ไขตำนานและเรื่องน่าคิดจาก “ธงจระเข้” ในงานบุญทอดกฐินเมื่อถึงเทศกาลงานบุญทอดกฐินทีไร เราก็จะเห็นขบวนเชิญผ้ากฐิน (ผ้าไตรจีวร) และกฐินบริวาร ไม่ว่าจะเป็นต้นเงิน ที่เต็มไปด้วยธนบัตร หรือเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่สะดุดตาก็คือ ธงจระเข้ สีเขียวสดบนผ้าผืนสีขาวสะอาดตา เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมต้องมีธงรูปจระเข้อยู่ร่วมในขบวนกฐินด้วย
จระเข้ที่ปรากฏในธงกฐิน เมื่อก่อนเคยเกิดเป็นเศรษฐีแต่มีนิสัยขี้ตระหนี่มาก บุญกุศลไม่ยอมทำ เอาแต่เก็บเงินเก็บทอง และเอาทรัพย์สมบัติที่ตนเองมาฝังไว้ที่หัวสะพานริมน้ำ เมื่อตายไปจิตคิดยังห่วงสมบัติที่ซ่อนไว้ จึงทำให้เกิดเป็นจระเข้ฝังสมบัติ ภรรยาของเศรษฐีฝันว่าสามีเกิดเป็นจระเข้ได้รับทุกขเวทนามาก ทั้งยังบอกที่ฝังสมบัติให้ภรรยานำไปทำบุญเพื่อให้ตนเองได้พ้นจากภพที่เกิดเป็นเดรัจฉาน
เมื่อภรรยาเศรษฐีทราบดังนั้นก็เสียใจที่สามีเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน นางจึงนำสมบัติเหล่านั้นไปทอดกฐินถวายวัด เมื่อสมัยก่อนต้องเดินทางทางน้ำ ดังนั้นต้องขนผ้ากฐินและเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ ขึ้นเรือและพายไปที่วัด ภรรยาเศรษฐีได้บอกกล่าวกับจระเข้ที่เคยเป็นสามีเมื่อในอดีตชาติว่าขบวนกฐินกำลังจะไปวัด ขอให้จระเข้ว่ายน้ำตามไปร่วมอนุโมทนาด้วย
แต่แล้วจระเข้ก็สิ้นใจระหว่างทางเพราะหมดแรงที่จะว่ายน้ำตามขบวนกฐินไปยังวัด ฝ่ายภรรยาเสียใจเมื่อจระเข้อดีตสามีตายไป เมื่อขบวนกฐินมาถึงวัด เจ้าอาวาสเห็นภรรยาเศรษฐีเศร้าโศก จึงถามไถ่ว่าเศร้าเพราะเหตุใด เมื่อเจ้าอาวาสทราบเรื่องราวทั้งหมด เจ้าอาวาสจึงวานให้ช่างวาดคนหนึ่งวาดรูปจระเข้ขึ้นบนผืนผ้าสีขาวแล้วไปผูกติดกับกิ่งไม้เป็นประหนึ่งธง เพื่อแสดงให้ทุกคนประจักษ์ว่าสมบัติทั้งหมดนี้เป็นของจระเข้ตัวนี้ นี้คือที่มาของธงจระเข้ในงานบุญกฐิน
นอกจากนิทานจระเข้เศรษฐีที่เล่าไปเมื่อสักครู่ คุณพัชนะ บุญประดิษฐ์ ได้อธิบายถึงที่มาของธงจระเข้ในงานบุญทอดกฐินไว้ถึง 2 ความเชื่อด้วยกันดังนี้ คนในสมัยก่อนนิยมแห่ผ้ากฐินกันทางเรือ การเดินทางทางเรือมักต้องพบกับอันตรายจากสัตวร้ายอย่างจระเข้ เช่น จระเข้หนุนเรือให้ล่ม การนำธงจระเข้มาติดไว้ในขบวนกฐินจึงเป็นการประกาศให้จระเข้รับทราบถึงงานบุญงานกุศลที่จะเกิดขึ้น และเชื่อว่าอาจทำให้จระเข้มีจิตใจที่อ่อนโยนลง ไม่คิดทำอันตรายต่อขบวนเรือกฐิน อีกความเชื่อคือ ธงจระเข้หมายถึง ดาวจระเข้ เพราะดาวกลุ่มนี้จะปรากฏในตอนรุ่งเช้า ซึ่งในสมัยก่อนนิยมเคลื่อนขบวนกฐินกันในตอนเช้า ดังนั้นการเห็นธงจระเข้จึงไม่ต่างจากการบ่งบอกว่าถึงเวลาเคลื่อนขบวนกฐินนั่นเอง
ตำนานธงจระเข้สะท้อนความเชื่อในคติพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของจิตสุดท้าย เพราะเศรษฐีเกิดจิตห่วงในสมบัติจึงทำให้เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้บริเวณที่ฝังสมบัติของตน ดังเหตุการณ์หนึ่งในสมัยพุทธกาลที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังจะมรณภาพแต่ดันมาคิดห่วงจีวร พระภิกษุจึงกลับชาติมาเกิดเป็นตัวเล็นเกาะอยู่ที่จีวรแทน เรื่องราวของพระเถระรูปนี้มีอยู่ว่า
มีกุลบุตรชาวสาวัตถีคนหนึ่งได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา และรู้จักในชื่อว่า “พระติสสเถระ” เมื่อเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา พระติสสะได้จำพรรษา ณ วิหารในชนบท ได้ผ้าสาฎกเนื้อดีมากมาผืนหนึ่ง เมื่อหมดเข้าพรรษาก็นำผ้าสาฎกผืนนี้ไปฝากไว้ที่พี่สาว
พี่สาวเห็นว่าผ้างามเกินไปที่จะทำเป็นจีวร จึงได้ตัดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วนำเศษผ้าไปมัดย้อมเป็นอย่างดี พระติสสะตระเตรียมเข็มและด้ายเพื่อที่จะทำการเย็บจีวร และได้นิมนต์พระเถระมาเป็นประธานในการตัดเย็บผ้าจีวร
เมื่อพระติสสเถระมาทวงผ้าที่ฝากไว้ที่พี่สาว (สันนิษฐานว่าพี่สาวของพระติสสเถระน่าจะบวชเป็นภิกษุณีด้วย เพราะทราบเรื่องพระวินัยและวิธีการย้อมจีวร) พระติสสะเห็นผ้าผืนที่ตนฝากไว้แปลกตาไป พี่สาวบอกว่าผืนนี้เป็นของน้อง แต่พี่ได้ทำให้ถูกต้องตามพระวินัย แบ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมัดย้อมเสีย ขอน้องนำไปเย็บเป็นจีวรเถอะ
เมื่อพระติสสะทำจีวรกรรม (การเย็บจีวรโดยมีพระภิกษุรูปอื่นมาร่วมช่วยด้วย) เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ชมผ้าจีวรเนื้องามนี้ว่าเป็นของตน ตนจะห่มในวันรุ่งขึ้น แต่แล้วด้วยโรคปัจจุบันทันด่วน (ไม่ทราบว่าท่านมรณภาพด้วยโรคอะไร) ทำให้ท่านมรณภาพลง เมื่อจิตสุดท้ายคิดห่วงผ้าจีวรผืนงาม พระติสสะจึงมาเกิดเป็นเล็นอยู่ในจีวร
เมื่อเหล่าภิกษุได้จัดการพิธีศพของพระติสสะเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทำการแบ่งจีวรผืนนี้ เจ้าเล็นซึ่งเคยเป็นพระติสสเถระมาก่อนจึงร้องออกมาว่า “พวกท่านจะแย่งของ ๆ ข้าไม่ได้นะ” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยทิพยญาณจึงตรัสต่อพระอานนท์ว่า “อานนท์เธอบอกกับภิกษุว่า อย่าได้แบ่งจีวร จนกว่าจะผ่านไปแล้ว 7 วัน”
เมื่อถึงวันที่ 8 แล้วปรากฏว่า ตัวเล็นได้ตายลง พระติสสเถระได้ไปเกิดใหม่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เพราะผลบุญที่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไว้ในพระศาสนา พระภิกษุจึงสามารถทำการแบ่งจีวรผืนนี้ได้ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดพระบรมศาสดาจึงให้เก็บจีวรไว้นานถึง 7 วัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย ติสสะเกิดเป็นเล็นที่จีวรของตน เมื่อพวกเธอจะแบ่งจีวรนั้น เขาวิ่งร้องไปข้างโน้นและข้างนี้ว่า “พวกท่านจะแย่งของ ๆ ข้าไม่ได้นะ” เมื่อพวกเธอถือเอาจีวรอยู่ เขาขัดใจแบบนี้มีหวังต้องตายไปเกิดในนรกภูมิอย่างแน่นอน เราจึงให้พวกเธอเก็บจีวรนี้ไว้ถึง 7 วัน และตอนนี้เขาได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว เพราะเหตุนี้เธอจึงสามารถแบ่งจีวรของพระติสสะได้”
พระติสสะกับเศรษฐีมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความห่วงในสมบัติที่ตนครอบครอง ซึ่งเป็นโมหะ หรือ ความหลงอย่างหนึ่ง หากมีจิตคิดเช่นนี้ก่อนตายหรือตอนกำลังจะตาย จิตนั้นก็จะกลับมาเกี่ยวข้องกับสมบัติ หรือสิ่งที่นึกถึงในตอนนั้นอีก ดังชายคนหนึ่งรักภรรยาของตนมาก แต่เขาต้องมาตายจากไปเสียก่อน แต่จิตของคนกลับห่วงภรรยาก็กลับชาติมาเกิดเป็นสุนัข คอยติดตามภรรยาของตน (ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ >>> ทำไมเธอต้องถูกถ่วงน้ำทั้งเป็น วิบากกรรมของหญิงกาลกิณี) จิตที่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งย่อมทำให้จิตนั้นไม่ไปสู่สุคติภูมิ ดังนั้นจิตสุดท้ายจึงสำคัญมากต่อการเดินทางไปสู่ภพภูมิต่อไป ที่มา : อรรถกถา คาถาธรรมบท เรื่อง พระติสสเถระ ,
http://oknation.nationtv.tv ,www.royin.go.th
ภาพ :
www.dd-pra.com ,
www.sensethailand.com ,
www.pexels.comขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/180973.htmlBy nintara1991 ,28 October 2019