ภาพเขียน พิธีสตี ที่มีการเผาภรรยาม่ายทั้งเป็นพร้อมศพสามี
" ส ตี " พิธีเผาภรรยาม่ายทั้งเป็น พร้อมศพสามีที่เสียชีวิตข่าวแพร่สะพัดไปทั่วอินเดียว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2530 มีการประกอบยัชญพิธีที่เรียกว่า “สตี” ในหมู่บ้านเดโอราลา อำเภอสิการ์ รัฐราชาสถาน
ในพิธีนี้ หญิงม่ายวัย 18 ปี ชื่อ รูป กังวาร ได้เข้าไปในกองไฟเผาศพสามี เธอได้สังเวยชีวิตเพื่อเป็นการแสดงความภักดีและควมกล้าหาญ สามีของเธอชื่อ มาล ซิงห์ อายุ 24 ปี เป็นราชบุต (Rajuts) คือคนในวรรณะกษัตริย์เขาเสียชีวิตด้วยโรคท้อง ที่จริงสามีภรรยาคู่นี้แต่งงานกันมาได้เพียง 8 เดือน พวกราชบุตเป็นนักรบที่กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษ สตรีในวรรณะนี้ก็เป็นที่เชื่อกันว่ามีความกล้าหาญ
ในขณะที่พิธีกำลังดำเนินไป พวกราชบุตหนุ่ทมจำนวนหนึ่งก็ถือดาบเดินรอบๆ บริเวณพิธีเพื่อป้องกันการขัดขวางจากบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อข่าวแพร่ออกไป ก็มีคนจำนวนมากที่มีความเชื่อศรัทธาในพิธีสตีหลั่งไหลมาแสดงความเคารพสถานที่ประกอบพิธี โดยถือว่าที่นั่นเป็นบุณยสถาน ควรแก่การเดินทางไปแสวงบุญ ส่วนผู้ประกอบพิธีก็ประกาศจะสร้างโบสถ์ขึ้นตรงที่เผาศพนั้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์และได้เรี่ยไรเงินจากผู้เดินทางมาแสวงบุญพร้อมกันนั้นก็จัดจำหน่ายรูปภาพหญิงสาวกำลังนั่งประคองศพสามีอยู่กลางกองเพลิงที่กำลังลุกท่วม
นอกจากนี้ ผู้ประกอบพิธียังได้ประกาศจะจัดงานใหญ่ที่เรียกว่า “จุนรี มโหตตสวะ” ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2530 เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ตาย และเป็นการหาทุนสร้างโบสถ์ต่อไป
ข่าวข้างต้นนี้ทำให้ชาวอินเดียมีความคิดแปลกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือเห็นด้วย และคัดค้าน ฝ่ายที่เห็นด้วยก็จะอ้างคัมภีร์และประเพณีโบราณของฮินดูเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า การกระทำของม่ายสาว รูป กังวาร เป็นการฏิบัติตามประเพณีทางศาสนา เป็นการแสดงความกล้าหาญและความภักดีอย่างยิ่งยวด เขาถือว่าสามีเป็นเทพองค์หนึ่ง การสังเวยด้วยชีวิตจึงเป็นความดี นอกจากนี้ยังถือว่า รูป กังวาร ผู้เข้าพิธีสตีได้กลายเป็นมหาเทวีสตีมาตา ควรแก่การสนับสนุนให้สร้างโบสถ์เป็นที่ระลึกและกราบไหว้บูชาตรงที่ประกอบพิธีสตี ซึ่งเรียกว่า “สตีสถล”
ส่วนฝ่ายที่คัดค้านซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตำหนิว่า พิธีสตีเป็นฆาตกรรม เป็นพิธีที่ผิดกฎหมาย ถูกสั่งห้ามมานานแล้ว ผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับพิธีนี้ก็คือผู้สนับสนุนให้เกิดฆาตกรรม ผู้ที่ประกอบพิธีนี้คือ ฆาตกร ควรถูกจับมาลงโทษ
@@@@@@@
พิธีสตี มาจากไหน.?
คนฮินดูที่เลื่อมใสพิธีสตีอ้างว่า พิธีนี้มามาตั้งแต่สมัยโบราณ สืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เขาอ้างว่าพิธีสตีมีอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย ในคัมภีร์ฤคเวทมณฑลที่ 10 บทสวด (สูกตะ) ที่ 18 ซึ่งกล่าวถึงพิธีศพของชาวอารยัน มีข้อความที่ชี้ให้เห็นว่าสตรีที่สามีตายจะนอนเคียงข้างศพสามีบนเชิงตะกอน นอกจากนี้มีข้อความในบทสวดเดียวกันนั้นว่า
“ขออย่าให้สตรีเหล่านี้กลายเป็นหญิงม่าย ขอให้ภรรยาที่ดี ผู้ตกแต่งร่างกายด้วยน้ำมัน และถือน้ำมันเนย จงสังเวยตนเองแด่พระอัคนี ขอให้สตรีผู้เป็นอมตะ ผู้ไม่ไร้บุตรและสามี ผู้ประดับกายด้วยรัตนาภรณ์ จงเข้าไปในไฟซึ่งมีน้ำเป็นแหล่งกำเนิด” (ฤคเวท 10.18.7)
ข้อความนี้ทำให้เข้าใจว่าพิธีสตีมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ คือตั้งแต่สมัยฤคเวทซึ่งเชื่อกันว่าไม่ต่ำกว่าประมาณ 1,500 ปี ก่อน ค.ศ.
แต่ผู้ที่มีความเห็นคัดค้านพิธีสตีแย้งว่า การตีความคัมภีร์ฤคเวทอย่างนั้นยังไม่ถูกต้อง ฝ่ายนี้ยืนยันว่าตัวอักษรสุดท้ายในบทฉันท์บทนี้คือ อคฺเน ที่แปลว่าในไฟ นั้น ที่จริงเป็น อเคฺร ซึ่งแปลว่า ล่วงหน้าไป

ภาพประกอบ 1
ก่อน แต่คำนี้มาถูกแก้เป็น อคฺเน ในภายหลัง อันที่จริง คำทั้งสองนี้ถ้าเขียนเป็นตัวอักษรเทวนาครีจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก [ภาพประกอบที่ 1] ฝ่ายที่เห็นว่าควรจะเป็น อเคฺร ตีความไว้ดังนี้
“ ขอให้สตรีเหล่านี้ ผู้ซึ่งสามีมีชีวิตอยู่ ผู้มีสามีที่ดี ผู้แต้มแต่งจักษุด้วยน้ำมันเนย จงเข้าไปสู่เรือนของตน ขอให้สตรีเหล่านี้ ผู้ปราศจากน้ำตา ผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ผู้เป็นเจ้าของสมบัติอันดีงาม จงล่วงหน้ามาสู่เรือนก่อนคนทั้งปวง”
(อิมา นารีรวิธวาะ สุปรีตฺนีราญฺชเนน สรฺปิษา สํ วิศนฺตุ / อรศฺรโว นมีวาะ สรตฺนา อา โรหนฺตุ ชนโย โยนิมเคฺเร // ฤคเวท 10.08.7 //)
ผู้เขียนเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง คือน่าเป็น อเคฺร มากกว่า อคฺเน ถ้าพิจารณาตามหลักไวยากรณ์ภาษาสันสฤตทั้งสมัยพระเวท และสันสฤตมาตรฐาน คำที่จะแปลว่า ในไฟ จะต้องมีรูปเป็น อคฺนา หรือ อคฺเนา คำว่า อคฺเน ไม่มีในไวยากรณ์ เพียงแต่ใกล้เคียงกับคำว่า อคฺเนะ ซึ่งแปลว่า จากไฟ หรือ ของไฟ ส่วนคำว่า อเคฺร นั้นถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ทุกประการ คัมภีร์ฤคเวทที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็พิมพ์เป็น อเคฺร
แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจพิสูจน์ได้แน่นอนว่า ระหว่าง อคฺเน กับ อเคฺร คำไหนเป็นของเดิม และคำไหนเป็นคำที่แก้ใหม่ เพราะคัมภีร์ฤคเวทนั้นได้รับการสืบทอดมาโดยการท่องจําแบบมุขปาฐะ ต่อมาสมัยหลังจึงมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับการตีพิมพ์ในศตวรรษนี้เอง
@@@@@@@
ฉันท์บทที่ 8 ในบทสวดเดียวกันนี้มีใจความว่า
“ดูก่อนสตรี ขอให้เธอจงลุกขึ้นจากที่นั่น จงเป็นห่วงบ้านเรือนของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอกําลังนอนอยู่เคียงข้างสามี ผู้สิ้นชีวิตแล้ว จงออกมาจากที่นั้นเถิด เพราะว่าเธอยังมีชีวิตอยู่เพื่อบุตรหลานที่เกิดจากความสัมพันธ์กับสามีผู้ซึ่งเคยจูงมือเธอในพิธีวิวาห์ และให้กําเนิดบุตรแก่เธอ”
(อุทีรฺษฺว นารฺยภิ ชีวโลกํ คตาสุ เมตมุป เศษ เอหิ / หสฺตคฺราภสุย ทิธิ โษสฺต เวทํ ปตฺยูรฺชนิตฺวมภิ สํ พภูว // ฤคเวท 10.18.8//)
ข้อความข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า ในพิธีศพสมัยโบราณ ภรรยาของผู้ตายคงจะนอนเคียงข้างศพสามีบนเชิงตะกอนที่เตรียมจะเผาจริง แต่พราหมณ์จะเรียกให้ลุกขึ้นและให้ออกจากที่นั้น โดยการสวดบทสวดดังกล่าว
ความพิสดารเกี่ยวกับพิธีสตีที่ยังมีอีกมาก ในคัมภีร์อื่นๆ ของฮินดู เช่น อุปนิษัท คฤหยสูตร เป็นต้น แต่คัมภีร์เหล่านั้นแต่งขึ้นในสมัยหลังจากคัมภีร์ฤคเวท และส่วนใหญ่จะเป็นการตีความและการขยายความจากคัมภีร์ฤคเวทอีกต่อหนึ่ง
@@@@@@@
สมัครใจเผาตัวเอง หรือถูกจับไปเผา.?
ขอย้อนกลับมาถึงพิธีสตีที่เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2530 อีก ในขณะที่คนฮินดูจํานวนมาก ประกอบด้วยญาติพี่น้องฝ่ายสามีของ รูป กังวาร และคนอื่น ๆ รวมทั้งภรรยาของพวกราชบุตต่างสรรเสริญ ความกล้าหาญของเธอ บางคนออกความเห็นว่า การที่รูป กังวารเลือกเอาความตายนั้น ดีกว่าการมีชีวิตอยู่ เพราะถ้าเธอมีชีวิต อยู่ก็จะมีสภาพเหมือนตกนรกทั้งเป็น
เธอจะกลายเป็นคนนอกวรรณะ แต่งงานใหม่ไม่ได้ ถูกกีดกันจากสังคม ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ต้องกินอาหารหลังคนอื่น กินอาหารดีๆ ไม่ได้ ถูกห้ามประดับกายด้วยของมีค่า และห้ามแต่งกายด้วยเสื้อผ้าดีๆ ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมงานรื่นเริง จะไปตักน้ำจากบ่อร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ซ้ำร้ายเธอจะต้องกลายเป็นหญิงบําเรอความใคร่ของผู้ชายทุกคนในครอบครัว
นี่เป็นวิถีชีวิตของหญิงม่ายของพวกราชบุต
แต่เมื่อเธอเลือกเอาความตาย เธอก็จะได้รับการสรรเสริญให้เป็นมหาเทวี หรือ สตีมาตา และมีคนกราบไหว้บูชาต่อไป
แต่ผู้เห็นเหตุการณ์บางคนเปิดเผยว่า รูป กังวาร ไม่ได้นั่งประคองศีรษะศพสามีของเธออย่างที่ปรากฏในรูปที่จัดจําหน่าย รูปดัง กล่าวนั้นเป็นการตัดต่อซึ่งเห็นได้ชัดเจน ที่จริงเธอถูกทับอยู่ใต้กองฟื้น
คนจํานวนมากที่มาร่วมงานศพไม่รู้ตัวว่า ได้รับเชิญให้มาร่วมพิธีสตี เข้าใจว่าเป็นเพียงพิธีเผาศพธรรมดา รอบๆ เชิงตะกอน พวกราชบุตถือดาบเดินคุมเชิงไปมา ครั้นประกอบพิธีสาดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปและจุดไฟเผาก็ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ของหญิงสาวจากใต้กองไฟ ในเวลาเดียวกัน พระก็สวดฉันท์คายตรี ตีกลอง มีผู้เป่าสังข์ในพิธีทําให้กลบเสียงร้องที่ดังมาจากกองไฟ ผู้ประกอบพิธีได้สาดน้ำมันเข้าไปทําให้ไฟลุกโชติช่วงเพิ่มขึ้นอีก ผู้มาร่วมงานที่เพิ่งรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ถอยออกจากพิธีด้วย ความละอายอดสู เพราะไม่อาจช่วยหญิงสาวได้
การเปิดเผยดังกล่าวเป็นข้อชวนให้สงสัยว่า รูป กังวาร สมัครใจเข้าพิธีสตีหรือไม่ หรือว่าเธอถูกพวกคลั่งลัทธิจับไปเผาทั้งเป็นกันแน่ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจจะสืบหาพยานได้แน่ชัด เพราะผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต่างก็นิยมเลื่อมใสพิธีนี้ คงเป็นการไม่ปลอดภัย สําหรับคนในสังคมเช่นนั้นที่จะเปิดเผยความจริง
ถ้ามองดูพื้นฐานทางครอบครัวของสามีภรรยาคู่นี้ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ครอบครัวที่ล้าสมัย หรือหัวเก่า สุมาร์ ซิงห์ บิดาของ มาล ซิงห์ ผู้ตาย เป็นครูประจําโรงเรียนในหมู่บ้าน มาล ซิงห์เองสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ ส่วนรูป กังวาร เรียนถึงชั้นที่ 10 ซึ่งเทียบเท่ากับชั้น ม.4 ของการศึกษาไทย บิดาของเธอ คือ บาล ซิงห์ ราโถเร เป็นเจ้าของกิจการเดินรถขนส่ง ในเมืองชัยปุระ รัฐราชาสถาน
@@@@@@@
ความจริงพิธีสตีถูกสั่งห้ามไปเมื่อ 160 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยังปกครองอินเดีย แต่มีผู้กล่าวว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแอบประกอบพิธีนี้อยู่ตามชนบทห่างไกล ที่หมู่บ้านเดโอราลานั้น รูป กังวารนับเป็นรายที่ 4 ที่เข้าพิธีสตี ส่วนรายที่ 3 ของหมู่บ้านนี้เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีมาแล้ว
ถึงวันที่ 16 กันยายน 2530 ก็มีการ จัดงาน จุนรี มโหตสวะ ขึ้น มีผู้คนจากทั่วประเทศมาร่วมงานประมาณ 5 แสนคน เงินที่มีผู้ร่วมบริจาคได้ประมาณ 3 ล้านรูปี คณะกรรมการจัดงานก็เตรียมดําเนินการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นตรง สตีสถล ต่อไป ในงานนั้น มีบุคคลสําคัญของรัฐมาร่วมด้วยกัลยาณ ซิงห์ กัลวี ผู้นําพรรคชนตาประจํารัฐราชาสถาน เป็นต้น
เมื่อมีเสียงคัดค้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางรัฐบาลก็เข้าไปเกี่ยวข้อง มีการจับกุมบุคคลที่ประกอบพิธี สตีซึ่งประกอบด้วย สุมาร์ ซิงห์ บิดาของ มาล ซิงห์ ผู้ตาย และน้องชายของมาล ซิงห์ อีก 2 คน คือ ภูเปนทร์ ซิงห์ และปุษเปนทร์ ซิงห์ นอกจากนี้ ญาติบางคน พระผู้ดําเนินพิธี และช่างตัดผมที่ทําหน้าที่โกนผม ให้ผู้ประกอบพิธีก็ถูกจับ ทีแรกข้อหาเป็นเพียงการยุยงส่งเสริมให้คนฆ่าตัวตาย แต่ต่อมาเพิ่มเป็นข้อหาฆาตกรรม พร้อมกันนั้น
ทางการได้ประกาศห้ามการก่อสร้างโบสถ์ หรืออนุสาวรีย์ใดๆ ขึ้นตรงจุดสตีสถลนั้น แต่ปัญหาก็คงจะยืดเยื้อต่อไปอีก เพราะพวกราชบุตเตรียมสู้คดีนี้โดยใช้เงินทุนซึ่งมีผู้ บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับ และเพื่อให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นตรงสตีสถลในที่สุด
การเผาคนทั้งเป็นนั้น ไม่ว่าผู้ถูกเผาจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าสลดใจ ยิ่งถ้าปรากฏว่าผู้ถูกเผาไม่ได้สมัครใจ แต่ถูกผู้มีกําลังเหนือกว่าฉุดคร่าจับไปเผาเพราะความงมงาย ในลัทธิศาสนาด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นความเหี้ยมโหด และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่ใครบ้างจะนึกถึงว่าในสังคมที่เคร่งศาสนาที่มีคนอวดตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์กว่าสังคมอื่น ดูถูกการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ผู้คนเหล่านั้นกลับนิยมชมชอบและเลื่อมใส การฆ่าผู้หญิงโดยจับไปเผาทั้งเป็น แล้วอุปโลกน์ขึ้นเป็น “มหาเทวี” หรือ “สตีมาตา”…?เอกสารอ้างอิง :-
- Rigveda Samhita. vol. IV. 2nd ed. Poona: Vedic Research Institute, 1983.
- Reed, Elizabeth A. Hindu Literature. Delhi : Nag Publishers, 1979.
- Balashankar, R. “A Grotesque Scenario.” The Week (October 4-10, 1987):- 9-11.
- Raghavan, C.V.V. “Shocking Sati.” Frontline India’s National Magazine (October 3-16, 1987) : 100-105.
- Panjiai, P. “Sati A Pagan Sacrifice.” India Today (October 15, 1987): 98-105.
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 9, ฉบับที่ 3 (ม.ค. 2531)
ผู้เขียน : ประเทือง ทินรัตน์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 31 พฤษภาคม 2565
URL :
https://www.silpa-mag.com/history/article_87567