ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระภิกษุณีในศิลาจารึก โดย ฉัตรสุมาลย์  (อ่าน 4335 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระภิกษุณีในศิลาจารึก โดย ฉัตรสุมาลย์


เราทราบกันดีว่าในสมัยพุทธกาลนั้น  มีพระภิกษุณีอยู่เป็นจำนวนมาก  เท่าที่ปรากฏชื่อในพระไตรปิฎกอย่างน้อยก็มีถึง ๗๖ รูป  เป็นพระอรหันต์เถรีที่ได้รับการยกย่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มีความเป็นเลิศด้วยความสามารถต่างๆถึง ๑๓ รูป ดังปรากฏแม้ในมหาสันติงหลวงที่มาสวดกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อต้นปี นี้ (๒๕๕๐)

 แต่ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว เราไม่มีข้อมูลการบันทึกถึงพระภิกษุณีอีกเลย  จนกระทั่งแม่ชีรูปหนึ่ง เคยพูดกับผู้เขียนว่า  ภิกษุณีหมดไปตั้งแต่ครั้งนั้น

   ชาวไทย และพระภิกษุไทยก็มีข้อมูลหลังพุทธกาลอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหินท์เถระนำพระศาสนาไปประดิษฐานในลังกาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ นั้น พระนางอนุฬา น้องสะใภ้ของพระเจ้าติสสะผู้ครองลังกาในสมัยนั้น  ขอออกบวชหลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระมหินท์เถระจนได้บรรลุโสดาบัน  พระเจ้าติสสะจึงทรงส่งฑูตขึ้นไปขอพระภิกษุณีสงฆ์ให้มาให้การอุปสมบทแก่พระนา งอนุฬาและข้าราชบริพาร  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาของพระองค์ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระมหินทร์เถระนั่นเอง
 

   หลักฐาน ทางฝ่ายเถรวาทที่อ่านเฉพาะพระไตรปิฎกและอรรถกถาฝ่ายเถรวาทมีเพียงนี้  แม้ราชบัณฑิตก็เคยพลาดมาแล้วในการสรุปว่า พระนางสังฆมิตตาเป็นภิกษุณีรูปสุดท้ายของเถรวาท  ผู้เขียนได้เคยเสนอข้อมูลในคอลัมน์นี้มาแล้ว  ในการไปร่วมประชุมสภาชาว พุทธนานาชาติที่เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี(๑๘-๒๐ กค.๒๕๕๐)ครั้งนี้ ได้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมจากที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ ในหนังสือเล่มน้อยชื่อ “ภิกษุณียังมีอยู่หรือ”

 หลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมหายานหรือเถรวาท คือหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก จำนวนไม่น้อยที่ค้นพบในประเทศอินเดียและประเทศใกล้เคียง อาจารย์ปีเตอร์ สกีลลิ่ง ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิชาการไทย ได้เสนอการค้นคว้าของท่าน โดยเสนอเป็นภาพสไลด์ประกอบคำบรรยายที่ผู้เขียนขอย่อยมาฝากท่านผู้อ่าน แฟนมติชนสุดสัปดาห์ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงพระภิกษุณีปรากฏ ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ ๓) พบที่สารนาถ ระบุถึงพระภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ ขอให้คณะสงฆ์อย่านำมาซึ่งความแตกแยก

 ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่เมืองไพรัต ใกล้กัลกัตตา พูดถึงภิกษุ ภิกษุณี รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ขอให้ตั้งใจฟังธรรม  ตามหลักฐานที่ปรากฏนี้ พระเจ้าอโศกทรงให้ความสำคัญเสมอกันระหว่างภิกษุและภิกษุณี จารึกอีกแบบ หนึ่งซึ่งพบจำนวนไม่น้อยที่อ้างถึงและทำให้รู้ว่ายังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ คือจารึกที่ทำบุญอุทิศให้  บางครั้งภิกษุณีเป็นผู้ทำบุญเอง บางครั้งคนอื่นทำและอุทิศให้ภิกษุณีผู้เป็นอาจารย์ 


ที่ฐานพระสถูปสาญจี  (พุทธศตวรรษที่ ๔ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๖)อาจารย์เกรกอรี่ โชแปงคำนวณออกมาได้ว่า มีผู้ถวายที่เป็นภิกษุ ๑๒๙ รูป ภิกษุณี ๑๒๕ รูป อัตราส่วนสูสีทีเดียว ภารหุตสถูปอยู่บนเส้นทางการเดินทางของพ่อค้าที่ไป อินเดียตอนกลางถูกทำลายไปในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ชิ้นส่วนที่เป็นประตูและราวรั้วเป็นหิน ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์เมืองกัลกัตตา  มีชื่อของ “พระภิกษุณีนคิลาเป็นผู้ ถวายเสา” ได้มาจากเมือง โมระคีรี

“ภิกษุณีพธิกา ธิดาของมหามุขี ชาวเมืองทภินี เป็นผู้ถวาย” จารึกนี้ปรากฏอยู่บนชิ้นส่วนของศิลาที่ค้นพบ
 “ภิกษุณีโสมา จาก กกัมทิ” ชื่อเมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในวรรณคดี แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าที่ใดในแผนที่ปัจจุบัน
 สามรูปนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ บริเวณที่พบหลักฐานคือตอนกลางของอินเดีย


    ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีหลักฐานที่กล่าวถึงภิกษุณีพุทธมิตรา เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเพราะเรียกขานว่าเป็นปิฏกาจารย์  ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฏก มีรูปพระโพธิสัตว์ศิลา ๓ รูปที่ท่านสร้างขุดพบที่โกสัมพี เมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำคงคา รูปแกะสลักที่พบไม่สมบูรณ์ แต่ระบุช่วงเวลาว่าเป็นรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ นั่นคือประมาณ พ.ศ.๖๐๐ เป็นต้นมา

รูปพระโพธิสัตว์ยืนรูปนี้มีขนาดใหญ่ สูง ๑๑๒ ซม. ทั้งที่พระเศียรหักไป ที่ฐานมีจารึกชัดเจนว่า ภิกษุณีพุทธมิตราสร้างพระโพธิสัตว์นี้ เป็นปีที่ ๒ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะอนุมานได้ว่าภิกษุณีพุทธมิตราเป็นพระภิกษุณี ที่มีบทบาทสำคัญในคณะสงห์ที่เมืองโกสัมพี นอกจากนี้ ท่านยังเข้าร่วมในการสร้างพระพุทธรูปยืนสูง ๒.๗๐ เมตรที่สารนาถ ซึ่งเป็นงานของพระภิกษุพละ อาจารย์ในพระไตรปิฎกเช่นกัน ร่วมกับบิดามารดาของท่าน สานุศิษยฺและภิกษุณีพุทธมิตราผู้เป็นปิฏกาจารย์

 นักวิชาการเชื่อว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ดังกล่าวน่าจะทำที่เมืองมถุรา แล้วขนส่งไปยังสารนาถและโกสัมพี  ผู้ที่จะทำงานใหญ่เช่นนี้ได้ ต้องมีบารมีและมีกำลังไม่น้อย แม้ที่มถุราก็พบจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่ เป็นหินทรายแดง จารึกข้อความว่า ภิกษุณีพุทธทาสีเป็นผู้ถวายในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะเช่นกัน
 

หลักฐาน ตรงนี้ ทำให้เราเห็นภาพว่าภิกษุณีพุทธมิตราเป็นอาจารย์ที่มีผู้เคารพศรัทธาและ สานุศิษย์ในวงกว้าง  ในอีกหลายสิบปีต่อมา ปีที่ ๓๓ในรัชสมัยของพระเจ้าหุวิสกะ พระภิกษุณีธนวดี เป็นพระอาจารย์ในพระไตรปิฎกเช่นกัน ได้สร้างพระพุทธรูปที่เมืองมถุรา พระภิกษุณีรูปนี้เป็นอันเตวาสินี ของพระอาจารย์ภิกษุพละ และเป็น “ภคิเนยี” คือเป็นหลานของพระภิกษุณีพุทธมิตรารูปที่ว่านี้

 ชิ้นส่วนของจารึกจาก ตำบลปาลิเขระ เมืองมถุรา ระบุว่าภิกษุณีพุทธเทวาศิษย์ของภิกษุณีปุษยะหัสตินี สร้างในปีที่ ๓๙ ในรัชสมัยของพระเจ้าหุวิสกะ “เพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์” พระพุทธรูปนั่งองค์นี้สร้างตามแบบมถุรา ปรากฏรูปแกะสลักของภิกษุณีพุทธเทวานี้ด้วย

ในถ้ำกูดะที่อยู่ในภูเขาทาง ฝั่งตะวันตกของอินเดีย  ปรากฏว่าในถ้ำหมายเลข ๕ มีจารึกถึงภิกษุณีปทุมนิกา ว่าเป็นผู้รวบรวมปัจจัยแกะสลักถ้ำและบ่อน้ำ ที่อยู่ของภิกษุณีที่เรียก ว่า อุปสัย นั้น ยังไม่พบหลักฐานว่าท่านอาศัยอยู่ในถ้ำหรือไม่  หลักฐานในวรรณคดีที่พูดถึงอารามใหญ่ของภิกษุณีที่สาวัตถีแม้จนบัดนี้ก็ยัง ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด

 ที่ถ้ำจุนนาร์ในรัฐมหาราษฎร์ทางตะวันตก ของอินเดียมีบันทึกการสร้างอุปสัยในเมืองถวายพระภิกษุณีแห่งนิกายธัมมุตริ ยะ  ทั้งนี้เพราะโดยพระวินัย พระภิกษุณีจะอยู่ในเมือง ไม่อยู่ป่า  ยังไม่พบหลักฐานในเมืองจุนนาร์เช่นกัน
ข้ามไปดูหลักฐานในประเทศเนปาล บ้าง  ในหุบเขาเมืองกัตมัณฑุนั้น  ภิกษุณีปริสุทธมตี ชาวศากยะ สร้างพระพุทธรูปยืนเนื้อโลหะทองเหลืองถวายที่วัดยัมกัล ระบุ ค.ศ.๕๓๙ (พ.ศ. ๑๐๘๒ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งคลีฟแลนด์)

นอกจากนี้เราก็ยัง โชคดีที่ได้ศึกษาหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ที่ได้นำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์เช่น รูปพระนางตาราโพธิสัตว์ สร้างถวายโดยภิกษุณีคุณมตีชาวศากยะ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถาน เมืองกัลกัตตา) รูป พระโพธิสัตว์สีหนาทโลเกศวรที่แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน ได้มาจากแคว้นพิหาร ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีจารึกว่าสร้างถวายภิกษุณีวิชัยศรีภัทร

    ในการสร้างรูปพระพุทธเจ้าและ พระโพธิสัตว์นั้น ภิกษุณีผู้สร้าง หรือที่คนอื่นสร้างให้ก็ไม่นิยมเน้นพระภิกษุณี จึงไม่ค่อยมีหลักฐานถึงตัวผู้สร้างว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ในพิพิธภัณฑ์ที่มถุรามีรูปพระภิกษุณีอุบลวัณณากำลังก้นลงกราบพระพุทธเจ้าขณะที่เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ การสร้างรูปพระอรหันต์เถรีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างให้เป็น ที่ระลึกถึงพระราชธิดาที่วัดเทพธิดาจึงเป็นการสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญเป็นการทิ้งร่องรอยเพื่อการศึกษาในอนาคตที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง

ในทศวรรษนี้เองก็มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระอรหันต์เถรี ๑๓ รูป ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว โดยใช้แม่แบบจากวัดเทพธิดา  ก็เป็นการรักษาร่องรอยประวัติศาสตร์ของพระภิกษุณีอีกรูปแบบหนึ่ง

  ด้วยข้อมูลเหล่านี้  ท่านผู้รู้ทั้งหลาย คงไม่สามารถปิดหูปิดตาไม่รับรู้การมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ที่ยาวนาน ในแผ่นดินอินเดียและเนปาลได้แล้ว สมัยนี้เป็นสมัยของข่าวสารข้อมูล เราจะใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างไร ขึ้นอยู่กับเราผู้เสพข้อมูลโดยแท้

ที่มา  http://www.thaibhikkhunis.org/index.php?option=com_content&task=view&id=121&Itemid=8
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ