ก่อนจะสลักศิวลึงค์พันองค์ไว้ใต้ผืนน้ำ : กบาลสเปียนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์
“กบาลสเปียน” เป็นภาษาเขมร แปลไทยตรงตัวว่า “หัวสะพาน” ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมกุเลน เป็นต้นน้ำของแม่น้ำหัวสะพาน (หรือ สตรึงกบาลสเปียน ตามสำเนียงซาวด์แทร็กภาษาเขมร) ที่ไหลผ่านเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยตั้งอยู่ห่างจากกลุ่มโบราณสถานเมืองพระนคร และนครธม ราว 25 กิโลเมตรเท่านั้น
หมายความว่า เมื่อคราวที่เมืองพระนครกำลังเรืองรอง (ราว พ.ศ.1400-1750) และต่อเนื่องมาจนถึงยุคนครธม (พ.ศ.1750-1800) นั้น แม่น้ำแห่งนี้เป็นแม่น้ำสายสำคัญให้กับผู้คนในเมืองพระนครแน่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นที่ทราบกันดีว่า วัฒนธรรมขอมโบราณโดดเด่นในด้านการจัดการน้ำ
การจัดการน้ำที่ว่า ไม่ใช่แค่การจัดการด้านสาธารณูปโภค อย่างการเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ระบายออกยามน้ำหลาก หรือการชลประทานเพื่อการคมนาคมต่างๆ เท่านั้นนะครับ เพราะยังหมายรวมถึงการจัดการทางด้านความเชื่ออีกด้วย
“บาราย” คือ “อ่างเก็บน้ำ” ขนาดมหึมาของอารยธรรมขอมโบราณ จึงมักจะมีความเชื่อทางศาสนากำกับอยู่
ที่ใจกลางของบารายตะวันตกของเมืองพระนคร ในเมืองเสียมเรียบปัจจุบัน มีปราสาทแม่บุญตะวันตก ประดิษฐานรูปสำริดพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ แสดงความหมายว่า บารายแห่งนี้คือเกษียรสมุทร ทะเลน้ำนมอันเป็นนิวาสสถานของพระนารายณ์ เช่นเดียวกับบารายของปราสาทพระขรรค์ ที่เมืองเสียมเรียบ ก็มีปราสาทนาคพัน ที่แสดงสัญลักษณ์การจำลองสระอโนดาต สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ในป่าหิมพานต์ อันเป็นต้นธารของแม่น้ำทุกสาขาในโลกแห่งนี้ เป็นต้น
@@@@@@@
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ต้นน้ำหัวสะพาน ที่บนเขาพนมกุเลน ที่เป็นเขาใหญ่อันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพระนคร จะมีการจัดการต้นน้ำแห่งนี้ให้กลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย
ศิวลึงค์นับพันองค์ได้ถูกบรรจงแกะสลักลงบนลานหินใต้ลำน้ำที่หัวสะพาน ในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1593-1609) ผู้สร้างบารายตะวันตก และสถาปนารูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ไว้กลางอ่างเก็บน้ำยักษ์ ที่ระดับใหญ่-ยาว 8 x 3 กิโลเมตร เอาไว้
ดังนั้น การสลักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งที่ต้นน้ำ และอ่างเก็บน้ำที่อยู่ใกล้เมือง จึงย่อมมีนัยยะเชิงพิธีกรรมและความเชื่อแน่
แต่ที่ต้นน้ำหัวสะพานไม่ได้มีเฉพาะหมู่ศิวลึงค์เท่านั้น เพราะยังประดับไปด้วยรูปเทพเจ้าสำคัญต่างๆ เช่น พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระพรหม พระอิศวรในปางต่างๆ แทรกอยู่เป็นจังหวะ ตามโขดหินนานา ก่อนจะลงไปถึงจุดสิ้นสุดของหัวสะพาน ซึ่งเป็นเหวเตี้ยๆ และมีน้ำตกลงไปข้างล่าง
ณ บริเวณที่จุดสิ้นสุดของชุดภาพสลักที่กบาลสเปียน มีหินก้อนใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงบริเวณที่น้ำจะทอดตัวตกลงไปยังเบื้องล่าง พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดในพื้นที่กบาลหัวสะพานแห่งนี้
หินใหญ่ก้อนที่ว่าเคยมีภาพสลักพระอิศวรอยู่ ในปางที่เรียกว่า ภิกษาตนมูรติ คือพระอิศวรที่ปรากฏกายในรูปของนักบวชประดับอยู่ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันรูปพระอิศวรจะถูกคนใจทรามกะเทาะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเศษเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ของตนเอง แต่ก็ยังน่าสนใจมากเป็นพิเศษพอที่จะทำให้ควรดั้นด้นไปสังเกตการณ์ เพราะด้านบนของพระอิศวร ที่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงรูโหว่ไปแล้วนั้น
สลักรูป “จระเข้” เอาไว้ด้วย
รูปกบ และจระเข้ ประดับอยู่เหนือรูปพระอิศวร ปางภิกษาตนมูรติ ที่ถูกคนร้ายกะเทาะเอาไปแล้ว ที่กบาลสเปียนในวัฒนธรรมขอมโบราณ รูปจระเข้ จะถูกไว้เหนือรูปเทพเจ้าในปางที่สำคัญ ในกรณีของพระอิศวร ก็คือในปางของพระสทาศิวะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรูปพระอิศวรในปางที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรมขอมโบราณ พอๆ กับรูปพระอิศวรทรงศีลในคราบนักบวช ที่เรียกว่า ภิกษาตนมูรติ อย่างที่พบที่กบาลเสปียนนี่แหละครับ
เรื่องของรูปจระเข้เจ้าปัญหานี่ ในแวดวงผู้สนใจในอารยธรรมขอมยังขบกันไม่แตกว่าหมายถึงอะไรกันแน่? แต่เราอาจสืบดูจากญาติสนิทกลุ่มหนึ่งของพวกขอมก็คือ ชาวมอญ คนพวกนี้บางกลุ่มถือว่าบรรพชนของตนเองเป็นจระเข้ เช่นพวกมอญที่บ้านครัว เป็นต้น
ตำนานเรื่อง “พระนางจามเทวี” เล่าว่า พระนางคนนี้เป็นเชื้อสายราชวงศ์มอญ ที่ขึ้นไปครองหริภุญไชย แต่บ้านเกิดเมืองนอนที่พระนางจากมานี่ไม่ได้มอญเลยสักนิด เพราะพระนางเสด็จไปจาก “เมืองละโว้” หรือ “ลพบุรี” ที่ใครๆ ต่างก็รู้กันดีว่า เป็นเมืองฐานที่มั่นสำคัญของพวกขอมสมัยโบราณ
@@@@@@@
แล้วพระนางจามเทวีเกี่ยวอะไรกับจระเข้.?
เรื่องนี้เกี่ยวแน่นอนครับ เพราะชื่อพระนางออกเสียงแบบมอญว่า “กยามเทวี” แปลว่า “พระนางจระเข้” เพราะ “กยาม” ในภาษามอญ แปลเป็นไทยว่า “จระเข้” นั่นเอง
การที่ชื่อของพระนางจามเทวี หมายถึงจระเข้ โดยอ้างว่าเป็นเชื้อสายมอญ ที่ปกครองเมืองลพบุรี จึงเป็นร่องรอยที่สำคัญ เพราะในกรณีนี้จระเข้เป็น “ผีบรรพชน” โดยถูกแสดงผ่านชื่อของเชื้อพระวงศ์ (โดยเฉพาะเมื่อนับทางฝ่ายหญิงตามธรรมเนียมโบราณ) ที่ขึ้นไปปกครองเมืองใหม่คือ หริภุญไชย
แต่อาจจะไม่ได้มีเฉพาะชาวมอญที่ถือว่า “จระเข้” เป็น “บรรพชน” ของตนเอง เพราะน่าสงสัยว่า พวกขอมก็น่าจะเคยนับถือเอาอย่างนั้นด้วยเช่นกัน เพราะการสลักรูปจระเข้เข้าไปรวมอยู่ในรูปเรื่องราวเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ซึ่งก็ไม่ได้พบเพียงเฉพาะที่กบาลสเปียนเพียงแห่งเดียว แต่ยังมีการพบรูปจระเข้อยู่ร่วมกับเทพเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ระดับพระอิศวร และพระนารายณ์ ในภาพสลักขอมอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทกระวาน ปราสาทนครวัด และปราสาทบายน เป็นต้น ซึ่งก็คือการที่ชาวเขมรโบราณนำเอาผีบรรพชนของตนเองไปรวมอยู่ในจักรวาลวิทยา (cosmology) เดียวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดียนั่นเอง
รูปกบ และจระเข้ ประดับอยู่เหนือรูปพระอิศวร ปางภิกษาตนมูรติ ที่ถูกคนร้ายกะเทาะเอาไปแล้ว ที่กบาลสเปียนหลักฐานอีกประการที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของศาสนาผี ที่หินใหญ่ก้อนนี้ก็คือ หินแกะสลักรูป “กบ” นั่งเฝ้าพระอิศวรอยู่ด้วย
กบรูปนี้สลักขึ้นอย่างโดดๆ ลงบนหินก้อนเล็กๆ ที่ลำธารไหลผ่าน จ้องมองขึ้นไปยังรูปพระอิศวรบนหินก้อนใหญ่ด้วยอาการเคารพ
แน่นอนว่าเจ้ากบตัวนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ (ก็พอๆ กันกับรูปจระเข้นั่นแหละ) แต่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และสัญลักษณ์ของน้ำในศาสนาผีสุวรรณภูมิ ซึ่งสอดคล้องกันดีกับการสลักศิวลึงค์ใต้น้ำ หรือภาพสลักอื่นๆ ที่กบาลเสปียน ซึ่งเป็นการทำต้นแม่น้ำเสียมเรียบซึ่งไหลผ่านเมืองพระนครให้ศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้น ก่อนที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 จะได้กระทำการแกะสลักรูปศิวลึงค์ และเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลงบนท้องน้ำและโขดหินที่ต้นน้ำหัวสะพานนั้น ต้นน้ำแห่งนี้จึงควรที่จะเป็นสถานที่สำคัญ ที่ทั้งเฮี้ยน ทั้งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อสังเกตให้ดีถึงทางน้ำที่ใต้ลำธารในบริเวณที่มีการแกะสลักศิวลึงค์พันองค์อยู่นี่แหละ
เพราะธารน้ำในบริเวณดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับ “อวัยวะเพศ” ของผู้หญิง (ควรระลึกไว้ด้วยว่า ศาสนาผี เป็นศาสนาที่มีเพศแม่ คือผู้หญิง เป็นใหญ่)
@@@@@@@
ลักษณะเช่นนี้เปรียบเทียบได้กับ “นาน้อยอ้อยหนู” ที่เมืองแถน หรือที่เรียกด้วยภาษาเวียดว่า เมืองเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม ที่ก็เป็นทางน้ำมีลักษณะคล้ายกับเครื่องเพศผู้หญิงเหมือนกัน
ในกรณีของนาน้อยอ้อยหนูนั้น พวกไทดำ (ผู้ไท) เชื่อว่า เป็นสถานที่กำเนิด (คลอด) ของมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งผมคงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าทำไมชนชาวไทดำจึงเชื่อกันแบบนั้น?
ก่อนที่จะมีการสลักศิวลึงค์พันองค์ลงใต้ผืนน้ำที่กบาลสเปียน ชาวเขมรโบราณก็คงจะมีความเชื่อเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้ในทำนองที่ไม่ต่างไปจากที่พวกไทดำมีต่อนาน้อยอ้อยหนู ดังนั้น เมื่อมีการแกะสลักสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใหม่ จึงสลักทับอยู่เฉพาะตรงบริเวณที่ทางน้ำมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศหญิงเป็นพิเศษ
เพราะ “อวัยวะเพศ” ในศาสนาดั้งเดิมของแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก ต่างก็มีความหมายเกี่ยวพันอยู่กับกำเนิด และความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ ยิ่งเมื่อเป็นสัญลักษณ์รูปอวัยวะเพศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แถมยังมีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา ก็ยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีก
พื้นที่ต้นน้ำกบาลสเปียนจึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาผีพื้นเมืองในที่ราบลุ่มตนเลสาปเขมร ในประเทศกัมพูชา มาก่อนที่จะถูกจับบวชเข้ารีตเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นนอกจากจะเป็นต้นน้ำแล้ว ยังมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศหญิง ซ้ำยังตั้งอยู่บนเทือกเขาที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองพระนคร และปริมณฑลโดยรอบ • ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2566
URL :
https://www.matichonweekly.com/culture/article_657095