วิปัสสนูปกิเลส (อุปกิเลสของวิปัสสนา) เป็นไฉน.?ปุจฉา : วิปัสสนูปกิเลส(อุปกิเลสของวิปัสสนา)เป็นไฉน.?
ปุจฉา : เกิดขึ้นแก่บุคคลเช่นไร.?
ปุจฉา : ด้วยสาเหตุอย่างไร.?
วิสัชนา : เป็นความมัวหมองที่เป็นเหตุขัดขวางไม่ให้วิปัสสนาญาณดำเนินต่อไปได้
วิสัชนา : เกิดขึ้นกับบุคคลที่พึ่งได้อุทยัพพยญาณ อินทรีย์พละยังอ่อนอยู่(ตรุณ)
วิสัชนา : สาเหตุที่สภาวะอินทรีย์พละยังอ่อน ก็เพราะอุทยัพพยญาณยังไม่ได้ปรับปรุงอินทรีย์พละให้เสมอกัน คือ ปัญญินทรีย์เสมอกับสัทธินทรีย์ สมาธินทรีย์เสมอกับวิริยินทรีย์ ส่วนสตินทรีย์ยิ่งมากก็ยิ่งแข็งแรง
สาเหตุความไม่เสมอสมดุลย์กันนี่เอง ทำให้เกิดอาการขึ้น 10 อาการ มี โอภาส คือ แสงสว่างเป็นต้น ที่ผู้ปฏิบัติไม่เคยพบประสพมา จึงเข้าใจผิด ด้วยความเห็นผิด(ทิฏฐานุสัย) ด้วยความยึดถือผิด(นิกันติ คือ ตัณหาละเอียด เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตัณหานุสัย) ด้วยความถือตัวผิด(มานานุสัย) อาการทั้ง 10 มีดังนี้ :-
@@@@@@@
1. โอภาส(แสงสว่าง) เหตุเพราะสมาธิล้ำหน้าวิริยะ จึงเกิดจิตตชรูป คือ แสงสว่างเปร่งออกมาจากสรีระ
2. ญาณ การเห็นประจักษ์ชัดแจ้ง เหตุเพราะปัญญาล้ำหน้าศรัทธา วิปัสสนาญาณจึงหยั่งเห็นไตรลักษณ์คมกล้าชัดเจนเป็นครั้งแรก ประดุจผู้อยู่ในที่มืดมิด เมื่อสายฟ้าแลบออกมา ก็พึ่งเห็นสิ่งที่ตนไม่เคยเห็นมาก่อน ปรากฏให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดแจ้ง
3. ปีติ 5 อย่าง มีขุททกาปีติเป็นต้น เมื่อได้เห็นสิ่งที่ตนไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อนก็เกิดปีติขึ้น
4. ปัสสัทธิ 2 อย่าง คือ กายปัสสัทธิ(ความสงบความกระวนกระวายกาย) และ จิตตปัสสัทธิ(ความสงบความกระวนกระวายใจ)ก็เกิดขึ้น เพราะการได้รู้ได้เห็น สิ่งที่ตนไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อนในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน(ไตรลักษณ)
5. สุข ความสุขอันปราณีตก็เกิดขึ้น จากการได้รับรู้ความจริง(กฏไตรลักษณ์)ที่ถูกปกปิดไว้
6. อธิโมกข์ ความปักใจเชื่อ เหตุเพราะศรัทธาล้ำหน้าปัญญา การพิจารณารายละเอียดโทษของไตรลักษณ์ ที่สังขารธรรมทั้งหลาย ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความแตกทำลาย(ภังคญาณ)ก็จะหยุดชงักลงไม่ดำเนินต่อเพราะได้ปักใจเชื่อเสียแล้ว วิป้สสนาญาณจึงยั้งอยู่แค่ตรุณอุทยัพพยญาณเท่านั้น
7. ปัคคาหะ ความเพียรที่บากบั่น(แรงกล้า) เหตุเพราะวิริยะล้ำหน้าสมาธิ การพิจารณาไตรลักษณ์ก็จะไม่ชัด เพราะมัวว้าวุ่นด้วยความเพียรที่ไม่เสมอสมดุลย์กับสมาธิ
8. อุปัฏฐานะ เป็นสติที่ตั้งมั่น แนบแน่นในอารมณ์ ไม่หวั่นไหวประดุจขุนเขา จึงโยกย้ายอารมณ์ไม่ได้ ทำให้เสียอารมณปัจจุบันไป เป็นเหตุให้จิตตกจากวิปัสสนา เหตุเพราะได้กำลังส่งเสริมจากสมาธิ เนื่องจากสติเป็นองค์ของสมาธินั้นเอง อุปัฏฐานะจึงหมายถึงสติที่ตกจากวิปัสสนาเพราะขาดความรู้สึกตัว(สัมปชัญญะ)นั่นแหละ
9. อุเบกขา เป็นความวางเฉยเกินไป เฉยไปโดยไม่รู้อะไร รู้แต่ว่าจิตมันเฉย เวลานั้นมีอารมณ์หรือเปล่าก็ไม่รู้ มีแต่เฉยอย่างเดียว ก็เข้าใจว่าปล่อยวางแล้ว เฉยแล้ว ไม่มีความยินดียินร้ายแล้ว ความเข้าใจอย่างนี้เป็นอุปสรรค เป็นเหตุให้ไม่ทำความเพียรในธรรมที่ควรได้ควรถึง
10. นิกันติ เป็นตัณหาละเอียด(ตัณหานุสัย)ที่กระทำความเยื่อใยในโอภาสเป็นต้น โดยนัยว่า ”เมื่อก่อนแต่นี้หนอ โอภาสเห็นปานฉะนี้ไม่เคยเกิดแก่เราเลยหนอ แน่แล้ว เราบรรลุมรรคผลแล้วแล“ขอบคุณ :
dhamma.serichon.us/2020/11/23/วิปัสสนุปกิเลสอุปกิเลส-2/ บทความของ สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ ,23 พฤศจิกายน 2020 ,post by admin