ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘สิงหคชะ’ ราวบันไดหอธัมม์หลวง วัดพระธาตุหริภุญชัย ถอดพิมพ์ศิลปะลังกา  (อ่าน 957 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28906
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



‘สิงหคชะ’ ราวบันไดหอธัมม์หลวง วัดพระธาตุหริภุญชัย ถอดพิมพ์ศิลปะลังกา หลักฐานนิกายป่าแดง



หอธัมม์ดูคล้ายของใหม่แท้จริงซ่อมบูรณะตลอด

มีผู้ไถ่ถามดิฉันกันมากว่า “หอธัมม์หลวง” หรือ “หอพระไตรปิฎก” ในวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูนนั้น มีความเก่าแก่ถึงยุคล้านนาจริงหรือ ตามที่ระบุว่ามีศิลาจารึกแท่งหนึ่งเลขทะเบียน ลพ.15 ชื่อ “จารึกหริปุญชปุรี” รองรับเนื้อหา แต่ทำไมดูใหม่จัง.?

ยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะแทบทุกหลังในวัดพระธาตุหริภุญชัยระหว่างปี พ.ศ.2463-2479 นั้น หอธัมม์หลวงมีการเปลี่ยนรูปแบบไปมากน้อยเพียงใดกันเล่า ยิ่งสิ่งก่อสร้างที่ใช้วัสดุหลักเป็นไม้ องค์ประกอบของช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อันบอบบาง จักสามารถยืนยงได้นานถึง 5-600 ปีไหวไหม

ครั้นเมื่อดิฉันทำการพินิจพิเคราะห์ทั้งโครงสร้างหลักและองค์ประกอบย่อยของหอธัมม์หลังนี้อย่างละเอียด ก็พบคำตอบว่ายังหลงเหลือความเก่าถึงยุคล้านนาอยู่จริงหลายจุด อาทิ



หอพระไตรปิฎก (หอธัมม์หลวง) วัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุ มีความวิจิตรประณีต ทั้งโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ และการจัดวางองค์ประกอบย่อยในทุกส่วน ถึงแม้ว่าจะได้รับการบูรณะให้ดูใหม่ตลอดเวลา

ส่วนแรกสุด โครงสร้างอาคารแบบ “สิขระ” คือทำอาคารซ้อนสูงสองชั้นบนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางบนฐานสูงเช่นนี้ เป็นรูปแบบล้านนาดั้งเดิมที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่งแล้ว (อีกแห่งคือที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่) ต่างไปจากผังหอธัมม์มาตรฐานยุคหลังอายุ 200 ปีฝีมือช่างชาวยอง ที่นิยมเปิดใต้ถุนชั้นล่าง ตอนบนทำระเบียงเดินรอบ

ประการที่สอง การทำซุ้มหน้าต่างของอาคารชั้นล่างหยักเป็นวงโค้งถี่ๆ ด้านละหลายวง ชัดเจนว่าคลี่คลายมาจากซุ้มจระนำสุวัณณเจดีย์ (เจดีย์ปทุมวดี) ศิลปกรรมสมัยหริภุญไชย ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดเดียวกัน



เปรียบเทียบการทำซุ้มหน้านางที่มีวงโค้งหยักหลายวงของอาคารหอธัมม์หลวงชั้นล่าง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากซุ้มจระนำปูนปั้นของพระยืน 60 องค์ประดับ “สุวัณณเจดีย์” สมัยหริภุญไชยตอนปลาย ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดเดียวกัน

ประการที่สาม ทรวดทรงองค์เอวของอาคารดูอ่อนช้อย หลังคาลดชั้นวิจิตรประณีต แตกต่างไปจากเสนาสนะในชั้นหลังสมัยฟื้นฟูล้านนาที่นิยมทำทรงโรงแบบทื่อๆ ไม่ยักย้ายถ่ายเทย่อมุมย่อเก็จอะไรมากนัก

ประการที่สี่ การใช้ “บราลี” ยอดแหลมปักเรียงรายบนสันหลังคาสองข้าง “ปราสาทเฟื้อง” ก็สะท้อนถึงความเชื่อมต่อของการรับอิทธิพลขอมที่ตกค้างในวัฒนธรรมหริภุญไชยบนแผ่นดินล้านนา

ประการที่ห้า การทำรูป “หน้ากาล” (มีหลายชื่อ บ้างเรียกราหู บ้างเรียกเกียรติมุข) ผู้พิทักษ์ศาสนสถานเหนือกรอบซุ้มประตูทางเข้าห้องเก็บคัมภีร์ และสัตว์หิมพานต์ในช่องกระจก (ช่องลูกฟัก) ประดับรอบตัวอาคาร แม้วัสดุจะเปลี่ยนใหม่ แต่เค้าโครงการวางจังหวะของสัตว์ในจินตนาการเหล่านี้ มีลีลาท่าทางที่ดูเก่ากว่าลวดลายที่พบในกลุ่มหอธัมม์ชาวยองยุค 200 ปี มากทีเดียว

ข้อสำคัญ สิ่งสะดุดตาดิฉันมากที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกิน “ราวบันไดมกรคายนาค” ทั้งด้านหน้า (ทิศตะวันตก เพราะหอธัมม์หันหน้าไปสักการะองค์พระธาตุ) และด้านหลัง (ทิศตะวันออก) ของหอธัมม์สีแดงชาด ด้วยเป็น “มกรคายนาค” รุ่นเก่าแบบล้านนา หาใช่นาครุ่นหลังที่หนักไปทางอิทธิพลจีนแบบที่เรียกว่าตัว “ปัญจรูป”

เหนือสิ่งอื่นใด ข้างตัวมกรนั้นเล่า ยังมีรูป “สิงห์” ปูนปั้นนูนสูงข้างละ 1 ตัว (มีเฉพาะพนักบันไดคู่หน้า ทิศตะวันตก) ดูอย่างไรก็ชวนให้นึกถึงแต่ “สิงห์” ของศิลปะลังกา ด้วยแตกต่างไปจากสิงห์มอมแบบจีน

บทความชิ้นนี้ จะชี้ให้เห็นถึงคติการทำรูปสิงห์ที่พนักบันไดมกรคายนาคสู่ทางขึ้นศาสนสถาน ว่าหอธัมม์หลวงของวัดพระธาตุหริภุญชัยแห่งนี้ รับรูปแบบมาจากศิลปะในประเทศลังกาอย่างชัดเจน อันช่วยตอกย้ำถึงอิทธิพลของนิกายป่าแดงในพระอารามหลวงอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น



“สิงหคชะ” นูนสูงประดับพนักบันไดมกรคายนาคของหอธัมม์หลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย


“สิงหคชะ” อีกตัวหนึ่งประดับราวบันไดมกรคายนาคด้านทิศตะวันตก ทางขึ้นหลักของหอธัมม์ ภาพนี้ถ่ายจากด้านทิศใต้

ลังกา : มกรคายลิ้นตัวเองม้วนเป็นราวบันได
ขอม : มกรคายนาค ส่งอิทธิพลทั่วอุษาคเนย์


ก่อนที่จะโฟกัสถึงตัว “สิงห์” นูนสูงที่ทำท่าคล้ายว่ากำลัง “สะกิด” ตัว “มกรคายนาค” นั้น ขออธิบายถึงความแตกต่างหรือพัฒนาการของ “มกร” ในศิลปกรรมสกุลช่างต่างๆ พอเป็นสังเขปดังนี้

ในอินเดียสร้าง “มกร” ขึ้นครั้งแรกใช้ประดับงานศิลปกรรม กำหนดให้เป็นสัตว์ผสมระหว่างจระเข้เหรา + ช้าง +ปลา คือเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

พอเข้ามาสู่ลังกา พบว่านิยมทำ “มกร” แลบลิ้นของตัวเองม้วนเป็นวงกลม โดยราวบันไดไม่ใช่เกล็ดตัวมกรแต่อย่างใด ทว่า เป็นลิ้นที่มกรม้วนไว้ ในดินแดนล้านนาพบมกรลักษณะเช่นนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือ ที่โบราณสถานอีก้าง เวียงกุมกาม อ.สารภี จ.เชียงใหม่

ในวัฒนธรรมชวา-ศรีวิชัยนิยมทำ “มกรคายพวงอุบะ” ส่วนการทำ “มกรคายนาค” แบบเป็นกิจจะลักษณะก็คือ “วัฒนธรรมขอม/เขมร” พบตามปลายกรอบหน้าบันและทับหลัง ลักษณะเช่นนี้ส่งอิทธิพลเข้ามายังดินแดนในประเทศไทย กลุ่มที่เรียกกันว่าศิลปะลพบุรี สืบทอดขึ้นมายังหริภุญไชยตอนปลาย สุโขทัย ล้านนา

ดังนั้น เห็นได้ว่า การทำราวบันไดนาคทางขึ้นสู่หอธัมม์หลวงของวัดพระธาตุหริภุญชัย ใช้รูปแบบ “มกรคายนาค” (อิทธิพลขอมที่ส่งขึ้นมาให้นครหริภุญไชย ตกค้างมาสู่ล้านนา) อันนี้เป็นเรื่องของ “บันไดนาค”



“สิงหคชะ” ประดับทางขึ้นวิหารวฏะทาเค กรุงโปลนนารุวะ ประเทศลังกา ต้นแบบการทำรูปสิงห์จัดวางเคียงข้างตัวมกรคายนาคของหอธัมม์หลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของล้านนากับลังกาวงศ์นิกายป่าแดงอย่างเข้มข้นยุคพระเจ้าติโลกราช

“สิงห์+คชะ” สัตว์ในจินตนาการเฝ้าปีกราวบันได

ส่วนเรื่องของสิงห์ที่มีขนหัวฟูตาพอง มีแผงคอ อ้าปากคำราม ตัวที่อยู่ด้านทิศเหนือทำท่าคล้ายสะกิดสะเกาตัวมกรคายนาคอยู่นั้น ดิฉันยังไม่เคยพบที่วัดอื่นใดอีกเลยในวัฒนธรรมล้านนา อันเป็นรูปแบบที่รับคติสืบทอดมาจากศิลปะลังกายุคโปลนนารุวะ (เป็นราชวงศ์ที่ตอนปลายๆ ร่วมสมัยกับอาณาจักรล้านนา)

ทางขึ้นสู่ศาสนสถานในลังกายุคนั้นนิยมทำ “ชุดหรือกลุ่มของสัญลักษณ์” ก่อนที่จะเปิดทางให้สาธุชนขึ้นไปเดินประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ด้านบน ท่านต้องผ่าน “แผ่นหิน-Stone” 3 กลุ่มดังนี้

1. แผ่นอัฒจันทร์ Moon Stone เป็นแผ่นหินครึ่งวงกลม สลักรูปดอกบัวบาน (สัญลักษณ์ปางประสูติ) กับแถวรูปสัตว์ทั้งสี่ ช้าง ม้า วัว สิงโต เดินวนกันไป บางครั้งอาจมีตัวหงส์แถวนอกด้วย อัฒจันทร์ถือเป็นปริศนาธรรมจุดแรกที่เราต้องถอดรหัส การเอาสัตว์ดุร้ายทั้งสี่มารวมอยู่ด้วยกันได้เป็นแนวคิดที่รับมาจากหัวเสาพระเจ้าอโศกมหาราช บางท่านว่าหมายถึงความไม่พยาบาทต่อกัน บ้างว่าเอาสัตว์พาหนะของเทพฮินดูมาหลอมรวม

2. แผ่นหินแนวตั้งสองข้างอัฒจันทร์ ทำหน้าที่เป็น Guardstones สลักเป็นรูป “มนุษยนาค” กายเป็นคนมีนาคแผ่นพังพานเหนือเศียร ยืนถือหม้อ “ปูรณฆฏะ” หรือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์

3. ราวบันได รูปมกรคายลิ้นตัวเองและมีสิงห์อยู่หนึ่งตัว ตั้งท่าหยั่งเชิงระแวดระวังซึ่งกันและกันกับตัวมกรที่ทอดยาว สัตว์ในจินตนาการกลุ่มนี้ ภาษาสิงหลเรียกว่า Korawakgala “โกราวัคกาละ” มีความหมายว่า “Wingstones” คือปีกหรือพนักสองข้างของราวบันได อันเป็นด่านสุดท้าย ท่านก็สามารถเข้าถึง “โตรณะ” หรือซุ้มประตูสู่ลานประทักษิณ



ชุดของเครื่องหิน 3 กลุ่มที่ลังกานิยมทำก่อนสาธุชนจักขึ้นสู่ศาสนสถาน ซ้ายสุด (เห็นไม่ชัด) แผ่นหินครึ่งวงกลมอัฒจันทร์ Moonstone ถัดมาแผ่นหินแนวตั้งสลักรูปมนุษยนาคถือหม้อน้ำ (ในที่นี้เราไม่สามารถเห็นรูปแกะสลัก) เรียก Guardstones ส่วนสุดท้ายคือพนักบันได/ปีกบันได หรือ Wingstones 2 ข้าง ภาษาสิงหลเรียก “โกราวัคกาละ” ประกอบด้วยรูป “สิงหคชะ” คือ สิงห์ + มกร (คชา) ในที่นี้คายลิ้นตัวเองที่ม้วนเป็นราวบันได

การจัดวางรูป “สิงห์” กับ “มกร” (ความที่มกรเป็นสัตว์ผสมระหว่างช้างกับจระเข้ ทำให้มกรมีอีกชื่อหนึ่งว่า “คชะ/Gaja”) นักโบราณคดีลังกาเรียกการนำสัตว์ของตัวนี้มาไว้ด้วยกันว่า “สิงห์คชา/สิงหคชะ” หรืออาจจะเรียกสลับเป็น คชสิงห์/ คชสีห์ ก็ย่อมได้

สิงห์เป็นตัวแทนของความแข็งแกร่ง อำนาจ และความกล้าหาญ อีกทั้งราชวงศ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสืบสาย “ศากยวงศ์” ซึ่งมีสิงโตเป็นตราประจำตระกูล ในบริบทนี้ สิงห์เป็นสัญลักษณ์ของการสถิตอยู่และการปกป้องศาสนสถาน

ในขณะที่ช้าง (มกร/คชะ) เป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญา ความเจริญรุ่งเรือง อันเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศ เทพฮินดูที่มีเศียรช้างซึ่งได้รับการบูชาในฐานะผู้ขจัดอุปสรรค การนำ “สิงห์” กับ “ช้าง” มาวางคู่กันแบบหยั่งเชิง บ่งบอกถึงการผนึกกำลังกันระหว่างความแข็งแกร่ง สง่างาม กับภูมิปัญญา ความเฉลียวฉลาด ทั้งหมดนี้กลายเป็นพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ผ่านทางย่อมได้รับพร

อาจกล่าวได้ว่า ลักษณะการทำรูปสิงห์นูนสูงติดผนังพนักราวบันไดเคียงข้างตัว “มกร” (ซึ่งจะคายอะไรก็แล้วแต่) บนแผ่นดินล้านนาแทบไม่พบที่อื่นอีกเลย ในอดีตอาจจะเคยมีอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันถูกรื้อหรือเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว จึงเหลือที่นี่เพียงแห่งเดียว

สิงห์ กับ คชะ ในชั้นหลัง เราจะพบในลักษณะ “แยกส่วนออกจากกัน” ไม่ได้เอามาวางรวมในลักษณะกลุ่มของ Wingstones หรือโกราวัคกาละอีกต่อไป เช่นที่วัดพระธาตุลำปางหลวง มีบันไดนาค (มกรคายนาค) 1 คู่ และจัดทำสิงห์ยืนแท่นแยกออกมาด้านหน้าอีก 1 คู่ ต่างหาก






ดังนั้น การพบรูป “สิงหคชะ” ที่ปีกราวบันไดนาคชิ้นนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ที่แม้กาลเวลาจักผันผ่านไปนานเพียงไรก็ตาม หอธัมม์จักได้รับการบูรณะนับครั้งไม่ถ้วนก็ตามที ทว่า สัญลักษณ์แห่ง “สิงหคชะ” ที่ประพิมพ์ประพายกับศิลปะลังกายุครุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา จนพระภิกษุล้านนานิกายป่าแดงดั้นด้นไปสืบสายมาสู่แผ่นดินล้านนา และคงได้ซึมซับรูปแบบพุทธศิลป์หลายสิ่งติดตัวกลับมาด้วย ยังคงประทับอยู่ ณ จุดเดิม

ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานตำนาน “พระธาตุเจ้าหริภุญชัย” ที่ระบุว่า ผู้สร้างหอพระไตรปิฎกหลังทิศใต้ (ในอดีตวัดแห่งนี้มีหอธัมม์สองหลัง อีกหลังอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระเจดีย์) คือ “แม่ท้าวหอมุข” พระสนมเอกของพระเจ้าติโลกราช เสี้ยง (หมด) เงินไป 2,200,000 นา

ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าติโลกราชแล้วไซร้ ยิ่งชวนให้น่าเชื่อถือได้ว่า เสนาสนะที่สร้างในสมัยของพระองค์ล้วนอยู่ภายใต้คณะสงฆ์นิกายป่าแดง นิกายที่ประกาศตนว่าได้เดินทางไปสืบศาสนาสายตรงจากทวีปลังกา มิใช่เลียบๆ เคียงๆ รับศาสนามาจากรามัญเยี่ยงนิกายสวนดอก

ทิ้งท้ายประเด็นที่ชวนให้ขบคิดกันต่อก็คือ ครั้งหนึ่งในวัดพระธาตุหริภุญชัยเคยมีหอธัมม์หลวงที่สร้างในสมัยล้านนาถึงสองหลัง หลังหนึ่งอยู่ทิศใต้ (คงหมายถึงหอธัมม์ที่มี “สิงหคชะ” หลังนี้) กับอีกหลังตำนานระบุว่าอยู่ด้านทิศเหนือ (น่าจะเคยอยู่ใกล้หอกังสดาล และถูกรื้อไปแล้ว?)

คำถาม คือ จารึกหริปุญชปุรี ลพ.15 ที่กล่าวว่าพระนางโป่งน้อยและพระเมืองแก้วสองแม่ลูกร่วมกันสร้างหอธัมม์ในปี 2045 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือนั้น ตกลงหอธัมม์หลังดังกล่าวถูกรื้อไปแล้วใช่ไหม ถ้าเช่นนั้นหอธัมม์ที่เราเห็นด้านทิศใต้ (ที่มีรูป “สิงหคชะ) ย่อมเป็นผลงานการสร้างของแม่ท้าวหอมุข หรือเช่นไร.?







ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤศจิกายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/cook/article_725624
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ