ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธองค์ตรัสถึง “กรรมดำกรรมขาว” ว่าอย่างไร  (อ่าน 7201 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระพุทธองค์ตรัสถึง “กรรมดำกรรมขาว” ว่าอย่างไร


ความโดยย่อจาก พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ)

ปุณณะโกลิยบุตรจึงทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อตนและเสนิยะ จะได้ละการประพฤติวัตรดั่งนั้นเสีย. จึงตรัสแสดงกรรม ๔ อย่าง คือ
     
๑. กรรมดำ มีวิบากดำ คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันประกอบด้วยการเบียดเบียน จึงเข้าถึง ( เกิดใน ) โลกที่มีการเบียดเบียน , ได้รับสัมผัสที่มีการเบียดเบียน , ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นสัตว์ที่เกิดในนรก
   
 ๒. กรรมขาว มีวิบากขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพชั้นสุภภิณหะ ( พรหมมีรูปชั้นที่ ๙ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น)

๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง จึงเข้าถึง ( เกิดใน ) โลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้รับสัมผัสอันมีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง อันมีทั้งสุขทั้งทุกข์คละกันไปดังเช่นมนุษย์บางเหล่า เทพบางเหล่า วินิปาติกะ (๒) .  บางเหล่า
   
๔ . กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือเจตนาเพื่อละกรรมดำซึ่งมีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวซึ่งมีวิบากขาว เจตนา (๓) . เพื่อละกรรมทั้งดำ ทั้งขาว ซึ่งมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ( เป็นเจตนาที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ปรารถนาจำทำกรรมใด ๆ อีกต่อไป).

(๒). อรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎกตอนนี้ ขยายความว่า ความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวของมนุษย์ย่อมปรากฏ ส่วนของเทวดา ได้แก่ภูมมเทวดา คือเทพที่อยู่บนพื้นดิน และของพวกวินิปาติกะ
ได้แก่ พวกเวมานิกเปรตที่อยู่วิมาน มีความสุขและความทุกข์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ย่อมเป็นไปในสัตว์ดิรัจฉาน
มีช้าง เป็นต้นด้วย

(๓). อรรถกถาอธิบายว่า มัคคเจตนา เจตนาที่เป็นไปในมรรค( คำว่า มรรค หมายถึงปัญญาอันตัดกิเลสได้เด็ดขาดตั้งแต่บางส่วนจนถึงหมดสิ้น ข้อไหนละได้แล้วไม่ต้องละใหม่อีก เป็นอันละได้เด็ดขาดไปเลย)

 



พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๑๓
พระสุตตันตะปิฎก เล่มที่ ๕ 
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
กุกกุโรวาทสูตร


กรรมดำกรรมขาว ๔

   [๘๘] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้
เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม

๔ ประการนั้นเป็นไฉน ดูกรปุณณะ
กรรมดำมีวิบากดำมีอยู่
กรรมขาวมีวิบากขาวมีอยู่
กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว มีอยู่
กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมมีอยู่


ดูกรปุณณะ ก็กรรมดำมีวิบากดำ เป็นไฉน
ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์
ประมวลวจีสังขาร อันมีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์
ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์ ผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์ย่อมถูกต้อง
เขาผู้เข้าถึงโลกอันมีทุกข์ เขาอันผัสสะประกอบด้วยทุกข์ถูกต้อง
ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์ อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียวดุจสัตว์นรก

ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี
สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว
ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท
ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมดำมีวิบากดำ.


ดูกรปุณณะ ก็กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน
ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ประมวลกายสังขาร อันไม่มีความทุกข์
ประมวลวจีสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลมโนสังขารอันไม่มีความทุกข์
ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ ผัสสะอันไม่มีความทุกข์ย่อมถูกต้อง
เขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เขาอันผัสสะไม่มีความทุกข์ถูกต้องแล้ว
ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยส่วนเดียวดุจเทพชั้นสุภกิณหะ

ฉะนั้น ดูกรปุณณะเพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี
สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว
ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าว สัตว์มีกรรมเป็นทายาท
ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมขาว มีวิบากขาว.


ดูกรปุณณะ ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นไฉน
ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง
ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลวจีสังขารอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง
ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง
ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง
ผัสสะอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ย่อมถูกต้องเขา
ผู้เข้าถึงโลก อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง
เขาอันผัสสะที่มีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ถูกต้องแล้ว
ย่อมเสวยเวทนาอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน 
ดุจพวกมนุษย์ เทพบางเหล่า และสัตว์วินิบาตบางเหล่า

ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี
สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว
ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท
ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว.


ดูกรปุณณะ ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมนั้น เป็นไฉน
ดูกรปุณณะ บรรดากรรม ๓ ประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ มีวิบากดำ เจตนาเพื่อ
ละกรรมขาว มีวิบากขาว เจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวนั้นเสีย
ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

ดูกรปุณณะกรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม.


อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  บรรทัดที่ ๑๔๗๘ - ๑๖๐๖.  หน้าที่  ๖๔ - ๖๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1478&Z=1606&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=84




ผัสสะ การถูกต้อง, การกระทบ; ผัสสะ ๖ ดู สัมผัส

สัมผัส ความกระทบ,การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก,ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ มี ๖ เริ่มแต่จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เป็นต้น จนถึง มโนสัมผัส สัมผัสทางใจ (เรียงตามอายตนะภายใน ๖); ผัสสะ ก็เรียก

อายตนะภายใน เครื่องต่อภายใน, เครื่องรับรู้มี ๖ คือ
๑) จักขุ ตา
๒) โสต หู
๓) ฆาน จมูก
๔) ชิวหา ลิ้น
๕) กาย กาย
๖) มโน ใจ;

อินทรีย์ ๖ ก็เรียก

อ้างอิง พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ