ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ”การปล่อยวาง” ไม่ใช่ การปล่อยปละ ละเลย....  (อ่าน 1136 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




”การปล่อยวาง” ไม่ใช่ การปล่อยปละละเลย ธรรมเตือนสติ โดย พระอาจารย์ชยสาโร

การปล่อยวาง ในทางพระพุทธศาสนา คือไม่ใช่การปล่อยปละละเลย ด้วยการปล่อยวางการกระทำในขณะที่เรากำลังทำสิ่งที่ควรทำ ต้องทำด้วยการปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางกิเลส ปล่อยวางอัตตาตัวตนที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าเราทำสิ่งใดก็ตาม

เราต้องเจอ “โลกธรรม” เช่น สรรเสริญ นินทา คนเราส่วนใหญ่หรือว่าทุกคนก็ว่าได้ ชอบคำสรรเสริญ ไม่ชอบคำนินทา และมีแนวโน้มจะหลงอยู่กับคำชื่นชม และน้อยใจ เสียใจ หรือว่าหมดกำลังใจเพราะคำนินทา ถ้าอย่างนั้นเราต้องการคำสรรเสริญ หรือยินดีกับคำสรรเสริญ เราก็จะทุกข์กับคำนินทา

การทำงานด้วยการปล่อยวางก็คือ เมื่อเรากำหนดว่าสิ่งไหนควรทำ เราก็เตรียมตัวพร้อม แล้วมันจะไม่ยึดมั่นถือมั่นกับคำพูดของใคร เขาชื่นชม เราก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกของคนบางคน อาจจะเป็นด้วยความเข้าใจก็ได้ ไม่เข้าใจก็ได้ อาจจะพูดด้วยความจริงใจก็ได้ อาจจะพูดด้วยเจตนา ประจบประแจง  ก็เป็นเรื่องของโลก เราก็ทำ เรารู้ว่าถึงแม้ว่าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจก็มีบางคนเขาจะนินทาเรา อาจจะเป็นด้วยเจตนาร้ายก็ดี หรือด้วยความหวังดีต่อเราก็ได้ สิ่งที่เขานินทาอาจจะมีส่วนถูกก็ได้

@@@@@@

การปล่อยวางการคาดหวัง เพราะทำความดีทุกคนต้องยอมรับ หรือว่าไม่ ไม่มีใครน่าตำหนิเราได้ เพราะเราทำความดี อันนี้เราทำงานแบบไม่ ไม่รู้จักปล่อยวาง ปล่อยวางตามความเป็นจริงของมันว่า เราทำอะไรในโลกต้องมีปฏิกิริยาต่าง ๆ ก็ยอมรับว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย การปล่อยวางคือ ปล่อยวางตามความเป็นจริงของโลก

พูดอีกนัยหนึ่งคือก ารปล่อยวางตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ความสามารถในการปล่อยวางก็จะขึ้นอยู่กับการศึกษาเรียนรู้เรื่องธรรมดาของกายทั้งกาย ธรรมชาติของใจ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัย เรายิ่งชัดเจนในข้อนี้ก็ยิ่งสามารถปล่อยวาง เพราะไม่มีการคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง หรือว่าอย่างที่เจ้าคุณพุทธทาสบอก มันเป็นเช่นนั้นเอง

ถ้าปล่อยวางไม่ได้ หลวงพ่อชา สุภัทโทเคยสอนว่า เราต้องอดทน เมื่อเรายังปล่อยวางไม่ได้ อย่างน้อยเราต้องอดทน ก็ไม่ปล่อยให้เกิดปฏิกิริยา หรืออย่าเสียใจ น้อยใจอะไรมากจนเกิดเป็นบาปเป็นกรรม

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาไปสำรวจกุฏิ และเข้าไปในกุฏิพระรูปหนึ่ง ปรากฏว่ากุฏิรั่ว พระท่านเห็นว่ารั่วน้ำมันหยดลงมา ท่านเลยย้ายของออกไปไว้มุมนึงเพื่อไม่ให้ของเปียก

    แล้วหลวงพ่อชาบอกว่า ทำไมไม่ซ่อมหลังคา
    พระท่านบอกว่าผมปฏิบัติการปล่อยวาง
    หลวงพ่อท่านบอกว่า นี่คือการปล่อยวางของควาย ไม่ใช่การปล่อยวางของมนุษย์


@@@@@@

การปล่อยวางไม่ใช่การยอมรับแล้วทำใจ แล้วไม่เป็นทุกข์กับมันเท่านั้น ต้องใช้ปัญญาด้วยว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรอดทนไหม หรือเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขไหม ซึ่งมันก็แล้วแต่บริบท แล้วแต่เหตุการณ์

ในกรณีของกุฏิ เรามีหน้าที่ดูแลเสนาสนะของสงฆ์ ถ้ากุฏิรั่วเราต้องซ่อม ถึงแม้ว่าเราจะสามารถอยู่ในกุฏิรั่วได้โดยไม่เป็นทุกข์ ก็ยังไม่ถูก ยังขาดปัญญา ขาดความรับผิดชอบว่าเราเป็นพระ

เราเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลสิ่งที่ญาติโยมถวาย กว่าที่ชาวบ้านจะมีปัจจัยสร้างกุฏิถวายสงฆ์ มันเป็นเรื่องยากลำบาก ทีนี้เราเคารพในบุญที่เขาทำไว้ ต้องดูแลกุฏิให้เขา บางสิ่งบางอย่างถึงจะปล่อยวางได้ หมายถึงว่าอยู่ได้ไม่เป็นทุกข์กับมัน แต่มันก็อาจไม่สมควรก็ได้

เราต้องดูในความเหมาะสม เราต้องดูในภาพรวม อย่างเช่นในทางธรรม เรากล่าวถึงคุณธรรม 2 ข้อที่เป็นคู่กันคือ สติ และ สัมปชัญญะ สัมปชัญญะจะเป็นตัวปัญญาที่จะดูบริบท

ดูว่า การเจริญสติของเราจะมีผลกระทบต่อคนอื่นบ้างไหม จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องหรือไม่ เขาไม่ได้เอาความรู้สึกของเราในปัจจุบัน ว่าทุกข์หรือสุขเป็นหลักอย่างเดียว


 

ที่มา : www.youtube.com/สุขทุกวัน7วัน7กูรู ตอน การปล่อยวาง โดยพระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ 19 เม.ย. 60
ภาพ : www.pexels.com
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/202185.html
By nintara1991 ,21 April 2020
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 26, 2020, 07:43:42 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ