ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ” เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง  (อ่าน 2742 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




“สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ” เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ควรจะอธิบายอย่างไร.?

คำว่า “มีจิตตั้งมั่น” โดยหลักการ ก็ควรจะตั้งมั่นในอารมณ์ เพราะจิตเกิดขึ้น จะต้องรับ-รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงความตั้งมั่น ก็ต้องถือการตั้งมั่นในอารมณ์ เป็นอันดับแรก

    แล้วความตั้งมั่นในอารมณ์ คืออะไร.?
    ก็ตอบว่า คือ สมาธิ หรือตัวเอกัคคตาเจตสิก ธรรมที่ประกอบกับจิตแล้ว ทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์

    “เอกัคคตา” ที่คนทั่วไปรับรู้ ก็คือ “สมาธิ” นั้น ประกอบกับจิตได้ทุกดวง กุศล อกุศล วิบาก กิริยา ถ้าจะนับเอาโดยเป็นความตั้งมั่นแห่งจิตแล้ว ก็ควรนับเอาเอกัคคตาที่ประกอบกับจิตซึ่งทำหน้าที่ชวนะ คือเสพอารมณ์ ซึ่งก็ได้แก่จิตประเภท อกุศลจิต, มหากุศล-มหากิริยาจิต, มหัคคตกุศล-มหัคคตกิริยาจิต, และมรรคจิต (ส่วนจิตที่เป็นวิบากนั้น ไม่ค่อยสำคัญในส่วนนี้)

    เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบกับจิตซึ่งทำหน้าที่เป็นชวนะนั้น ก็ต้องนับกันเป็นวิถีๆไปเลย (จิตแม้จะเกิดขึ้นทีละดวงๆ แต่ก็เกิดเป็นวิถี (ตามจิตตนิยาม) โดยมีจุดสิ้นสุดของภวังค์ (ภวังคุปัจเฉท) นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งวิถีจิต  และจบวิถีด้วยจิตดวงสุดท้ายก่อนที่ภวังคจิตจะเกิดขึ้น จิตที่ว่านี้ ก็อาจจะเป็น มโนทวาราวัชชนจิต, ชวนะจิต, และกลุ่มตะทารัมมณจิต แล้วแต่วิถีจิตสิ้นสุดที่วาระใดฯ

   
    @@@@@@@

    เอกัคคตา ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สมาธิ” นั้น จะมี ๓ ระดับ คือ

    ก. สมาธิ ที่เป็นไปชั่วขณะ อาจจะเกิดขึ้นหลาย ๆ วิถีจิต แต่ยังไม่เข้าถึงความเป็น อุปจาระ เรียกว่า “ขณิกสมาธิ”
    ข. เรียกสมาธิก่อนที่จะถึงอัปปนาชวนะจิตจะเกิดนั้นว่า “อุปจารสมาธิ” คือสมาธิที่เฉียด ไกล้จะถึงฌานจิต ใกล้ถึงอัปปนาสมาธิ ได้แก่เอกัคคตาที่ในมหากุศล-มหากิริยา ญาณสัมปยุตตจิต ในขณะที่ทำหน้าที่ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู ในอาทิกัมมิกฌานวิถี,และในโสดาปัตติมรรควิถี, หรือ ขณะที่ทำหน้าที่ ปริกรรม, อุปจาระ อนุโลม โวทาน ในฌานวิถี อื่น ๆ (ที่นอกจากอาทิกัมมิกฌานวิถี) (และที่นอกจาก โสดาปัตติมรรควิถี) ตามสมควร
    ค. เอกัคคตา ที่ใน ฌานจิต คือ รูปาวจรกุศล-กิริยา, ใน อรูปาวจรกุศล-กิริยา, ในมรรคจิต-ผลจิต  จัดเป็น “อัปปนาสมาธิ” (เอกัคคตาที่ใน รูปวิบาก ๕, อรูปวิบาก ๔ ก็จัดเป็นอัปปนาสมาธิ ด้วย จัดตามกุศล เพราะเป็นผลของกุศลนั่นเอง)

     “อัปปนาสมาธิ” (เอกัคคตาเจตสิก) ที่เกิดกับ รูปาวจรจิต-อรูปาวจรจิต นั้น เป็นลักษณะของฌาน ที่เรียกว่า “โลกียฌาน” มีความตั้งมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์สมถกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สามารถทำฌานจิตให้เกิดขึ้นได้  (คำว่า “ฌาน” ในที่นี้ มุ่งหมายเอา ฌานจิต และเจตสิกธรรมที่ประกอบกับฌานจิตนั้น)

@@@@@@@

เมื่อพูดถึงคำว่า “ฌาน” ย่อมหมายถึงธรรมเหล่านี้ ที่เป็นองคาพยพกัน  คือ

     ๑. อารมณ์ คือ อารมณ์ของฌานจิต (รูปาวจร, อรูปาวจร,โลกุตตรจิต)
     ๒. กิริยาอาการ คือการเพ่ง อารมณ์ เช่น ภาวนาว่า “ปถวี กสิณํ” เป็นต้น
     ๓. สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก (อัปปนาสมาธิ)
     ๔. องค์ฌาน ซึ่งมี ๕ คือ วิตก, วิจาร, ปีติ, สุข, เอกัคคตา
     ๕. จิต ที่เป็นฌาน เรียกสั้น ๆ ว่า “ฌานจิต” ซึ่งมี ๖๗ ดวง ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕, อรูปาวจรจิต ๑๒, โลกุตตรจิต ๔๐ และเจตสิกธรรม ๓๘ ที่ประกอบกับฌานจิตนั้น
     ๖. การเผาธรรม หรือระงับธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับองค์ฌาน (เป็นกิจขององค์ฌาน)
คำพูด ที่เราได้ยินกันว่า “ฌาน ๆ” นั้น ต้องประกอบด้วยองคาพยพเหล่านี้ จะขาดไม่ได้

“โลกียฌาน” นั้น แยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ

     ก. เป็นของติเหตุกปุถุชน และของพระอริยบุคคลเบื้องต่ำ ๓ (โสดา,สกทาคา,อนาคา) ซึ่งก็ได้แก่ รูปาวจรกุศลจิต, อรูปาวจรกุศลจิต
     ข. ที่เป็นของพระอรหันต์ จะได้แก่  รูปาวจรกิริยาจิต , และ อรูปาวจรกิริยาจิต

พระอรหันต์ “ยังมี, ยังทำ โลกียฌาน” อยู่

     ถามว่า ทำไว้ทำไม? มีไว้ทำไม.?
     ตอบว่า มีเพื่อ…
     – ให้จิตที่รับอารมณ์หลายๆอย่าง มาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว (ไม่เกี่ยวกับการระงับนิวรณ์ หรือกิเลสใดๆ เพราะท่านละกิเลสได้หมดแล้ว)
     – ทำโลกียฌานเพื่อให้เป็นบาทฐานของอภิญญาต่างๆ, และเพื่อเป็นบาทฐานให้กับนิโรธสมาบัติ (ถ้าท่านไม่มีโลกียฌาน ท่านก็จะทำอภิญญาต่าง ๆ หรือเข้านิโรธสมาบัติ ไม่ได้เลย และคุณวิเศษทั้ง ๒ อย่างนี้ จะต้องได้ถึง รูปาวจรปัญจมฌาน และอรูปฌาน ๔ ด้วย ตามลำดับ)



สำหรับ “โลกุตตรสมาธิ”

สมาธิ คือ “เอกัคคตา” ที่อยู่ในมรรคจิต จัดเป็น“อัปนาสมาธิ” และจัดเป็น“โลกุตตรสมาธิ”ด้วย องค์ฌานอื่นๆ มี “วิตก วิจาร ปีติ สุข และ เอกัคคตา ซึ่งก็คือตัวสมาธิ” นั้น พร้อมด้วย “วิริยะ,สติ” เป็นตัวประหาณกิเลส ที่เรียกว่า “วิกขัมภณปหาณ”

ส่วนปัญญาในมรรค ที่เกิดร่วมกับองค์ฌาน และพร้อมกับองค์มรรคอื่นๆ นั้น เป็นตัวตัด หรือกำจัดกิเลส(อนุสัยกิเลส) ให้เด็ดขาด ที่เรียกว่า “สมุจเฉทปหาณ” ฯ  (วิปัสสนาญาณอื่น ๆ ที่ยังไม่ถึงมรรคญาณ จัดเป็น “ตทังคปหาณ”) (หมายเหตุ สมาธิ คือ เอกัคคตา ที่ในผลจิต ก็จัดเป็นโลกุตรสมาธิ เช่นเดียวกัน)
    – วิริยะ คือ “สัมมาวายามะ”
    – สติ คือ “สัมมาสติ”
    – เอกัคคตา เป็น “สัมมาสมาธิ”
    ธรรมทั้ง ๓ นี้ จัดเข้าในส่วนของ “สมาธิขันธ์ (กองแห่งสมาธิ)”

@@@@@@@

คำว่า “ภิกษุมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น มุ่งหมายเอา“สมาธิขันธ์”ในมรรคจิต, “สมาธิขันธ์”ในมรรคจิต ก็คือ วิริยะ–สติ และเอกัคคตา

สำหรับ เอกัคคตา พร้อมด้วยองค์ฌานอื่นๆ คือ วิตก,วิจาร,ปีติ,เวทนา(สุข) แล้วแต่ว่า มรรคจิตนั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยฌานอะไร คือ
    – ถ้าเป็นปฐมฌาน องค์ฌานทั้ง ๕ ก็เกิดไดัทั้งหมด (วิตก,วิจาร,ปีติ,สุขเวทนา, เอกัคคตา)
    – ถ้าเป็นทุติยฌาน ก็ ตัดวิตกออกไป (ตามนัยอภิธรรม, ถ้าเป็นนัยพระสุตตันตะฯ ก็ตัดวิตก,วิจาร ออกไป)
    – ถ้าเป็น ตติยฌาน ก็ตัด วิตก,วิจาร ออกไป
    – ถ้าเป็น จตุตถฌาน ก็ตัด วิตก วิจาร ปีติ ออกไป
    – ถ้าเป็น ปัญจมฌาน ก็ตัด วิตก วิจาร ปีติ และสุขเวทนา ออกไป (แต่สุข ที่จัดเป็นเวทนา ในปัญจมฌานได้เปลี่ยนเป็น อุเบกขา) เพราะฉะนั้น ในปัญจมฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๒ อย่าง คือ อุเบกขาเวทนา, กับ เอกัคคตา

     จะเห็นได้ว่า “เวทนา คือ สุข จะเกิดกับ ปฐมฌาน,ทุติยฌาน, ตติยฌาณ, จตุตถฌาน, ส่วนในปัญจมฌาน เวทนาจะเป็น อุเบกขา”
     ส่วน “เอกัคคตานั้น จะมีอยู่ในทุกฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน-ปัญจมฌาน และพิเศษก็คือ เอกัคคตานี้ ยังจัดเป็น องค์อันหนึ่งของมรรคด้วย คือเป็น “สัมมาสมาธิมรรค” ฉะนั้น “เอกัคคตา จึงเป็น องค์ฌานด้วย, เป็นองค์มรรคด้วย พร้อมกัน


@@@@@@@

มรรคจิตนั้นเมื่อเกิดขึ้น จะต้องนับว่าประกอบด้วยองค์ฌานเสมอ คือนับมรรคจิต เป็น ๒๐ ตามอำนาจแห่งฌานที่ตนได้  คือ นับ
     –  ปฐมฌานโสดาปัตติมรรค ๑, ทุติยฌานโสดาปัตติมรรค ๑, ตติยฌานโสดาปัตติมรรค ๑, จตุตถฌานโสดาปัตติมรรค ๑, ปัญจมฌานโสดาปัตติมรรค ๑ รวมเป็น โสดาปัตติมรรค ๕
     –  ปฐมฌานสกทาคามิมรรค ๑, ทุติยฌานสกทาคามิมรรค ๑, ตติยฌานสกทาคามิมรรค ๑, จตุตถฌานสกทาคามิมรรค ๑, ปัญจมฌานสกทาคามิมรรค ๑ รวมเป็น สกทาคามิมรรค ๕
     –  ปฐมฌานอนาคามิมรรค ๑, ทุติยฌานอนาคามิมรรค ๑, ตติยฌานอนาคามิมรรค ๑, จตุตถฌานอนาคามิมรรค ๑, ปัญจมฌานอนาคามิมรรค ๑  รวมเป็น อนาคามิมรรค ๕
    –  ปฐมฌานอรหัตตมรรค ๑, ทุติยฌานอรหัตตมรรค ๑, ตติยฌานอรหัตตมรรค ๑, จตุตถฌานอรหัตตมรรค ๑, ปัญจมฌานอรหัตตมรรค ๑ รวมเป็น อรหัตตมรรค ๕

    มรรค ๔ x ฌานทั้ง ๕ เป็น ๒๐ ดังนี้
    (มรรคที่นับเป็น ๔ นั้น นับตามการเกิดขึ้น ๔ ครั้ง ของมรรค(โสดา-สกทาคา-อนาคา-อรหัตตมรรค) หรือ มรรคนับเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งการปหาณกิเลส ๔ ครั้ง คือ เกิดครบทั้ง ๔ ครั้ง ก็ประหาณกิเลสได้หมด ไม่มีความจำเป็นที่จะเกิดครั้งที่ ๕,๖,๗… เพราะไม่มีกิเลสจะให้ประหาณอีกแล้ว)

@@@@@@@

เนื่องจากว่า “มรรคจิต” เมื่อเกิดขึ้น ย่อมทำหน้าที่เป็นชวนะ, และมรรคจิต จัดอยู่ในฝ่ายของอัปนาชวนะจิต ดังนั้น สมาธิ (เอกัคคตา) ที่เกิดร่วมกับมรรคจิตนั้น จึงเป็น “อัปปนาสมาธิ” ด้วย ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสว่า
     “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ”
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ, เมื่อภิกษุมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงฯ คือ รู้เห็น “ทุกข์, สมุทัย,นิโรธ,มรรค” รู้ถึงธรรมที่เป็นเครื่องดับแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ รู้พระนิพพานนั่นเอง (พระนิพพาน คืออนุปาทิเสสนิพพาน เป็นเครื่องดับขันธ์ทั้ง ๕ นั้น)

ในขณะที่องค์มรรคทั้ง ๘ ประชุมพร้อมกันเป็นมัคคสมังคี พร้อมกับองค์ฌาน และจิตตุปบาทอื่นๆ ขณะนั้น
    – ธรรมที่จัดเป็นส่วนของ “ศีลขันธ์” ก็กำจัด วีติกกมกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาณ
    – ธรรมที่จัดเป็นส่วนของ “สมาธิขันธ์” ก็กำจัด ปริยุฏฐานกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาณ
    – ธรรมที่เป็นส่วนของ “ปัญญาขันธ์” ก็กำจัดอนุสัยกิเลส  เป็นสมุจเฉทปหาณ
ทั้งนี้แล้วแต่ความสมควรตามมรรคนั้นๆ ที่ได้บรรลุ

ว่าโดยปริยายในส่วนอื่นๆ “สมาธิ” ที่ทำให้จิตตั้งมั่นในขณะเจริญวิปัสสนา ได้ญาณต่างๆ มีนามรูปปริจเฉทฌาน เป็นต้น จนถึง อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ ที่ทำลายกิเลสเป็นตทังคปหาณ ตามลำดับ ก็จัดอยู่ในคำว่า “สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ” ได้ ฯ 





บทความ : “สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ” เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ควรจะอธิบายอย่างไร.? เขียนโดย VeeZa ,๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2019/01/05/สมาหิโต-ยถาภูตํ-ปชานาติ/
5 มกราคม 2019 , post by admin   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ