ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ภาพถ่ายเก่า” ขณะทำการขุดค้น วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย  (อ่าน 1339 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ภาพถ่ายเก่าบริเวณฐานเจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งมีการขุดแต่งพบพระสาวกเวียนประทักษิณรอบเจดีย์ประธาน (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)


“ภาพถ่ายเก่า” ขณะทำการขุดค้น วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย

เพจ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเก่าการขุดค้น วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย และให้ข้อมูลของภาพชุดนี้ว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ รัฐบาลในขณะนั้น (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัยขึ้น โดยเริ่มมีการขุดแต่งที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก และตามด้วยโบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ ทั้งภายในกำแพงเมือง และภายนอกกำแพงเมือง

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามแบบแผนความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบอินเดียโบราณ เป็นวัดที่มีความสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมาก ถึง ๒๐๐ องค์


ภาพถ่ายเก่าเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ภาพถ่ายเก่าขณะกำลังเคลือนย้ายเสาศิลาแลง วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

เจดีย์ประธานของวัด ซึ่งตั้งเด่นสง่างามมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่บนฐานเดียวกัน

รายรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศ จำนวน ๘ องค์ องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชยล้านนา ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา รอบๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีเดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ


แผ่นหินปิดปากกรุเจดีย์ พบจากการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้บรรยายว่า กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม พระพุทธรูปทองเข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงหลวงพ่อโตของชาวเมืองเก่า เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่ วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปนี้น่าจะเป็นพระพุทธรูปสำริดที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัยจึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้เหลือให้เห็น


ภาพถ่ายเก่าขณะกำลังขุดแต่ง วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ส่วนพระอัฎฐารศ ที่กล่าวถึงในจารึกหมายถึงพระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

ถัดจากวิหารหลวงไปทางตะวันออกเป็นวิหารสูง ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบๆ ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร

นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุยังมีกลุ่มเจดีย์ จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ ๕ ยอด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่ ๒ รองจากเจดีย์ประธาน ได้พบหลักฐานที่เป็นจารึกลานทองมีข้อความระบุเป็นที่น่าเชื่อว่าเจดีย์ ๕ ยอดองค์นี้เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท

ปล.โบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากขุดค้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
[ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย]


โบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ พบจากการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)


ที่มา : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_15707
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ.2562
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ