ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระนาคปรก พระประจำวันเสาร์ ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นาคปรกจริงๆแล้วเป็นอย่างไร.?  (อ่าน 5730 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"พระนาคปรก" พระประจำวันเสาร์ ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นาคปรกจริงๆแล้ว เป็นอย่างไร.?

พระนาคปรก คือ พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ ทุกคนทราบว่าเป็นพระที่คนที่เกิดวันเสาร์ต้องบูชา แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ทำไมคนวันเสาร์ต้องบูชาพระปางนี้

@@@@@@

พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ ทำไมต้องเป็นพระนาคปรก

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดฯให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคิดค้นคัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่าง ๆ ตามพุทธประวัติมาสร้างเพิ่มเติมขึ้น และรวมกับพระพุทธรูปปางเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้จึงรวมทั้งสิ้น 40 ปาง

โดยพื้นเพตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ วันเสาร์ เป็นวันแข็ง แล้วดาวเสาร์เป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ส่งผลให้คนเกิดวันนี้มักอาภัพ ต้องเหน็ดเหนื่อย และมักมีเรื่องทุกข์ใจ ผิดหวังบ่อยครั้ง รวมทั้งมักพบปัญหาอุปสรรคอยู่เสมอ ดังนั้น พระนาคปรกจึงเป็นพระประจำวันนี้ เปรียบเสมือนให้พญานาคราชได้แผ่พังพานปกป้องคุ้มครองเจ้าชะตาให้พ้นทุกข์และภัยพิบัติต่าง ๆ อีกทั้งดาวเสาร์ยังใช้เลข 7 เป็นสัญลักษณ์ซึ่งตรงกับเศียรพญานาคราชที่มี 7 เศียรและยังวงขนดเป็น 7 รอบอีกด้วย

@@@@@@

พระพุทธเจ้ากับมุจลินทนาคราช

พระปางนาคปรก มีที่มาจากเหตุการณ์ในมุจลินทสูตร ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และประทับบำเพ็ญสมาบัติเสวยวิมุตติสุข ณ อาณาบริเวณที่ไม่ไกลจากต้นพระศรีมหาโพธิ์แห่งละ 7 วันนั้น ในสัปดาห์ที่ 3 ทรงเสด็จไปประทับใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นบังเกิดหมู่เมฆดำ ฝนได้ตกลงมาไม่หยุด พญานาคตนหนึ่งนามว่า “มุจลินท์นาคราช ” ได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้มิให้ฝนตกต้องพระวรกาย ความเย็นมิได้เบียดเบียนพระวรกาย แมลง ยุงก็ไม่ได้ทำความรังควานต่อพระพุทธเจ้า เมื่อฝนหยุดตก พญานาคจึงแปลงร่างเป็นมาณพเพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงอุทานขึ้นว่า ” ความวิเวกเป็นสุขของผู้ยินดี มีธรรมอันสดับแล้ว พิจารณาเห็นอยู่ ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความเป็นผู้มีราคะไปปราศแล้วคือความก้าวล่วงซึ่งกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำซึ่งอัสมิมานะ (ความยึดในอัตตา) เสียได้ นี้แลเป็นสุขอย่างยิ่ง ฯ ”

ในอรรถกถามุจลินทสูตรกล่าวว่า พญานาคไม่สามารถเนรมิตปราสาทแก้ว 7 ประการให้พระพุทธเจ้าประทับเพื่อหลบฝนได้ จึงเนรมิตกายในรูปลักษณ์ของนาคพันรอบพระวรกายพระพุทธเจ้าแทน


พระปางนาคปรก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)


พระนาคปรก รูปลักษณ์ที่แท้จริง ควรเป็นอย่างไร.?

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียร บางแห่งสร้างเป็นแบบขัดสมาธิเพชร

พระนาคปรกนี้มี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค กับอีกแบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาค คือพญานาคขดตัวล้อมพระกายไว้ถึงพระอังสา เพื่อป้องกันลมฝนตามที่ปรากฏในมุจลินทสูตร และมุจลินทกถา

เรื่องพระนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพวกพราหมณ์ ลางทีจะเอาแบบลัทธิพราหมณ์มาสร้างก็ได้ แต่ลักษณะนี้ ดูจะป้องกัน ลม ฝน ไม่ได้ ไม่สมกับเรื่องที่พญานาคมาแวดวงขนดรอบพระกายเพื่อป้องกันลมฝนถวาย

ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามเรื่องนี้ ก็จะเป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระกายด้วยขนดตัวพญานาค 4-5 ชั้น จนบังพระกายมิดชิด เพื่อป้องกัน ลม ฝน จะเห็นแต่พระเศียร พระศอ และพระอังษา เป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบน ก็จะมีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย


พระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สร้างอิงตามมุจลินทสูตร

แต่ที่นิยมจะสร้างพระนาคปรกเป็นปางที่ประทับเหนือขนดนาคราช และมีหลายครั้งที่นิยมสร้างมุลินทนาคราชเป็นพญานาค 7 เศียร แต่ในพระสูตรและอรรถกถาไม่ได้กล่าวว่านาคราชตนนี้มี 7 เศียรหรือไม่

สันนิษฐานว่าการที่เกิดพระนาคปรกที่นิยมสร้างให้พระพุทธรูปประทับเหนือขนดนาคราช เป็นอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะขอมสมัยละโว้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แหงกัมพูชา คือ พระชัยพุทธมหานาถ พบเจอในพื้นที่ของประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลขอม เช่น จังหวัดลพบุรี และจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า การที่ทางกัมพูชานิยมสร้างพระชัยพุทธมหานาถ (หรือพระปางนาคปรก) เพราะมีความเชื่อว่านาคเป็นบรรพบุรุษของชาวกัมพูชา ดังตำนานเรื่องพระทอง-นางนาค พราหมณ์โกณฑัญญะจากชมพูทวีปได้สมรสกับธิดานาคนามว่า “นาคีโสมะ” ได้สร้างเมืองให้พระโอรสปกครองชือว่า “กัมโพช” หรือกัมพูชาในปัจจุบัน

สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างพระชัยพุทธมหานาถ (พระปางนาคปรก) ส่งไปยังบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์


พระชัยพุทธมหานาถ พระนาคปรกศิลปะบายน


ปริศนาธรรมแห่งเลข 7 พญานาค 7 เศียร ขนด 7 รอบ 7 วันทุททีนี


พระนาคปรกมักสร้างเป็นพญานาค 7 เศียร ซึ่งสันนิษฐานว่า
     - น่าจะมาจากอิทธิพลของพระนาคปรกศิลปะบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
     - อรรถกถามุจลินทสูตรกล่าวว่า พญานาคตนนี้เนรมิตกายให้ใหญ่แล้วพันขนดรอบพระวรกายถึง 7 รอบ และช่วงที่ฝนตกโปรยปรายเป็นเวลา 7 วัน เป็นวันทุททีนี คือวันที่มีลมหนาวปะปนกับฝนพรำ
     - สังเกตว่าจะพบเลข 7 ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา 2 จุด คือ จำนวนวันที่ ฝนตกพรำ และขนดของพญานาค เลข 7
     - ในพระพุทธศาสนาคือธรรมะ 7 ประการที่เรียกว่า “โพชฌงค์ 7” คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ประกอบด้วย สติ (ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง) ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม) วิริยะ (ความเพียร) ปีติ (ความอิ่มใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์) และ อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง)

การบูชาพระนาคปรกจึงเป็นเสมือนการระลึกถึงโพชฌงค์ 7 อีกด้วย เพราะเหตุการณ์ที่พญานาคคุ้มครองพระพุทธเจ้าให้พ้นจากเม็ดฝนและแมลงต่าง ๆ เป็นเหตุการณ์หลังการตรัสรู้แล้วนั่นเอง

 
ที่มา :-
มุจลินทสูตร ,มุจลินทกถา ,ปางนาคปรก ,พระพุทธรูปปางนาคปรก ,พระพุทธรูปประจำวันเกิด
กัมพูชาราชถึงชัยวรมัน โดย ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป.อ. ปยุตฺโต)

ขอบคุณภาพจาก :-
www.dhammajak.net ,https://th.wikipedia.org ,Photo by Fancycrave on Unsplash
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/152633.html
By nintara1991 ,30 April 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ