ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เหรียญพระพุทธ ร.ร.แบบ ป.มาลากุล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  (อ่าน 998 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


เหรียญพระพุทธ ร.ร.แบบ ป.มาลากุล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

“หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี บูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ยึดถือธุดงค์ด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม

กล่าวสำหรับ “เหรียญพระพุทธ ร.ร.แบบ ป.มาลากุล” เป็นเหรียญพระพุทธรุ่นเดียวที่หลวงปู่มั่นเมตตาอธิษฐานจิตให้ ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

จัดสร้างขึ้นโดยส่วนการศึกษาจังหวัดสกลนคร ประมาณต้นปี พ.ศ.2492 เพื่อมอบให้เป็นรางวัลแก่ผู้บริจาคทรัพย์บำรุงการศึกษา สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียนแบบ ป.มาลากุล ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร (ปัจจุบันยุบเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) โดยขณะนั้น กำลังเปิดทำการสอนใหม่ อีกทั้งยังเป็นการฉลองโรงเรียนใหม่

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มห้าเหลี่ยม คล้ายรูประฆัง มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปพระพุทธรูปปางขัดสมาธิ ด้านหลังเหรียญ เขียนคำว่า “ที่ระลึก งานฉลอง ร.ร.แบบ ป.มาลากุล สกลนคร พ.ศ.2492” ครั้นเมื่อทำเหรียญเสร็จ คณะกรรมการนำเหรียญทั้งหมดไปถวายหลวงปู่มั่นอธิษฐานจิตให้ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลังจากนั้นก็นำไปให้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ปลุกเสกเพิ่มเติมอีก

ภายในงานฉลองโรงเรียนแบบ ป.มาลากุล คณะกรรมการส่วนการศึกษายังได้จัดนำเฮลิคอปเตอร์บินแสดงโชว์ และถ้าผู้ใดบริจาคทรัพย์ 5 บาท จะได้ขึ้นเครื่องบิน 1 รอบ พร้อมกับมอบเหรียญดังกล่าวให้อีก 1 เหรียญ ซึ่งจำนวนการสร้างในสมัยนั้น ประมาณ 6,007 เหรียญ จัดสร้างเป็นเนื้อเงินและเนื้อทองแดง นับเป็นเหรียญพิเศษที่หายากยิ่ง ผู้มีไว้ครอบครองต่างหวงแหนยิ่ง


เหรียญ ป.มาลากุล

เกิดในสกุลแก่นแก้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2413 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านคำบง ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีพี่น้อง 6 คน ท่านเป็นคนโต อาชีพทำนาทำไร่เป็นพื้นฐาน

การศึกษา อาศัยอา (น้องพ่อ) เป็นผู้สอนให้ ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ท่านเรียนอักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมจนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว

อายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดบ้านคำบง อันเป็นวัดบ้านเกิด ขณะบวชเณร ศึกษาธรรมะและพระสูตรต่างๆ จนแตกฉาน อายุ 17 ปี บิดาขอร้องให้สึกเพื่อให้ไปช่วยทำงาน จึงสึกตามคำขอร้อง ทั้งที่เสียดายในการลาจากเพศบรรพชิตเป็นที่สุด ถึงกับรำพึงในใจ “หากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกลับเข้ามาบวชอีก” ทั้งยังคิดถึงคำของผู้เป็นยายที่เคยกล่าวในตอนเป็นเด็กอยู่เสมอว่า “เมื่อโตขึ้นต้องบวชให้ยายนะ เพราะยายเลี้ยงยาก”

เมื่อออกมาช่วยงานพ่อ-แม่นานพอสมควรแล้ว เห็นว่าสมควรที่จะกลับเข้าไปบวชอีก จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศรีทอง หรือวัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2436 มีพระอริยกวี (หลวงพ่ออ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสีเทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (หลวงพ่อสุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ภูริทัตโต

อยู่จำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ที่วัดเลียบในตัวเมืองอุบล หลวงปู่เสาร์สอนวิธีเจริญกัมมัฏฐานขั้นสมถะใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เป็นหลัก จนสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และสอนผู้อื่นให้เข้าใจ

การเดินธุดงค์ไม่ยึดติดสถานที่ ท่านไปอยู่ภาวนาในที่หลายแห่ง ที่ภาคเหนือท่านอยู่ถึง 12 ปี จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระครูวินัยธร” ฐานานุกรมของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) สมัยที่ท่านจำพรรษาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ พอออกจากเชียงใหม่ จึงของดในการปฏิบัติตามตำแหน่งหน้าที่ เพราะมีจิตมุ่งมั่นในการปฏิบัติเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานฝ่ายเดียว

ในปี พ.ศ.2484 ธุดงค์มายังภาคอีสาน และปักหลักจำพรรษาอยู่ที่ชายป่าบ้านนามน ต่อมาในปี พ.ศ.2487 อยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน บั้นปลายชีวิตจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร


@@@@@@@

คติธรรมคำสอนให้ศิษย์เพื่อไว้เตือนสติ 2 ข้อ คือ

    1. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
    2. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตนเพราะตนเองเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

คติธรรมอีกบทหนึ่งที่หลวงปู่มั่นได้เทศนาสอนอยู่เสมอ ซึ่งเป็นคำกลอนภาษาอีสานว่า
    “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาก้นย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภาพทั่งสามภพทั่งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่”

ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร สิริอายุ 79 ปี พรรษา 56

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564 และได้ประกาศยกย่อง “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ยังมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่าพระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2563
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ komkam.ks@gmail.com
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/religion/article_374401
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ