ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การสร้าง “พระสยามเทวาธิราช” ในประวัติศาสตร์ไทย  (อ่าน 1009 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานในพระวิมานพระสยามเทวาธิราช ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน จัดพิมพ์โดยสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. 2525)


การสร้าง “พระสยามเทวาธิราช” ในประวัติศาสตร์ไทย

หากกล่าวถึง “พระสยามเทวาธิราช” ในวันนี้คาดว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดีในฐานะเทพยดาคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากงาน “ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” เมื่อ พ.ศ. 2525

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราช เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังพระราชพิธีเสร็จแล้วอีกระยะหนึ่ง

นั่นเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะ “พระสยามเทวาธิราช” โดยตรง

แต่เรื่องของพระสยามเทวาธิราชยังมีอีกหลายมิติที่น่าสนใจ นอกจากนี้พระสยามเทวาธิราชที่เป็นประติมากรรมแบบยืนแล้วยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 นำมาตีพิมพ์ให้ได้อ่านกัน

ในบทความที่ชื่อว่า “พระสยามเทวาธิราชทรงปราบกบฏบวรเดช : การช่วงชิงเทพสัญลักษณ์ใน ‘เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476’” โดยการค้นคว้าและเรียบเรียงของ วิศรุต บวงสรวง



บทความเริ่มเล่าตั้งแต่ที่มาในการจัดสร้าง “พระสยามเทวาธิราช” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประเทศชาติสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพหลายครั้งมาได้ ด้วยมีเทวดารักษาคุ้มครอง จึงควรทำรูปเทวดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา

รูปแบบของเทวดาที่จัดสร้างขึ้นก็คือ เป็นเทวดาทรงเครื่องอย่างพระมหากษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบเหนือพระอุระ ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานไม้จันทน์ และกำหนดให้มีการทำพิธีบวงสรวงทุกปี ในวันปีใหม่ไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

นั่นคือข้อมูลทั่วไปที่หลายท่านอาจะทราบอยู่แล้ว หรือสืบค้นจากระบบออนไลน์ไม่ยาก

แต่ผู้เขียน (วิศรุต บวงสรวง) ได้ค้นคว้าลึกลงไปกว่านั้นว่า มีการสร้างพระสยามเทวาธิราชอีกหลายครั้งด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนี้

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเทวรูปขึ้นอีกองค์หนึ่ง สำหรับประดิษฐานอยู่ที่ห้องบรรทมของพระองค์ ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

เทวรูปดังกล่าวมีรูปเหมือนพระสยามเทวาธิราช เว้นเพียง “พระพักตร์ของเทวรูป” ที่โปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็น “พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”


ภาพวาดลายเส้น “เหรียญดุษฎีมาลา” (ภาพจากหนังสือรชดาภิเษก เปนตู้ทองของการเล่าเรียน รวมศึกษานุกรมทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง เล่ม ๑ ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมศึกษาธิการเมื่อ ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) บันทึกภาพเผยแพร่ใน https://th.wikipedia.org/wiki/เหรียญดุษฎีมาลา)

นอกจากนี้ ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “เหรียญดุษฎีมาลา” สำหรับพระราชทานแก่บรรดาผู้มีความชอบ ก็มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาไว้ในเหรียญด้วย

วิศรุต บวงสรวง อธิบายลักษณะของเหรียญดุษฎีมาลาว่า

“ลักษณะเหรียญเป็นแบบกลมรีไข่ ด้านหน้าตรงกลางเหรียญประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ มีอักษรตามขอบเบื้องบนว่า ‘จุฬาลังกรณว์หัส์สปรมราชาธิราชิโน’ ขอบเบื้องล่างเป็นช่อชัยพฤกษ์ไขว้กัน

ด้านหลังเหรียญเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยทรงทำท่าจะสวมตรงชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทาน โดยในโล่ล้อมรอบด้วยชัยพฤกษ์นั้นเว้นพื้นที่ไว้สำหรับจารึกนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา

ใต้แท่นทรงยืนของพระสยามเทวาธิราช มีข้อความ “1244” บอกปีจุลศักราชที่สร้าง และมีอักษรตามขอบว่า ‘สยามิน์ทปรมราชตุฏธิป์ปเวทนํอิทํ’ ที่ริมขอบเหรียญจารึกอักษรว่า ‘สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา’ ด้านบนเหรียญมีพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า ‘ทรงยินดี’ ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ ไม่มีประกาศนียบัตร เพราะจารึกชื่อผู้ได้รับลงไปในเหรียญแล้ว”

นอกจากนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. 2427 (จ.ศ. 1246) หรือที่เรียกกันทั่วไปภายหลังว่า “เหรียญปราบฮ่อ” ก็มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาไว้ในเหรียญเช่นกัน


“เหรียญปราบฮ่อ” (ภาพจาก คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์)

วิศรุตอธิบายลักษณะของเหรียญไว้ว่า

“เหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันพระพักตร์ไปทางซ้าย มีพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนเป็นแถวอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ ‘จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช’

ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงคอช้างถือพระแสงของ้าว มีควาญนั่งอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง รองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้นมีอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความมีจุลศักราชที่ทำสงครามกับฮ่อครั้งต่างๆ…”

แม้การสร้างพระสยามเทวาธิราชที่กล่าวมานั้นเป็นของราชสำนักทั้งสิ้น แต่มีอยู่อย่างน้อยครั้งหนึ่งที่เป็นการสร้างโดยประชาชน

เป็นการสร้างภายหลังรัฐบาลปราบปรามกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ได้สร้างเหรียญที่ระลึกเพื่อตอบแทนความดีแก่ผู้ช่วยเหลือรัฐบาลปราบกบฏ เรียกว่า “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยออกแบบเหรียญไว้ดังนี้


“เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้านหน้าเหรียญเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญ ล้อมรอบด้วยพวงมาลาชัยพฤกษ์ และมีรัศมีเปล่งรอบ ด้านหลังของเหรียญเป็นภาพพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ มีอักษรด้านล่างว่า “ปราบกบฏ พ.ศ. 2476” ตัวเหรียญมีห่วงห้อยด้านหน้าจารึกว่า “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้านหลังจารึกว่า “สละชีพเพื่อชาติ” (เหรียญนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พัดยศสมณศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับบริจาคจาก นายสุเทพ ขำมา ดร. พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย) ถ่ายภาพ ภาพจาก https://th.wikipedia.org/wiki/เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ)

“ลักษณะเป็นเหรียญทองแดงรมดำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าเหรียญเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญ ล้อมรอบด้วยพวงมาลาชัยพฤกษ์ และมีรัศมีเปล่งรอบ

ด้านหลังของเหรียญเป็นภาพพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ มีอักษรด้านล่างว่า ‘ปราบกบฏ พ.ศ. 2476’ ตัวเหรียญมีห่วงห้อยด้านหน้าจารึกว่า ‘พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ ด้านหลังจารึกว่า ‘สละชีพเพื่อชาติ’”

ส่วนที่ว่าทำไมการสร้างเทวรูปที่ห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต, เหรียญดุษฎีมาลา, เหรียญปราบฮ่อ, เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงเลือกอัญเชิญรูป “พระสยามเทวาธิราช” มาใช้ มีเหตุผล, นัยยะแฝง หรือต้องการสะท้อนอุดมการณ์ใด ขอได้โปรดติดตามอ่านผลงานฉบับเต็มของวิศรุต ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2563



ผู้เขียน : วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 8 เมษายน 2563
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_48139
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ