‘เสมอภาค’ของ‘สตรี’ ‘ลาปฏิบัติธรรม’ ภิกษุณี-ชี-พราหมณ์?
เรื่อง ของ “ความเสมอภาคชาย-หญิง” ในประเทศไทย ล่าสุดดำเนินมาถึงจุดที่มีการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ให้ “ข้าราชการหญิงลาปฏิบัติธรรม” ได้นาน ๆ เหมือนที่ “ผู้ชายลาบวช” ได้ 3 เดือน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณากฎหมายนี้แล้ว และอยู่ระหว่างส่งร่างกลับเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีก ครั้งหนึ่งก่อน...
ทั้งนี้ หากจะมาดูกันถึงการ “ปฏิบัติธรรม” ของ “ผู้หญิง” ที่นับถือศาสนาพุทธ ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถลางานเพื่อการนี้ได้เป็นเดือน ๆ หรือ 3 เดือน ในประเทศไทย-ผู้หญิงไทยก็มีการปฏิบัติกันอยู่บ้างแล้ว จะเข้ม-ไม่เข้มแค่ไหนอย่างไรก็สุดแท้แต่ตัวบุคคล ซึ่งแม้แต่บวชเป็น “ภิกษุณี” สตรีไทยก็มีการบวชแล้ว
กล่าวสำหรับกรณี “ภิกษุณี” จากข้อมูลเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาลในพรรษาที่ 5 แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงอนุญาตให้มีภิกษุณี ซึ่งโดยหลักการในยุคหลัง ๆ ผู้ที่จะเป็นภิกษุณีได้นั้นนอกจากต้องมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุแล้ว ยังต้องเป็นสิกขมานา ถือศีล 6 ข้อ (ศีล 6 ข้อแรกของศีล 10) ครบ 2 ปี แล้วจึงเข้าพิธีอุปสมบทในภิกษุณีสงฆ์ก่อน จากนั้นต้องเข้าพิธีอุปสมบทในภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่งจึงจะสมบูรณ์ ซึ่งภิกษุณีต้องถือศีลมากกว่าภิกษุ คือถือ 311 ข้อ มากกว่าภิกษุซึ่งถือศีล 227 ข้อ
ในเมืองไทยกระแส “ภิกษุณี” ฮือฮามากในช่วงปี 2545 จากกรณี “ภิกษุณีธรรมนันทา” สตรีไทยที่ไปบวชโดยอุปัชฌาย์ปวัตตินี ที่ศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ในเมืองขณะนี้ก็ไม่ยังสามารถมีการบวชภิกษุณีได้
“ชี” ที่ก็ใช้คำว่า “บวช” สำหรับสตรีที่โกนผม-ห่มขาว ซึ่งมักถูกเรียกว่า “แม่ชี” ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการปฏิบัติธรรมของผู้หญิง โดยหลักการถือว่าเป็นเพศนักบวชที่มีการปลงผม-คิ้ว นุ่งขาว-ห่มขาว และใช้ชีวิตปฏิบัติตามเพศของนักบวชตามเกณฑ์ที่สถานปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งได้ กำหนดเอาไว้ ซึ่งโดยทั่วไปแม่ชีจะถือศีล 10 บางที่แม่ชีก็มีการออกบิณฑบาตคล้ายกับพระภิกษุ
ศีล 10 ที่แม่ชีถือ ก็เพิ่มเติมขึ้นจากศีล 8 เช่นเพิ่มเรื่องของการงดรับเงินทองเด็ดขาด โดยศีล 10 ของแม่ชีนั้นได้แก่... เว้นจากการทำลายชีวิต, เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์, เว้นจากการพูดเท็จ, เว้นจากการเสพของเมา, เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล, เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง, เว้นจากการทัดทรงดอกไม้, เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่, เว้นจากการรับทองและเงิน
ลดความเข้มลงมาอีกระดับ คือบวชเป็น “ชีพราหมณ์” การบวชชีพราหมณ์นั้นก็จะคล้าย ๆ กับการปฏิบัติธรรมโดยทั่วไปที่ถือศีล 8 ซึ่งแหล่ง ปฏิบัติธรรมมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัด สำนักสงฆ์ หรือแค่สถานที่ปฏิบัติธรรม
การบวชชีพราหมณ์ ก็จะมีระยะเวลาที่เข้าไปปฏิบัติ 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง 7 วันบ้าง หรือนานกว่านั้น ตามแต่บุคคลหรือสถานที่ โดยส่วนใหญ่ต้องถือศีล 8 โดยตรง กล่าวคือ... การเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป, การเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย, การเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์คือร่วมประเวณี, การเว้นจากการพูดเท็จ, การเว้นจากน้ำเมา, การเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่, การเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง, การเว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย
รูปแบบการปฏิบัติธรรมแบบชีพราหมณ์ของแต่ละสถานที่ก็จะแตกต่างกันไป อย่างเช่นรูปแบบของ “เสถียรธรรมสถาน” นอกจากถือศีลแล้วก็จะต้อง “สวมชุดขาว” หรือบางที่อาจต้อง “ใส่สไบ” ด้วย
ส่วนวิถีชีวิตที่จะต้องปฏิบัติของชีพราหมณ์ในแต่ละวัน ก็เช่น... 04.00 น. ตื่นนอน, 05.00 น. ทำวัตรเช้า, 06.00 น. ปฏิบัติธรรม อาทิ นั่งสมาธิ, 08.00 น. อาหารเช้า, 09.00 น. ภาวนากับการทำงาน, 09.30 น. ธรรมบรรยายกับสมาธิภาวนา, 11.30 น. อาหารกลางวัน, 12.00 น. ว่างในปัจจุบันขณะ, 13.30 น. สมาธิกับการตอบคำถาม, 16.00 น. น้ำปานะ, 18.00 น. ทำวัตรเย็น, 19.00 น. ธรรมบรรยาย-สมาธิภาวนา, 21.00 น. ทำความเพียรโดยส่วนตัว
นอกจาก 3 รูปแบบที่ว่ามาข้างต้น “ผู้หญิง” หรือแม้แต่ผู้ชายที่ใฝ่ทางธรรมตามแนวทางศาสนาพุทธแบบทั่ว ๆ ไปโดย “ไม่ต้องมีคำว่า...บวช...เข้ามาเกี่ยวข้อง” ก็ยังมีวิธีการที่ปฏิบัติได้โดยไม่ยากให้เลือก ซึ่งก็คือการ “ทำบุญ-ทำกุศลรูปแบบต่าง ๆ” ซึ่งก็ทำได้หลากหลาย แยกได้หลายรูปแบบ
เช่น... การเข้าวัดในวันพระ ซึ่งแต่ละเดือนจะมี 4-5 วัน อาจจะเข้าไปสวดมนตร์ทำวัตรเช้า ถวายสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ ทำบุญเลี้ยงพระ หรืออาจถือศีล 8 เฉพาะในวันพระ ซึ่งก็สามารถยืดหยุ่นได้ด้วยการพักค้างอยู่ที่บ้าน หรือบางคนอาจจะไปถือศีล 8 ที่วัด โดยบางวัดจะเตรียมสถานที่ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าไปปฏิบัติและพักค้างที่ วัดได้ และในตอนเย็นบางวัดก็เปิดให้มีการทำวัตรเย็น และนั่งสมาธิเป็นประจำ
นี่ก็เป็นรูปแบบ-เป็นตัวอย่าง “การปฏิบัติธรรมของผู้หญิง”
“เป็นเรื่องที่ดีหากจะออกกฎที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ปฏิบัติธรรมจริงจัง บ้าง เพราะเป็นการแสวงหาคุณค่าภายในจิตใจ เพื่อจะให้ได้เข้าใจว่าความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงคืออะไร และเมื่อออกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่ใช่เพียงผู้ปฏิบัติจะได้สิ่งที่ดีเท่านั้น สังคมรอบข้างก็จะได้รับสิ่งที่ดีตามไปด้วย ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นจริงได้ก็เป็นที่อนุโมทนาไปด้วย”...เป็นความเห็นของแม่ ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน
ก็รอดูกันว่าเรื่องนี้ที่สุดแล้วจะอย่างไร-แบบไหนแน่ ??.
ที่มา: เดลินิวส์
http://www.dailynews.co.th/dailynews...e=2&Template=1