรรมดา ความรู้เท่าทันธรรมดาแล้วประมาทหรือไม่นี้แหละ เป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่า บุคคลนั้นได้บรรลุคุณธรรมสูงแค่ไหน กล่าวง่ายๆว่า ตามใดที่แม้จะได้รู้เข้าใจธรรมะ รู้เข้าใจธรรมดาดีแล้ว แต่ยังมีความประมาทอยู่

อันนี้แสดงว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างน้อยก็คือยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล อาจได้เป็นอริยบุคคลก็เป็นในชั้นต้น ๆ ย้ำความว่าคนหมดกิเลสแล้ว รู้เท่าทันธรรมดาและทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาแล้ว แต่ทำการด้วยเอาตัวสบายเป็นเกณฑ์ ถ้าตัวสบายแล้ว ก็ไม่ขวนขวายไม่คิดทำ ส่วนคนหมดกิเลสรู้เท่าทันธรรมดา สบายใจแล้ว แต่ถ้าปัญหายังมีก็จะกระทำ มีอะไรควรทำก็ทำเรื่อยไป




อยู่ด้วยการรู้เท่าทันธรรมดาของชีวิต

รวมความว่าพระศาสนานั้น สอนมนุษย์ให้ฝึกตนเอง ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเสมอ เจริญจากขั้นต้นให้ผ่านพ้นความเป็นปุถุชนที่มีแต่ความสลดหดหู่ท้อแท้ใจ มาสู่ความเร่งเร้าตนเองให้ขวนขวายทำความดีต่างๆ ด้วยอาศัยคุณธรรมนำมาเป็นอนุสติเครื่องเตือนใจตนเอง และเจริญถึงขั้นสูงสุดก็คือ ให้อยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดา และทำการด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดานั้นตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งในวิธีการทั้งหมดนั้น สำหรับมนุษย์ปุถุชนได้เน้นในประการที่สอง ซึ่งอยู่ในขั้นท่ามกลาง คือ การใช้คุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้า แต่ในกรณีมรณสตินี้ ทำให้เห็นว่า ท่านใช้ทั้งสองประกอบกัน คือ

ประการหนึ่งก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณารู้เท่าทันธรรมดาด้วย ที่ว่าให้รู้ว่าความตายเป็นของธรรมดา เป็นของคู่กับความเกิด เกิดแล้วก็ต้องมีดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำใจให้สบาย หายจากทุกข์ได้ แต่พร้อมกันนั้นก็ใช้วิธีเร่งเร้าด้วยคุณธรรมด้วยว่า ให้ระลึกไว้ว่า ความตายนั้นเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงวันใดไม่แน่นอน

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ ให้เร่งขวนขวายทำกิจหน้าที่ ความดีต่าง ๆ อันนี้คือหลักที่เราเรียกว่ามรณสติ ซึ่งมรณสติเช่นนี้ ก็มาเข้ากับแนวทางปฏิบัติที่อาตมภาพได้ยกคำสอนในพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นนิกเขปบท คือบทหัวข้อสำหรับอธิบายไว้ ที่ท่านเตือนให้ระลึกถึงความตายและของชีวิตและมีความไม่ประมาท

@@@@

ดังพระบาลีว่า น เหว ติฏบํ นาสีนํ สยานํ น ปตฺถคุ
แปลความว่า อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลายที่ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ก็หาไม่ หมายความว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้อาจจะมีความประมาท ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำอยู่ ปล่อยเวลาผ่านไป แต่ในเวลานั้น ให้เข้าใจเถิดว่า อายุสังขารของเราหาได้ประมาทตามเราไปด้วยไม่ คืออายุสังขารของเราเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง มีความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ และมีความเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันเป็นอยู่ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนแปลงของมันไปไม่หยุดยั้ง เมื่ออายุสังขารเปลี่ยนแปลงไปไปอยู่ในคติธรรมดาอย่างนี้ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรประมาท ไม่ควรนิ่งเฉย

@@@@

ท่านจึงกล่าวต่อไปอีกว่า ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส กิจฺจกโร สิยา นโร น จ มชฺเชติ
แปลความว่า เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรกระทำกินหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท อันนี้คือการที่จะนำเอาความรู้เท่าทันธรรมดานั้น มาใช้ในทางที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์

ทางพระศาสนานั้น กล่าวถึงคติธรรมในทำนองเช่นนี้ ไม่เฉพาะความตายเท่านั้น ได้กล่าวแล้วว่า ความตายเป็นของคู่กับความเกิด และพระศาสนานั้นไม่กล่าวถึงความเกิดมากนัก ถ้ากล่าวก็มักจะกล่าวในทางที่เตือนสติมนุษย์อีกว่า ความเกิดนั้นนำมาหรือนำไปสู่ความตาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความขวนขวายไม่ประมาทเช่นเดียวกัน คือ ถ้าหากพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงความเกิดในทำนองเดียวกับที่สนองความต้องการของมนุษย์ ก็จะเป็นเครื่องยั่วยุมนุษย์ให้มีความมัวเมาประมาทยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น ท่านไม่พยายามที่จะสนองความต้องการนี้ แต่ท่านกล่าวในทางตรงข้าม เพื่อจะเร่งเร้าให้เป็นไปในกระแสที่ไหลไปสู่คุณธรรม และท่านก็จะให้คติเพิ่มต่อไปอีก อย่างพุทธพจน์ในพระธรรมบทคาถาหนึ่ง ที่กล่าวถึงมนุษย์ที่เกิดมา ก็กล่าวถึงในทำนองที่ว่า ให้ขวนขวายในการบำเพ็ญกุศลกรรมอีก

@@@@

ดังบาลีว่า ยถาปิ ปุปผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเฬ พหู เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหํ
แปลความว่า ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกองนี้ นายช่างที่ฉลาดสามารถนำเอามาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม มีคุณค่าฉันใด ชีวิตคนเราที่ได้เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ประกอบกุศลกรรมความดีให้มาฉันนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงความเกิด ก็หมายความว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสในทางที่สองความต้องการให้เกิดความลิงโลดสนุกสนานดีใจ แต่เตือนใจให้มีความไม่ประมาทเช่นเดียวกัน มองความเกิดก็มองในแง่ไม่ประมาท ใช้ชีวิตนี้ทำกุศลทำความดีให้มาก หรือถ้าจะให้มองความตาย ก็มองในแง่ที่จะเร่งเร้าให้ทำความดี ทำประโยชน์เช่นเดียวกัน


@@@@@@

นำโอกาสและเหตุการณ์มาใช้ในการทำให้เกิดคุณประโยชน์

วันนี้ คณะท่านเจ้าภาพผู้เป็นญาติมิตรได้มาร่วมการทำบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านผู้วายชนม์ ด้วยระลึกคุณและมีจิตใจหวังดี ปรารถนาประโยชน์ต่อท่าน แต่คุณประโยชน์และพิธีกรรมนั้นก็มิได้จำกันด้วยคุณค่าเพียงเท่านั้น มีคุณค่าขยายเพิ่มพูนไปแก่ทุกคนที่ได้มาร่วมพิธี ในทางที่เป็นเครื่องเจริญสติ เจริญปัญญาอีกด้วย

อันนี้ก็เท่ากับความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า พุทธศาสนิกชนนั้น เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นเหตุการณ์ที่น่าพึงพอใจก็ตาม ไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สามารถและพยายามนำโอกาสและเหตุการณ์นั้นมาใช้ในการทำให้เกิดขึ้น เกิดประโยชน์ เกิดกุศล มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ท่านผู้วายชนม์ได้ล่วงลับไปแล้ว แม้ตามวิสัยปุถุชน การตายย่อมเป็นธรรมดาที่ไม่น่าปรารถนา เป็นเหตุก่อความทุกข์ ความโศกเศร้าแก่บุคคลผู้เคารพนับถือ ผู้รักใคร่ แต่ในเมื่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ได้เป็นไปแล้ว พุทธศาสนิกชนก็นำมาก่อให้เกิดคุณค่า เกิดประโยชน์ด้วยการบำเพ็ญกุศลตามหลักพระศาสนา

@@@@

ดังปรากฏในที่เฉพาะหน้านี้ ซึ่งคุณประโยชน์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอนุสติและบุญกิริยาต่าง ๆ หมายความว่า ความตายของผู้ล่วงลับนั้นไม่ได้เป็นความตายที่ผ่านไปเพียงเฉพาะตัวท่าน แต่ยังก่อคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่รู้จักระลึกถึงความตายนั้น ด้วยจิตใจที่ถูกด้วยท่าทีที่ชอบด้วย คือทำให้เกิดความไม่ประมาทเร่งขวนขวายทำความดีงาม ตลอดจนความรู้เท่าทันธรรมดา ที่จะทำให้ระงับหาย คลายจากความทุกข์ จากความโศกเศร้านั้น และเกิดคุณค่าด้วยการประกอบบุญกิริยาต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของทาน ศีล ภาวนา

ที่เป็นเรื่องของทานนั้น ก็ด้วยการให้การบริจาค การทำบุญถวายภัตตาหารพระ เป็นต้น ที่เป็นเรื่องของศีลก็ด้วยความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ไม่ล่วงละเมิด ไม่ทำผิดชั่วร้าย อย่างน้อยก็ในระยะเวลาที่ประกอบพิธีนี้ ก็ต้องอยู่ในความประพฤติที่ดีงาม ที่ชอบ และเจริญด้วยภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจและปัญญาของตนเอง ทำให้จิตใจมีความสงบ ความเยือกเย็น เป็นจิตภาวนา ฝึกอบรมจิต ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในคติธรรมดา รู้เข้าใจเท่าทันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี้ก็เป็นปัญญาภาวนา หรือการอบรมปัญญา แม้จะเป็นส่วนเบื้องต้น ก็เป็นคุณค่าที่เป็นประโยชน์อยู่ในแนวทางของพระศาสนา

เพราะฉะนั้น อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาต่อคณะท่านเจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญกุศลในวันนี้โดยทั่วกัน




ที่มา :-
คำเทศนาเรื่อง ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ 17954 โดยคุณ : กอบ [ ตอบ: 17 ธ.ค. 48 21:22 ]
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-prayuth/lp-prayuth-29.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 31, 2018, 10:03:41 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"มรณานุสสติกถา" จากวิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: เมษายน 01, 2018, 08:26:22 am »
0


มรณานุสสติกถา

บัดนี้ ถึงวาระแสดงการเจริญมรณสติต่อจากเทวตานุสสตินี้ไป ในมรณสตินั้น คำว่า มรณะ ได้แก่ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ที่เนื่องอยู่ในภพอันเดียว
     - ก็สมุจเฉทมรณะ กล่าวคือ ความขาดสูญแห่งวัฏฏทุกข์ของพระอรหันต์ทั้งหลาย
     - ขณิกมรณะ กล่าวคือ ความแตกดับชั่วขณะแห่งสังขารทั้งหลาย และ
     - สมมติมรณะ ได้ในคำว่า ต้นไม้ตาย โลหะตาย ดังนี้เป็นต้น
มรณะทั้ง ๓ อย่างนั้น ไม่ประสงค์เอาในมรณะสตินี้

ก็แหละ มรณะที่ประสงค์เอานั้นมี ๒ อย่างคือ กาลมรณะ ๑ อกาลมรณะ ๑ ในมรณะ ๒ อย่างนั้น
   - กาลมรณะ ย่อมมีด้วยการสิ้นบุญ หรือการสิ้นอายุ หรือด้วยการสิ้นทั้ง ๒ อย่าง
   - อกาลมรณะ ย่อมมีด้วยอำนาจกรรม ที่เข้าตัดรอนกรรม

@@@@@@@

ในมรณะเหล่านั้น ก็มรณะใดเมื่อความพร้อมมูลแห่งปัจจัยที่เป็นเหตุสืบต่ออายุยังมีอยู่ ก็ย่อมมีได้ เพราะความที่กรรมอันเป็นเหตุต่อปฏิสนธิ มีวิบากสุกงอมสิ้นเชิงแล้ว นี้ชื่อว่า มรณะด้วยการสิ้นบุญ

มรณะใดย่อมมีด้วยการสิ้นอายุซึ่งมี ๑๐๐ ปีเป็นกำหนดเหมือนอายุของคนทุกวันนี้ เพราะไม่มีสมบัติ คือ คติ, กาล และอาหาร เป็นต้น นี้ชื่อว่า มรณะด้วยการสิ้นอายุ

ส่วนมรณะใดย่อมมีแก่เหล่าสัตว์ผู้มีสันดานอันกรรม ที่สามารถจะให้เคลื่อนจากฐานในทันทีเข้ามาตัดรอน เหมือนอย่างทุสิมารและกลาพุราช เป็นต้น หรือย่อมมีแก่เหล่าสัตว์ผู้มีสันดานขาดไปด้วยความพยายาม มีการนำศัสตรามา(ประหาร) เป็นต้น ด้วยอำนาจกรรมปางก่อน นี้ชื่อว่า อกาลมรณะ

มรณะทั้งหมดนั้น สงเคราะห์ด้วยความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ การระลึกถึงมรณะ กล่าวคือ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า มรณสติ

@@@@@@@

อันพระโยคาวจรผู้ประสงค์จะเจริญมรณสตินั้น ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ พึงให้มนสิการเป็นไปโดยแยบคายว่า มรณะจักมี ชีวิตินทรีย์จักขาด หรือว่า ตาย ตาย ดังนี้ เพราะว่า
   เมื่อพระโยคาวจรยังมนสิการให้เป็นไปโดยไม่แยบคาย เวลาระลึกถึงความตายของคนที่ชอบกันจะเกิดความโศกเศร้า ดุจเวลามารดาผู้บังเกิดเกล้าระลึกถึงความตายของบุตรที่รักฉะนั้น
   เวลาที่ระลึกถึงความตายของคนที่ไม่ชอบกันจะเกิดความปราโมทย์ ดุจคนมีเวรกันระลึกถึงความตายของคนที่มีเวรกันฉะนั้น
   เวลาระลึกถึงความตายของคนที่เป็นกลางๆ จะไม่เกิดความสลดใจ ดุจสัปเหร่อเห็นซากคนตายฉะนั้น
   เวลาระลึกถึงคามตายของตนจะเกิดความสะดุ้งหวาดกลัว ดุจคนที่มีชาติขลาดเพราะเห็นเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบฉะนั้น
   ความเกิดขึ้นแห่งความโศก เป็นต้น แม้ทั้งหมดนั้น ย่อมมีแก่ผู้ปราศจากสติ, ความสังเวช และญาณ

   เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรเห็นสัตว์ที่ถูกฆ่าตายและตายเองในที่นั้นๆแล้ว พึงพิจารณาถึงความตายของหมู่สัตว์ที่ตายไปซึ่งที่เป็นสมบัติที่ตนเคยเห็นมา ประกอบสติ, ความสังเวช และญาณ แล้วยังมนสิการให้เป็นไปโดยนัยมี อาทิว่า มรณํ ภวิสฺสติ ความตายจักมี ดังนี้

   ด้วยว่าพระโยคาวจรเมื่อให้มนสิการเป็นไปอย่างนั้น ชื่อว่าให้เป็นไปโดยแยบคาย อธิบายว่าให้เป็นไปโดยอุบาย จริงอยู่สำหรับพระโยคาวจรบางพวกที่ยังมนสิการให้เป็นไปอยู่อย่างนั้นนั่นแล นิวรณกิเลสทั้งหลายย่อมระงับลง สติมีมรณะเป็นอารมณ์ย่อมตั้งมั่น กัมมัฏฐานขึ้นถึงอุปจารฌานทีเดียวก็เป็นได้


@@@@@@@

ส่วนพระโยคาวจรผู้ไม่มีกัมมัฏฐานถึงอุปจารฌานด้วยอาการเพียงเท่านี้ พึงระลึกถึงความตายโดยเวลา ๘ อย่างเหล่านี้ คือ
    ๑. โดยปรากฏเหมือนเพชฌฆาต
    ๒. โดยวิบัติจากสมบัติ
    ๓. โดยนำมาเปรียบเทียบ
    ๔. โดยเป็นกายสาธารณะแก่หมู่หนอนจำพวกมาก
    ๕. โดยอายุทุพลภาพ
    ๖. โดยไม่มีเครื่องหมาย
    ๗. โดยมีกำหนดระยะกาล
    ๘. โดยมีขณะเล็กน้อย



ขอบคุณที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๘_อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ_หน้าที่_๑_-_๕
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"มรณานุสสติกถา" จากวิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: เมษายน 01, 2018, 08:36:50 am »
0
มรณานุสสติ จากวิสุทธิมรรค
โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)

อธิบาย โดยไม่มีเครื่องหมาย

คำว่า "โดยไม่มีเครื่องหมาย" อธิบายว่า โดยความไม่มีขอบเขตกำหนด จริงอยู่ สภาวธรรม ๕ ประการนี้ คือ
    ชีวิต ๑ พยาธิ ๑ กาลเวลา ๑ สถานที่ทอดทิ้งกาย ๑ คติ ๑
    ของเหล่าสัตว์ในชีวโลก ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้.

    ในสภาวธรรม ๕ ประการนั้น

    - ธรรมดาว่าชีวิต ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดว่า จะพึงเป็นอยู่เท่านี้ปี ไม่เกินจากนี้ไปได้ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมตายเสียแต่ในเวลาแรกเกิด เป็นกลละน้ำขุ่นก็มี ในเวลาเป็นอัมพุทะน้ำที่ใส เป็นชิ้นเนื้อเป็นแท่งอยู่ในครรภ์ได้ ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๕ เดือน ๑๐ เดือนก็มี ในสมัยที่คลอดจากท้องก็มี เลยนั้นไปย่อมตายภายในร้อยปีบ้าง เกินร้อยปีไปบ้าง อย่างแน่แท้

   - แม้พยาธิ ก็ชื่อว่า ไม่มีเครื่องหมาย เพราะความไม่มีกำหนดว่า สัตว์ทั้งหลายจะต้องตายด้วยความเจ็บป่วยชนิดนี้เท่านั้น จะไม่ตายด้วยความเจ็บป่วยชนิดอื่น ด้วยว่า สัตว์ทั้งหลายตายด้วยโรคตาก็มี ตายด้วยโรคหูเป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่งก็มี

   - แม้กาลเวลา ก็ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า จะต้องตายในเวลานี้เท่านั้น ไม่ตายในเวลาอื่น ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายตายในเวลาเช้าก็มี ตายในเวลาเที่ยงเป็นต้นเวลาใดเวลาหนึ่งก็มี

   - แม้สถานที่ทอดทิ้งกาย ก็ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อจะตายจะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในที่นี้เท่านั้น ไม่ทอดทิ้งไปในที่อื่น ด้วยว่าอัตภาพของบุคคลซึ่งเกิดภายในบ้านตกอยู่นอกบ้านก็มี ของผู้ที่เกิดนอกบ้านตกอยู่ภายในบ้านก็มี โดยประการนั้น บัณฑิตพึงให้พิสดารโดยประการเป็นอันมาก อัตภาพของเหล่าสัตว์ที่เกิดบนบกตกไปในน้ำ หรืออัตภาพของสัตว์ที่เกิดในน้ำตกไปบนบก ดังนี้ เป็นต้น

   - แม้คติ ก็ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า อันสัตว์ที่จุติจากคตินี้แล้ว จะต้องไปบังเกิดในคตินี้ ด้วยว่า สัตว์ทั้งหลายจุติจากเทวโลก แล้วไปบังเกิดเป็นพวกมนุษย์ก็มี จุติจากมนุษย์โลกแล้วไปบังเกิดในเทวโลก เป็นต้น โลกใดโลกหนึ่งก็มี ชาวโลกย่อมหมุนเวียนไปในคติทั้ง ๕ เหมือนโคที่เราเทียมไว้ในยนต์ ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้แล

    พึงระลึกถึงความตายโดยไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ดังที่ว่ามานี้แล.



ขอบคุณที่มา...
https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๘_อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ_หน้าที่_๖_-_๑๐
https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๘_อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ_หน้าที่_๑๑_-_๑๕
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 01, 2018, 08:41:46 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"มรณานุสสติกถา" จากวิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: เมษายน 01, 2018, 08:53:09 am »
0


มรณานุสสติ จากวิสุทธิมรรค
โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)

อธิบาย โดยมีกำหนดระยะกาล

คำว่า โดยมีกำหนดระยะกาล อธิบายว่า ระยะกาลแห่งชีวิตมนุษย์ทั้งหลายในบัดนี้น้อยนัก ผู้ใดเป็นอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือเลย(๑๐๐ปี)ไปบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก พวกเขาจำต้องไปยังสัมปรายภพ พวกเขาควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี ผู้ใดเป็นอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ปี หรือเกิน (๑๐๐ปี) ก็มีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย"

อายุของมนุษย์นี้น้อยนัก สัตบุรุษพึงดูหมิ่นอายุนั้นเสีย พึงรีบประพฤติความดี ดังคนมีศีรษะถูกไฟไหม้เพราะความตายจะไม่มาถึงย่อมไม่มี ทรงตรัสไว้อีกว่า
    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีศาสดาชื่อว่าอรกะ ดังนี้ เป็นต้น"


    @@@@@@@

    บัณฑิตพึงยังพระสูตรทั้งหมดอันประกอบด้วยอุปมา ๗ ข้อให้พิสดาร ตรัสไว้อีกสูตรหนึ่งว่า

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วคืน ๑ และวัน ๑ เราพึงกระทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี"

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราพึงเป็นอยู่ชั่วระยะเวลากลางวัน เราพึงทำไว้ในใจถึงคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจแห่งบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ของตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี"

    @@@@

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราพึงเป็นอยู่ชั่วระยะเวลาที่เราบิณฑบาตครั้งหนึ่ง เราพึงทำไว้ในใจซึ่งคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี"

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราเป็นอยู่ชั่วระยะเวลาที่เราเคี้ยวคำข้าว ๔ – ๕ คำแล้วกลืนกิน เราพึงทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกิจทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี"

    @@@@

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรายังเรียกว่าเป็นผู้ยังประมาทอยู่ เจริญมรณะสติยังชักช้าเพื่อธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ดังนี้ก็ดี"

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้ที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอ ที่เราพึงเป็นอยู่ชั่วระยะเคี้ยวอาหารกลืนลงไปได้คำเดียว เราพึงทำไว้ในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี"

     @@@@

    "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอ ที่เราพึงเป็นอยู่ ชั่วระยะเวลาหายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ของตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี"

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ พวกเธอย่อมเจริญมรณสติเข้มแข็งเพื่อธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ดังนี้"

    @@@@@@@

ระยะกาลแห่งชีวิตน้อยนัก ไม่น่าไว้วางใจเพียงชั่วเคี้ยวคำข้าว ๔-๕ คำอย่างนี้แล พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยมีกำหนดระยะกาล ด้วยประการฉะนี้.



ขอบคุณที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๘_อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ_หน้าที่_๑๑_-_๑๕ 
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อานิสงส์ของมรณานุสติ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: เมษายน 02, 2018, 07:55:28 am »
0


วิธีเจริญมรณานุสติ

เมื่อจะเจริญมรณานุสติ ควรปลีกตัวออกไปอยู่ในที่สงัด และส่งจิตไปจดจ่ออยู่กับอารมณ์นั้น โดยคิดถึงความตายที่จะเกิดขึ้น และชีวิตของเราจะจบสิ้นลง ในการระลึกถึงความตาย ต้องให้มีสติกำกับตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีความสลดใจและเข้าใจ โดยความตายที่ระลึก ถึงนั้น ท่านกล่าวถึงลักษณะการระลึกถึงไว้ดังนี้

    1. มรณานุสติที่เกี่ยวเนื่องด้วยทุกข์กังวล เช่น ความโศกเศร้าที่เกิดแก่มารดาเพราะระลึกถึงความตายของบุตรอันเป็นที่รัก
    2. มรณานุสติที่เกี่ยวเนื่องด้วยความกลัว เช่น การระลึกถึงความตายที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันของบุตร
    3. มรณานุสติที่เกี่ยวเนื่องด้วยอุเบกขา เช่น การระลึกถึงความตายของสัปเหร่อที่ เคยชินกับความตายจนวางเฉย ไม่รู้สึกสลดหรือสังเวชใจ
    4. มรณานุสติที่เกี่ยวเนื่องด้วยปัญญา เช่น เมื่อระลึกถึงความตายแล้วเห็นว่าเป็นธรรมชาติของชีวิต เกิดความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด

มรณานุสติที่ควรปฏิบัติ คือ มรณานุสติที่เกี่ยวเนื่องด้วยปัญญาเท่านั้น เพราะ มรณานุสติ อย่างอื่นไม่สามารถกำจัดทุกข์ได้ เนื่องจากมีแต่ความเกรงกลัว กังวลใจ ทุกข์ใจ หรือเห็นความตายแล้ววางเฉย ไม่ปลงธรรมสังเวช จึงไม่ควรนำมาพิจารณา

@@@@

วิธีการเจริญมรณานุสติ ไม่ใช่เพียงบริกรรมภาวนาว่า “ตายๆ ๆ ๆ” โดยไม่ได้กำหนด พิจารณา แต่ต้องพิจารณาว่า ความตายเป็นสิ่งที่ต้องประสบอย่างแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวเราก็จะต้องตาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วย วิชชาและจรณะ หรือพระโมคคัลลาน-เถระผู้ทรงฤทธิ์ พระมหาจักรพรรดิผู้ทรงอำนาจ ก็ยังไม่มีใครรอดพ้นความตายไปได้ เราเองก็ไม่รอดพ้นไปได้เช่นกัน ชีวิตนั้นไม่มีนิมิตหมายว่า จะตายเมื่อไร เป็นโรคอะไรตาย ตายในเวลาใด ตายในสถานที่ใด ไม่มีใครรู้ได้ คนที่จะอายุยืนถึง 100 ปี มีน้อยนัก

จึงไม่ควรจะประมาทมัวเมา ในชีวิต ควรจะขวนขวายหาทางดับทุกข์ให้สำเร็จพระนิพพาน เหมือนคนที่ไฟไหม้ศีรษะต้อง หาทางดับไปให้ได้โดยเร็ว ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

ผู้ที่เจริญมรณานุสติบางท่านเมื่อได้พิจารณาไปดังที่กล่าวมา นิวรณ์ย่อมระงับ สติที่มีมรณะเป็นอารมณ์ย่อมตั้งมั่น สมาธิย่อมได้ถึงระดับอุปจารสมาธิ


@@@@@@@

การระลึกถึงความตาย 8 อย่าง

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำให้อุปจารสมาธิเกิดได้ด้วยการพิจารณาเพียงเท่านี้ ให้ระลึกถึง ความตายโดยอาการ 8 อย่าง คือ
    1. วธกปจฺจุปฏฺฐานโต โดยปรากฏดุจเพชฌฆาต
    2. สมฺปตฺติวิปตฺติโต โดยวิบัติแห่งสมบัติ
    3. อุปสํหรณโต โดยเปรียบเทียบ
    4. กายพหุสาธารณโต โดยร่างกายเป็นสาธารณแก่สัตว์และปัจจัยแห่งความตายมากชนิด
    5. อายุทุพฺพลโต โดยอายุเป็นของอ่อนแอ
    6. อนิมิตฺตโต โดยชีวิตไม่มีนิมิต
    7. อทฺธานปริจฺเฉทโต โดยชีวิตมีกำหนดกาล
    8. ขณปริตฺตโต โดยชีวิตมีขณะสั้น

@@@@@@@

ขั้นแห่งความสำเร็จของการระลึกถึงความตาย

เมื่อนักปฏิบัติระลึกถึงความตายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 8 อย่างดังกล่าวมานี้ ขั้นแห่งความสำเร็จ คือ ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตาย ที่เรียกว่า มรณสัญญา ก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น มี 8 ประการ คือ

    1. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ประมาณแค่วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง (คือ 24 ชั่วโมง) เท่านั้น
    2. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ประมาณแค่วันหนึ่ง (คือ 12 ชั่วโมง) เท่านั้น
    3. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ประมาณเพียงครึ่งวัน (คือ 6 ชั่วโมง) เท่านั้น
    4. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ชั่วเวลากินข้าวอิ่มหนึ่งเท่านั้น
    5. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่าชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ชั่วครึ่งเวลา กินข้าวอิ่มหนึ่งเท่านั้น
    6. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่าชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ชั่วเวลากินข้าวได้เพียง 4 หรือ 5 คำเท่านั้น
    7. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่าชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งเท่านั้น
    8. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีก ชั่วระยะเวลาหายใจเข้าออกเท่านั้น

ผู้ที่เจริญมรณานุสติเห็นว่า ชีวิตสิ้นสุดที่ความตาย ก็จะคิดว่า ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะไม่ประมาท พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญผู้ที่เจริญมรณานุสติ หรือระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกว่า เป็นผู้ไม่ประมาท จะเป็นผู้สิ้นกิเลสอาสวะได้เร็วไว


@@@@@@@

อานิสงส์ของผู้ที่เจริญมรณานุสติ

    1. ทำให้เป็นผู้ขวนขวายในกุศลธรรม สนใจใฝ่ใจในธรรมชั้นสูง
    2. ทำให้เป็นผู้ไม่ชอบความชั่ว หลีกเลี่ยงความชั่ว
    3. ทำให้ไม่สั่งสมเสื้อผ้า เครื่องประดับหรือสิ่งของที่เกินความจำเป็น
    4. ทำให้ไม่ตระหนี่หวงแหนข้าวของเครื่องใช้
    5. ทำให้มีอายุยืน
    6. ทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
    7. ทำให้เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจสัญญา)
    8. ทำให้เห็นความคงอยู่ไม่ได้ (ทุกขสัญญา)
    9. ทำให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตสัญญา)
   10. ทำให้อยู่เป็นสุข
   11. ทำให้ไม่กลัวตาย
   12. ทำให้ไม่หลงสติในเวลาตาย
   13. หากยังไม่สำเร็จพระนิพพานก็จะไปสู่สุคติ



ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ : MD 306 สมาธิ 6 - สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี ,บทที่ 3 มรณานุสติ
ที่มา : http://book.dou.us/doku.php?id=md306:3
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ