« เมื่อ: เมษายน 29, 2020, 06:33:20 am »
0
มาจากไหน.? โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่งโขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง และการแสดงอื่นๆ มีความเป็นมาแยกไม่ได้จากอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในไทย ในอุษาคเนย์ และในโลก ความรู้กระแสหลักด้วยอำนาจอนุรักษนิยมครอบงํามานานมาก ว่าโขนละคร หรือนาฏศิลป์และดนตรีของไทย ล้วนได้แบบแผนจากอินเดีย
แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดียืนยันตรงข้าม คือ นาฏศิลป์อินเดียไม่มีพลังเหนือฟ้อนระบำรำเต้นของไทยและอุษาคเนย์ กล่าวโดยสรุปว่านาฏศิลป์และดนตรีของไทย ไม่อินเดีย รวมทั้งไม่อัลไต, ไม่น่านเจ้า และไม่แห่งแรกที่กรุงสุโขทัย
@@@@@@
โขนเป็นนาฏกรรมการเมืองในรัฐนาฏกรรม
โขนเป็นนาฏกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางการเมืองลัทธิเทวราช ที่ราชสํานักรัฐอยุธยารับสืบทอดจากราชสํานักรัฐละโว้ ซึ่งรับมาอีกทอดหนึ่งจากราชสํานักอาณาจักรกัมพูชา
ดังนั้น ความเป็นมาของโขนเกี่ยวข้องกับลัทธิเทวราช ไม่ใช่การแสดงของมวลชนมาแต่กำเนิด จึงเข้ากันลำบากกับวัฒนธรรมประชาชน
@@@@@@
ละครมาจากการเมืองสมัยอยุธยา
ละครสมัยแรกเป็นการละเล่นทางการเมืองในพิธีกรรมของราชสํานักดั้งเดิมสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ที่มีจับระบํารําฟ้อนสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หลังจากนั้นบรรดาขุนนางที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมือง ต่างมีละครของตนเองโดยเลียนแบบละครราชสํานัก แล้วรับจ้างตามที่มีผู้หาหรือว่าจ้างไปเล่นในงานตามประเพณีต่างๆ ได้แก่ งานวัด, งานศพ ฯลฯ
ครั้นนานไปละครของราชสํานักโดยผ่านกลุ่มขุนนางก็แพร่หลายคลายความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการละเล่นที่ชาวบ้านทําเลียนแบบ แล้วเรียกละครเร่เพื่อรับจ้างเล่นแก้บนตามหมู่บ้านและงานหาทั่วไป นับแต่นั้นละครก็ปรับเปลี่ยนเป็นมหรสพของคนหลากหลายระดับ
@@@@@@
ลิเกมาจากมลายูมุสลิม
ลิเกเป็นละครในวัฒนธรรมประชาชน เริ่มมีครั้งแรกสมัย ร.5 กรุงรัตนโกสินทร์ (ไม่เคยมีในรัฐอยุธยา, รัฐสุโขทัย, รัฐธนบุรี) เริ่มจากประสมกลมกลืนระหว่างการละเล่นของมลายูมุสลิมเข้ากับการละเล่นที่มีอยู่แล้วของชาวสยามพูดภาษาไทย เช่น สวดลำออกภาษา, เพลงเรื่อง เป็นต้น ที่สำคัญคือ เลียนแบบละครทั้งละครใน ละครนอก และละครชาตรี แต่ดัดแปลงให้ต่างไป
@@@@@@
หมอลํามาจากมหรสพ “ไม่ไทย”
หมอลําเป็นการแสดง “ไม่ไทย” ในอีสาน ที่ปรับตนกลมกลืนวัฒนธรรมป๊อป แล้วได้รับความนิยมกว้างขวางมากทั้งในไทยและในระดับสากล โดยมีความเป็นมาเก่าแก่จากการละเล่นในพิธีกรรมหลายพันปีมาแล้ว จนพัฒนาการแสดงเป็นมหรสพ
หมอลํามาจากการละเล่นขับลําทําขวัญของคนกลุ่มที่พูดภาษาไต-ไท ราว 2,500 ปีมาแล้ว ครั้นต่อมาได้ปรับเปลี่ยนดัดแปลงเป็นการแสดงมหรสพสืบเนื่องถึงปัจจุบัน โดยไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป
@@@@@@
เพลงลูกทุ่งมาจากเพลงไทยสากล
เพลงลูกทุ่ง มีกําเนิดจากเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป๊อป เริ่มครั้งแรกทางโทรทัศน์ พ.ศ.2507 ก่อนถูกเรียกเพลงลูกทุ่ง บรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนร้องเล่นอยู่ในสังกัดเพลงไทยสากล ตั้งแต่นักร้อง, นักแต่งเนื้อร้อง-ทำนอง, รวมทั้งนักดนตรีสากล (เพลงลูกทุ่งไม่กําเนิดจากเพลงไทยเดิม เพราะเพลงไทยเดิมเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป)
@@@@@@
คิดต่างกันได้
แนวทางอนุรักษนิยมคิดต่างอย่างอื่นได้ไม่อั้น คัดค้านก็ดีไม่มีจำกัด แต่เบื้องต้นควรแสดงพยานหลักฐานวิชาการที่ปลอดจาก “เชื้อชาตินิยม” หรือเจ้าอารมณ์ยกศีลธรรมว่าตามกันมาครึ่งๆ กลางๆ แล้วอ้างครั้งปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาขึ้นลอยๆ โดยไม่เคยตรวจสอบว่าข้ออ้างเหล่านั้นเชื่อถือได้ขนาดไหน.?
หลักฐานทุกอย่างที่จะอ้างต้องตรวจสอบและประเมินคุณค่าได้เพื่อใช้อ้างอิง โดยไม่ละเว้นแม้กระทั่ง “กรณะ 108 ท่า” ของพระอีศวรหรือพระศิวะนาฏราชที่สลักไว้กรอบประตูเทวสถานเมืองจิทัมพรัม อินเดียใต้
ศิวนาฏราช คือ พระอีศวรฟ้อนรำ หลักฐานสำคัญจากประติมากรรมทำท่านาฏราชของพระศิวะที่พบหลายแห่งในกัมพูชาและไทย ยืนยันว่า นาฏศิลป์อินเดียไม่มีพลังเหนือฟ้อนระบำรำเต้นของไทยและอุษาคเนย์ ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นแบบแผนแน่นหนานานหลายพันปี ก่อนติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอินเดีย
นาฏราชแบบอินเดีย ช่างอินเดียทำประติมากรรมแสดงท่ารำเร่งรัด, เร่าร้อน, รวดเร็ว, รุนแรง (ภาพศิวนาฏราช ประติมากรรมสำริด ศิลปะอินเดียแบบทมิฬ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส)นาฏราชแบบอุษาคเนย์ ช่างอุษาคเนย์สลักหินทรายแสดงท่าฟ้อนรำเนิบช้าด้วยสามัญลักษณะ ยืด-ยุบ มีย่อเข่า ถ่างขา กางแขน และนิ้วเรียวยาวเหนือธรรมชาติคล้ายสวมเล็บปลอมตามประเพณีท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง ซึ่งทั้งหมดล้วนแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนาฏศิลป์อินเดีย (ภาพศิวนาฏราช ฝีมือช่างลุ่มน้ำมูล ราว พ.ศ.1650 สลักบนหน้าบันปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์)
หมายเหตุ : รายละเอียดมีในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สํานักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์เสร็จแล้ว สั่งซื้อที่ www.facebook.com/ituibooks หรือโทรศัพท์ 08-8919-4516
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9 เมษายน 2563
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_294341
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 29, 2020, 06:34:59 am โดย raponsan »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ