ใครว่า..พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอน "วิธีแก้กรรม"
พระพุทธเจ้าทรงเป็นกรรมวาที ตรัสสอนเรื่องกรรมอยู่บ่อยครั้ง กรรมเกิดจากการกระทำของสัตว์โลก มีความตั้งใจ (เจตนา) ดี กรรมนั้นเป็นกรรมดี (กุศลกรรม) หากมีความตั้งใจที่ไม่ดี กรรมนั้นย่อมเป็นกรรมชั่ว (อกุศลกรรม) กรรมเป็นเครื่องนำพาสัตว์ให้ไปสู่อีกภพภูมิ การเกิดก็มีผลจากกรรมกำหนด หากชีวิตอับจนเพราะผลแห่งกรรมชั่ว พอจะมีวิธีช่วยคลายหรือแก้กรรมได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงมีพระเมตตาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย พระองค์ทรงได้ประทาน วิธีแก้กรรม ไว้เช่นกัน
@@@@@@
1. เข้าใจความหมายของ กรรม เสียก่อน
กรรม ในพระพุทธศาสนามีความหมายว่า “การกระทำ” เป็นคำกลาง ๆ ไม่เอนเอียงไปทางดี หรือทางร้าย นอกจากจะมีเจตนามาเกี่ยวข้อง เจตนา หมายถึง “ความตั้งใจ” ตั้งใจทำดี การกระทำนั้นก็จะเป็นกุศลกรรม (กรรมดี หรือการกระทำที่ดี) ตั้งใจทำชั่ว การกระทำนั้นเป็นอกุศลกรรม (กรรมชั่ว หรือกระทำที่ไม่ดี)
@@@@@
2. คนไทยกลัว กรรมเก่า ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เชื่อมั่นใน กรรมใหม่
ความเชื่อเรื่องกรรมในสังคมไทย เป็นอิทธิพลจากความเชื่อเรื่องกรรมเก่า ซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฎกและคัมภีร์เรื่องต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาก็จริง แต่ในบางส่วนของพระไตรปิฎกก็อธิบายว่า ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าเป็นคติคำสอนในศาสนาเชน ตัวอย่างเช่น
พระสูตรชื่อ “ติตถายตนสูตร” พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า
หากยึดที่จะเชื่อเรื่องกรรมเก่าเป็นหลัก ความพยายามที่จะทำอย่างอื่นก็ไม่เกิดผล
หมายความว่า หากเรายอมรับว่าอดีตชาติไม่ได้สร้างบุญที่ช่วยส่งเสริมเรื่องสติปัญญาไว้ จึงส่งผลให้ชาติปัจจุบันเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง เราจะไม่มีความพยายามที่จะพัฒนา เช่น ฝึกฝนวิชา หรือแสวงหาแหล่งเรียนรู้
สำหรับคนที่เชื่อในกรรมใหม่ ก็จะพยายามขวนขวายฝึกฝนพัฒนาตนเอง สังเกตกันง่าย ๆ เช่น ผู้หญิงสวยคนหนึ่งมีผิวขาวสวย หุ่นดี แต่เมื่อไปแอบเปิดอัลบั้มเก่า ๆ ของเธอสมัยเรียนหนังสือ แทบจะไม่เชื่อสายตาตนเองเลยว่า เด็กหญิงในรูปถ่ายจะเป็นคนเดียวกับหญิงสาวคนนี้ เพราะเธอในตอนเด็กช่างอ้วนและดำ
@@@@
ตัวอย่างนี้สามารถพบเจอได้ในสังคม เพราะเขาไม่จำนนต่อกรรมเก่า คนที่เกิดมาไม่สวย อาจมีผลมาจากพันธุกรรมของครอบครัวที่พ่อแม่อาจมีลักษณะเช่นนี้ หรือครอบครัวเลี้ยงมาอย่างตามใจปาก หรืออดีตชาติเป็นคนพูดจาไม่ไพเราะ ไม่เคยถวายดอกไม้บูชาพระ จึงส่งผลมาเช่นนี้ แต่เธอก็พยายามลดน้ำหนัก ทาครีมบำรุงผิวดูแลตัวเอง หากเธอจำนนต่อวิบากกรรมที่เธอต้องเกิดมาเป็นคนอ้วนดำ รูปลักษณ์ที่สวยงามที่เธอมีในตอนนี้คงไม่มีวันเป็นจริง
ครั้งสมัยผู้เขียนเรียนอยู่ ม.ปลาย ก็หลายปีมากแล้ว เพื่อนคนหนึ่งร้องไห้แทบเป็นแทบตายเพราะหมอดูทักว่าเธอจะสอบเอนทรานซ์ไม่ติด แต่เธอก็ไม่สนใจคำทำนายนั้น เธอมุ่งมั่นอย่างหนัก กับการอ่านหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตาย และสุดท้ายเธอก็สอบติดคณะและมหาวิทยาลัยในฝันย่านบางเขน เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนเชื่อเรื่องกรรมใหม่มากกว่ากรรมเก่า หากมุ่งมั่นทำสิ่งใดแล้ว ความสำเร็จย่อมไม่หายไปไหน เพื่อนคนนี้มุ่งมั่นที่จะสร้างกรรมใหม่ เพื่อลบล้างชะตาที่ถูกกำหนดด้วยกรรมเก่า มันก็ได้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในติตถายตนสูตรทุกประการ
@@@@@
3. พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง กรรมเก่า จริง หากทำ กรรมใหม่ ให้ดี ก็แก้กรรมได้
นิทานชาดกเป็นหลักฐานหลักที่ยืนยันว่า พระพุทธศาสนายอมรับเรื่องกรรมเก่าว่ามีจริง ไม่เช่นนั้นคงปรากฏการเล่าเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระสาวกปรากฏในคัมภีร์อย่างนี้ แต่กรรมเก่าไม่ได้มีผลต่อชีวิตของมนุษย์เราทั้งหมด
นอกจากจะแก้วิบากกรรมด้วยกรรมใหม่ คือ การทำความดีที่ออกมาจากการพูด (วจีกรรม) การคิด (มโนกรรม) และการแสดงออกทางกาย (กายกรรม) แล้ว ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระสูตรชื่อว่า “กัมมนิโรธสูตร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“กรรมใหม่ คือ การกระทำต่อกาย วาจาและใจ แล้วจะแก้ไขด้วยวิธีการปฏิบัติตามมรรค 8 ”
แสดงว่าการกระทำต่อกาย วาจา และใจในปัจจุบันคือ กรรมใหม่ แล้วจะแก้กรรมได้ด้วยมรรค 8 ประการ
- สัมมาทิฐิ (ความเห็นในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยมโนกรรม
- สัมมาสังกัปปะ (คิดในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยมโนกรรม
- สัมมาวาจา (พูดในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยวจีกรรม
- สัมมากัมมันตะ (ปฏิบัติในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยกายกรรม
- สัมมาอาชีวะ (อาชีพที่ดี หรือสุจริต สุจริตก็แปลว่า ทำดี หรือลักษณะดี) แก้กรรมด้วยกายกรรม
- สัมมาวายามะ (เพียรพยายามในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยกายกรรม
- สัมมาสติ (มีสติในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยมโนกรรม
- สัมมาสมาธิ (มีสมาธิในทางที่ดี) แก้กรรมด้วยมโนกรรม
@@@@@@
หากยึดตามอริยมรรคมีองค์ 4 กรรมเก่าย่อมไม่สามารถวิ่งตามเราทันได้แน่นอน หรือหากเกิดขึ้น เราก็ทำกรรมใหม่เพื่อปรับให้ผลวิบากกรรมนั้นไม่รุนแรง เช่น มโนกรรม คือ ไม่คิดให้ใจเศร้าหมอง หากอยู่ด้วยใจที่เศร้าหมอง เกิดตายตอนนั้น กรรมเก่าและกรรมใหม่จะชักนำไปสู่อบายภูมิ หากทำจิตให้เป็นกุศล มีความเป็นสัมมาสังกัปปะ (คิดดี มองโลกในแง่ดี มองข้อดีของด้านลบ) หากเกิดอุบัติเหตุจนต้องจบชีวิตลง ด้วยผลจากกรรมใหม่นี้ ย่อมมีสุคติภูมิเป็นหนทางเบื้องหน้าที่เราจะไปสู่
ผู้ที่ตายด้วยจิตที่เศร้าหมองก็มีตัวอย่างในคัมภีร์ ได้แก่ พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ก่อนสิ้นพระชนม์ พระนางทรงระลึกถึงความผิดที่ทำต่อพระสวามี ทำให้พระนางตกนรกเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงไปเสวยผลบุญในสวรรค์ หรือหญิงสาวที่ตายด้วยงูพิษ แต่จิตขณะตายเป็นกุศลเพราะระลึกถึงกุศลกรรมที่ได้ทำคือ เธอได้ถวายข้าวตอกใส่บาตรพระมหากัสสปะ การระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตเป็นกุศลย่อมส่งผลให้เกิดเป็นนางฟ้าบนสวรรค์
เรามาแก้กรรม (แก้ไขการกระทำ) ด้วยกรรมใหม่กันเถอะผู้เขียน : ฟ้าเขียว
ภาพ : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
ที่มา : ติตถายตนสูตร และ กัมมนิโรธสูตร
ขอบคุณที่มา :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/110384.html