ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีหลับง่ายหลับลึก |จิตต้องว่าง กายต้องผ่อนคลาย  (อ่าน 880 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



วิธีหลับง่ายหลับลึก | จิตต้องว่าง กายต้องผ่อนคลาย

ความรู้และแนวปฏิบัติในการนอนหลับง่ายที่จะเขียนนี้ ผมหาและรวบรวมมาเอง ทดลองจนทำได้ ตอนอายุช่วง 21-60 สั่งหลับได้ทันทีและสั่งตื่นได้ตามกำหนด แต่หลังจาก 60 สั่งตื่นไม่ได้ แต่สั่งหลับเร็วยังทำได้มาจนบัดนี้ อายุ76 แล้ว

ความรู้ขั้นแรกได้มาตอนอยู่ รร.เตรียมอุดม ผมสมัครเข้าเรียนเพื่อให้ได้เป็นนักธรรมตรีและโท สอบได้ทั้งสองขั้น ความรู้ที่ช่วยเรื่องหลับไวได้มาจากการนั่งสมาธิ ทำจิตให้ว่าง แต่ตอนนั้นการสั่งหลับสั่งตี่นไม่มีอยู่ในใจเลย

ผมได้แรงดลใจให้ฝึกหัดสั่งหลับและตื่น จากเพื่อนของพ่อท่านหนึ่งที่มาเยี่ยมเยียนเสมอ ผมเป็นเด็กต้มและรินน้ำชาให้ท่านทั้งสอง แสนจะเบื่อ ไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่เขาสนุกกันอย่างไร เอาแต่พูดกัน พูดไป หัวเราะไป จิบชาไปไม่เห็นจะสนุกตรงไหน

ในที่สุดเบื่อมากๆเข้า ก็ทำใจกล้าขอเข้าไปนั่งฟังการสนทนาใกล้ๆ เพื่อนพ่อไม่รังเกียจ ผมจึงได้ฟังผู้ใหญ่คุยกัน รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้บ้าง แต่ก็ยังดีกว่าต้องถอยออกไปห่างๆได้แต่เฝ้าชงเฝ้ารินน้ำชา ช่วงนี้ยังไม่เข้าโรงเรียน ตอ.

มีอยู่วันหนึ่งท่านนี้มาเล่าให้พ่อฟังว่าได้รู้จักท่านทูตอินเดียที่มาประชุมที่กรุงเทพฯ แข็งแรงมาก นอนหลังเที่ยงคืนตื่นห้าโมงเช้า ทำงานทั้งวันติดต่อกันทุกวันเป็นเวลาห้าวัน ท่านทูตหลับง่ายและตื่นได้เอง มักงีบเสมอทุกเมื่อที่มีโอกาศ

ก่อนจะนั่งรถไปไหน ท่านทูตจะถามก่อนว่าเดินทางใช้เวลานานเท่าไร เมื่อรู้แล้วท่านทูตก็จะบอกว่า "ของีบหน่อย พอถึงแล้วจะตื่น" ว่าแล้วก็หลับไป พอจวนถึงที่ก็ตื่นเอง พ่อและเพื่อนต่างทึ่งและไม่รู้ว่าท่านทูตมีวิธีสั่งตัวเองให้หลับเร็วและตื่นเองตามกำหนดได้อย่างไร

นี่คือ จุดเริ่มต้น ราวๆปี 2503 เด็กชงน้ำชาชื่อสุมิตรก็เริ่มครุ่นคิดหาวิธีสั่งให้หลับไวและตื่นได้เอง

ฉากต่อมาในชีวิตคือสอบเข้าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ อายุ 18
เรียนอยู่ปีหนึ่ง ต้องเรียนวิชาบังคับ "วัฒนธรรม" ทั้งรุ่นประมาณ 220 คนเข้าเรียนชั้นเดียวกันหมด พออาจารย์เดินเข้ามาผมจึงจำได้ว่าท่านคือเพื่อนพ่อที่เล่าเรื่องทูตอินเดีย

เพิ่งรู้ตอนนั้นว่าท่านคือพระยาอนุมานราชธน ผมพยายามเข้าถึงตัวท่านเพื่อคารวะ เฮ้อ....ท่านจำเด็กชงน้ำชาไม่ได้ แต่ความคิดอยากสั่งหลับสั่งตื่นได้พรั่งพรูกลับมาอีก หลังจากนั้นผมหัดคิดหัดทำอย่างจริงจัง สองปีต่อมาผมก็สามารถทำได้

วิธีและขั้นตอนมีดังนี้ครับ

1. สำรวมจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน คนเรานอนไม่หลับเพราะพอเอนตัวลงนอนก็คิดโน่นนี่ติดต่อกันไม่ยอมหยุดเป็นชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ตอนเรียนเป็นนักธรรมโท พระท่านเปรียบเทียบดีมาก เห็นภาพและจำมาได้จนบัดนี้ การควบคุมจิตให้นิ่งเปรียบเหมือนเราหยดน้ำลงบนใบบัวแล้วถือก้านใบให้นิ่ง หยดน้ำก็จะกองนิ่งอยู่ตรงแอ่ง หากมือถือก้านใบขยับไปมาหยดน้ำก็ไม่อยู่นิ่ง

ตกลงวิธีแรกคือเอาบริเวณวงกลมหว่างคิ้วทั้งสองเป็นแอ่งกลางใบบัว แล้วเอาจิตเป็นหยดน้ำไปวางอยู่ที่นั่น สั่งใจตัวเองไม่ให้คิดถึงอะไรเลย นี่เสมือนกับการบังคับมือไม่ให้สั่นหรือขยับเพื่อให้หยดน้ำอยู่นิ่ง คนฝึกใหม่ๆ จิตจะหนีอยู่ทุกขณะ เฝ้าระวัง พอรู้ตัวว่าแว่บคิดเรื่องโน่นนี่ สั่งตัวเองทันที " หยุดคิด กลับมาอยู่แอ่ง สงบตามเดิม ทำจิตว่าง ไม่ต้องคิดถึงอะไรทั้งสิ้น" การต่อสู้แบบนี้จะถี่มากตอนหัดใหม่

อย่าลืมนะครับว่า ตอนต้น ผมเรียนให้ทราบแล้วว่าผมใช้เวลาสองปีจึงทำได้ ที่นาน เพราะผมต้องคิดต้องลองต้องหัดด้วยต้วเอง ผู้อ่านใช้เวลาแค่หกเดือนอย่างมากที่สุดก็คงสั่งหลับได้เพราะมีโค้ช แค่สั่งหลับนะครับ สั่งตื่นได้ตามกำหนดต้องอีกตอน โปรดใช้นาฬิกาปลุกไปพลางๆก่อน

2. ใช้จิตสำรวจกายเพื่อคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน คุณจะนอนท่าไหนก็ได้ ตะแคงซ้าย หรือขวา หรือนอนหงาย เป็นท่าที่นอนหลับได้สบาย ไม่นอนคว่ำนะครับ
    - ให้เริ่มจากหน้าผากและหว่างคิ้ว บริเวณนี้จะเกร็งบ่อยโดยไม่รู้ตัวเหมือนคำพูดว่า "หน้านิ่วคิ้วขมวด" แม้เวลาจะนอนก็ยังเกร็ง หลายคน ขณะหลับยังขมวดคิ้วก็มี ไม่เชื่อขอให้ลองแอบมองดูเอง
    - กรามทั้งสองปล่อยคลายให้หมดแทนที่จะอยู่ในท่า "ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน"
    - โคนลิ้น ปล่อยลงแทนที่จะดันขึ้นติดเพดานคอ
    - แก้มทั้งสอง ปล่อยให้ห้อย ไม่ต้องยิ้ม ไม่ต้องปั้นหน้าให้ใคร ถึงเวลานอนแล้ว หลังจากบริเวณหน้า ขอให้ไล่คลายกล้ามเนื้อลงไปตามลำตัวจนจรดเท้า คลายให้หมดสิ้น

3. ทบทวนตรวจดูว่า จิตว่างหรือยัง ไม่คิดถึงอะไรเลยนอกจากใช้สำรวจกล้ามเนื้อจากหัวจรดเท้า

4. เพิ่มอีกหนึ่งอย่าง เมื่อคุมทั้งสามขั้นได้แล้ว ขอเพิ่มการหายใจ แทนที่จะหายใจตามปกติ ขอหายใจให้แผ่วที่สุด และระรวยแค่พอประทังชีวิต การหายใจแบบนี้ควบคุมยากและต้องการสมาธิสูง ก็ดี ช่วยยึดใจไม่ให้พล่านไปทางอื่น

ตรวจทบทวน 4 ขั้นตอนนี้วนไปเวียนมาสักครู่ คุณจะรู้สึกว่าตัวเบาหวิว เสมือนล่องลอยไปคล้ายๆกับอยู่ในภวังค์ ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น เมื่อเข้าได้ถึงช่วงนี้ ช้าเร็วขึ้นอยู่กับความชำนาญที่คุณค่อยๆพัฒนาขึ้นมา คุณจะหลับไปโดยไม่รู้ตัว


คำแนะนำเพิ่มเติม

1) ฝึกนิสัยหาเรื่องออกกำลังกายให้เหนื่อย แทนที่จะจ้างคนมาทำก็ทำเอง พอถึงเวลานอน ความเหนื่อยจะบังคับให้คุณหลับไวและ หลับปุ๋ย

2) เข้านอนและตื่นเป็นเวลาการทำเช่นนี้ช่วยให้ร่างกายชินกับ การหลับเมื่อถึงเวลา ขอแนะให้เข้านอนอย่างช้าที่สุดสี่ทุ่ม ตื่นหลังจากนอนได้ 7 ชม. ช่วงจากสี่ทุ่มถึงตีสองเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมความสึกหรอ หลั่งสารเคมีชลอวัย ปร้บให้ร่างกายกลับสู่สภาพสมบูรณ์ พร้อมที่จะตื่นขึ้นมาปฏิบัติภารกิจของวันใหม่

3) หลับลึก การปฏิบัติทั้งสี่ขัอที่กล่าวมาช่วยในการหลับลึกอยู่แล้ว ผู้อ่านทั้งชายและหญิงต้องจัดการอีกเรื่องเพื่อเลี่ยงการตื่นมาฉี่กลางดึก ขอให้หยุดดื่มน้ำสักหนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนนอน ฉี่ให้หมดแล้วเข้านอน หากไม่มีโรคอื่น ควรหลับรวดเดียวตลอดถึงเช้า ท่านชาย หากยังต้องตื่นครั้งหรือสองครั้ง อาจเป็นเพราะต่อมลูกหมากบวม ควรไปปรึกษาแพทย์

4) การปฏิบัติทั้ง 4 ขั้นตอนไม่ใช่ของยาก เป็นแค่ทักษะทูตอินเดียทำได้ เด็กชงน้ำชากะโปโลทำได้ ผู้อ่านก็ควรจะทำได้ ขอให้ตั้งใจ เอาจริง ยอมฝึก ไม่ยอมแพ้หรือท้อแท้ง่ายๆ ผมขอรับรองว่าจะคุ้มค่ามหาศาลต่อสุขภาพ ส่งผลให้แต่ละวันสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอเชียร์และให้กำลังใจนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากขอร้องให้ผู้อ่านช่วยส่งต่อเพื่อเป็นประโยชน์แด่ผู้อื่นด้วย ขอบคุณครับ




ขอบคุณบทความของ : ดร. สุมิตร คุณานุกร ,บีซีซี รุ่น 110. ,ครุฯ. จุฬาฯ รุ่น 2506
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 04, 2020, 07:50:00 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ