ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตที่เคยเกิดมาแล้ว ในอดีตชาติจนถึงปัจจุบันนี่แหละ ท่านเรียกว่า “ขันธสันดาน”  (อ่าน 2873 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ขันธสันดาน คุ้นหน้ามานาน แต่ไม่รู้จัก

ขันธสันดาน คุ้นหน้ามานาน แต่ไม่รู้จัก อ่านว่า ขัน-ทะ-สัน-ดาน ประกอบด้วยคำว่า ขันธ + สันดาน

(๑) “ขันธ”

บาลีเป็น “ขนฺธ” (ขัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก

     (1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ) : ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้”, “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”
     (2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ : ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”
     (3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ : ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”
     (4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย : ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้

     (1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)
     (2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)
     (3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)
     (4) ลำต้น (the trunk)
     (5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)
     (6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of) ในที่นี้ “ขนฺธ” ใช้ในความหมายตามข้อ (6)

@@@@@@@

(๒) “สันดาน”

บาลีเป็น “สนฺตาน” (สัน-ตา-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ) ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ต-(นฺ) เป็น อา (ตนฺ > ตาน) : สํ > สนฺ + ตนฺ + สนฺตนฺ + ณ = สนฺตนณ > สนฺตน > สนฺตาน (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่แผ่ขยายเชื้อแถวไปด้วยดี” หมายถึง การแผ่, การแยกกิ่งก้านสาขา (spreading, ramification) การต่อเนื่อง, การสืบลำดับเชื้อสาย; เชื้อสาย (continuity, succession; lineage)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“สนฺตาน : (คำนาม) ‘สันดาน’ วงศ์, ชาติ, กุล; สันตติ; ไม้สวรรค์ต้นหนึ่ง; พิสดาร; lineage, race, family; progeny; one of the tree of heaven; expansion.”

“สนฺตาน – สันดาน” ตามความหมายเดิมหมายถึง การแผ่ขยายออกไป เช่น พ่อมีลูก ลูกมีหลาน หลานมีเหลน และสืบต่อกันไปเรื่อยๆ กล่าวคือเล็งถึงตัวบุคคลที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา ต่อมาความหมายขยายไปถึงลักษณะนิสัยไม่ว่าจะด้านดีหรือเลวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาและสั่งสมเป็นบุคลิกประจำตัว

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สันดาน ๑ : (คำนาม) อุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิด เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว, (ภาษาปาก) มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่นสันดานของเขาเป็นเช่นนั้น อย่าไปถือเลย. (ป., ส. สนฺตาน ว่า สืบต่อ).”

ขนฺธ + สนฺตาน = ขนฺธสนฺตาน แปลตามศัพท์ว่า “การสืบต่อแห่งขันธ์” เรียกทับศัพท์ว่า ขันธสันดาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขนฺธสนฺตาน” ว่า duration of the khandhas (ระยะแห่งขันธ์) (khandhas ในที่นี้หมายถึง “ขันธ์” ตามความหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น)

@@@@@@@

อภิปราย

“ขนฺธสนฺตาน” แม้จะแปลออกมาแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่า คืออะไรกันแน่ และในภาษาไทยเมื่อพูดว่า “ขันธสันดาน” ดูเหมือนจะคุ้นกันดีอยู่ แต่ถ้าถามว่าหมายถึงอะไร ก็ไม่แน่นักว่าจะมีใครเข้าใจถูก

“ขันธสันดาน” มีความหมายที่ชัดเจนว่า คือ ชีวิตที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตชาติ จากชาติหนึ่งสืบต่อตามเหตุปัจจัยไปยังอีกชาติหนึ่ง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานจนกำหนดไม่ได้ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไร

คำว่า “ขันธสันดาน” มักใช้เมื่อกล่าวถึงผู้ที่บำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมในระดับที่สามารถระลึกชาติได้ ก็จะระลึกว่าในอดีตชาติตนได้เคยเกิดเป็นใคร หรือเป็นอะไรในภพภูมิไหน นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นไปอย่างไร จากชาตินั้นแล้ว เกิดเป็นอะไรต่อไปอีก จนกระทั่งมาถึงชาติปัจจุบัน

ชีวิตที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตชาติจนถึงปัจจุบันนี่แหละ ท่านเรียกว่า “ขันธสันดาน”
คำว่า “ขันธสันดาน” ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ดูก่อนภราดา.! ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอีกยาวนาน ยังไม่สายที่จะเปลี่ยนสันดานให้เป็นคนดี





ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2018/04/27/ขันธสันดาน-คุ้นหน้ามานา/
บทความของ ทองย้อย แสงสินชัย
27 เมษายน 2018 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :25: :25: :25:

วังคีสสูตร ว่าด้วยพระวังคีสะ

[๒๒๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระวังคีสะบรรลุอรหัตแล้วไม่นานเสวยวิมุตติสุขอยู่ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

ในกาลก่อนเราเป็นผู้มัวเมากาพย์กลอน ได้เที่ยวไปแล้วทุกบ้านทุกเมือง ต่อมาเราได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศรัทธาก็เกิดขึ้นแก่เรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงแสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ แก่เรา เราได้ฟังพระธรรมของพระองค์แล้วจึงบวช พระมุนีได้ตรัสรู้พระโพธิญาณเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุ ได้เห็นนิยามธรรม(๒-)

การมาในสำนักของพระพุทธเจ้าของเราเป็นการมาดีแล้ว วิชชา ๓. อันเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำแล้ว "เรารู้ขันธสันดานอันเราเคยอยู่ในกาลก่อน" ทิพพจักขุญาณเราทำให้หมดจดแล้ว เราเป็นผู้สำเร็จวิชชา ๓. บรรลุอิทธิวิธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยญาณ


เชิงอรรถ : (๒-) นิยามธรรม หมายถึง มรรคและผล


ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ,พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
ขอบคุณ : https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=220


 :25: :25: :25:

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร :-

ขันธสันดาน [ขัน-ทะ-สัน-ดาน] (มค. ขนฺธ = กอง, หมู่ + สนฺตาน = การสืบเนื่อง) น. การสืบต่อแห่งขันธ์ ๕ หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด แต่บางที ปัจจุบันหมายถึง อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิดในตัวของตน.

สันดาน (มค. สนฺตาน = สั่งสม) น. พื้นเพของจิต จิตที่ได้รับการอบรมมาเป็นเวลาช้านานหลายภพ หลายชาติจะมีพื้นฐานโน้มเอียงไปในทางดีก็ได้ เสียก็ได้ ตามแต่ชนิดของการอบรมพื้นฐานของจิต, การสืบเนื่องติดต่ออุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ชื่อลมอย่างหนึ่ง มีอาการให้จุกเสียดเรื้อรัง

ความหมายจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) :-

จิตตสันดาน การสืบต่อมาโดยไม่ขาดสายของจิต ; ในภาษาไทยหมายถึง พื้นความรู้สึกนึกคิดหรืออุปนิสัยใจคอที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจมาแต่กำเนิด (ความหมายนัยหลังนี้ มิใช่มาในบาลี)

สันดาน ความสืบต่อแห่งจิต คือกระแสจิตที่เกิดดับต่อเนื่องกันมา ; ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด, อัธยาศัยที่มีติดต่อมา

@@@@@@@

สันดานกับนิสัย แตกต่างกันอย่างไร.? จากหนังสือ DOU วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก :-

คำว่า สันดาน ในพจนานุกรม หมายถึง อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด นั่นคือ ความประพฤติ ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีผู้ปลูกฝังให้ ซึ่งมีทั้งอุปนิสัยที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างอุปนิสัยที่ดีก็คือ ความมีอารมณ์ดีอยู่เสมอความมีน้ำใจเอื้อเฟอเผื่อแผ่ ความใฝ่ดี เป็นต้น ตัวอย่างอุปนิสัยไม่ดีก็คือ อารมณ์ร้อนโกรธง่าย ใจน้อย เห็นแก่ตัว เป็นต้น

ส่วนคำว่า นิสัย หมายถึง ความประพฤติเคยชิน ซึ่งมีทั้งความประพฤติที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างนิสัยที่ดีก็คือ การตรงต่อเวลา การทำงานไม่คั่งค้าง ความมีระเบียบวินัย เป็นต้น ตัวอย่างนิสัยที่ไม่ดีได้แก่การขาดความรับผิดชอบ การเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนผู้อื่น ความมักง่าย เป็นต้น

สำนวน "สันดอนขุดง่าย สันดานขุดยาก" by สุภาษิต.net :-

"สันดอนขุดง่าย สันดานขุดยาก" หมายถึง สิ่งที่คนเราประพฤติปฎิบัติจนเคยชินติดเป็นนิสัยนั้น ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่น
    - ยายแกติดการพนันมาตั้งแต่สาวๆ คงจะเลิกยากแล้วหล่ะ อย่างที่โบราณว่าสันดอนขุดง่าย สันดานขุดยาก
    - สันดอนขุดง่าย สันดานขุดยากจริงๆ ขนาดฉันตักเตือนเรื่องการวางตัว การพูดจาในที่สาธารณะบ่อยๆ ก็ยังทำตัวเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ