จาก หนังสือแนวคำสอนสมเด็จโต “สมาธิ ทางสงบ ถอดจิต” โดย แสง อรุณกุศล
8. ท่านอนสีหไสยาสน์ นอนด้วยท่าทางสงบ นอนตะแคงขวาเพื่อไม่ให้บีบทับหัวใจมากเกินไป มือขวาวางหงายไว้บนหมอนข้างแก้มขวา มือซ้ายวางราบไปตามลำตัว ขาขวาวางเหยียดไปแบบธรรมชาติไม่ต้องเกร็งให้ตรงเกินไป โคนขาซ้ายทับขาขวาอย่างพอเหมาะ เข่าซ้ายพับงอเล็กน้อย ปลายเท้าซ้ายวางลาดตํ่าไว้หลังเท้าขวา เป็นการช่วยพยุงร่างให้ทรงตัวในท่านอนได้นาน ส่วนการกำหนดบริกรรมลมหายใจนั้น กำหนดเหมือนบทเดิม จนกว่าจะหลับไป หรือว่าบริกรรมเพื่อพักชั่วคราว และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องมีสติกำหนดบริกรรมกำกับลมหายใจอีกจนกว่าจะลุกขึ้น เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถใหม่
ท่านที่เป็นโรคกระเพาะอาหารย้อยหย่อนยาน ควรนอนท่าตะแคงข้างขวา เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารย้อยถ่วงลงมามากกว่าเดิม และเมื่อฝึกสมาธิก็พยายามขับลมหายใจลงสู่เบื้องตํ่าเป็นการบีบรัดและเร่งให้กล้ามเนื้อนั้นมีกำลัง กระเพาะอาหารก็จะค่อยๆคืนสู่ตำแหน่งเดิม ข้อดี เป็นท่าที่เหมาะสมกับคนแก่ หรือท่านที่เจ็บป่วย หรือมีร่างกายอ้วนมากจนไม่เหมาะกับการที่จะใช้ท่าอื่นเพื่อการฝึกปฏิบัติจิต เป็นท่านอนที่มีสติอยู่ได้นานกว่าท่านอนหงาย ข้อเสีย ท่านอนทุกท่า เมื่อวางตัวนอนแล้วศีรษะจะอยู่ในลักษณะระดับลาดใกล้เคียงกับลำตัวที่นอนขนานกับพื้นหรือเตียง เลือดจึงไหลขึ้นไปคั่งอยู่ที่สมองมากกว่าปรกติ เดี๋ยวเดียวที่เข้านอนได้ที่ ส่วนมากก็จะหลับบางครั้งจะหลับก่อนที่จะได้สมาธิที่สมบูรณ์9. ท่านอนหงายท่านี้เหมาะกับคนที่มีร่างกาย อ้วน หรือไม่สะดวกในการใช้ท่าฝึกสมาธิท่าอื่น
ในขณะเดียวกัน ท่านอนทุกท่าเป็นอิริยาบถของการเตรียมตัวหลับนอน ดังนั้น จึงเป็นการฝึกสมาธิก่อนนอนโดยปริยาย แม้ว่าจะฝึกจิตยังไม่ทันหลับ สติความระลึกรู้ก็จะดับไปพร้อมกับนอนหลับสนิท ท่านอนหงายรักษาโรคปวดหลัง ท่านี้เหมาะกับคนที่ปวดหลัง คือนอนหงายเหยียดตรงไปบนพื้นหรือพื้นห้องที่ไม่มีฟูกหรือที่นอนอ่อนนิ่มรองรับอยู่ แล้วเอาผ้าบางๆพับให้เป็นเส้นหนาพอควร ความหนาของผ้านี้อาจจะใช้ความหนาไม่เท่ากันทุกคน ขอให้พิจารณารองแล้วนอนไม่อึดอัดเกินไปก็ใช้ได้ ผ้าที่พับนั้น เมื่อพับแล้วต้องยาวกว่าความกว้างของแผ่นหลังท่านเล็กน้อย พับแล้วจึงนำผ้านั้นสอดขวางกับลำตัววางไว้อยู่ใต้บั้นเอวพอดี
ส่วนฝ่ามือนั้นให้นิ้วประสานกัน นิ้วหัวแม่มือจรดชนกันวางอยู่ที่หน้าท้อง ไม่ควรวางไว้หน้าอก เพราะธาตุไฟที่ถ่ายเทผ่านฝ่ามือ จะเผาผลาญอวัยวะภายในอก เช่น ตับ ปอด หัวใจ ทำให้ตื่นขึ้นมาเหมือนคนมีไข้ และจะมีอาการหิวน้ำ ส่วนลมหายใจนั้นก็กำหนดบริกรรมกำกับเหมือนทุกท่าของการปฏิบัติ
ถ้าอากาศเย็นควรหาผ้าคลุมร่างให้อบอุ่นไว้ด้วย
ข้อดี ท่านอนทุกท่าที่นอนแล้วภาวนาปฏิบัติจิตนั้นเป็นการฝึกแบบเก็บเล็กผสมน้อยก่อนนอนหลับ แม้จะเพียงวันละ 5 นาทีก็ยังดี และเป็นผลพลอยได้ คือ จะหลับได้สบายอย่างมีสติด้วย ข้อเสีย มีเวลาน้อยมากที่จะภาวนาให้เกิดสมาธิเพราะหลับก่อน แต่ก็ยังเป็นประโยชน์แก่คนที่นอนหลับยากที่จะใช้เวลาก่อนนอนหลับนั้น ภาวนาจนกว่าจะหลับสนิทไปเป็นการแก้ไขการทรมานกระสับกระส่าย ไม่เกิดอาการกระวนกระวายก่อนหลับนอนสมาธิรักษาโรคนอนไม่หลับ ข้อแนะนำสะกดตนเองให้นอนหลับ คนที่คิดมากเกิดความกังวลใจ ห่วงนั้น ห่วงนี่ ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงสมบัติ หรือห่วงว่าจะไม่มีกินคิดแล้วไม่หยุดยั้งชั่งใจให้สงบบ้าง จึงเกิดเป็นโรคประสาทอ่อน หรือโรคประสาทมากๆ นั้น ส่วนมากจะมีอาการอย่างหนึ่ง คือนอนไม่หลับ อันเป็นทุกข์อย่างยิ่งจึงควรปฏิบัติดังนี้
9.1 อย่านอนหลับกลางวัน กลางวันถ้าเกิดอาการง่วงนอน พยายามอย่าไปนอนหลับหรือนั่งพักผ่อน ควรจะหางานทำที่ต้องใช้กำลังกายบ้าง หรือว่า เดินให้หายง่วง อาจจะใช้ท่าเดินจงกรมเดินไปแผ่เมตตาไปตามทุกลมหายใจ จะช่วยให้จิตใจสบายปลอดโปร่งคลายความหงุดหงิดได้9.2 กลางคืนอย่านอนหลับหัวคํ่าเกินไป ให้นอนหัวคํ่าที่สุดประมาณ 21.00 น. หรือว่าดึกกว่านี้หน่อยเวลานอนจะได้นอนหลับทีเดียวจนถึงเช้า9.3 ทำจิตใจให้มีอารมณ์สบายๆ ก่อนนอน สวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา ระลึกถึงกุศล ความดีที่เคยทำมา แล้วอุทิศผลบุญเหล่านั้นให้กับผู้มีพระคุณทุกท่าน และเจ้ากรรมนายเวร แล้ววางอารมณ์ทุกอย่างลืมเสียให้หมด เช่น ดีใจจนตื่นเต้น เสียใจจนเศร้าโศก ความอาฆาตมาดร้ายพยาบาท หรือว่า ความคิดที่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้มีสมบัติมากๆ เป็นต้น9.4 สะกดใจให้สงบอยู่กับที่ นอนในท่าที่รู้สึกว่าสบายหลับตาแล้วภาวนาหายใจเข้าว่า “พุท ”หายใจออกว่า “โธ ”หรือสวดมนต์ในใจบทใดบทหนึ่งก็ได้ส่วนจิตใจนั้นต้องส่งความรู้สึกทั้งหมด ไปตามคำภาวนาหรือบทสวดมนต์นั้นๆ ไปเรื่อยๆ ภาวนาจนกว่าจิตใจ จะสงบและหลับไป
9.5 ปล่อยใจวางภาระทุกอย่าง นอนในท่าที่รู้สึกสบาย หลับตาแล้วระลึกถึงกุศลความดีที่ได้ทำมา แล้วอุทิศให้ผู้มีพระคุณทุกท่าน และเจ้ากรรมนายเวรแล้วภาวนาแผ่เมตตาไป จนจิตใจสงบหลับไปในที่สุดระหว่างภาวนาแผ่เมตตานั้น จิตใจจะต้องน้อมนำไปตามความหมายของบทแผ่เมตตา ถ้ายังไม่หลับ ให้ระลึกว่า กายเรานี้สักแต่ว่ากายเป็นเพียงก้อนธาตุก้อนหนึ่งที่วิญญาณเราอาศัยอยู่ เพื่อใช้กรรม รอเวลาให้หมดวาระตามอายุขัยที่มีอยู่ หรือตามกรรมที่กระทำไว้ในอดีต ที่จะส่งผลมาปัจจุบันชาติให้เราอาจจะตายเมื่อใดก็ได้ บางทีเดี๋ยวก็อาจจะตายร่างนี้พร้อมแล้วที่จะแตกดับไป กายนี้พร้อมแล้วที่จะแปรธาตุสลายไปสู่ธาตุเดิมคือ ดิน นํ้า ลม ไฟ ที่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นแก่นสารสาระอะไรที่เราจะมายึดมั่นถือมั่นให้ทุกข์กาย ทุกข์ทั้งใจ เราไม่มีอะไรที่จะยึด เราไม่มีอะไรที่จะหลง
เมื่อนั้นเราจึงไม่มีทุกข์ใดๆ ที่จะมาทำให้เราต้องกังวลจนนอนไม่หลับ คิดไปภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วทำใจสบายๆ ไม่เครียดแบบเอาจริงเอาจัง ทำใจให้ได้ว่า การนอนหลับของเราก็คือ การตายแบบหนึ่งที่เราปล่อยใจ วางภาวะทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วที่จะตาย เพราะทุกอย่างของคนเรานั้น สิ้นสุดที่ “ ตาย ”10. ท่าฝึกสมาธิแบบอิสระ เป็นการฝึกปฏิบัติสมาธิจิตที่ไม่จำกัดท่าฝึกสถานที่เพียงแต่มีเวลาชั่วขณะหนึ่ง หรือว่า ยามที่ไม่ต้องใช้ความคิดท่านก็หาโอกาสนั้นที่จะภาวนาได้แม้จะไม่หลับตาก็ภาวนาได้ เช่น ขณะนั่งรถ เดินทาง หรือว่า นั่งซักเสื้อผ้า เก็บกวาด ทำความสะอาด ท่านเพียงแต่ภาวนา “ พุท ” “ โธ ”ควบคุมอารมณ์ให้สงบ ก็เป็นการฝึกจิตให้สงบอย่างเบื้องต้นที่ดีแล้วแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ท่าอิสระอีกแบบหนึ่ง เป็นวิธีฝึกสมาธิปฏิบัติจิต ที่เหมาะสำหรับท่านที่ไม่มีเวลาว่างจริงๆ เพียงแต่ท่านใช้เวลาให้จิตสงบครั้งละ 5 นาที
เมื่อท่านเมื่อยล้าจากการงาน การใช้สายตา ประสาทเครียด มึนศีรษะ หรือกำลังโมโหอยู่ ขอให้ท่านนั่งหรือนอนในอิริยาบถที่สบาย หลับตานึกถึง พระพุทธเจ้า หายใจเข้าท่องว่า “ พุท ” หายใจออกท่องว่า “ โธ ” เมื่อครบกำหนดเพียงประมาณครู่หนึ่งหรือ 5 นาที แล้วออกจากสมาธิ ร่างกายก็จะรู้สึกสดชื่นขึ้น พร้อมที่จะทำงานต่อไป ตาก็ได้พักสายตาคลายความเมื่อยล้าของประสาทตา ประสาทต่างๆ ก็คลายความเครียดลงสมองก็จะปลอดโปร่ง ความโมโหโทโสก็หยุดชะงักลงเกิดสติยั้งคิดทันก่อนที่จะทำอะไรผิดพลาดไปได้
นี่ละ “ อานิสงส์ของสมาธิเพื่อชีวิตประจำวัน ”
การฝึกสมาธิที่ดี ต้องเน้นหนักทั้งการออกกำลังบริหารกายที่พอเหมาะและการพัฒนาจิตใจอย่างสมํ่าเสมอ
“ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของสังคม ท่านสามารถอยู่อย่างสงบกาย สงบใจ ท่านก็คือยอดคนที่มีสมาธิอันยอดเยี่ยม ”
รักษาอารมณ์ให้ดีก่อนปฏิบัติฝึกสมาธิจิต ถ้าท่านเป็นคนเจ้าโทสะ โมโหร้าย ด้วยเหตุที่เอาแต่ใจตัวก็ตามหรือภาวะแวดล้อมเป็นเหตุก็ตาม ที่ทำให้ท่านไม่พอใจ ในขณะที่จิตใจปั่นป่วนนั้น ธาตุภายในร่างกายก็พลอยปั่นป่วนด้วยเป็นเหตุให้การปฏิบัติสมาธิจิตสงบได้ยาก ท่านควร นิ่งเงียบ หยุดโมโหโทโสสักครู่แล้วพิจารณาว่า โมโหแล้วจะได้มีอะไรดีขึ้นเพราะโมโหแล้วมีแต่ทำให้สุขภาพกายและจิตเสื่อมท่านก็จะหยุด พ้นจากกิเลสเหล่านี้ที่คอยเกาะกุมอยู่เหนือเรา คอยบัญชาเราแล้วท่านก็จะรักษาอารมณ์ให้สงบลงมา มีจิตใจสงบสดชื่น ร่าเริงทุกครั้งก่อนที่จะเข้าปฏิบัติ
ท่านต้องไม่ใช่ฝึกเพราะถูกบีบบังคับ หรือจำใจที่จะต้องฝึก แต่ฝึกเพราะความสมัครใจที่หวังความสงบและหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ด้วยใจที่สมัครเข้าฝึกนี้เอง จึงทำให้ท่านไม่เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายรังเกียจที่จะเข้าฝึกครั้งต่อไป เริ่มต้นฝึกด้วยความตั้งใจ วางจิตใจ ร่างกายให้อยู่ในอารมณ์สบายๆ ตัดความกังวลทั้งหมดวางไว้นอกกาย เช่นกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย งาน การเรียน หมู่คณะครอบครัวและญาติ สำหรับผู้มุ่งหวังโลกุตระแล้วไม่ควรกังวลถึงเรื่องตระกูล ชื่อ เสียง ลาภ เกียรติ ยศ สรรเสริญ ที่ตนเคยมีอยู่และห่วงกลัวว่าจะไม่ได้ในอนาคต ห่วงการเดินทาง ห่วงการเจ็บป่วย ห่วงเรื่องอิทธิฤทธิ์ ควรตัดความกังวลเหล่านี้ออกจากใจชั่วขณะหนึ่งที่ปฏิบัติไม่คิดถึงเรื่องในอดีตแม้ลมหายใจที่ผ่านไปและไม่คิดถึงเรื่องอนาคตแม้ลมหายใจที่ยังมาไม่ถึง แต่ให้คิดถึงภาวะปัจจุบันคือ
“ ภาวะที่กำลังฝึกปฏิบัติสมาธิจิตให้สงบอยู่ ”
ที่มา http://www.oknation.net/blog/thitiporn/2010/06/01/entry-1
ขอให้เครดิต "ยายกบ" ของคุณ Jojo ด้วยครับ
หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะสร้างความสำราญ(ในการนอน) ให้กับทั้งสองท่าน
