ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ความเชื่อเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มีคุณค่าต่อสังคมไทย  (อ่าน 3489 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ความเชื่อเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มีคุณค่าต่อสังคมไทย

บุพเพสันนิวาสนั้น คนส่วนมากเข้าใจกันว่า เป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นเนื้อคู่กัน เป็นคู่รักกันมาในชาติปางก่อน จนกระทั่งพจนานุกรมให้ความหมายว่า “บุพเพสันนิวาส คือ การเคยเป็นเนื้อคู่กัน การเคยอยู่ร่วมกันในชาติก่อน”(๑)

และนักประพันธ์เพลง ได้ประพันธ์ว่า
“เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้ ถ้าเคยทำบุญร่วมไว้ ถึงจะยังไงก็ต้องเจอะกัน เขาเรียกบุพเพสันนิวาสสร้างสรรค์ คงเคยตักบาตรร่วมขัน สร้างโบสถ์ร่วมกันไว้เมื่อชาติก่อน…เพราะว่าบุพเพสันนิวาส เรียกหา พี่จึงมั่นใจแน่นหนาว่าขวัญชีวาคงไม่ตัดรอน”(๒)

และ “สบตาเธอคนนี้ ไม่รู้ฉันเป็นอย่างไร เธอตราตรึงในฝัน ดั่งแสงจันทร์อันสดใส ห่างไกลยังเฝ้ารอ ใกล้กันฉันก็หวั่นไหว เหลียวมองจันทร์ ต้องทำให้คิดถึงเธอ ไม่ว่าอยู่แห่งไหน ดั่งเรามีสายใยผูกพัน ใจไม่เคยเปลี่ยนผันจากเธอคนนี้ ฟ้าดินแยกเราเท่าไรไม่ขาด ภพชาติพรากเราห่างกันไม่ได้ เมื่อบุพเพสันนิวาสมั่นหมายให้เจอ ผู้ใดเข้ามาไม่เคยไหวหวั่นเหมือนใจฉันเกิดมาเพื่อเป็นของเธอ รอวันพบเจอ เคียงข้างรักเธอนิรันดร์…”(๓) เป็นต้น


@@@@@@

ในพระพุทธศาสนา มีหลักคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ ซึ่งปุถุชนผู้ยังมีกิเลสจะต้องตายและเกิด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบผู้ที่ถามถึงสิ่งที่ทำคนให้เกิดว่า “ตัณหาย่อมทำให้คนเกิด”(๔)

    บุคคลผู้ยังมีกิเลสย่อมตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
    “โครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูก ของบุคคลคนหนึ่ง ผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปตลอด ๑ กัป ถ้านำกระดูกนั้นมากองรวมกันได้ และกระดูกที่กองรวมกันไว้ไม่สูญหายไป พึงใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละ”(๕)

จากพระพุทธพจน์นี้ หมายความว่าในระยะเวลา ๑ กัปนั้น บุคคลคนเดียวผู้ที่ยังมีกิเลสเกิดตายหลายร้อยหลายพันชาติ นับเป็นแสนๆ ชาติ

     การเกิดเป็นมนุษย์นั้นมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ต้องมีบิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิด(๖)
     การที่มนุษย์เกิดเป็นญาติกันในแต่ละชาติ เรียกว่า บุพเพสันนิวาส คือ เคยเกิดร่วมกันในชาติปางก่อน
     ในพระพุทธศาสนากล่าวว่า บุพเพสันนิวาส มิใช่หมายถึงว่าเคยเกิดเป็นคู่ครองกันอย่างเดียว แต่หมายถึงเคยเกิดเป็นบิดามารดา บุตรธิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาวกัน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
    “ผู้ไม่เคยเป็นมารดา ผู้ไม่เคยเป็นบิดา ผู้ไม่เคยเป็นพี่ชายน้องชาย ผู้ไม่เคยเป็นพี่สาวน้องสาว ผู้ไม่เคยเป็นบุตร ผู้ไม่เคยเป็นธิดา โดยกาลนานนี้มิใช่หาได้ง่าย” (๗)

@@@@@@

จากพระพุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนที่เกิดมาต้องเคยเกิดเป็นมารดาบิดา ญาติพี่น้องกันมาในชาติปางก่อน ดังเรื่องที่พราหมณ์เฒ่าและนางพราหมณีชาวเมืองสาเกต ทึกทักว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ให้บุตรและธิดาทั้งหลายไหว้พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นพี่ชาย พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับ

    ภิกษุทั้งหลายพากันวิจารณ์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า
    พระองค์เป็นบุตรและเป็นญาติของพราหมณ์เฒ่ากับนางพราหมณี ๓ พันชาติ(๘)
    บุคคลผู้ที่เคยเป็นมารดาบิดาเป็นบุตรกัน เมื่อเทียบกับจำนวนหญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีป จำนวนของเหล่านั้นพึงหมดสิ้นไป(๙)

ที่พราหมณ์เฒ่ากับนางพราหมณี มีความรักในพระพุทธเจ้าดุจเป็นบุตรของตน ก็เพราะสายใยแห่งความสัมพันธ์แห่งการที่ตนเคยเกิดเป็นญาติกับพระพุทธเจ้ามาในอดีตชาติติดเนื่องมา พอมาพบพระพุทธเจ้าก็เกิดความคุ้นเคย เกิดความรักชอบพอ ความรักสนิทสนมกันนั้น เพราะการเกิดร่วมกันในชาติปางก่อนเป็นเหตุ ดังพุทธภาษิตว่า

    “ความรักนั้นเกิดด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ
    (๑) ด้วยการอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน
    (๒) ด้วยการเกื้อกูลกันและกันในปัจจุบัน”(๑๐)


@@@@@@

การที่มนุษย์จะเกิดร่วมกันในแต่ละชาตินั้น ตามหลักทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่มนุษย์พึงประพฤติอย่างสม่ำเสมอ จึงจะส่งผลให้มนุษย์เกิดร่วมชาติเป็นญาติพี่น้องกันได้ ดังเรื่องที่นกุลบิดากับนกุลมารดาประสงค์จะเกิดพบกันทุกชาติ

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักธรรมที่จะทำให้มนุษย์เกิดพบกันในทุกชาติ คือ บุคคลผู้ปรารถนาจะเกิดร่วมกันในทุกชาติ ต้องเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล มีการบริจาค มีปัญญาเสมอกัน(๑๑)

บุพเพสันนิวาสนั้นเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา ถ้อยคำก็เป็นภาษาทางพระพุทธศาสนาแต่มีอิทธิพลและคุณค่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในสังคมไทย จากพื้นฐานของมนุษย์ผู้ที่ยังมีกิเลสย่อมรักและปรารถนาดีต่อบุคคลที่เป็นวงศาคณาญาติและมิตรสหายที่ตนชอบ และจะเบียดเบียนผู้อื่นที่ตนไม่ชอบ เนื่องจากการกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ทั้งที่ทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ แต่ก็ยังทำร้ายซึ่งกันและกัน จนฝ่ายตรงข้ามต้องสูญเสียชีวิต เหตุการณ์ดังที่กล่าวนี้ เป็นอยู่ทั่วทั้งโลก ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะมนุษย์ในโลก ไม่มีความรู้สึกว่า คนที่ตนเบียดเบียนนั้น เคยเกิดเป็นญาติของตนในชาติก่อนๆ

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ในเรื่องบุพเพสันนิวาสนี้จนเข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว มนุษยโลกจะมีความรู้สึกเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย ไม่เบียดเบียนกัน เหตุการณ์ที่บุคคลไม่พึงปรารถนาหลายอย่างจะลดลง จะเกิดความสงบเรียบร้อย สังคมเกิดสันติสุขตลอดไป


บทความโดย : ดร.สุภามาศ โพธิ์ทอง
[๑] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, (กรุงเทพมหานคร : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้น, ๒๕๔๖), หน้า ๖๓๑.
[๒] บทเพลงชื่อ บุพเพสันนิวาส  ประพันธ์โดย นายไพบูลย์ บุตรขัน.
[๓]  บทเพลงชื่อ บุพเพสันนิวาส  ประพันธ์โดย นายวิเชียร ตันติพิมลพันธ์.
[๔] ดูรายละเอียดใน สํ. ส. (ไทย) ๑๕/๕๕/๖๙.
[๕] ดูรายละเอียดใน สํ. นิ. (ไทย) ๑๖/๑๓๓/๒๒๓.
[๖] ดูรายละเอียดใน ม. มู. (ไทย) ๑๒/๔๐๘/๔๔๔.
[๗] ดูรายละเอียดใน สํ. นิ. (ไทย) ๑๖/๑๓๗-๑๔๒/๒๒๗-๒๒๙.
[๘] องฺ.จตุกฺก.อ.  (บาลี) ๒/๕๕-๕๖/๓๕๐, ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๖/๒๗๖ –๒๗๘.
[๙] ดูรายละเอียดใน สํ. นิ. (ไทย) ๑๖/๑๒๔/๒๑๕.
[๑๐] ขุ. ชา. (ไทย)  ๒๗/๑๗๔/๑๑๑.
[๑๑] องฺ. จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๕๕/๙๓-๙๔.

ขอบคุณที่มา : https://www.phuttha.com/คลังความรู้/บทความวิชาการ/ความเชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาส 
โดย ณิชชา จุนทะเกาศลย์ , 4 เมษายน 2561
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ