ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ภาษาและวิธีพูดของชาววัง ต่างจากชาวบ้านอย่างไร เมื่อ “ผัว” ก็เป็นคำหยาบ  (อ่าน 842 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

การแต่งพระองค์ของพระบรมวงศ์ชั้นสูงและการแต่งกายของเจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่ ๕


ภาษาและวิธีพูดของชาววัง ต่างจากชาวบ้านอย่างไร เมื่อ “ผัว” ก็เป็นคำหยาบ

ความแตกต่างระหว่างชาวบ้านกับชาววังนั้นเกิดจากการที่ชาววังได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับต้นแบบหรือศูนย์กลางแห่งความเจริญ พบเห็นและได้รับการอบรมแต่สิ่งที่ปรุงแต่งแล้วจนเป็นที่ยอมรับกันว่าเหมาะสมดีงาม ชาววังทุกคนได้รับและซึมซับสิ่งเหล่านั้นไว้เป็นคุณสมบัติเฉพาะกลุ่ม

ความแตกต่างระหว่างชาวบ้านกับชาววังที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือการแต่งกายและกิริยาท่าทาง การแต่งกายของชาววังนั้น นอกจากจะประณีตบรรจง งดงาม สะอาด และมีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีระเบียบหรือรูปแบบ เช่นว่าวันไหนจะใส่สีอะไรคู่กับสีอะไร ส่วนกิริยาท่าทางนั้นก็ต้องนุ่มนวล อ่อนโยน และสง่างามผสานผสมกันพอเหมาะ จึงจะเป็นแบบเฉพาะของชาววัง

แบบเฉพาะของชาววังอีกอย่างหนึ่งได้แก่ วิธีพูดและคำพูด เป็นลักษณะที่ชาววังได้รับการถ่ายทอด ฝึกฝน และอบรมให้ประพฤติปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดจนเป็นลักษณะเฉพาะ คือจะต้องมีกระแสเสียงพูดที่ไพเราะนุ่มนวล เนิบนาบ ชัดถ้อยชัดคำ คำที่พูดจะต้องแสดงออกถึงความสุภาพและอ่อนโยน หลีกเลี่ยงคำที่มีความหมายหรือเลศนัยก่อให้เกิดจินตนาการหรือส่อให้คิดไปในทางหยาบคาย

คำพูดธรรมดาบางคำของชาวบ้านนั้นชาววังจะเห็นว่าไม่สุภาพพยายามเลี่ยงไปใช้คำที่ดูไม่น่าเกลียดและไพเราะกว่า เช่น ต้นนมแมว ชาววังจะเรียกต้นถันวิฬาร์ ปลาช่อน เรียกว่าปลาหาง ผักบุ้ง เรียกผักทอดยอด ความช่างคิดประดิดประดอยซับซ้อนยอกย้อนของชาววังนั้นมีมากและเป็นที่รู้กันดี จนมีผู้ล้อเลียนว่า “ชาววังช่างประดิษฐ์ ดอกสลิดเรียกดอกขจร ชาววังช่างยอกช่างย้อน ดอกขจรเรียกดอกสลิด”


@@@@@@@

และคำบางคำ สาวๆ ชาววังจะไม่ยอมให้หลุดออกจากปากเป็นอันขาด เช่นคำว่า “ผัว” ถือกันว่าเป็นคำหยาบคาย หากผู้อื่นได้ยินก็จะถูกประณามว่ามีจิตใจฝักใฝ่ด้านชู้สาว ซึ่งเป็นสิ่งที่สาวๆ ชาววังเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างที่สุด ถึงขั้นแทบจะไม่อยากอยู่สู้หน้าสังคม

ส่วนการพูดจาปกติของชาววังนั้น ถ้าเป็นเจ้านายทั้งหญิงชายจะได้รับการฝึกอบรมให้ตรัสแต่ถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จนทุกพระองค์ล้วนซึมซาบแต่กับถ้อยคำที่ละมุนหูทั้งน้ำเสียงและถ้อยคำ แม้แต่เจ้านายเล็กๆ ที่เป็นพระองค์ชายก็จะตรัสด้วยวาจาที่สุภาพเรียบร้อย มี คะ ขา จ๊ะ จ๋า ทุกคำไป จนถือเป็นลักษณะเฉพาะ

พระพี่เลี้ยงหวน หงสกุล เล่าถึงการพูดจาของสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ว่า

“—ทรงเรียกกรมหลวงสมรฯ ว่า ป้าโสมคะ ป้าโสมขา เรียกพระองค์เองว่าแดง แดงยังงั้น แดงยังงี้ ไม่เคยรับสั่งว่าฉันเลย—“ ส่วนภาษาที่ตรัสนั้นก็สุภาพจนไม่ทรงรู้จักกับคำหยาบคาย พระพี่เลี้ยงหวนเล่าว่า ครั้งหนึ่งทรงได้ยินหม่อมเจ้าจัตุรัส ซึ่งเรียกกันว่าคุณตุ้ม พูดคำหยาบคาย ทรงไม่เข้าพระทัย กลับมาถามพระพี่เลี้ยงหวนว่า “—หวน ตาตุ้มแกพูดภาษาเจ๊กอะไรของแกไม่รู้—“

คำพูดไพเราะ วาจาสุภาพ จะติดอยู่ที่พระโอษฐ์ของเจ้านายทุกพระองค์ ไม่ว่าจะทรงอยู่ในสถานการณ์เช่นใด ในบันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล เล่าว่าเมื่อครั้งเสด็จประพาสชวา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธประชวรหนัก เวลาทรงไม่สบายมากก็จะทรงร้องหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “—ทูลหม่อมป๋าคะ เอียดเล็กทูลลา—“

@@@@@@@

ในส่วนเด็กหญิงชายอื่นๆ ต่างก็ซึมซับเอาวิธีพูดและคำพูดอันงดงามไพเราะเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ซึ่งจะติดตัวจนเป็นสาวเป็นหนุ่ม อันจะกลายเป็นลักษณะเฉพาะ เมื่อไปอยู่ที่ใดผู้คนก็จะรู้ทันทีว่านั่นคือชาววัง

ภาษาที่ชาววังนิยมใช้พูดจากัน อาจกล่าวได้ว่าบางคำบางสำนวนเป็นภาษาที่รู้เรื่องและเข้าใจกันเฉพาะในหมู่ชาววัง เช่น การเอ่ยพระนามเจ้านายไม่ว่าจะเป็นพระมเหสีเทวี พระราชโอรสธิดา หรือเจ้านายพระองค์สำคัญ คนในวังจะไม่นิยมเอ่ยพระนาม ทั้งนี้เนื่องมาจากความเคารพยำเกรงและเทิดทูนพระบารมีพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ไว้ในที่อันสูงสุด ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

แม้การเอ่ยพระนามซึ่งจะต้องใช้เป็นประจำ ก็ถือว่าเป็นการเอ่ยพระนามพล่อยๆ มิเป็นการบังควร จึงไม่นิยมขานพระนามเจ้านาย ใช้วิธีเลี่ยงด้วยการขานพระนามซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ชาววัง พระนามเจ้านายพระองค์สำคัญที่ชาววังถวายการเรียกขานมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ชาววังเรียกว่าทูลกระหม่อมแก้ว


สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระนามเรียกขานในหมู่ชาววังหลายพระนาม

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระนามที่ใช้เรียกขานกันในหมู่ชาววังหลายพระนาม เช่น พระองค์หญิงกลาง เพราะทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์กลางในสมเด็จพระปิยมาวดี (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม )

สมเด็จพระตำหนัก เพราะประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหญ่ด้านหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีสะพานสูงเดินเชื่อมกันถึง

สมเด็จสวนหงษ์ ขานพระนามเมื่อประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนหงษ์ ในพระราชวังสวนดุสิต

สมเด็จวังสระปทุม ขานพระนามนี้เมื่อประทับอยู่ ณ พระตำหนักวังสระปทุม ในบั้นปลายพระชนมชีพ

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีพระนามที่ใช้เรียกขานกันในหมู่ชาววังว่าสมเด็จที่บน เพราะประทับอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และสมเด็จรีเยนต์ ใช้เรียกเมื่อโปรดสถาปนาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้งเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐

พระอัครชายาเธอ ๓ พระองค์ คือ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ชาววังเรียกขานพระนามว่าพระอัครชายาพระองค์ใหญ่ พระอัครชายาพระองค์กลาง และพระอัครชายาพระองค์เล็ก หรือท่านพระองค์เล็ก ตามลำดับ ชาววังเรียกขานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินีว่าเสด็จอธิบดี เพราะโปรดสถาปนาเป็นอธิบดี มีหน้าที่ดูแลในราชสำนักฝ่ายใน

@@@@@@@

ส่วนพระราชธิดา ก็ทรงมีพระนามตามเรียกขานต่างๆ ดังนี้ พระองค์ใหญ่ ใช้ขานแทนพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เพราะเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาแพ สมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ ใช้ขานแทนพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ เพราะเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และทูลกระหม่อมหญิง ใช้ขานพระนามกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นต้น

ว่ากันว่าการขานพระนามเช่นนี้ เจ้านายท่านก็ทรงทราบ แต่ก็ไม่ทรงว่ากล่าวกระไร นัยว่าทรงพอพระทัย จึงได้ใช้วิธีขานพระนามเจ้านายพระองค์สำคัญเช่นที่ว่านี้กันสืบมา

ไม่ใช่แต่ข้าราชบริพารเท่านั้นที่ขานพระนามเจ้านายตามแบบของตน เจ้านายก็มีวิธีเรียกข้าราชบริพารตามที่ทรงพอพระทัย อันอาจเนื่องมาจากเหตุการณ์เด่นของข้าราชบริพารผู้นั้น ทำให้ทรงตั้งสมญาขึ้นเพื่อใช้เรียกเฉพาะพระองค์ และคนทั่วไปก็พลอยเรียกตาม จึงเกิดเป็นภาษาเฉพาะของชาววังขึ้น การที่เจ้านายตั้งสมญานามให้ข้าราชบริพารนั้นน่าจะมีมาทุกยุคทุกสมัย

อย่างเช่น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดตั้งสมญาให้ข้าหลวง ๒ คน คนหนึ่งชื่อ “หม่อมเป็ด” เพราะมีกิริยาอาการเดินโยกย้ายส่ายสะโพกคล้ายเป็ด อีกคนชื่อ “คุณโม่ง” เพราะชอบใช้แพรเพลาะคลุมโปงเล่นสวาทกับเพื่อนหญิง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีเจ้านายฝ่ายในโปรดตั้งสมญาข้าราชบริพารตามลักษณะที่เด่นของข้าราชบริพารท่านนั้น

เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงเรียกคุณปาน บุนนาค ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ว่า “คุณยายสมโภช” เพราะเวลามีงานสมโภชครั้งใด คุณปานมักเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสมโภชนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแทบจะทุกงาน

@@@@@@@

สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช เมื่อยังทรงพระเยาว์ก็เป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ชอบตั้งสมญาข้าราชบริพาร ทรงเรียกพระพี่เลี้ยงท่านหนึ่งที่ชื่ออู่ว่า “พระโทสะ” เพราะเป็นคนขี้โมโห ทรงเรียกคนเชิญเครื่อง ซึ่งแก่และงุ่มง่ามว่า “หลวงดีดุ่ม” และเมื่อทรงเรียกผู้คนทั้งหลายก็จะเรียกตาม กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่ชาววัง

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล เล่าไว้ในบันทึกความทรงจำของท่านว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถก็ทรงเคยตั้งสมญาให้ท่านว่า “ยายใบตองแห้ง” โดยทรงเล่าว่า “—พระเนตรสมเด็จพระพันปีฯ นั้น

นอกจากจะเขียวได้แล้ว ยังไวเสียด้วย วันหนึ่งขณะเสวยข้าวห่อบนพลับพลาที่ประทับพัก และข้าพเจ้านั่งอยู่บนยกพื้นไม้เตี้ยๆ วางอยู่บนดิน รับประทานข้าวห่อพร้อมกับคุณท้าว ๒-๓ คนที่ตามเสด็จในขบวน โดยที่ยืนมานานในรถพระที่นั่ง ครั้นลงจากรถแล้วยังต้องนั่งพับเพียบอีกพักใหญ่ พอได้ย้ายที่ไปรับประทานข้าวก็เลยนั่งชันเข่า สมเด็จพระพันปีฯ ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสกับทูลกระหม่อมกรมหลวงว่า “ดูยายใบตองแห้งนั่งชันเข่ากินข้าว”—“

@@@@@@@

คำพูดอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาววังในตอนกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือคำพูดไทยเจือคำภาษาฝรั่ง เกิดจากเหตุหลายประการ

ประการแรกมีชาวตะวันตกชาติต่างๆ เดินทางเข้ามาทำสัมพันธไมตรี ค้าขาย และเผยแผ่ศาสนาเป็นจำนวนมากกว่ารัชกาลต้นๆ

ประการที่สอง คือการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยพระองค์เองถึง ๒ ครั้ง

ประการสุดท้าย คือการที่ทรงส่งพระราชโอรสออกไปศึกษายังประเทศต่างๆ ในยุโรป ทำให้วัฒนธรรมและวิทยาการจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว

คนไทยรับทั้งวัฒนธรรมและวิชาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่ายังไม่มีการบัญญัติศัพท์ไทยขึ้นมารองรับภาษาต่างประเทศ คนไทยสมัยนั้นจึงต้องเรียกสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในช่วงนั้นเป็นภาษาฝรั่ง เช่น เรียกรถจักรว่า “โลโคโมดีฟ” เรียกจักรยานว่า “ไบไซเคิล” เรียกการเข้าสมาคมว่า “เข้าโซไซเอตี้” เรียกเลขานุการส่วนพระองค์ว่า “ไปรเวตสิเกรตารี่” เรียกเครื่องเรือนว่า “เครื่องเฟอนิเชอร์”

บางครั้งชาววังก็ใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อความโก้เก๋ เช่น ใช้คำว่า “แฟร่น” แทนคำว่าเพื่อน คำต่างประเทศบางคำเมื่อสาวชาววังชั้นข้าหลวงนำมาใช้ก็จะมีเสียงที่เพี้ยนไปจากเดิมมาก เช่น เรียกแค็ตตาล็อกว่าแคทสะด๊อก เรียกขนมปังครัวซองว่าคั่วสอง เป็นต้น

@@@@@@@

หมอสมิธเล่าเกี่ยวกับการพูดภาษาไทยผสมภาษาอังกฤษ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

“—ระหว่างการสนทนา แม้ว่าพระองค์จะมิได้ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็คงรู้คำศัพท์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับการเมืองและการทูตที่ไม่มีคำในภาษาสยามอธิบายได้อย่างชัดแจ้ง ถ้อยคำเหล่านี้มักจะสอดแทรกอยู่ในพระราชดำรัสเสมอๆ ราวกับลูกเกดที่กระจัดกระจายอยู่ในก้อนขนมปัง—“

อย่างไรก็ตามคำพูดไทยเจือคำภาษาฝรั่งนั้น นิยมพูดกันด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทย และเพื่อความโก้เก๋จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของชาววังอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งการศึกษาภาษาอังกฤษแพร่หลายไปถึงคนธรรมดาสามัญ การพูดคำไทยเจือคำฝรั่งก็กลายเป็นคำพูดของคนทั่วไปในที่สุด

คำบางคำหรือประโยคบางประโยคของชาววังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ทุกคนมีโอกาสได้รู้ได้เห็น และเกิดความประทับใจ อย่างชนิดที่เอ่ยออกมาแล้วทุกคนต้องเข้าใจ เช่นประโยคเปรียบเทียบเมื่อมีงานการอย่างใหญ่โตต้องตระเตรียมกันมาก มักพูดว่า “ราวกับรับชาเรวิช” หรือเห็นใครกำลังทำอะไรใหญ่โตชุลมุน ก็จะถามว่า “รับชาเรวิชหรือวันนี้” หรือเวลาที่ใครเปิดไฟสว่างไสวหลายดวง ก็จะพูดกันว่า “ราวกับไฟวันเฉลิม”

@@@@@@@

คำถามและคำเปรียบเปรยนี้ได้มาจากครั้งที่พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นซาร์วิช (มกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จประพาสประเทศทางตะวันออก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือเล่าขานกันถึงความยิ่งใหญ่ในการรับเสด็จฯ เล่ากันว่าเป็นงานใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งใดที่ดีที่สวยงามของไทยนำมาถวายหมด แม้แต่ม่านห้องประทับก็ทำด้วยดอกไม้สดผลัดเปลี่ยนทุกวัน ชาววังทุกคนถูกเกณฑ์ให้ตระเตรียมงานทุกอย่างให้เรียบร้อยและยิ่งใหญ่ แม้เวลาจะผ่านไปแต่ความยิ่งใหญ่ของงานก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาววังทุกคน จนกลายเป็นคำเปรียบเปรยและถามไถ่รู้เฉพาะในหมู่ชาววัง

การเปิดไฟสว่างไสวก็เช่นกัน จะเป็นคำเปรียบเปรยว่า “ราวกับไฟวันเฉลิม” เพราะโดยปกติจะเปิดไฟหรือจุดไฟเฉพาะที่จำเป็น แต่ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จะมีการจุดประทีปโคมไฟทั่วทุกหนแห่งในพระบรมมหาราชวัง และเลยไปตามสถานที่สำคัญรวมทั้งถนนหนทางสว่างไสวตระการตาเป็นที่ประทับตาประทับใจ จนกลายเป็นคำพูดที่รู้กันเฉพาะชาววังเวลาที่เปิดไฟสว่างไสวว่า “ราวกับไฟวันเฉลิม”

ท่ามกลางความอ่อนโยนนุ่มนวลนั้น เวลามีอารมณ์โกรธ ชาววังก็มีคำพูดสำหรับระบายอารมณ์โกรธอย่างมีศิลป์ โดยไม่หยาบคาย แต่ก็เจ็บแสบ เช่น “ต่อหน้าคนทำตนสมถะ ต่อหน้าพระทำว่ากูไม่สูสี ลับหลังคนสัปดนเสียสิ้นดี ผัวไม่มีเพราะในวังขาดผู้ชาย” เป็นต้น

ภาษาพูดและวิธีการพูดของชาววังเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความงดงามทั้งลีลาและรูปแบบของภาษา เพราะได้รับการกลั่นกรองปรับปรุงจนลงตัว เป็นแบบฉบับที่สตรีชาวบ้านมุ่งเลียนแบบ จนแพร่หลายกลายเป็นลักษณะประจำชาติของสตรีไทยไปในยุคหนึ่ง




ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548
ผู้เขียน : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_13845
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ