ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วงเสวนาห่วง ‘สังคมแบ่งแยก-คนสัมพันธ์กันน้อยลง’ เหตุไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีออนไลน์  (อ่าน 860 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



วงเสวนาห่วง ‘สังคมแบ่งแยก-คนสัมพันธ์กันน้อยลง’ เหตุไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีออนไลน์

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ รร.เดอะควอเตอร์ อารีย์ กรุงเทพฯ เวทีสัมมนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 14 ส่งท้ายปี 2020 สรุปบทเรียนชวนคิดว่าด้วยเรื่อง  “พลเมืองดิจิทัลในการรับมือยุคนิวนอร์มอล” ซึ่งช่วงท้ายมีการระดมความเห็นเรื่อง “การส่งเสริม Digital Intelligence ให้พลเมืองดิจิทัลรับมือด้านมืดไชเบอร์ยุคนิวนอร์มอล” โดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงด้านมืดบนโลกออนไลน์ที่ปรากฏในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19

อาทิ เว็บไซต์คลิปวีดีโอสำหรับผู้ใหญ่ หรือสื่อลามกเจ้าดังรายหนึ่ง ระบุพบผู้เข้าชมทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นในช่วงดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้ด้านหนึ่งแม้จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ชายได้ปลดปล่อยระบายความอึดอัดแทนที่จะไปคุกคามล่วงละเมิดในทางกายภาพ แต่อีกด้านก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าบรรดาคลิปวีดีโอที่นำมาเผยแพร่นั้นได้รับความยินยอมหรือเป็นการละเมิด เท่ากับการว่าคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงได้ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์หรือไม่ และการปิดกั้นก็ทำได้ยากด้วย

หรือการหลอกลวงทางออนไลน์ ข้อมูลจาก AppsFlyer ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวัดผลโฆษณาและการวิเคราะห์การตลาดบนมือถือระดับสากล พบว่า อัตราการหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มขึ้นทั่วโลกเฉลี่ยร้อยละ 60 ขณะที่เว็บไซต์ www.marketingoops.com ระบุถึงรูปแบบการหลอกลวงออนไลน์ไว้ 4 แบบ คือ

1. การเสนองาน
2. การหลอกให้บริจาคเงิน
3. การสวมรอยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ
4. การล่อลวงให้เล่นการพนันออนไลน์

@@@@@@@

ขณะที่ รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ อดีตคณบดี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีบทความต่างประเทศชิ้นหนึ่งชื่อ Social Media Dilemma (ความกระอักกระอ่วนของสื่อออนไลน์) ตอนหนึ่งพูดถึงมนุษย์ถูกโน้มน้าวด้วยอัลกอริทึมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ชัดเจนที่สุดคือปรากฏการณ์ Echo Chamber หรือ Filter Bubble (ภาวะที่เสียงสะท้อนถูกขยายกลับไป-มา หรือภาวะฟองสบู่ตัวกรอง) เมื่อรับข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต ระบบจะคัดเลือกเฉพาะสิ่งที่ชอบหรือค้นหาบ่อยๆ จนไม่เห็นข้อมูลอีกชุดที่แตกต่างออกไป

“ถ้าเราไม่ Aware (ตระหนักรู้) ว่าอันนี้คือจุดหนึ่งที่ทำให้เรามีความคิดความอ่านเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ได้ เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาตลอดเวลาด้านเดียว อันนี้อันตรายมากที่จะทำให้สังคมแบ่งแยก ทุกวันนี้ทั่วโลกเกิดปัญหาอันนี้เหมือนกัน เหมือนบ้านเรา มีความคิดเอียงไปทางเดียวโดยไม่ได้คิดถึงข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่งเราไม่ได้รับบ่อย Echo Chamber กับอีกตัวคือ Filter Bubble คิดว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้พฤติกรรม ความคิด คุณภาพของพวกเรามันห่างหายไปโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วเราจะเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน” รศ.มาลี กล่าว

ด้าน น.ส.สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้อำนวยการองค์กร Phandeeyar กล่าวเสริมว่า จากการที่ตนเคยมีโอกาสเดินทางไปประเทศเมียนมาในยุคที่ยังมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจำนวนน้อยจนถึงยุคที่มีผู้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย มองว่าทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถส่งเสริมกันได้ผ่านนโยบายต่างๆ แต่ปัญหาที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงกันมากนักในระดับโลก คือการที่ชีวิตคนผูกติดกับเทคโนโลยีราวกับว่าไม่สามารถขาดจากกันได้ เห็นได้จากการที่มนุษย์ในปัจจุบันไม่ค่อยหันหน้าพูดคุยกัน แต่ต่างคนต่างหันหน้าเข้าหาจอโทรศัพท์มือถือเสียมากกว่า

@@@@@@@

ซึ่งเรื่องนี้ยังสามารถแบ่งออกเป็นปัญหาย่อยได้อีกคือ

1. เวลาในการทบทวนตนเอง (Self-Reflection) หายไป โดยในปัจจุบันตลอด 1 วันที่ผ่านมา ถามว่ายังมีช่วงเวลาว่างโดยที่ไม่ได้ใช้งานสื่อออนไลน์หรือไม่ หากลองคิดดูอาจจะพบว่าเวลาที่ได้อยู่กับตนเองจริงๆ อาจจะมีเพียงเวลาอาบน้ำเท่านั้นเพราะไม่สามารถหยิบโทรศัพท์มาเล่นได้ และการทบทวนตนเองนี้เป็นทักษะที่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดเชิงนวัตกรรม มนุษย์จำเป็นต้องมีเวลาส่วนตัวที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาสมอง

2. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหายไป ทั้งที่เป้าหมายแรกของการประดิษฐ์เทคโนโลยีนั้นคือความคาดหวังว่ามนุษย์จะเชื่อมต่อ (Connect) กันมากขึ้น เช่น มนุษย์คิดค้นโทรศัพท์มือถือขึ้นเพราะต้องการโทร.หาคนที่รัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์กลับหลงลืมสิ่งที่ตนเองต้องการมีคือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เช่น ปัจจุบันคนเราสามารถบอกเลิกผ่านโทรศัพท์มือถือแทนที่จะบอกเลิกกันต่อหน้า หรือมนุษย์ใช้เวลาน้อยลงเพราะโทรศัพท์มือถือ


@@@@@@@

น.ส.สายใจ กล่าวต่อไปว่า อยากฝากแนวทางปรับพฤติกรรมให้ลองไปพิจารณากันดู

1. ความสัมพันธ์ (Relationship) ขอให้เวลาคุยกับใครสักคนหนึ่ง ให้เก็บโทรศัพท์มือถือเข้ากระเป๋า เพราะมีงานวิจัยพบว่า การวางโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะ มีแนวโน้มว่ามนุษย์จะสนใจคู่สนทนาน้อยลง

2. การทำงาน ซึ่งมีงานวิจัยเช่นกันว่า คนส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการใช้สื่อออนไลน์ ทำให้การทำงานแบบจดจ่อ (Deep Work) ลดลง ดังนั้นอยากให้ลองทำดู ขอเวลาครึ่งวันให้เป็นเวลาของการทำงานจริงๆ โดยไม่ต้องใช้สื่อออนไลน์

“สุดท้ายแล้วก็อยากจะสรุปว่าเราอยู่ในโลกที่ต้องมี Digital Intelligent (ความฉลาดทางดิจิทัล) แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรคิดถึงด้าน Digital Dependency (การไม่ผูกชีวิตไว้แต่กับดิจิทัล) ให้เกิดขึ้น และอยากจะให้มนุษย์ใช้เวลากับเทคโนโลยีน้อยลง แล้วก็ใช้ชีวิตให้มากขึ้น” ผู้อำนวยการองค์กร Phandeeyar กล่าวในท้ายที่สุด




ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/534654
วันพฤหัสบดี ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 20.39 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ