.
แนวทางการรักษาการอาพาธใน "คิริมานนทสูตร"สารนิพนธ์ เรื่อง สมุฏฐานการอาพาธที่ปรากฏในคิริมานนทสูตร
โดย พระมหาสายยันต์ วิสารโท (โลหิตดี) และ เจษฏา มูยาพอ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๑. แนวทางการรักษาโรคทางจิตใจ
แนวทางการรักษาการอาพาธในคิริมานนทสูตรนี้ พระพุทธเจ้าใช้แนวทางการรักษาการอาพาธด้วย การฟังสัญญา ๑๐ ประการ จึงหายจากอาพาธ ดังข้อความย่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“อานนท์ ถ้าเธอเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่คิริมานนท์ภิกษุ เป็นไปได้ที่การอาพาธของคิริมานนท์ภิกษุจะสงบระงับ โดยฉับพลันเพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ คือ
(๑) อนิจจสัญญา
(๒) อนัตตสัญญา
(๓) อสุภสัญญา
(๔) อาทีนวสัญญา
(๕) ปหานสัญญา
(๖) วิราคสัญญา
(๗) นิโรธสัญญา
(๘) สัพพโลเก อนภิรตสัญญา
(๙) สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา
(๑๐) อานาปานสติ"
@@@@@@@
ในสัญญาทั้ง ๑๐ มีอธิบายว่า
๑) อนิจจสัญญา คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาว่า‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง’ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา
๒) อนัตตสัญญา คือ พิจารณาเห็นว่า ตาเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายในและภายนอก ๖ ประการนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา
๓) อสุภสัญญา คือ พิจารณาเห็นกายนี้เท่านั้น ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเอ็นกระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนองเลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดย ความเป็นของไม่งามในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา
๔) อาทีนวสัญญา คือ พิจารณาเห็นว่า ‘กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคท้อง โรคลมสลบ โรคลงแดง โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคหูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนเป็นเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง
อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสลดเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่เกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธที่เกิดแต่การบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ อาพาธที่เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธที่เกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ’ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา
๕) ปหานสัญญา คือ ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เรียกว่า ปหานสัญญา
๖) วิราคสัญญา คือ พิจารณาเห็นว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวงความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด นิพพาน’ นี้เรียกว่า วิราคสัญญา
๗) นิโรธสัญญา คือ พิจารณาเห็นว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวงความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ นิพพาน’ นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา
๘) สัพพโลเก อนภิรตสัญญา คือ ละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต งดเว้น ไม่ถือมั่น นี้เรียกว่า สัพพโลเก อนภิรตสัญญา
๙) สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา คือ ย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจในสังขารทั้งปวง นี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา
๑๐) อานาปานสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ได้แก่
(๑) เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
(๒) เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
(๓) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจออก
(๔) สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขารหายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจออก
(๕) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจออก
(๖) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจออก
(๗) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจออก
(๘) สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจออก
(๙) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจออก
(๑๐) สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้าสำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจออก
(๑๑) สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจออก
(๑๒) สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจออก
(๑๓) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก
(๑๔) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก
(๑๕) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า สำเหนียกว่าจะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก
(๑๖) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก นี้เรียกว่า อานาปานสติ ถ้าเธอจะพึงเข้าไปหาแล้ว
กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่คิริมานนท์ภิกษุ เป็นไปได้ที่อาพาธของคิริมานนท์ภิกษุนั้น จะระงับไปโดยฉับพลันเพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาค เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ถึงที่อยู่ กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่ท่านพระคิริมานนท์
ขณะนั้นเอง อาพาธของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับลงโดยฉับพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์ได้หายขาดจากอาพาธนั้น อาพาธนั้น เป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้ อย่างนี้
@@@@@@@
การรักษาโรคทางจิต จากหลายกรณีที่วิเคราะห์การรักษาโรคทางจิตนี้ ได้มีมาแล้วในสมัยพุทธกาลดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักใช้แสดงธรรมโดยเฉพาะบทโพชฌงคปริตรแก่ภิกษุอาพาธ การสวดมนต์หรือการฟังการสาธยายมนต์หรือใช้ธรรมะรักษาโรคทางจิตนั้น ถือว่าเป็นการทำสมาธิ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้จิตใจสงบ จนเกิดความสมดุล ซึ่งส่งผลต่อร่างกาย ที่สามารถทำให้การปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ง่ายขึ้น
และการสวดมนต์ยังก่อให้เกิดบุญมาก เพราะขณะสวดใจจะระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยบุญผลานิสงส์นี้จึงทำให้หายป่วยจากโรคได้ในที่สุด สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้การรักษาการอาพาธของพระคิริมานนท์ ซึ่งได้ฟังการสาธยายสวดมนต์จากพระอานนท์ ที่ได้รับจากการถ่ายทอดให้ฟังอีกที่หนึ่ง เมื่อส่งจิตไปตามกระแสเสียงสวดมนต์ ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ถือว่าเป็นการทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ จึงสามารถรักษาโรคได้
จึงได้ทำการวิเคราะห์การรักษาโรคทางจิต ด้วยการสวดมนต์ และการนั่งสมาธิ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปนี้
๒. สวดมนต์รักษาโรค
การสวดมนต์สามารถบำบัดและรักษาอาการป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ การสวดมนต์ก็มีอานุภาพมากพอกับการใช้ธรรมะรักษาโรค สอดคล้องกับในกรณีที่พุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงการได้นำหลักพุทธวิธีว่าด้วยหลักธรรมของธรรมชาติหรือธรรมมาประยุกต์ใช้ในยามที่ท่านเจ็บป่วย มีข้อความว่า
“อาตมาก็คิดอยู่ว่าถือเป็นหลักแต่ไหนแต่ไรแล้ว ให้ธรรมชาติรักษา ธรรมะรักษา คุณหมอช่วยผดุงชีวิตไปได้ ไม่ให้ตายเสียก่อนแล้วธรรมชาติก็รักษาโรคต่าง ๆ ได้เอง ทีนี้เราจะรักษาตัวความเจ็บ ตัวความตาย และตัวความทุกข์ให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่สบายทุกที่ก็ฉลาดทุกที"
การรักษาโรคทางจิตใจด้วยวิธีการใช้ธรรมะรักษานี้ ซึ่งได้สอดคล้องกับพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงการแพทย์แนวพุทธว่า พระพุทธเจ้าเป็นหมอที่ให้การรักษาโรคทางใจ ให้คนพ้นจากกิเลสสิ้นอาสวะไขยที่นอนเนื่องในสันดาษ ใช้วิธีการรักษาโรคด้วยอริยสัจจ์ ๔ มีความสัมพันธ์ของกายและจิต เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกายจิตและให้หายจากโรค
คนในสังคมปัจจุบัน มักจะมีความเครียดในการเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ หลักธรรมโพชฌงค์ ๗ เป็นหมวดธรรมที่ใช้ระงับความเครียดได้ดี ขณะอย่างนี้เรียกโรคทางจิตใจ การรักษาด้านหลักธรรม เรียกว่าพระธรรมโอสถ
@@@@@@@
ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีแนวทาง ในการแก้ปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วย มี ๒ แนวทางใหญ่ ๆ คือ
๑) การป้องกัน วิธีการป้องกันสุขภาพที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ มีหลักปฏิบัติต่าง ๆ ในการดูรักษาสุขภาพอนามัยอย่างครบถ้วนทั้งทางด้านกายภาพและจิตภาพ ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างมเสม่ำอเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยทางกายและสุขภาพทางจิตให้แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่จะป้องกันโรคต่าง ๆ ไว้ได้ในช่วงระยะหนึ่ง
๒) การรักษาโรค วิธีการรักษาโรคที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ มีอยู่ ๒ วิธี คือ
วิธีที่ ๑. การรักษาโรคด้วยกรรมวิธีตามแบบทั่วไป เป็นการใช้กรรมวิธีทางการแพทย์แบบทั่ว ๆ ไปที่สังคมในยุคนั้นมี เช่น การใช้ยาสมุนไพร การใช้อาหาร การใช้ความร้อน การผ่าตัดและการพักผ่อน เป็นต้น แต่กรณีของพระภิกษุสงฆ์ ทรงจำกัดขอบเขต เช่น ห้ามภิกษุฉันยาที่เจือด้วยน้ำเมาเกินขนาด และห้ามภิกษุผ่าตัดริดสีดวงทวาร เป็นต้น
วิธีที่ ๒. การรักษาโรคด้วยพระธรรมโอสถ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาหลักธรรมชั้นสูงหมวดต่าง ๆ ที่ทรงใช้ในการตรัสรู้มาบำบัดโรค เช่น ธรรมที่มีชื่อว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗” โดยนำเอาผลพลอยได้จากการตรัสรู้ไปรักษาโรคทางกายและทางใจ และสามารถรักษาโรคให้หายได้
ดังนั้น แนวทางการรักษาการอาพาธในคิริมานนทสูตร มีความหมายว่า สาเหตุที่เกิด ที่ตั้งของความเจ็บป่วยไข้เป็นโรคภัยอันเบียดเบียนโดยยิ่ง ความำาคัญของสมุฏฐานการอาพาธนี้ ทำให้สามารถรู้แหล่งที่มาของการเกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ เป็นโรค การตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ทำการรักษาให้หายได้
@@@@@@@
สาเหตุของอาพาธต่าง ๆ นั้น มี ๑๔ อย่าง ได้แก่
๑. อาพาธมีน้ำดีเป็นสมุฏฐาน คือ ดีนอกถุงน้ำดี และดีในถุงน้ำดี
๒. อาพาธมีเสลดหรือเสมหะเป็นสมุฏฐาน
๓. อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน หมายถึง ธาตุลมภายในร่างกาย
๔. อาพาธมีไข้สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ อาพาธที่เกิดขึ้นด้วยลม ดีและเสมหะประชุมรวมกัน
๕. อาพาธที่เกิดแต่ฤดูแปรปรวน ได้แก่ โรคที่เกิดขึ้นเพราะร้อนจัดเย็นจัดตามฤดูกาล สภาพอากาศ
๖. อาพาธที่เกิดแต่การบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ ได้แก่ การอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานเกินไป มีการยืนและนั่ง เป็นต้น
๗. อาพาธที่เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง ได้แก่ อาพาธที่เกิดจากความขะมักเขม้น ใช้ความเพียรพยายาม
จนเกินกำลังของร่างกายจะทนได้
๘. อาพาธที่เกิดแต่วิบากของกรรม ได้แก่ วิบากกรรมอันแรงกล้าส่งผลบาปให้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ
๙. ตลอดจนอาพาธที่เกิดแต่ความหนาว
๑๐. ความร้อน
๑๑. ความหิว
๑๒. ความกระหาย
๑๓. ปวดอุจจาระ และ
๑๔. ปวดปัสสาวะ
@@@@@@@
มีแนวทางการรักษาการอาพาธให้หายด้วยการฟังสัญญา ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. อนิจจ-สัญญา คือ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕
๒. อนัตตสัญญา คือ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ที่เป็นภายในและภายนอก ๖ ประการ
๓. อสุภสัญญา คือเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามของอวัยวะในกายนี้
๔. อาทีนวสัญญา คือ พิจารณาเห็นว่า ‘กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา เป็นต้น
๕. ปหานสัญญา คือ ละกามวิตกพยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และบาปอกุศลธรรม
๖. วิราคสัญญา คือ ภาวะที่สงบ ความคลายกำหนัด นิพพาน
๗. นิโรธสัญญา คือ ภาวะที่สงบ ความดับ นิพพาน
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา คือ ละงดเว้นอุปาทานที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา คือ ย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานสติ คือ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ได้แก่ สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร จะระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออก เป็นต้น
ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ได้หายขาดจากอาพาธ
@@@@@@@
ยังมีบทวิเคราะห์สวดมนต์ นั่งสมาธิรักษาโรค การทำสมาธิเพื่อบำบัด และนำหลักธรรมต่าง ๆ มารักษาโรค อย่างการเปล่งเสียงสวดมนต์ สามารถบำบัดและรักษาอาการป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ กลุ่มที่มีการสวดมนต์อาการของโรคดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยประเภทเดียวกันแต่ได้รับการรักษาแบบปกติ มีการใช้ทดลองบทสวดชัยมงคลคาถา โพชฌงคปริตร เป็นต้น
การสวดมนต์นั้นถือเป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเกิดความสงบ ปกติ ส่งผลต่อร่างกายให้ปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ง่ายขึ้นช่วยชำระ ล้างบาปในใจอันเป็นเหตุแห่งโรคให้เบาบาง จึงทำให้หายป่วยในที่สุด
และการนั่งสมาธิเพื่อรักษาโรค กล่าวถึงเรื่อง สมาธิบำบัดโรค หรือสมาธิรักษาโรค หรือบำบัดโรคด้วยสมาธิหรือรักษาโรคด้วยสมาธิกันมากมาย ในปัจจุบันนี้สมาธิและคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นแนวโน้มใหม่ที่ใคร ๆ ก็อยากศึกษาเพื่อการบำบัดโรค
ขอขอบคุณที่มา :-
สารนิพนธ์ เรื่อง "สมุฏฐานการอาพาธที่ปรากฏในคิริมานนทสูตร"
โดย พระมหาสายยันต์ วิสารโท (โลหิตดี) และ เจษฏา มูยาพอ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย