« เมื่อ: ตุลาคม 12, 2022, 07:07:04 am »
0
ประเพณีทอดกฐิน สืบสานพุทธศาสนา | คำว่า “กฐิน” มีความหมาย 4 ประการ
ประเพณีทอดกฐินนี้ เป็นประเพณีที่มีมาแล้วแต่ครั้งสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความนับถือกันว่าเป็นยอดของมหากุศลผลบุญ จะเป็นปัจจัยนำให้ผู้ได้ทอดกฐินนั้นได้ประสบซึ่งความสุขความเจริญในอธิโลกและปรโลกตลอดกาลนาน
คำว่า “กฐิน” นี้ เมื่อจะแปลตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็ได้ความหมายว่า “กรอบไม้” สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของภิกษุ ซึ่งกรอบไม้ชนิดนี้ โดยมากนิยมเรียกกันว่า “สะดึง” ฉะนั้นที่มีความนิยมเรียกกันว่า “ผ้ากฐิน” ก็เพราะเมื่อจะเย็บนั้น ต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนจึงจะเย็บ
การที่จะต้องทำเช่นนี้ เพราะว่าในครั้งก่อนโน้น ไม่มีช่างที่มีความชำนาญในการตัดเย็บ ทั้งเครื่องจักรกลต่างๆ ก็ไม่มีจะใช้เหมือนอย่างกับในเวลานี้ จึงต้องอาศัย “สะดึง” ช่วยให้เป็นเบื้องต้นก่อน แล้วจึงเย็บเป็นอันได้ใจความว่า “ผ้ากฐิน” นี้ก็คือผ้าที่ทำให้สำเร็จขึ้นได้ด้วยการอาศัย “กฐิน” หรือ “สะดึง” เมื่อเสร็จเป็นผ้า “กฐิน” แล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วตลอด 3 เดือน ซึ่งมีความนิยมเรียกกันว่า “ทอดกฐิน”
คำว่า “ทอด” นี้ก็คือเอาไปวางไว้ การทอดกฐินก็คือการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนอย่างที่สุด 5 รูป โดยมิได้มีความตั้งใจว่า จะถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเมื่อทอดแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ของฆราวาส ส่วนเรื่องต่อไปนั้น พระสงฆ์ท่านจะมอบหมายให้กันและกันเอง ตามที่ท่านเห็นว่า สมควรจะให้ภิกษุรูปใดเป็น “กรานกฐิน” ก็สุดแต่ท่านจะจัดทำกันเอง ฆราวาสเมื่อ “ทอด” หรือ “วาง” ไว้แล้ว ก็คอยออกมารับอนุโมทนา เมื่อพระสงฆ์ท่านกรานเสร็จแล้วเท่านั้น
การทอดกฐินนี้ มีกำหนดและระยะเวลาดังนี้ คือ มีกำหนดตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 คือ มีกำหนดเวลา 1 เดือน ภายหลังจากออกพรรษาแล้วจะทอดก่อนหรือภายหลังจากที่กำหนดไว้ไม่ได้ เพราะได้มีเป็นพุทธบัญญัติไว้
@@@@@@@
ความหมาย
คำว่า “กฐิน” มีความหมายเกี่ยวข้องกันถึง 4 ประการ คือ
1. เป็นชื่อของกรอบไม้ อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า “สะดึง” ก็ได้
2. เป็นชื่อของผ้า ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวร ตามแบบหรือกรอบไม้นั้น
3. เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญ ในการถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร
4. เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้
กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้นั้นเนื่องจากในครั้งพุทธกาลทำจีวรให้ มีรูปลักษณะตามที่กำหนด กระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า “จีวร” เป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียกผ้านุ่งว่า “สบง” ผ้าห่มว่า “จีวร” ผ้าห่มซ้อนว่า “สังฆาฏิ” การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือ ทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ แล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกัน ทำกิจที่เกิดขึ้น
และเมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า “เดาะ” ฉะนั้นคำว่า “กฐินเดาะ” หรือ “เดาะกฐิน” จึงหมายถึง การรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า
กฐินที่เป็นชื่อของผ้า
หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุลคือ ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณร ก็ได้ถวายแก่สงฆ์แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้
กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ “การทำบุญ”
คือ การถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่ง หรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือ ทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็นกาลทานคือ การถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล 1 เดือน ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า ถ้าถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก
กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม
คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความคิดเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยากไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
ข้อความดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าความหมายของคำว่ากฐิน มีความเกี่ยวข้องกันทั้ง 4 ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐิน คือ แสดงความพอใจว่าได้กรานกฐินเสร็จสิ้นแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
@@@@@@@
คําว่า “การกรานกฐิน” คือ การลาดหรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบ เพื่อตัดเย็บทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง
คำว่า “การจองกฐิน” คือการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาถวาย เมื่อนั้นเมื่อนี้แล้วแต่จะตกลงกัน แต่จะต้องภายในเขต เวลา 1 เดือน ตามที่กำหนดในพระวินัย
คำว่า “อปโลกน์กฐิน” หมายถึง การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า “อปโลกน์” (อ่านว่าอะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วจึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น
ในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้นมีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้นการใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไปเพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐินเหมือนกัน และเนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย จึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศล เรื่องกฐินนี้ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน
@@@@@@@
ตำนาน
ครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก กฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ 30 รูป ถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น พอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง
ดังนั้นพอออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทาง แต่ระยะนั้นยังมีฝนตกมาก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำเป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์ พระพุทธจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นถึงเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวาย และการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ
พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุ จึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุ ผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และเมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงส์บางข้อตามพระวินัยดังกล่าวต่อไป
@@@@@@@
ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน
ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐินมีดังต่อไปนี้
1. จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้ ถ้ากล่าวตามหลักฐานในพระไตรปิฎก (เล่ม 5 หน้า 258) ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิต กล่าวว่า สงฆ์ 4 รูป ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นการปวารณา คือ การอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ การอุปสมบทและการสวดถอนจากอาบัติบางประการ (อัพภาร) จึงหมายถึง ว่าจำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้จะต้องมีตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป แต่หนังสืออธิบายชั้นหลังที่เรียกว่าอรรถกถา กล่าวว่า ต้อง 5 รูป ขึ้นไป เมื่อหนังสืออธิบายชั้นหลังขัดแย้งกับพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ
2. คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรักกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ 3 เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าจะนำพระสงฆ์ที่อื่นมาสมทบจะใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าถ้าพระสงฆ์วัดที่จะทอดกฐินนั้น มีจำนวนครบ 4 รูปแล้ว จะนำพระสงฆ์วัดอื่นมาสมทบก็สมทบได้ แต่จะอ้างสิทธิไม่ได้ ผู้มีสิทธิมีเฉพาะผู้จำพรรษาครบ 3 เดือน ในวัดนั้นเท่านั้น การนำพระภิกษุมาจากวัดอื่น คงมีสิทธิเฉพาะที่ทายกจะถวายอะไรเป็นพิเศษเท่านั้นไม่มีสิทธิในการออกเสียงเรื่องจะถวายผ้าแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้
3. กำหนดกาลที่จะทอดกฐินได้ กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่าการทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลาจำกัดคือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน
4. ข้อควรทราบเกี่ยวกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับเพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย (วินัยปิฎก เล่ม 5 หน้า 137) คือ มักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วยวาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นผิดพระวินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์ จึงควรระมัดระวังทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติทำให้ถูกต้องเรียบร้อย
@@@@@@@
อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน
1. ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายผู้ทอดและคณะมีดังนี้
1.1 ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกำหนดที่เรียกว่ากาลทานคือในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามพุทธภาษิตว่าผู้ให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้น ย่อมสำเร็จได้
1.2 ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
1.3 ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป
1.4 จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง 3 กาล คือ ก่อนทอด กำลังทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสศรัทธา และปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ
1.5 การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็เป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป
2. ผลดีฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานฐิน อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐินมีดังนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฎก เล่ม 5 หน้า 136) ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์ 5 ประการ
2.1 รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ 6 แห่ง อเจลกวรรคปาจิตตีย์
2.2 ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
2.3 เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษไว้ได้ตามปรารถนา
2.4 จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น
2.5 ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว (คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 เป็นวันสุดท้าย)ขอบคุณ :
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1714908โดย กฤษณา พันธุ์มวานิช , วันที่ 18 ตุลาคม 2562 - 13:00 น.