ศูนย์ปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช สัปปายะสถาน ที่ ‘เข้าได้และเข้าถึง’ภายใต้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาอันเสถียรสถาพรมาอย่างยาวนานกว่า 2,500 ปี เผยแผ่จากจุดกำเนิดสู่ดินแดนสยาม หยั่งรากลึกในจิตใจของผู้คน ก่อเกิดอารามสำคัญมากมายซึ่งมีส่วนสำคัญในการสืบทอดพระธรรมแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งในนั้นคือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ซึ่งจะครบวาระ 150 ปี
นับแต่สถาปนาขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาบนแผ่นดินรัตนโกสินทร์ แหล่งรวมความรู้ ความสงบร่วมเย็น เป็นที่พึ่งพิงของชีวิตด้วยแนวคิด คำสั่งสอน ธรรมะอันเป็นนิรันดร์
เพื่อส่งเสริมและสานต่อกิจการด้านพระพุทธศาสนาให้ธำรงและรุดหน้ายิ่งขึ้น โครงการก่อสร้าง“ศูนย์ปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร)” จึงถือกำเนิดขึ้น เมื่อผู้มีจิตศรัทธายิ่งใหญ่ร่วมกันบริจาคที่ดิน รวมกว่า 127 ไร่ ในบริเวณคลองเก้า อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในช่วงต้นปี 2562
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระสัมโมทนียกถาให้สาธุชนที่เฝ้าถวายที่ดินในวันนั้น ตอนหนึ่งว่า
“ท่านทานบดีมีศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงถึงพร้อมด้วยจาคะ สามารถสละทรัพย์สินมีค่าคือที่ดินผืนนี้เพื่อเป็นวิหารทาน เอื้ออำนวยให้ชนทั้งหลายได้มาอบรมศึกษา เพื่อรู้จักการรักษาศีล มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ให้เป็นผู้ขวนขวายในการสดับตรับฟังธรรมะ ให้มีความเสียสละละวางจากบาปอกุศล จนบรรลุถึงความงอกงามทางปัญญา
ที่ดินร้อยกว่าไร่ที่ท่านอุทิศมอบไว้ในพระพุทธศาสนา จึงแปรเป็นทั้งอริยทรัพย์ในตัวท่านผู้บริจาค และจะเป็นทั้งแหล่งผลิตอริยทรัพย์ให้เพิ่มพูนขึ้นในหมู่พุทธบริษัทโดยทั่วหน้าสืบไป ขอทุกท่านจงยินดีอิ่มเอิบใจในบุญกิริยาที่ได้บำเพ็ญครั้งนี้เถิด”
สมเด็จพระสังฆราชประทานพระวโรกาสให้วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ขรรค์ชัย บุนปาน ประธาน บมจ.มติชน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเข้าเฝ้า โดยวราวุธและกัญจนา ร่วมสมทบทุน 11 ล้านบาท สร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช คลอง 9 ปทุมธานี ซึ่งเครือมติชน ภายใต้โครงการเผยแพร่ความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 43 เตรียมทอดผ้าป่าสามัคคีรวบรวมทุนทรัพย์สนับสนุนการก่อสร้าง
นับแต่นั้น การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยมา โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานอุปถัมภ์ และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อัคคชิโน) เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานอำนวยการโครงการ
พระมหานิพนธ์ ผู้ประสานงานหลักทางฝ่ายสงฆ์ของโครงการ เล่าว่า จุดมุ่งหมายของศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ แน่นอนว่าสร้างขึ้นเพื่อให้อุบาสก อุบาสิกา เข้ามาปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังจะใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของทางวัด ซึ่งเดิมมักต้องขอใช้พื้นที่จากสถานที่ใกล้เคียง เช่น โรงเรียนวัดราชบพิธ เนื่องจากพื้นที่ภายในวัดมีจำกัด อาทิ กิจกรรมบวชสามเณรภาคฤดูร้อน นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวยังสามารถเป็นที่พำนักของภิกษุผู้ใหญ่ที่ชราภาพ และอาพาธ เพื่อพักฟื้นร่างกาย จิตใจโดยอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อให้ญาติโยมเดินทางได้อย่างสะดวก
“ทางวัดมีสำนักเรียน มีกิจกรรมบวชเณรภาคฤดูร้อนครั้งละ 90 รูปเป็นประจำทุกปี โดยต้องใช้พื้นที่ข้างนอก หรือพื้นที่ของวัดอื่น เพราะในวัดมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด บางครั้งไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนวัดราชบพิธซึ่งทำให้ไม่ได้ความสงบอย่างที่ควรเป็น ในวัดมีคนเข้ามาใช้พื้นที่ตลอดเวลา ทำให้สถานที่ข้างในไม่ว่างสำหรับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความสงบนิ่ง ถ้ามีศูนย์ปฏิบัติธรรมนี้ขึ้นมา จะรองรับกิจกรรมเหล่านี้ได้ดี”
การออกแบบอย่างตอบโจทย์ให้ครบครันในด้านต่างๆ ทั้งการเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม พื้นที่จัดกิจกรรมอีกทั้งที่พำนักพักอาศัยอย่างสงบ จึงเริ่มต้นขึ้น และดำเนินไปอย่างราบรื่น
ปรัชญ์ ทินราช สถาปนิกผู้ประสานงานฝ่ายฆราวาสที่ออกตัวว่าเป็น “ลูกศิษย์วัด” โดยมาบวชที่วัดราชบพิธเมื่อครั้งทางวัดเพิ่งริเริ่มโครงการ เล่าว่า ทางวัดอยากได้อาคารที่มีความเป็น “สัปปายะ”กล่าวคือ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม สะดวกสบายแก่การปฏิบัติธรรม ที่สำคัญคือต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ สงบ เรียบง่าย ไม่หวือหวา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ “อาศรมศิลป์” ที่มี ธีรพล นิยมศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เป็นหัวเรือใหญ่ ร่วมด้วย เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย) จับมือสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นจริง
“อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี กับคุณธีรพล นิยม เป็นทั้งศิลปินแห่งชาติ และสถาปนิกเหมือนกัน ท่านมีโครงการร่วมกันอยู่แล้ว อย่างโครงการวัดบันดาลใจ ซึ่งออกแบบวัดสไตล์ใหม่ๆ เป็นวัดยุคใหม่ที่ให้คนเข้ามาทำกิจกรรมมากขึ้น อาจารย์ทั้ง 2 จึงเป็นสถาปนิกในการดูแลโครงการร่วมกัน”
เมื่อกางผังของศูนย์ปฏิบัติธรรม จะประกอบด้วยสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นสถาปัตยกรรมหลัก นอกจากนี้ยังมีอาคารอเนกประสงค์ โรงครัว รวมถึงที่พักสำหรับฆราวาสหญิง-ชาย แยกส่วนอย่างชัดเจนคั่นด้วยฝั่งน้ำ วิหาร สถานพยาบาล กุฏิ ศาลาการเปรียญ ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช อาคารเรียนพระภิกษุ หอฉัน โรงเพาะชำ รวมถึงพื้นที่ปลูกป่าเพื่อการเรียนรู้อีกด้วย

“การออกแบบทั้งหมด เน้นธรรมชาติเป็นหลักก่อน ตัวอาคารจึงค่อยแทรกเข้าไปในธรรมชาติสำหรับวัสดุหลัก พื้นอาจเป็นปูน ส่วนผนังอาจเป็นวัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติ ส่วนประกอบของไม้ หรือให้อารมณ์ที่ใกล้เคียงกัน ด้านหลังมีสวนป่า มีทั้งสวนไทย ไม้มงคล สวนสมุนไพร ไม้ผล แปลงปลูกผักซึ่งทางอาศรมศิลป์รับหน้าที่ออกแบบ”ปรัชญ์อธิบาย
เมื่อเจาะลึกถึงแนวคิดการออกแบบ จะพบถึงความตั้งใจในการเป็น “รมณียสถาน” หรือสถานที่อันรื่นรมย์ เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งเมื่อครั้งพุทธกาลก่อนเจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพบสถานที่อันเป็นเหตุปัจจัย ที่เรียกว่าสัปปายะดังที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัวโครงการก่อสร้างอย่างเป็นทางการในงานสมโภชวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ครบรอบ 150 ปี ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2563 ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานและประกาศนามให้สาธารณชนรับทราบด้วยที่ดินกว่า 127 ไร่ บริเวณคลอง 9 ปทุมธานี สถานที่ก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราชโดยประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาค นำโดย นิติพัฒน์-ธัญรัศมิ์ นันธนวัฒน์ และครอบครัว นายบันเทิง แสงรัฐวัฒนะ และครอบครัว
ในการนี้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิ บรรจงพงศ์ศาสตร์ ดำเนินโครงการแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา เตรียมร่วมสนับสนุนการก่อสร้าง “ศูนย์ปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร)” โดยจะจัดทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อรวมรวมทุนทรัพย์ มอบแด่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามในการเดินหน้าสร้างศูนย์อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อพระพุทธศาสนาและเหล่าสาธุชน
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อสืบสานพระศาสนาจากนี้สืบไปชั่วกาลนานที่มา : อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน
ผู้เขียน : พรรณราย เรือนอินทร์
เผยแพร่ : วันที่ 22 ธันวาคม 2562
ขอบคุณ :
https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1834202