ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ผู้นำความคิดมะกัน สนใจนำ "ปรัชญาพุทธ" เป็นหลักดำเนินชีวิต  (อ่าน 1053 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ผู้นำความคิดมะกัน สนใจนำ "ปรัชญาพุทธ" เป็นหลักดำเนินชีวิต

สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตันร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ สถาบันสมิธโซเนียน และศูนย์เจริญจิตภาวนาประจำกรุงวอชิงตัน (ไอเอ็มซีดับเบิลยู) นิมนต์พระสายวัดป่าจำนวน ๖ รูป ได้แก่ พระราชสุเมธาจารย์ (สุเมโธ ภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอมราวดี สหราชอาณาจักร  พระโพธิญาณวิเทศ (พระอาจารย์ปสันโน) เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  พระอาจารย์วีรธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าติสรณะ ประเทศแคนาดา  พระอาจารย์ชยันโต เจ้าอาวาสวัดเชตวัน มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ พระอาจารย์อโศโก และพระอาจารย์โมเช่จากวัดป่ารัตนวัน

มาบรรยายธรรมและการเจริญจิตภาวนาแก่สมาชิกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐสภาสหรัฐฯ คณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่สถาบันสมิธโซเนียน และคณะครูผู้สอนการปฏิบัติสมาธิและการเจริญจิตภาวนาของศูนย์เจริญจิตภาวนาประจำกรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ ๒๙ มิถุนายน – ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

โดยเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ คณะพระสงฆ์ ๔ รูปที่เดินทางถึงก่อนนำโดยพระราชสุเมธาจารย์ (พระอาจารย์สุเมโธ) พร้อมด้วยพระอาจารย์ชยันโต พระอาจารย์อโศโกและพระอาจารย์โมเช่ ได้สนทนาธรรมและกล่าวถึงการเจริญสติและการทำสมาธิ โดยพระอาจารย์สุเมโทกล่าวถึงสังคมอเมริกันและสังคมตะวันตกที่เติบโตมาว่าพัฒนาอย่างมากด้านวัตถุ และก้าวล้ำจนสามารถเดินทางไปอวกาศได้ แต่ในส่วนภายในจิตใจทั้งที่ใกล้ตัวที่สุดและควรทำความเข้าใจให้มากที่สุด สังคมตะวันตกกลับเข้าไม่ถึง และเมื่อพยายามเข้าถึงก็พบกับอุปสรรค จึงนับเป็นโอกาสที่การบรรยายธรรมจะทำให้ผู้ฟังเข้าถึงบางส่วนและนำกลับไปฝึกฝนและพัฒนาการตนต่อไป


@@@@@@

พระอาจารย์สุเมโธกล่าวถึงการมีสติว่าเป็นการรู้เท่าทันความคิดและอยู่กับขณะปัจจุบัน การพะวงกับตนเองและปัจจัยรอบตัวมากทำให้ขาดสติและไหลตามไปกับความคิดวิตกนั้น นำมาซึ่งความทุกข์ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ทุกคนต่างพยายามไขว่คว้าครอบครองในสิ่งที่ตนไม่มี แต่การเจริญสติคือการสร้างความสุขจากการปล่อยวางในสิ่งที่ตนมี การเจริญสติจึงช่วยคลายความวิตกนั้นลงได้

ช่วงท้ายมีสมาชิกและคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐสภานำโดย ส.ส. โทนี คาร์เดนาส (แคลิฟอร์เนีย)  ส.ส. ทิม ไรอัน (โอไฮโอ) ส.ส. โทมัส ซูโอซซี (นิวยอร์ก) สนใจสอบถามและอยู่ฟังจนจบทั้งที่เป็นช่วงการประชุมและลงมติก่อนวันหยุดในช่วงสัปดาห์วันชาติสหรัฐฯ

นอกจากที่รัฐสภาสหรัฐฯ ยังมีการบรรยายธรรมที่ศูนย์ริพลีย์ของสถาบันสมิธโซเนียน ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน และที่มลรัฐแมริแลนด์ วันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม



โดยเมื่อช่วงบ่าย ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ พระอาจารย์ปสันโนได้บรรยายธรรมแก่คณะเจ้าหน้าที่ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันสมิธโซเนียนนับร้อยคน และนายมาร์ตี อาร์เธอร์ ผู้แทนสถาบันสมิธโซเนียนกล่าวนำถึงพุทธศาสนาเถรวาทและการทำสมาธิซึ่งส่งผลดีต่อสภาพจิตใจ และความเครียดจากที่ทำงานและเป็นหลักดำเนินชีวิต พระอาจารย์ปสันโนกล่าวถึงทุกข์และสุขว่าเป็นสภาวะที่เกิดคู่กัน โดยทุกข์เป็นสภาวะที่ไม่ปกติ ไม่สบายและสุขเป็นสภาวะตรงกันข้าม ทุกคนต้องการหาความสุขแต่การทำสมาธิไม่ใช่การหาความสุข หากแต่เป็นการรับรู้ทุกข์และสุขอย่างมีสติโดยไม่ไหลตามกับสภาวะนั้น และแนะนำเทคนิคการฝึกสมาธิว่า ไม่ควรควบคุมไม่ให้เกิดความคิดทุกสิ่งอย่างเพื่อควบคุมจิตใจเพราะเคร่งตึงไป เพราะความสงบของจิตเป็นสภาวะที่ไม่ควรถูกควบคุม หากแต่ควรระลึกรู้และมองเห็นวงเวียนความคิดว่าจิตนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น จิตรู้สึกอย่างไร และเลือกที่จะกระทำออกไปอย่างไร เมื่อมีสติจึงรับรู้ได้และมีทางเลือกที่เหมาะสมก่อนการกระทำเสมอ และเพราะความคิดหมุนวนตลอดเวลา การเพ่งดูความคิดนั้นหากมองสิ่งสวยงามจะเกิดความคิดลุ่มหลง หากมองสิ่งน่าเกลียดก็จะรู้สึกไม่พึงประสงค์ การดูลมหายใจเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะลมหายใจเป็นกลาง และไหลเวียนตลอดเวลา เป็นการปรับสภาพจิตให้สงบลง และมองเห็นวงเวียนความคิดง่ายขึ้น

@@@@@@

ต่อมาในวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ คณาจารย์และสมาชิกไอเอ็มซีดับเบิลยูตลอดจนชุมชนชาวไทย และอเมริกันในเขตปริมณฑลกรุงวอชิงตันหลายร้อยคนเข้าฟังธรรมะจากพระอาจารย์สุเมโธ ซึ่งนิยามตัวตนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์

หากแต่พัฒนาตามวัยและพัฒนาเป็นความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่างกายที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติได้ ขอให้พึงระลึกว่า ร่างกายที่เราหวงแหนนั้น แท้จริงไม่ใช่ของเรา และให้ผู้ฟังเข้าใจหลักอริยสัจ ๔ ว่าเป็นสัจธรรมในเรื่องความทุกข์  ต้นกำเนิดของทุกข์ สภาวะตื่นรู้ และหนทางสู่สภาวะนั้น ซึ่งทุกข์เป็นสภาวะที่ไม่มีใครหนีพ้น และทุกคนพึงรับรู้ไม่ใช่วิ่งหนีหรือจมไปกับทุกข์นั้น  การรับรู้และเข้าใจว่าทุกข์เป็นเช่นไรเกิดแล้ว ไม่ได้เลวร้าย และไม่ถาวร

@@@@@@

พระอาจารย์สุเมโธเปรียบเปรยการเข้าใจทุกข์ เหมือนการรู้จักใบไม้ในป่าใหญ่ที่เรารับรู้สภาพจากใบไม้เพียงแค่หนึ่งหยิบมือก็พอ และขณะทำสมาธิก็ไม่จำเป็นต้องสนใจทุกความคิดที่ผ่านเข้ามา แต่ให้เลือกมองความคิดบางอย่างและมีสติรับรู้เข้าใจทุกข์ให้มากขึ้น ไม่ต้องคิดถึงผลที่ยังไม่เกิดเพราะมันยังไม่เกิด ไม่ต้องคิดถึงอดีตเพราะมันแก้ไขไม่ได้ อยู่กับปัจจุบันและพิจารณาผลของมัน ซึ่งเมื่อเราเข้าใจมันเราก็จะสงบได้

ต่อมาจึงคิดถึงเหตุของทุกข์ (สมุทัย) ซึ่งเกิดจากความต้องการจะมีจะเป็น และความต้องการจะไม่มีจะไม่เป็น ซึ่งเมื่อรู้เท่าทันและดับความคิดเหล่านี้ได้ก็คือ มรรคหรือหนทางเข้าสู่สภาวะที่ตื่นรู้เป็นสภาวะเป็นสุขยิ่ง ทั้งหมดคือสัจธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ค้นพบกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว



ช่วงการถาม-ตอบ ชาวอเมริกันสนใจซักถามหลากหลายประเด็นและแนววิธีฝึกสมาธิ ซึ่งพระอาจารย์ปสันโนแนะนำให้เริ่มปฎิบัติและหัดนั่งมองจิตไปเรื่อย ๆ ให้เข้าใจวงเวียนความคิดโดยไม่ต้องพยายามมากแต่ให้ปล่อยไปเรื่อยๆ ตามทางสายกลาง ส่วนกลุ่มนักการเมืองที่เป็นสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ มีข้อกังวล อาทิ จากการแพ้การลงคะแนนเสียง พระอาจารย์สุเมโธแนะให้สังเกตว่า ทำอะไรได้ไหมถ้าผลมันออกมาแพ้ก็ต้องยอมรับเพราะทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่อย่าลืมและไหลไปกับความโกรธหรือไหลลงไปกับปัญหา และไม่ไล่หาคำตอบที่ไม่มีอยู่ แต่มีสติกับมันต่างหาก ซึ่งบางทีการมีสติจะทำให้เราอยู่เหนือปัญหาและมองเห็นมันได้ชัดเจนขึ้น 

สำหรับประเด็นเรื่องขั้วการเมืองที่ทุกคนสร้างกำแพงใส่กันหรือมีความเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเหตุของหลายปัญหา การเจริญสติซึ่งเป็นผลที่ได้กับตัวบุคคลเท่านั้นจะนำมาใช้สร้างสะพานและเดินหน้าเข้าหากันได้อย่างไร พระอาจารย์สุเมโธเห็นว่าการเจริญสติเป็นผลดีที่เกิดขึ้นกับตนเองจริ งและจะส่งผลต่อสิ่งที่จะแสดงออกมาจากการกระทำของเรา และหากเราควบคุมได้ก็จะเข้าใจมากขึ้นถึงอารมณ์ตนเองและควบคุมไม่ให้แสดงกริยาลบต่อผู้อื่น

@@@@@@

สำหรับประเด็นเรื่องนำหลักทางพุทธศาสนามาใช้กับโลกปัจจุบัน ที่ทุกคนต่างเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมโดยไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่หลายครั้งเริ่มจากความรุนแรงหรือจบลงโดยมีการใช้ความรุนแรงบ้างนั้น จะใช้สันติวิธีเหมือนการเรียกร้องสิทธิต่างๆ แบบกรณีของมหาตมะคานธีเรียกร้องเอกราชให้อินเดียได้หรือไม่

พระอาจารย์สุเมโธเปรียบเทียบกรณีของมหาตมะคานธีที่เป็นฮินดูว่า มีความใกล้เคียงกับพุทธศาสนาซึ่งทั้งสองศาสนาเกิดในชมพูทวีปเหมือนกัน ซึ่งการสนองข้อเรียกร้องจากผู้ใช้ความรุนแรงจะเป็นการใช้ความรุนแรงไม่จบสิ้น เช่นในกรณีสหราชอาณาจักรกับชาติอาณานิคมที่เมื่อเกิดการเรียกร้องและใช้อาวุธเข้าต่อสู้กัน มีการควบคุมตัวกักขังกัน แต่สิ่งที่คานธีทำเป็นการตอบโต้ด้วยสันติวิธี ตอบโต้ด้วยการไม่กระทำตามหรือการนิ่งเฉย ซึ่งเป็นกลวิธีที่ไม่รุนแรง

ดังนั้นผู้ที่เรียนรู้แต่ความรุนแรงมาตลอดจึงไม่สามารถตอบโต้ได้ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรและควรจัดการอย่างไร ครั้นจะใช้วิธีที่รุนแรงกลับไปก็มีแต่จะทำให้บานปลาย ส่วนคำถามเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในพุทธศาสนา พระอาจารย์สุเมโธเห็นว่าสตรีสามาถเข้าถึงพระธรรมได้เช่นเดียวกับบุรุษหากศรัทธาในพระพุทธศาสนามากจริงๆ และหลายนิกายก็มีแนวทางปฏิบัติที่ดีและมีภิกษุณี


@@@@@@

การบรรยายและปฏิบัติธรรมครั้งนี้เป็นโครงการหนึ่งของสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว(เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙) ที่ได้จัดสนทนาธรรมหัวข้อ “พระพุทธศาสนากับหนทางสู่สันติภาพและการยุติข้อขัดแย้ง” ที่ศูนย์เบิร์กลีย์เพื่อการศึกษาศาสนา สันติภาพและกิจการโลกแห่งมหาวิทยาลัยยอร์จทาว์นในกรุงวอชิงตัน

ซึ่งครั้งนั้นพระอาจารย์ปสันโน เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี และพระอาจารย์ชยันโต เจ้าอาวาสวัดเชตวัน ร่วมสนทนาธรรมกับนักการศาสนา นักสันติวิธี ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการนับร้อยคนจากสถาบันชั้นนำในกรุงวอชิงตัน ซึ่งทัศนะและความเข้าใจโลกตะวันตกของพระเถระสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เลื่อมใสศรัทธา และนักวิชาการชาวตะวันตก ได้เข้าใจพระพุทธศาสนาอันเป็นสิ่งสูงส่งงดงามให้มีความรู้ ความเข้าใจและความซาบซึ้งในหลักปรัชญาของพุทธศาสนาและเข้าถึงการปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น โดยพระเถระชาวตะวันตกที่บวชเรียนในไทยกำลังเป็นผู้แบ่งปันสิ่งประเสริฐนี้กลับสู่โลกตะวันตก


ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก
http://thaiembdc.org/th/2017/07/07/sharing-a-message-of-mindfulness-in-washington-d-c-th/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7283
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ