.
ขอบคุณภาพจาก https://www.moogampaeng.com/167ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์ ว่าด้วยการปิดป้องทิศ ๖
[๒๖๖] อริยสาวกเป็นผู้ปิดป้องทิศ ๖ เป็นอย่างไร
คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ ๖ นี้ คือ
พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
@@@@@@@
[๒๖๗] คหบดีบุตร บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยา(สามี) ที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร
คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหน้านั้นเป็นอันชื่อว่า กุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๖๘] คหบดีบุตร ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ลุกขึ้นยืนรับ
๒. เข้าไปคอยรับใช้
๓. เชื่อฟัง
๔. ดูแลปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. แนะนำให้เป็นคนดี
๒. ให้เรียนดี
๓. บอกความรู้ในศิลปวิทยาทุกอย่างด้วยดี
๔. ยกย่องให้ปรากฏในมิตรสหาย
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย
คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องขวานั้นเป็นอันชื่อว่า ศิษย์ได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
@@@@@@@
[๒๖๙] คหบดีบุตร สามีพึงบำรุงภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ให้เกียรติยกย่อง
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ให้เครื่องแต่งตัว
ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานดี
๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง
คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหลังนั้นเป็นอันชื่อว่า สามีได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๐] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. การให้ (การแบ่งปันสิ่งของให้)
๒. กล่าววาจาเป็นที่รัก
๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์
๔. วางตนสม่ำเสมอ
๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน
มิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร
คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้นเป็นอันชื่อว่า กุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
ขอบคุณภาพจาก https://www.pangpond.com/ทิศ-6 [๒๗๑] คหบดีบุตร นายพึงบำรุงทาสกรรมกร ผู้เป็นทิศเบื้องต่ำโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ให้อาหารและค่าจ้าง
๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย
๔. ให้อาหารมีรสแปลก
๕. ให้หยุดงานตามโอกาส
ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ตื่นขึ้นทำงานก่อนนาย
๒. เลิกงานเข้านอนทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ
คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้นเป็นอันชื่อว่า นายได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๒] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔. เปิดประตูต้อนรับ
๕. ถวายปัจจัยเครื่องยังชีพ
สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๖ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ให้
คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยหน้าที่ ๖ ประการนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันชื่อว่า กุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้”
@@@@@@@
[๒๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถ(๑-) พึงไหว้ทิศเหล่านี้
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ(๒-) มีความประพฤติเจียมตน ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนขยัน ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน(๓-) มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนชอบสงเคราะห์ ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก(๔-) ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
ทาน(การให้), เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก), อัตถจริยา(การประพฤติประโยชน์)ในโลกนี้ และสมานัตตตา(การวางตนสม่ำเสมอ) ในธรรมนั้นๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แล ช่วยอุ้มชูโลก เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ ฉะนั้น
ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้ มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ”
[๒๗๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
สิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ :-
(๑-) ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้ (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
(๒-) มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
(๓-) ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
(๔-) รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตามนั้น (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
ขอขอบคุณ
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๒-๒๑๘}
ข้อธรรม : ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์ ว่าด้วยการปิดป้องทิศ ๖ , สิงคาลกสูตร ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ , พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
website :
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=11&siri=8