ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มหัศจรรย์ตำนาน “พระพุทธสิหิงค์” พญานาคมาเป็นแบบ สร้างพระพุทธรูปแห่งวันสงกรานต์  (อ่าน 824 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปสำคัญแห่งวันสงกรานต์


มหัศจรรย์ตำนาน “พระพุทธสิหิงค์” พญานาคมาเป็นแบบสร้างพระพุทธรูปแสนงามแห่งวันสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์ตามแบบดั้งเดิมอันดีงามของไทยนั้น ตามท้องถิ่น อำเภอ จังหวัดต่าง ๆ จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญประจำถิ่น พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง หรือพระพุทธรูปสำคัญระดับวชาติออกมาแห่แหนให้ประชาชนได้ร่วมกันสรงน้ำพระ อธิษฐานขอพร อิ่มบุญอิ่มใจกันถ้วนทั่วหน้า

สำหรับหนึ่งในพระพุทธรูปที่มีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนสักการะ สรงน้ำพระ อธิษฐานขอพรกันในสถานการณ์ปกติทุก ๆ ปี ก็คือ “พระพุทธสิหิงค์”


พระพุทธสิหิงค์ กทม.

พระพุทธสิหิงค์นอกจากจะเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของไทย คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดหรือท้องถิ่นนั้น ๆ แล้ว ยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่วันสงกรานต์ที่คนไทยนิยมเดินทางไปกราบไหว้ขอพร และสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์กันเป็นจำนวนมาก

ทุก ๆ ปี เมื่อถึงวันสงกรานต์คราใด กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่จัดขึ้นเป็นประจำก็คือ การอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองใน 3 พื้นที่ออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำ สักการบูชา และขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล


พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่

สำหรับพระพุทธสิหิงค์นั้น หลายๆคนคงเคยได้สักการบูชา หรืออาจจะเคยได้มีโอกาสสรงน้ำท่าน แต่อาจไม่ทราบถึงความเป็นมาของท่านมาก่อน ซึ่งมีคำกล่าวกันว่า นอกจากพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกแล้ว จะหาพระพุทธรูปโบราณที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีความงดงามเทียบกับพระพุทธสิหิงค์นั้นไม่มีเลย

แสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้ย่อมต้องมีความงดงามเป็นอันมาก และความเป็นมาของท่านนั้นก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว


พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช

ตำนานมหัศจรรย์

ตำนานของพระพุทธสิหิงค์ ได้มีผู้เรียบเรียงไว้หลายคน เช่น พระโพธิรังษี ปราชญ์เชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และหลวงวิจิตรวาทการ โดยได้เล่าประวัติสอดคล้องกันว่า

...พระพุทธสิหิงค์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 700 โดยพระมหากษัตริย์ลังกา 3 พระองค์ พร้อมกับพระอรหันต์ในเกาะลังกา

เล่ากันว่า ในการสร้างนั้น ผู้สร้างตั้งใจจะให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่เหมือนองค์พระพุทธเจ้าจริง ๆ จึงให้พญานาคที่เคยเห็นพระพุทธองค์แปลงกายมาเป็นแบบให้

ทว่าในขณะหล่อนั้น ช่างหล่อคนหนึ่งทำไม่ถูกพระทัยเจ้าองค์หนึ่ง จึงถูกหวดด้วยไม้ถูกนิ้วของช่างบาดเจ็บ ครั้นพอหล่อพระพุทธสิหิงค์เสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่านิ้วของพระพุทธสิหิงค์มีรอยชำรุดไปนิ้วหนึ่งเช่นกัน...


มีตำนานเล่าขานกันว่า พญานาคแปลงกายมาเป็นแบบสำหรับการสร้างพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์จากลังกาสู่สยามประเทศ

พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ที่กรุงลังกาเป็นเวลาถึง 1,150 ปี และเมื่อถึงสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงได้ทราบถึงลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตเชิญพระราชสาสน์ไปขอประทานมาจากพระเจ้ากรุงลังกา พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐานที่กรุงสุโขทัยเป็นเวลา 70 ปี

หลังจากนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ได้ย้ายไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ ในอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ จนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธสิหิงค์ได้มาประดิษฐานยังกรุงเทพเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2338 และได้ประดิษฐานอยู่ที่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาจนทุกวันนี้


พระพุทธสิหิงค์ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กทม.

หากจะนับเวลาตั้งแต่เมื่อครั้งที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากกรุงลังกามายังสุโขทัย จนมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลาถึงกว่า 700 ปี ทีเดียว

@@@@@@@

พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพฯ


ปัจจุบันในประเทศไทย มีพระพุทธรูปที่มีนามว่าพระพุทธสิหิงค์อยู่หลายองค์ในหลายพื้นที่ แต่ก็มีพระพุทธสิหิงค์สำคัญอยู่ 3 องค์ ได้แก่ “พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพฯ” ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพระพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งก็คือองค์ที่อัญเชิญจากกรุงลังกามาประดิษฐานตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น


ทุก ๆ ปี ในสถานการณ์ปกติ กทม.จะการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

แต่ในปีนี้ (2563) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพระพุทไธสวรรค์มาให้ประชาชนสรงน้ำจึงจำเป็นต้องงดไปหนึ่งปี โดยทางรัฐบาลได้ขอให้ประชาชนสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้านแทน พร้อมงดกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ในทุกระดับ

สำหรับประเพณีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ออกมาให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ได้โดยเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ในสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี และธรรมเนียมประเพณีนั้นก็ได้ปฏิบัติกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้


ภาพประวัติศาสตร์ การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ประดิษฐานบนบุษบกเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (ภาพ : กรมศิลปากร)

โดยทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ได้เผยแพร่ข้อมูลถึงประเพณีดังกล่าว ดังนี้

...ย้อนกลับไปเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นปีมหามงคลสมัยที่กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนามาครบ ๒๐๐ ปี รัฐบาลและปวงชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศ พร้อมใจกันจัดงานสมโภชขึ้นตลอดทั้งปี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา ทำให้พสกนิกรได้อยู่อาศัยใต้ร่มพระบารมีอย่างร่มเย็นเป็นสุข

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีเป็นการพิเศษเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ในวันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ประดิษฐานบนบุษบกเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่ท่าวาสุกรี อัญเชิญโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคน้อย ล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาไปเทียบท่าสะพานพระพุทธยอดฟ้า แล้วอัญเชิญโดยขบวนรถยนต์ข้ามสะพานไปประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีวงเวียนใหญ่ เพื่อให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำ


ภาพประวัติศาสตร์ การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ทางบกโดยริ้วขบวนราชอิสริยยศ (ภาพ : กรมศิลปากร)

จากนั้นอัญเชิญโดยขบวนรถยนต์ต่อไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แล้วอัญเชิญโดยริ้วขบวนราชอิสริยยศอย่างน้อยไปยังปะรำพิธีท้องสนามหลวง ประดิษฐานให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำจนถึงเย็นวันอังคารที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕

อย่างไรก็ดี ในยามวิกฤตการณ์ เช่นเมื่อครั้งพุทธศักราช ๒๔๙๑ หลังจากที่ประเทศไทยผ่านพ้นเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประกอบพระราชพิธีสมโภชร่วมกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เพื่อปัดเป่าเภทภัยและเสริมความเป็นสิริมงคลเช่นกัน...

@@@@@@

พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่


พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

“พระพุทธสิหิงค์ จ. เชียงใหม่” ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ หลาย ๆ คนนิยมเรียกกันว่า “พระสิงห์” ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่

สำหรับวัดพระสิงห์ เดิมชื่อว่าวัดลีเชียงพระ แต่หลังจาก พ.ศ.1943 เมื่อกษัตริย์เชียงรายได้อัญเชิญพระสิงห์มาจากกำแพงเพชร และนำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พระองค์ได้อัญเชิญพระสิงห์ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ ต่อมาคนเชียงใหม่จึงเรียกวัดนี้ว่าวัดพระสิงห์นับแต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ หรือ พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง เป็นศิลปะเชียงแสนยุคแรก ที่มีพุทธลักษณะงดงามเปี่ยมศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง


ในสถานการณ์ปกติ จ.เชียงใหม่ จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาให้ประชาชนได้สรงน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางจังหวัดเชียงใหม่จะมีการอัญเชิญพระสิงห์ขึ้นบนบุษบกแห่รอบเมืองเชียงใหม่ให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปีแต่สำหรับในปีนี้ซึ่งมีการงดการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกมาให้ประชาชนสรงน้ำ ทางวัดพระสิงห์จึงมีเพียงพระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์และสักการะองค์พระในวิหารลายคำ

@@@@@@

พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช


พระพุทธสิหิงค์ แห่งหอพระ จ.นครศรีธรรมราช

“พระพุทธสิหิงค์ จ. นครศรีธรรมราช” ประดิษฐานอยู่ที่หอพระประจำเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีพระพักตร์กลม อมยิ้มเล็กน้อย หล่อด้วยสัมฤทธิ์

ทุก ๆ ปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แห่นางดาน ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกมาประดิษฐานบนบุษบกออกแห่แหนไปรอบเมือง ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการะ และสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่สำหรับในปีนี้ที่มีสถานการณ์โควิด-19 เขย่าโลก ก็จำเป็นต้องงดประเพณีดังกล่าวไปชั่วคราว


ขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ในประเพณีสงกรานต์นางดาน

และนี่ก็คือเรื่องราวแห่งศรัทธาของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญแห่งเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา ซึ่งพระโพธิรังษี ปราชญ์เชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า “พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ในที่ใด ๆ ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดังดวงประทีป เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่”

ส่วนหลวงวิจิตรวาทการกล่าวไว้ว่า “อานุภาพแห่งพระพุทธสิหิงค์สามารถบำบัดความทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ที่หมดมานะ ท้อถอย เมื่อได้มาสักการะ ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งก็จะกลับสดชื่นและมีความเข้มแข็งขึ้น จิตที่หวาดกลัวก็กลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านก็จะมีวิริยะ ผู้หมดหวังก็จะมีกำลังใจขึ้นใหม่”


ทุก ๆ ปี ในสถานการณ์ปกติ จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล


ขอบคุณ : https://mgronline.com/travel/detail/9630000038686
เผยแพร่ : 14 เม.ย. 2563 ,13:15, ปรับปรุง : 14 เม.ย. 2563 16:02 ,โดย : ปิ่น บุตรี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 16, 2020, 07:42:10 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ