ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในบันทึกผู้ตามเ  (อ่าน 935 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพักพระราชอิริยาบถระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดนราธิวาส (พ.ศ. ๒๕๐๒)


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในบันทึกผู้ตามเสด็จ

ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อผมได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเป็นครั้งแรกนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถเพิ่งทรงเจริญพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา แต่พระวรกายและพระพักตร์แลดูอ่อนกว่าพระชนมายุราว ๑๐ ปี พระวรกายแข็งแรงเพราะทรงบริหารพระวรกายอย่างสม่ำเสมอ จำได้ว่าทรงบริหารพระวรกายด้วยการเต้นแอโรบิคและว่ายน้ำ โดยเฉพาะการว่ายน้ำนั้นโปรดมาก เวลาทรงว่ายน้ำทรงสามารถประทับอยู่ในน้ำได้นานเป็นชั่วโมง ผู้ตามเสด็จ ไม่ว่าจะเป็นพระสหายหรือนางสนองพระโอษฐ์หรือข้าหลวงจะต้องเป็นคนว่ายน้ำแข็ง มิฉะนั้นจะตามเสด็จไม่ไหว

เพราะเหตุที่พระวรกายแข็งแรง สมเด็จพระบรมราชินีนาถจึงทรงสามารถตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในถิ่นทุรกันดาร และเสด็จฯ ขึ้นเขาลงห้วยได้โดยไม่มีปัญหา ผมจำได้ว่าแม้เมื่อทรงพระประชวร ข้อพระบาทซ้นต้องเข้าเฝือกและทรงใช้ไม้ค้ำพระกัจฉะ (รักแร้) ก็ยังทรงพระราชอุตสาหะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่ทรงหยุด

เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ และทรงเคยประทับแรมในเต๊นท์ที่เจ้าหน้าที่จัดถวายในสนาม แม้ในขณะที่ลมฟ้าอากาศแปรปรวนและพื้นดินกลายเป็นโคลน ยิ่งกว่านั้นที่ประทับยังอยู่ไม่ไกลจากบริเวณวิกฤต ได้ยินเสียงปืนใหญ่ที่ใช้ในการสู้รบระหว่างทหารต่างประเทศ

@@@@@@@

ผมได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถขณะที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่อำเภอนาหว้า (สมัยนั้นยังเป็นกิ่งอำเภอ) ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ ขณะที่กำลังทรงเยี่ยมราษฎรอยู่นั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระเนตรไวและทอดพระเนตรเห็นผ้านุ่งที่ราษฎรหญิงคนหนึ่งนุ่งอยู่ ซึ่งเป็นผ้านุ่งไหมทอแบบมัดหมี่ รับสั่งถามหญิงผู้นั้นว่าทอเองหรือ และทรงขอซื้อ แต่ราษฎรหญิงผู้นั้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ถ้าเป็นคนอื่นเรื่องก็คงจบเพียงแค่นั้น แต่เมื่อเสด็จฯ กลับมาแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงพระราชปรารภว่า ถ้าหากปรับปรุงขนาดของผ้าให้หน้ากว้างขึ้นและย้อมด้วยสีธรรมชาติ และทอให้ลวดลายเป็นแบบโบราณ ผ้าไหมมัดหมี่ไทยก็อาจเป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รับสั่งให้ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ราชเลขานุการในพระองค์ขณะนั้น (ถึงแก่อสัญกรรมเนื่องจากเครื่องเฮลิคอปเตอร์ตกขณะตามเสด็จ ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๐) และคณะเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานเพื่อขอซื้อผ้าไหมเพื่อนำมาปรับปรุงขนาดและสีตามพระราชดำริ แล้วพระราชทานแบบคืนไปให้ราษฎรทอและขอซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วให้นำมาจำหน่าย จนกลายเป็นหัตถกรรมที่เป็นอาชีพเสริมของราษฎรทั้งประเทศ


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทย เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทอดพระเนตรงานจักสานของสมาชิกศิลปาชีพ

สมเด็จพระบรมราชินีนาถโปรดฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทย และทรงส่งเสริมด้วยการจัดแสดงผ้าไหมไทยทั้งในและต่างประเทศ ข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธาเห็นว่าการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อผ้าไหมนั้นเป็นพระราชภาระ จึงพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙

ผ้าไหมไทยกลายเป็นสินค้าที่รู้จักและนิยมกันทั่วโลกก็ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประชาชนคนไทย

ในโอกาสที่วันคล้ายวันพระราชสมภพเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ นี้ ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านให้ร่วมกันอาราธนาคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้คุ้มครองดลบันดาลให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ปราศจากโรคาพยาธิ ทรงพระราชประสงค์สิ่งใด ก็ขอให้ได้ดังพระราชประสงค์จงทุกประการ



ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560
ผู้เขียน : วสิษฐ เดชกุญชร
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 12 สิงหาคม พ.ศ.2560
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_11123
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ในนิตยสารครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560 เนื้อหาในฉบับออนไลน์ยังคงเนื้อหาตามต้นฉบับ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ