ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติพระธาตุพนม ฉบับภาษาลาว  (อ่าน 1103 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ประวัติพระธาตุพนม ฉบับภาษาลาว
« เมื่อ: พฤษภาคม 05, 2023, 06:48:53 am »
0


ภาพวาดพระธาตุพนมองค์เดิม ในบันทึกของฟรานซิส การ์นิเยร์ นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2411


ประวัติพระธาตุพนม ฉบับภาษาลาว

พระธาตุพนม เป็นสถาปัตยกรรมโบราณแห่งหนึ่งของลาว แต่ในปัจจุบัน ประชาชนชาวลาวไม่มีสิทธิในการครอบครองเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ดินแดนลาว ที่เรียกว่าภาคอีสานในปัจจุบัน ได้อยู่ภายใต้การครอบครองของพระราชอาณาจักรไทย

ถึงอย่างไรก็ตาม ชาวลาวในพระราชอาณาจักรลาวปัจจุบันก็ยังมีส่วนไปร่วมงานบุญเฉลิมฉลององค์พระธาตุพนมทุกปีมิได้ขาด

พระธาตุพนมตั้งอยู่เมืองธาตุพนม แขวงนครพนม ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ผู้แปล) ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับปากเซบั้งไฟทางพระราชอาณาจักรลาว (ปัจจุบันคือ ปากน้ำเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้แปล)

ในสมัยโบราณเมื่อครั้งที่ลาวยังเป็นเจ้าขององค์พระธาตุพนมอยู่นั้น สิทธิในการปรนนิบัติดูแลรักษาองค์พระธาตุพนมเป็นหน้าที่ของชาวเมืองปากเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน แต่ในปัจจุบันชาวเมืองปากเซบั้งไฟ แห่งแขวงคำม่วน ได้สูญเสียสิทธิในการทำนุบำรุงดูแลรักษาพระธาตุพนมมาเกือบร้อยปีแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญๆ ในดินแดนล้านช้างโบราณล้วนมีต้นเค้ามาจากนิทานที่เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุพนม นิทานที่เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุพนมนั้นมีชื่อเรียกว่า “อุรังคนิทาน” หรือ นิทาน “อุรังคธาตุ”

@@@@@@@

ประวัติพระธาตุพนม ในทางโบราณคดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6-18)

ในนิทาน “อุรังคธาตุ” ได้กล่าวว่า พระมหากัสสปะแห่งประเทศอินเดียได้นำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า (บริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน ผู้แปล) ซึ่งในขณะนั้นพระมหากัสสปะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย เพื่อมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ท่านได้พาคณะเดินทางมาถึงอาณาจักรแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณที่เป็นแขวงคำม่วน-แขวงสุวรรณเขต แห่งพระราชอาณาจักรลาว และบริเวณที่เป็นแขวงนครพนม-แขวงสกลนคร แห่งพระราชอาณาจักรไทย ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้น เดิมเรียกว่า อาณาจักรศรีโคตบูรณ์หรืออาณาจักรสีโคตบอง ตามสำนวนลาว

อาณาจักรสีโคตบองนี้อาจจะมีอายุอยู่ในสมัยเดียวกันกับอาณาจักรฟูนัน แห่งประเทศเขมร เพราะคำว่าฟูนันในสำเนียงภาษาจีน เรียกว่าพนมในภาษาเขมรโบราณ ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งภูเขาและในบริเวณแขวงคำม่วนมีโบราณสถานสมัยก่อนเขมรโบราณอยู่หลายแห่ง ชื่อเมืองท่าแขกก็ดี ชื่อเมืองนครพนมก็ดี ล้วนแต่เป็นชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศอินเดียและอาณาจักรฟูนันทั้งนั้น

ในเมื่ออาณาจักรฟูนั้นมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 ถึง 12 อาณาจักรสีโคตบองก็คงจะมีอายุอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นด้วย ทั้งนี้ได้มีการค้นพบศิลปะรูปเคารพ โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 12 อยู่หลายองค์ในบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้พบพระพุทธรูปสกุลช่างศิลปะสมัยสีโคตบองที่ท่าลาด และที่บริเวณปากแม่น้ำเหือง ซึ่งอยู่ภายในพระราชอาณาจักรลาว

ดังนั้น จึงพอที่จะกล่าวได้ว่า เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งพระมหากัสสปะเถระชาวอินเดีย (ไม่ใช่พระมหากัสสปะครั้งสมัยพุทธกาล) ได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในอาณาจักรสีโคตบองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6-7 ท่านได้นำพระพุทธสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วย และได้ชักชวนเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ให้ร่วมกันก่อสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระพุทธเจ้าไว้บริเวณที่ดังกล่าว โดยสร้างเป็นพระเจดีย์สูงเพียงชั้นเดียวก่อนเท่านั้น

@@@@@@@

ในนิทานอุรังคธาตุได้กล่าวไว้ว่า มีพระยาจากเมืองทั้ง 5 ได้พาไพร่พลมาร่วมกันก่อสร้างพระธาตุพนม เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่เป็นกระดูกหน้าอก (กระดูกหน้าอกในที่นี้ คือส่วนที่เรียกว่า “อุรังคธาตุ” ผู้แปล) ของพระพุทธเจ้าพระยาทั้ง 5 นั้น คือ

1. พระยานันทะเสน เจ้าผู้ครองเมืองสีโคตบอง (อยู่ห่างจากปากเซบั้งไฟไปประมาณ 15 กิโลเมตร)

2. พระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าผู้ครองเมืองหนองหานหลวง (สกลนคร)

3. พระยาคำแดง เจ้าผู้ครองเมืองหนองหานน้อย (กุมภวาปี) (ปัจจุบันกุมภวาปีเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี ผู้แปล)

4. พระยาอินทปัฐ เจ้าผู้ครองเมืองอินทปัฐถะ (กัมพูชา)

5. พระยาจุลณีพรหมทัต เจ้าผู้ครองเมืองปะกัน (เมืองเชียงขวาง หรือสิบสองจุไท)

ครั้นถึงรัชกาลของ พระเจ้าสุมินทะราชราชาธิราช แห่งอาณาจักรสีโคตบอง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11) พระองค์ได้รับคำแนะนำจากพระเถระที่เดินทางมาจากอินเดีย และพระเถระในประเทศของพระองค์เอง พระองค์จึงได้สร้างต่อเติมพระธาตุพนมขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

@@@@@@@

เทคนิคในการก่อสร้างได้ถ่ายแบบมาจากศิลปกรรมอันธะระยุคหลังของอินเดียใต้ คือใช้แผ่นอิฐดินเผาขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันไม่ได้เรียงให้เหลื่อมเข้าหากันอย่างที่ทำในสมัยล้านช้าง ประสานหรือเชื่อมต่อด้วยน้ำยาแบบโบราณ ซึ่งทำจากน้ำอ้อย ยางไม้ หนังสัตว์ และดินเหนียว เมื่ออิฐประสานติดกันดีแล้วจึงฝนให้เกลี้ยงเกลาและเรียบเสมอกัน

จากนั้นจึงให้ช่างแกะสลักลวดลายต่างๆ แกะสลักเป็นรูปคนรูปสัตว์ลงไป เช่น รูปควาย หมู ช้าง ละมั่งและกวาง ทั้งสองด้านของมุมพระธาตุมีภาพคนขี่ช้างและม้าสลับกันไป ทั้งด้านบนและด้านล่างกล่าวกันว่า เป็นภาพขบวนแห่พระยาสีโคตบอง ลวดลายทางด้านหลังของรูปคนนั้นสลักเป็นลายก้านขด ลายก้อนเมฆ ส่วนลายบนขอบประตูนั้นเลือนหายไป บนขอบประตูทางด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปการเสด็จออกทรงผนวชของพระพุทธองค์ มีสิงห์ประดับอยู่สองข้างมีรูปพระพุทธเจ้าประทานบาตรแก่พระยาสีโคตบอง (น่าจะเป็นรูปพระพุทธเจ้ากำลังรับบาตรจากพระยาสีโคตบอง ผู้แปล) มีรูปเทวดาอยู่ภายในวงกลมประกอบอยู่ทั้งสองข้าง และยังมีรูปสิงห์อยู่ที่ภายนอกอีก ภาพประติมากรรมเหล่านี้ล้วนแต่มีความหมายเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งคงจะเป็นของเดิมที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าสุมินทะราช

แต่ถ้าหากมาพิจารณาดูที่ขอบประตูทางด้านเหนือ จะเห็นรูปพระวิษณุทรงครุฑแวดล้อมด้วยหมู่เทวดา ซึ่งเป็นภาพประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู เข้าใจว่าน่าจะทำขึ้นในภายหลังในสมัยที่เขมรโบราณเข้ามามีอำนาจครอบครองพระราชอาณาจักรลาวระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 ถึง 18 พวกเขมรโบราณได้ดัดแปลงปูชนียสถานแห่งนี้ให้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู

@@@@@@@

ประวัติพระธาตุพนม ในทางประวัติศาสตร์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-24)

เมื่อชนชาติลาวมีอำนาจเข้าครอบครองดินแดนส่วนนี้แล้ว ในสมัยต้นๆ ยังไม่ปรากฏว่าพระธาตุพนมองค์นี้จะมีความสำคัญแต่อย่างไร จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เจ้าผู้ครองอาณาจักรกระบองได้เอาใจใส่ทำนุบำรุงองค์พระธาตุพนม

หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่า เจ้าเมืองกระบองมาทำการซ่อมปรับปรุงองค์พระธาตุพนมแห่งนี้ก็คือ ศิลาจารึกที่พบในบริเวณที่แห่งนั้น ระบุว่าเจ้าเมืองกระบองมาทำการซ่อมแซมปรับปรุงพระธาตุในปี พ.ศ. 1976 ในสมัยนั้นพระธาตุพนมยังไม่ปรากฏชื่อลือชานัก พระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านช้างจึงไม่ได้ให้ความสนใจ

จนกระทั่งถึงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าโพธิสารราช (ราว พ.ศ. 2063-2090 ผู้แปล) หลังจากที่พระองค์ทรงประกาศให้ยกเลิกการบูชาผีฟ้าผีแถน และประกาศรับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำราชสำนักแทน พระองค์จึงหันมาดำเนินการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่

เจ้าหญิงเขมรซึ่งเป็นพระชายาของพระองค์ได้นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุพนมขึ้นทูลถวาย พระองค์จึงได้เสด็จลงไปเมืองกระบอง (เมืองท่าแขกเก่า) (ปัจจุบันคือบริเวณแขวงคำม่วน อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับจังหวัดนครพนม ผู้แปล) มีพระราชบัญชาให้พระยากระบองเป็นหัวหน้าคณะซ่อมแซมตกแต่งพระธาตุพนมขึ้น ส่วนพระองค์เองได้ทรงสละทรัพย์เพื่อสร้างวิหารหลังหนึ่ง ซึ่งมีหลังคาประดับด้วยแก้วทั้งมวล และได้แต่งตั้งข้าใช้ของพระองค์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นน้องชายของข้าสะเองให้ดำรงตำแหน่งพันเฮือนหิน (พันเรือนหิน ผู้แปล) มีหน้าที่คอยบำรุงรักษาดูแลและจัดดอกไม้ธูปเทียนบูชาองค์พระธาตุพนมเป็นประจำ พร้อมด้วยบริวารอีก 3,000 คน และได้ทรงสร้างวิหารอีกหลังหนึ่งทางด้านทิศเหนือให้ชื่อว่า “วัดสอนสั่ง”

@@@@@@@

ตั้งแต่นั้นมาพระธาตุพนมก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ให้ปรากฏว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ควรแก่การเคารพสักการบูชาของประชาชนโดยทั่วไป

จนกระทั่งถึงรัชกาลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชที่ 1 (ราวพ.ศ. 2093-2115) ภายหลังจากที่ได้สถาปนาเวียงจันท์ขึ้นเป็นเมืองหลวงและได้สร้างพระธาตุหลวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้เสด็จลงไปนมัสการพระธาตุต่างๆ ที่เมืองกระบอง และพระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระธาตุพนมด้วย กับได้มีพระบัญชาให้เสริมสร้างต่อเติมพระธาตุพนมให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับเป็นชั้นที่ 3 แล้วพระราชทานอาณาเขตที่ดินพร้อมทั้งหมู่บ้านถวายแด่องค์พระธาตุพนมอีกด้วย

ภายหลังจากที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชที่ 1 เสด็จสวรรคตแล้ว พระธาตุพนมก็ได้รับการอุปถัมภ์ทำนุบำรุงจากเจ้าผู้ครองนครกระบองทุกๆ พระองค์ ข้อความในศิลาจารึกหลักหนึ่งได้กล่าวว่า ได้มีการซ่อมแซมต่อพระธาตุให้สูงขึ้นไปอีก เมื่อ พ.ศ. 2157 (จุลศักราช 976) ซึ่งตรงกับรัชกาลของพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช ซึ่งในขณะนั้นเจ้าผู้ครองนครกระบองมีนามว่าพระบัณฑิตโพธิสาร หรือ เจ้ามหานาม ซึ่งในตำนานพระธาตุโพ่นเรียกว่า พระยาแสนนคร แต่ในตำนานพระธาตุพนมเรียกว่า พระเจ้านครหลวงพิชิตธิสาราชธานีสีโคตบูรณ์หลวง เจ้านครองค์นี้ได้เปลี่ยนชื่อเมืองท่าแขก ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “มรุกขนคร” กลับคืนเป็นชื่อเมือง “สีโคตบอง” หรือ “สีโคตบูรณ์” ดังแต่เก่า พระองค์ได้เสด็จไปซ่อมแซมพระธาตุพนม โดยก่อกำแพงล้อมรอบ ทำประตูโขลงชั้นกลางและหอไหว้พระทั้ง 4 ด้าน ตามที่ปรากฏข้อความในศิลาจารึกว่า

@@@@@@@

“ศักราชได้ 976 ปีกาบยี่ มื้อฮวง ได้ฤกษ์ 3 ตัว” ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระวรวงศาธรรมิกราชเจ้าล้านช้าง

ในระหว่างรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ราว พ.ศ. 2176-2233) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีความสงบสุข ตลอดระยะเวลา 57 ปี นั้นบ้านเมืองมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง พระธาตุพนมก็ได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาเป็นอย่างดีดังแต่เก่า โดยมีเจ้าผู้ครองนครสีโคตบองได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาต่างพระเนตรพระกรรณ

หลังจากสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแล้ว บ้านเมืองก็เกิดความวุ่นวาย มีการแย่งชิงราชสมบัติกัน จนเป็นเหตุให้อาณาจักรล้านช้างที่แสนจะกว้างใหญ่ต้องแตกแยกกัน ในระหว่างนั้น ท่านพระครูยอดแก้วโพนเสม็ก (ยาคูขี้หอม)-(ท่านพระครูยอดแก้วโพนเสม็ก เป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระเถระพระองค์นี้นอกจากจะมีบุญญานุภาพเป็นที่น่าอัศจรรย์ในทางพุทธศาสนาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงประเทศชาติบ้านเมืองลาวอีกด้วย ผู้แปล) ได้พาญาติโยมอพยพออกจากเวียงจันท์เพื่อแสวงหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่พระธาตุพนมนี้เป็นเวลา 3 ปี ท่านได้พาญาติโยมทายกทายิกาทำนุบำรุปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมด้วย

อยู่ต่อมาไม่นานท่านก็คิดว่าที่อยู่อาศัยแห่งนี้ไม่มีความปลอดภัย จึงได้พากันอพยพล่องลงไปอาศัยอยู่ที่เมืองพนมเปญประเทศเขมร ดังที่มีปรากฏเรื่องราวในพงศาวดารเมืองนครจำปาศักดิ์

@@@@@@@

ในปี พ.ศ. 2351 สมเด็จพระเจ้าอนุไชยเชษฐาธิราช ได้เสด็จลงไปบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างต่อเติมพระธาตุพนม พร้อมทั้งยังได้จัดงานบุญเฉลิมฉลอง และได้อุทิศข้าทาสให้ทำหน้าที่บำรุงรักษาดูแลองค์พระธาตุพนม ให้เป็นไปตามประเพณีที่พระมหากษัตริย์เคยปฏิบัติกันมาแต่ก่อน พระธาตุพนมในสมัยนั้นจึงมีความสูงรวม 43 เมตร

พอถึงสมัยที่ดินแดนฟากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง (ฝั่งประเทศไทยปัจจุบัน ผู้แปล) ตกเป็นสิทธิของพระราชอาณาจักรไทยเมื่อปี พ.ศ. 2436 ตามสัญญาฝรั่งเศสกับสยาม พระธาตุพนมก็ตกเป็นสมบัติของไทยโดยสมบูรณ์

ทางราชการไทยได้ลงมือดัดแปลงพระธาตุพนมใหม่ในปี พ.ศ. 2482

ไทยนั้นรังเกียจฝีมือช่างลาว โดยเฉพาะฝีมือช่างของสมเด็จพระเจ้าอนุฯ จึงได้รื้อยอดพระธาตุพนมออกทั้งหมด และสร้างขึ้นใหม่อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ยอดพระธาตุพนมจึงสูงกว่าเดิม 14 เมตร ดังนั้น ความสูงของพระธาตุพนมทั้งหมดจึงรวมได้ 57 เมตร

@@@@@@@

ลักษณะพระธาตุพนม

พระธาตุพนมมีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ เชื่อมต่อด้วยน้ำยา มี 3 ชั้น ตกแต่งด้วยลวดลาย วัดโดยรอบได้ 74 เมตร สูง 57 เมตร มีลักษณะเป็นเจดีย์กึ่งวิหาร

ยอดพระธาตุเดิมเป็นแบบดวงปลี (ปลียอดเจดีย์ ผู้แปล) ตามแบบของศิลปะลาวแท้

ต่อมาช่างไทยได้ทำขึ้นใหม่ รูปร่างจึงเปลี่ยนไปเล็กน้อย และทำลวดลายเป็นลายเครือดอกไม้ก้านแย่ง

อ่านเพิ่มเติม :-

    • “พระธาตุพนม” เจดีย์บัวเหลี่ยมลาวล้านช้าง ปรากฏร่องรอย “ศิลปะจาม”
    • พระธาตุพนม “พัง” เพราะศิลปะแบบชาตินิยมไทย (?)
    • 47 ปี “พระธาตุพนม” ล้ม สู่การรอเป็นมรดกโลก

หมายเหตุ : บทความเรื่อง “ประวัติพระธาตุพนม” ที่ สมชาติ มณีโชติ นำมาแปลเป็นภาษาไทยนี้ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาลาว ตีพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือชื่อ “ประวัติพระธาตุเจดีย์-สำคัญ และพระครูยอดแก้วโพนเสม็ก” ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2517 โดยกระทรวงธรรมการแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2534
ผู้เขียน   : ท่านคำ จำปาแก้วมณี-เขียน, สมชาติ มณีโชติ-แปล
เผยแพร่ : วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 20 ตุลาคม 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_95029
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ