ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กิจของสงฆ์ ๑๐ ประการ | สมควรแก่สมณสารูปแห่งตน วิญญูชนสรรเสริญ  (อ่าน 2403 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29347
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



กิจของสงฆ์ ๑๐ ประการ | สมควรแก่สมณสารูปแห่งตน วิญญูชนสรรเสริญ

คำว่า “กิจของสงฆ์” เป็นคำพูดธรรมดาในภาษาไทย มีความหมาย ๒ นัย คือ

๑. สังฆกรรมต่างๆ ตามพระวินัยที่ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทำ เช่น อุโบสถกรรม (ประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน) อุปสมบทกรรม (พิธีบวช) กฐินกรรม (รับกฐิน) ตลอดจนกิจทั่วไปที่ภิกษุผู้อยู่ร่วมกันจะพึงช่วยกันทำ เช่น ดูแลรักษาและซ่อมแซมเสนาสนะ กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น นี่ก็เรียกว่า “กิจของสงฆ์”

๒. กิจส่วนตัวของภิกษุแต่ละรูปที่จะพึงปฏิบัติตามพระวินัย เช่น ออกบิณฑบาต ทำวัตรสวดมนต์ ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น รวมทั้งกิจอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อสมณวิสัย นี่ก็เรียกว่า “กิจของสงฆ์”

พระสงฆ์รุ่นเก่าในเมืองไทยกำหนด “กิจของสงฆ์” ไว้ เรียกกันว่า “กิจวัตร ๑๐ อย่าง” มีดังนี้

    กิจวัตร ๑๐ อย่างของภิกษุ
    ๑. ลงอุโบสถ
    ๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
    ๓. สวดมนต์ไหว้พระ
    ๔. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
    ๕. รักษาผ้าครอง
    ๖. อยู่ปริวาสกรรม
    ๗. โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ
    ๘. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
    ๙. เทศนาบัติ
  ๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น

กิจวัตร ๑๐ เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน

@@@@@@@

มักมีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเมื่อเห็นการกระทำของพระสงฆ์ว่า “นั่นใช่กิจของสงฆ์หรือเปล่า” นอกจากมีพระธรรมวินัย และ “กิจวัตร ๑๐ อย่าง” เป็นกรอบพิจารณาแล้ว ก็มีหลักอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ :-

   “วิญฺญุปสตฺถ” (วิน-ยุ-ปะ-สัด-ถะ) = วิญญูชนสรรเสริญ
    หรือ “วิญฺญุครหิต” (วิน-ยุ-คะ-ระ-หิ-ตะ) = วิญญูชนติเตียน
    หมายความว่า การกระทำนั้นๆ ผู้ที่รู้เรื่องนั้นแจ่มแจ้งดีและเป็นคนมีคุณธรรม ท่านสรรเสริญหรือตำหนิ
ถ้าท่านสรรเสริญก็ควรทำ ถ้าท่านตำหนิก็ไม่ควรทำ

โปรดสังเกตว่า ท่านใช้คำว่า “วิญญูชน” ซึ่งหมายถึงผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ ทั้งนี้เพราะคำสรรเสริญหรือคำตำหนิอาจมาจาก “พาลชน” คือผู้ไม่รู้เรื่องนั้นๆ อย่างถูกต้องถ่องแท้ แต่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสิน เช่นถ้าเรื่องนั้นถูกใจตน ก็บอกว่าเป็นกิจของสงฆ์ ถ้าเรื่องนั้นไม่ถูกใจตน ก็บอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์

เมื่อพอจะจับหลักได้แล้ว ต่อไปนี้ถ้าเห็นพระภิกษุสามเณรทำอะไร หรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับพระ เราจะมีหลักในการมอง อย่างน้อยก็-ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสิน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากหลักที่ควรจะเป็น และทำให้ท่าทีของเราต่อเรื่องนั้นๆ พลอยผิดพลาดไปด้วย





ขอขอบคุณ :-
บทความของ : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ,๑๗:๒๖
web : dhamma.serichon.us/2022/02/20/หลักปฏิบัติของสาวกผู้ม/
Posted date : 24 กุมภาพันธ์ 2022 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ