« เมื่อ: สิงหาคม 27, 2019, 06:16:24 am »
0
พระมหาไพรวัลย์ เปิดพระไตรปิฎก ยันพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้กินฉี่ตัวเองพระมหาไพรวัลย์ อธิบายเรื่อง "ปูติมุตตเภสัช" ยันในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่ได้ระบุให้มนุษย์กินปัสสาวะตัวเอง รับมีการใช้ปัสสาวะโคดองยารักษาบางโรค ในยามฉุกเฉินเท่านั้น
ล่าสุด วันที่ 26 ส.ค.62 แฟนเพจ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียน วัดสร้อยทอง โพสต์ข้อความอธิบายเรื่อง "ปูติมุตตเภสัช" เนื่องจากมีคนอ้างเรื่อง ปูติมุตตเภสัช ในพระไตรปิฎก แล้วบอกว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนเรื่องการกินฉี่ตนเองเพื่อเป็นยารักษาโรค ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดไปมาก
หลังจากสืบค้นดูก็ได้เจอข้อความอธิบายในคัมภีร์ที่ตรงกันหลายแห่งว่า "มูตร" ที่ปรากฏอยู่ในคำว่า ปูติมุตตเภสัช ท่านประสงค์ถึง ฉี่โค ไม่มีส่วนไหนที่ระบุถึงฉี่ของมนุษย์สักที่เดียว มีข้อความที่สอดคล้องกันอีก คือในมติของโบราณจารย์ ท่านกล่าวว่า ปูติมุตตเภสัช หมายถึงชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำฉี่โค หรือในอีกความหมายหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ปูติมุตตเภสัช หมายรวมถึง ยาที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว ไม่มีเจ้าของ
@@@@@@
มีคนอ้างถึงมหาธรรมสมาทานสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องการดื่มน้ำมูตรเน่า แม้ในมหาธรรมสมาทานสูตรจะพูดถึงน้ำมูตรเน่าก็จริงอยู่ แต่น้ำมูตรที่ปรากฏอยู่ในมหาธรรมสมาทานสูตร คือน้ำมูตรที่ผสมด้วยตัวยาสำหรับรักษาโรคต่างต่างแล้ว จนสีกลิ่นและรสของน้ำมูตร (น้ำฉี่) หายไปหมดแล้ว
ทั้งหมดทั้งมวลจากข้อมูลที่ได้พบ เห็นว่าตามคำอธิบายและความหมายที่แท้จริงแล้ว น้ำมูตร แม้ที่เป็นฉี่โค ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคด้วยตัวของมันเอง แต่มันสามารถใช้เป็นส่วนในการประกอบเภสัชบางอย่างได้ เช่นเป็นส่วนสำหรับดองผลไม้บางชนิด ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงผลเภสัช คือ ผลไม้ที่ใช้เป็นยาได้ เช่น สมอไทย หรือมะขามป้อม เป็นต้น และผลไม้บางอย่าง เพื่อที่จะให้เก็บไว้ได้นาน คนโบราณมักจะใช้วิธีการดอง นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ทีนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ เรื่องว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงอนุญาต ปูติมุตตเภสัชนี้ สำหรับภิกษุ ในพระบาลี มีข้อความว่า อุตสาโห กรณีโย คือถ้ามีความอุตสาหะ ก็ควรทำ ควรใช้ยาที่ได้จากการดองด้วยน้ำมูตรเน่า (เพื่อรักษาอาการอาพาธเล็กน้อยบางอย่างที่ถูกกันกับยานี้) แต่ไม่บังคับเลยว่า ทุกรูปต้องฉันยาดองนี้
@@@@@@
ในสันตุฎฐิสูตร พระพุทธเจ้าให้เหตุผลว่า ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่านี้ เป็นของมีค่าน้อย และหาได้หาได้ง่าย จึงเกื้อกูลแก่คุณความเป็นสมณะของภิกษุ (อยู่ง่าย ฉันง่าย ไม่ต้องรบกวนชาวบ้านด้วยเภสัช 5) นี่คือจุดประสงค์ประการหนึ่ง ความหมายก็คือ ถ้ามันไม่ทีทางเลือกอื่น ในที่ที่ภิกษุอาศัยอยู่ อาจจะห่างไกลจากชุมชนหมู่บ้าน ไม่มียาอื่นที่จะขอจากคฤหัสถ์ได้ ไม่มีหมอที่จะทำการรักษาโรค ปูติมุตตเภสัชก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ภิกษุสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการได้ (แต่เฉพาะกับบางโรคเท่านั้นนะ เช่น ปวดเมื่อย ปวดท้อง ท้องอืด เป็นต้น)
อีกอย่างหนึ่ง ในข้อวินัยสำหรับภิกษุ ถ้าเป็นเภสัชอื่น เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้เก็บไว้นาน เป็นอาบัติ แต่ผลไม้อย่างมะข้ามป้อม หรือสมอที่ผ่านการดองด้วยน้ำมูตรเน่าแล้ว เก็บไว้กี่วันก็ได้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ปูติมุตตเภสัช เป็นของควรแก่ภิกษุในภาวะฉุกเฉินจำเป็น
ยาที่พูดถึงในสมัยพุทธกาลมีเยอะมาก ไม่ได้มีแค่ปูติมุตตเภสัช เช่น ปัณณเภสัช (ยาที่ทำจากใบไม้) มูลเภสัช (ยาที่ทำจากราก) ชตุเภสัช (ยาที่ทำจากยาง) และพระพุทธเจ้าเองแม้ยามที่ทรงอาพาธ ก็ยังทรงต้องอาศัยหมอ เพื่อรักษาตามอาการ ยังต้องมีการผ่าตัด ดมยา อย่างนี้เป็นต้น ยาดองน้ำมูตรเน่าไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะใช้รักษาได้ทุกโรคนะ อาตมาเห็นบางคนเอาฉี่ตัวเองมาล้างหน้าล้างตาแล้วก็ดูพิลึกดี อาตมานึกถึงน้ำมันกัญชาเลย คนเอามาใช้กันมั่วซั่วตามใจชอบ สุดท้ายต้องหามส่งโรงพยาบาลกันแทบไม่ทัน
@@@@@@
จึงอยากขอให้เข้าใจกันให้ถูกตามนี้ อย่าไปกล่าวตู่พระพุทธเจ้า คือใครอยากจะกินน้ำฉี่ก็กินไป แต่อย่าอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็กิน หรือพระพุทธเจ้ายังให้พระกินเลย อันนี้ไม่ถูกต้อง ยิ่งอ้างสรรพคุณร้อยแปด ยิ่งมองว่าฉี่เป็นยาวิเศษ อาตมาว่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี น่าเศร้ามาก ที่ทราบว่า เพราะเชื่อเช่นนี้ อาจารย์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งจึงหลอกให้เด็กนักเรียนกินน้ำฉี่ของตนเอง (แถมอ้างว่าเป็นน้ำมนต์อีก)
ทุกวันนี้วิทยาการทางแพทย์เจริญมากแล้ว นึกไม่ออกว่า เรายังมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหลงไปกินฉี่ตัวเองเพื่อรักษาโรคกันอยู่อีก เราไม่ได้เกิดมาในยุคสมัยที่บ้านเมืองล้าหลังขนาดนั้น.
ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
ขอบคุณที่มา ;
https://www.thairath.co.th/news/society/1646321