"สวดภาณวาร" พิธีสงฆ์ ในพระราชพิธีของพระราชสำนัก
สวดภาณวาร มีหลักฐานปรากฎว่าเป็นพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรมขุนพรพินิต มีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ ทำพิธี ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท (ปัจจุบันก็คือพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
@@@@@@
ความหมายของสวดภาณวาร
ราชบัณฑิตกล่าวว่า สวดภาณวาร แปลว่า “วาระแห่งการสวด” ใช้สำหรับการสวดคาถาหรือข้อความในพระไตรปิฎกเป็นคราว ๆ การสวดภาณวารจะเป็นการสวดสาธยายพุทธมนต์ที่ต้องต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน จึงไม่แปลกที่จะมีการผลัดเปลี่ยนพระสงฆ์เป็นรอบ ๆ สวดภาณวาร หรือเรียกอีกอย่างว่า สวดจตุภาณวาร
@@@@@@
พุทธมนต์ที่ใช้ในการสวดภาณวาร
เนื่องจากการสวดนี้ประกอบด้วย 4 วาระ คือ
ภาณวารที่ 1. : ประกอบด้วยติสรณคมปาฐะ (ว่าด้วยการประกาศพระรัตนตรัย) ทสสิกขาบท (ศีล 10) สามเณรปัญหาปาฐะ (ปัญหา 10 ประการของสามเณร) ทวัตติงสาการปาฐะ (พิจารณาอาการ 32 ประการ) ตังขณิกปัจจเจกขณาปาฐะ (พิจารณาปัจจัย 4) ทสธัมมสุตตาปาฐะ (ธรรม 10 ประการของผู้บวชควรพิจารณา) มังคลสุตตปาฐะ (มงคลสูตร) รตนสุตตปาฐะ (รัตนสูตร) กรณียเมตตสุตตาปาฐะ (กรณียเมตตสูตร) อหิราชสุตตปาฐะ (ขันธปริตร) เมตตานิสังสสุตตปาฐะ (เมตตาสูตร) โมรปริตตปาฐะ (โมรปริตร) จันทปริตตปาฐะ (จันทิมสูตร) สุริยปริตตปาฐะ (สุริยสูตร) ธชัคคสุตตปาฐะ (ธชัคคปริตร)
ภาณวารที่ 2. : ประกอบด้วยมหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ (โพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหากัสสปะอาพาธ) มหาโมคคัลลานะโพชฌังคสุตตปาฐะ (โพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหาโมคคัลลานะอาพาธ) มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ (โพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหาจุนทะอาพาธ)
ภาณวารที่ 3. : ประกอบด้วย คิริมานันทสุตตปาฐะ (คิริมานนทสูตร) และอิสิคิลิสุตตปาฐะ (อิสิคิลิสูตร)
ภาณวารที่ 4. : ประกอบด้วย ธัมมจักกปวัตตนสูตร มหาสมยสูตร อาฬวกสูตร กสิภารทวาชสูตร ปราภวสูตร วสลสูตร สัจจวิภังคสูตร อาฏานาฏิยสูตร (อาฏานาฏิยปริตร)
@@@@@@
สวดภาณวาร คือ การสวดพระพุทธมนต์อย่างต่อเนื่อง
สุชีพ ปุญญานุภาพกล่าวว่า การสวดภาณวารนั้นจะสวดนานรอบละ 2 ชั่วโมง เป็น 4 รอบ แต่ละรอบก็ยึดตามภาณวารลำดับนั้น ๆ ที่กล่าวแจกแจงไปแล้วข้างต้น ถ้าสวดคืนเดียวอาจสวดจนถึงรุ่งเช้า แต่หากมีพระราชพิธีหลายวันก็แบ่งเป็นวันละรอบ การสวดภาณวารนิยมสวดในประเทศศรีลังกาด้วย โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือชื่อว่า “สารัตถสมุจจัย” ซึ่งมีอายุราว 800 ปี
@@@@@@
ที่มาของสวดภาณวาร
ธนิต อยู่โพธิ์ เล่าถึงที่มาของคัมภีร์สารัตถสมุจจัยว่า เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายคัมภีร์จตุภาณวาร ซึ่งแต่งขึ้นโดยลูกศิษย์ของท่านอานันทวันรัตนเถระ (ท่านราชคุรุวนรตนะ) คัมภีร์สารัตถสมุจจัยสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1696-1729) แล้วไทยก็รับคัมภีร์นี้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และแปลเป็นภาษาไทยอย่างสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
@@@@@@
สวดภาณวารศักดิ์สิทธิ์เพราะพระปริตร
การสาธยายพระพุทธมนต์เหล่านี้ เพื่อให้อำนาจคุณพระรัตนตรัยช่วยปกป้องคุ้มครอง หากเป็นพระราชพิธีอื่นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากภยันตราย เพราะในการสวดนี้มีพระปริตรร่วมอยู่ด้วยหลายบท ดังที่มีปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ว่า
“เสด็จขึ้นในพระมหามณเฑียรที่ห้องพระบรรทม ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วสรวม (สวม) พระมหามงคล ซึ่งสอดด้วยสายสิญจน์สูตร ทรงสดับพระราชาคณะสงฆ์สมถะ 5 รูป สวดพระจัตุภาณวาร จบพระตำนาน”
คำว่า “จบพระตำนาน” ในที่นี้หมายถึงพระปริตร เพราะหลายครั้งก็เรียกกันว่า คาถา 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน ตำนาน เพี้ยนมาจากว่า “ตาณ” ซึ่งมีความหมายว่า การป้องกัน และ การต้านทานจากภยันตราย
ที่มา :-
เรื่องราชาภิเษก โดย กรมศิลปากร
อานุภาพพระปริตต์ แปลและเรียบเรียงโดย ธนิต อยู่โพธิ์
ความรู้เรื่องของบทสวดมนต์ โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ
https://th.wikipedia.org ,
https://phralan.in.thภาพ : วัดสุทัศนเทพวราราม
ขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/152308.htmlBy nintara1991 ,29 April 2019