ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธเจ้า : แพทย์และจิตแพทย์ครั้งพุทธกาล  (อ่าน 784 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระพุทธเจ้า : แพทย์และจิตแพทย์ครั้งพุทธกาล

เมื่อพูดถึงคำว่า “ผู้เจ็บป่วย” ผู้คนส่วนใหญ่มักอาจจะลืมนึกถึงบุคคลที่เป็นบรรพชิตของศาสนาต่าง ๆ ซึ่งในพระพุทธศาสนาก็ได้แก่พระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และแม่ชี วันนี้เราจะไป“โรงพยาบาลพระพุทธเจ้า” ไปดูอู่ยา ที่ปีระเทศอินเดียด้วยกัน

เมื่อพูดถึงคำว่า “ผู้เจ็บป่วย” ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงบุคคลทั่วไปทุกเพศทุกวัย แต่อาจจะลืมนึกถึงบุคคลในอีกสถานะภาพหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือบุคคลที่เป็นบรรพชิตของศาสนาต่าง ๆ ซึ่งในพระพุทธศาสนาก็ได้แก่พระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และแม่ชี ความจริงทางกระทรวงสาธารณสุขก็ให้การดูแลรับผิดชอบเรื่องสุขภาพพลานามัยและการเจ็บป่วยของท่านเหล่านั้นเช่นเดียวกับประชากรที่เป็นฆราวาส

แต่อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเท่าที่ควร เพราะปริมาณของคนไข้ที่เป็นบรรพชิตนั้นมีจำนวนน้อยกว่าคนไข้ที่เป็นฆราวาส คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จักสถานพยาบาลสำหรับดูแลรักษาบรรพชิตโดยเฉพาะเช่นโรงพยาบาลสงฆ์หรือสถานพยาบาลเล็ก ๆ ที่ถวายการดูแลพระภิกษุสงฆ์อาพาธตามวัดหรือสำนักสงฆ์ต่าง ๆ เช่นที่สำนักสงฆ์ป่ามะขามที่พักและดูแลภิกษุอาพาธ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

กระทรวงสาธารณสุขได้รับผิดชอบการบริหารและจัดการของโรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ สำหรับพระภิกษุสามเณรที่เจ็บป่วยทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี ผู้ที่เคยไปทำบุญหรือประกอบศาสนพิธีที่โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นครั้งแรกก็มักจะไปอีกเสมอ หากมีโอกาสหรือมีความจำเป็นเพราะทางโรงพยาบาลให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เข้าไปติดต่อกับทางโรงพยาบาลทุกคน

ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญส่วนตัวหรือการทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธอยู่ โดยการถวายปัจจัยหรือถวายภัตตาหารก็ตาม  หากทำบุญด้วยการถวายปัจจัยทางโรงพยาบาลจะมีรายละเอียดให้เราเลือกทำบุญในเรื่องต่าง ๆ ตามความพอใจหรือตามความเหมาะสม เมื่อกรอกวัตถุประสงค์และถวายปัจจัยแล้วก็จะได้รับในอนุโมทนาบัตรเป็นที่เรียบร้อย


หลายปีมาแล้วผู้เขียนเคยเดินทางไปแสวงบุญที่ 4 สังเวชนียสถานในอินเดีย และได้อาศัยพักแรมที่วัดไทยกุสินารา ซึ่งนอกจากจะขอบคุณที่ได้รับความกรุณาจากทางวัดเป็นอย่างดีในเรื่องาหารและที่พักแล้วยังมีความประทับใจที่ทางวัดสร้าง “โรงพยาบาลวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์” ในที่ดิน 2 ไร่ เพื่อรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ เพศ วัยหรือสถานภาพ มีห้องวิปัสสนาและห้องบรรยายธรรมรักษาผู้ป่วยโดย“ธรรมเภสัช”

ด้วย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนและได้ทรงให้การอุปการะดูแลเป็นอย่างดี  และกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้แพทย์จากประเทศไทยไปปฏิบัติหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกันไปโดยร่วมกับแพทย์ของอินเดียในการรักษาพยาบาลพระสงฆ์รวมทั้งประชากรผู้ยากไร้ และเก็บค่าบริการ “เป็นธรรมเนียม” เพียงไม่กี่รูปีเท่านั้น ทำให้ผู้แสวงบุญไม่ว่าจะเป็นผู้แสวงบุญจากเมืองไทยหรือประเทศอื่น ๆ รวมทั้งผู้คนในท้องถิ่นที่ได้เห็นต่างก็ชื่นชมและอนุโมทนาสาธุการด้วยกันทั้งสิ้น



สำหรับในปีนี้ก็นับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้มี “โรงพยาบาลพระพุทธเจ้า” ซึ่งตั้งชื่อให้น่าชื่นใจว่า “อู่ยา” (ผนวกกับอู่ข้าว อู่น้ำ และอู่ทรัพย์ซึ่งมีอยู่เดิม)  เกิดขึ้นที่วัดไทยพุทธคยาอีกแห่งหนึ่งโดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกับวัดไทยกุสินารา มีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 โดยพระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ, ดร.) เจ้าอาวาสและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล เป็นประธานในพิธี มีพระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆ และฆราวาสมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ซึ่งทุกคนชื่นใจและมั่นใจในการบริหารจัดการของโรงพยาบาลแห่งนี้เช่นเดียวกันเพราะกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความร่วมมือในการส่งแพทย์ไทยไปประจำการเป็นเวลาถึง 9 เดือน โดยสลับสับเปลี่ยนกันไป ร่วมกับนายแพทย์ชาวอินเดียเพื่อการรักษาพยาบาลและดูแลพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสทุกชาติทุกภาษาซึ่งเดินทางมาแสวงบุญ

คงไม่มีพุทธศาสนิกชนใดที่ไม่ยินดีปรีดาหรือไม่ชื่นใจกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวพุทธซาบซึ้งและอิ่มเอมใจเมื่อทราบเรื่องในครั้งพุทธกาลว่าสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นนอกจากจะทรงเป็นพระบรมศาสดาที่ผู้คนถวายความเคารพศรัทธาอย่างสูงสุดแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นประดุจ “นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” ในการรักษาโรคของมนุษย์ทั้ง “โรคทางกายและโรคทางใจ” ในทางกายนั้นพระองค์ทรงสนับสนุนดูแลการรักษาสุขภาพอนามัยของพระภิกษุสงฆ์สามเณรรวมทั้งกุฏิที่พักอาศัย แม้แต่ผ้าสบงจีวรที่ครองอยู่ก็ต้องรักษาความสะอาดไม่ให้สกปรกน่ารังเกียจเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคต่าง ๆ



เมื่อคราวที่พระองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดเชตวันมหาวิหารซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ทรงทราบว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธหนักอยู่ในกุฏิและขาดผู้ดูแลเท่าที่ควร จึงเสด็จไปเยี่ยมพร้อมพระภิกษุติดตามอีก 1 รูป พระบรมศาสดาทรงพระเมตตาดูแลทำความสะอาดร่างกายซักผ้าเปลี่ยนสบงจีวรและเยียวยาพระภิกษุรูปนั้นด้วยพระองค์เองโดยมีพระที่ติดตามเป็นผู้ช่วย ทำให้พระภิกษุอาพาธรูปนั้นหายจากความเจ็บไข้ดังกล่าว และเมื่อยามที่พระองค์ทรงอาพาธก็ล้วนมีผู้อยากถวายการดูแลรักษา ซึ่งพระองค์ทรงบอกกับคนทั้งหลายว่า “ขอให้ท่านถวายการดูแลรักษาพระภิกษุอาพาธองค์อื่นเถิด ซึ่งก็เท่ากับการที่ท่านได้ถวายการดูแลรักษาอาตมาเช่นเดียวกัน”

สำหรับการที่พระองค์ทรงเป็นแพทย์ในทางใจนั้นก็คือ การที่พระองค์ทรงสอนให้มนุษยชาติ “ลด ละ และเลิก” กิเลสตัณหาอุปปาทานทั้งหลาย ด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างมากมายซึ่งเท่ากับเป็นการรักษาโรคทางใจคือความขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือโทสะโมหะของคนให้ลดน้อยลง ซึ่งบางคนอาจจะ “เลิก” ได้สิ้นเชิงทำให้ใจปราศจากกิเลสตัณหาอุปาทาน  คนผู้นั้นก็จะดับหรือหายจากโรคทางใจ ซึ่งก็คือการบรรลุธรรมในระดับต่าง ๆ... จนถึงวาระสุดท้าย... ซึ่งก็คือ การบรรลุ “นิพพาน” นั่นเอง

ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์
กรรมการบริหารชมรมข้าราชการและ
ครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ



ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/education/729001
อาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 เวลา 15.24 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ