.
กายานุปัสสนา : อานาปานปัพพะการปฏิบัติธรรมเป็นความมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะการเรียนเป็นส่วนปริยัติ จะได้ผลก็ต้องมีการปฏิบัติ การปฏิบัติสำหรับบรรพชิต คือ ผู้บวชในพระพุทธศาสนาเบื้องต้น คือการปฏิบัติพระวินัย ซึ่งเป็นส่วนศีล แต่การปฏิบัติพระวินัยยังมีข้อที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นส่วนศีลนั้น เป็นสิกขาที่หนึ่ง สืบขึ้นไปอีก คือสมาธิและปัญญา เมื่อมุ่งผลของการปฏิบัติที่สูงขึ้น ก็ต้องปฏิบัติในสมาธิและในปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนาอีกด้วย
ฉะนั้น ในบัดนี้จะได้แสดงถึงหลักปฏิบัติสมาธิก่อน สมาธิ คือ การทำจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าจิตนี้มีปกติดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามยาก แต่ก็อาจที่จะทำให้สงบได้ อาจที่จะรักษาได้ ห้ามได้ ด้วยใช้สติกำหนดอารมณ์ของสมาธิ
@@@@@@@
อารมณ์ของสมาธินั้นมีมาก แต่ในบัดนี้จะแสดงเพียงข้อหนึ่ง คือ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในสติปัฏฐานสูตรท่านสอนให้ผู้ที่จะทำสมาธิข้อนี้ นั่งขัดบัลลังก็คือขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติ มีสติมั่น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก และให้ตั้งสติกำหนดเป็นขั้นๆ ไป คือ
๑. หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ หายใจออกยาวก็ให้รู้
๒. หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้
๓. ศึกษาคือ สำเหนียกกำหนดกายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษา คือ สำเหนียกกำหนดกายทั้งหมดหายใจออก
๔. ศึกษาคือ สำเหนียกกำหนดสงบระงับกายสังขาร เครื่องปรุงกายอันหมายถึง ลมหายใจ หายใจเข้าศึกษา คือ สำเหนียกกำหนดสงบระงับกายสังขาร เครื่องปรุงกายอันหมายถึง ลมหายใจ หายใจออก
ท่านแสดงไว้เป็น ๔ ขั้น ควรทำความเข้าใจเรื่องลมหายใจทั้ง ๔ ขั้นนี้ โดยสังเขป คือ
เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตให้สงบ ลมหายใจก็หยาบ มีระยะที่หายใจยาว อีกอย่างหนึ่งต้องการสูดลมหายใจยาว ก็ทำการสูดหายใจให้ยาวได้ สำหรับในขั้นนี้จะทำการสูดลมหายใจให้ยาวอย่างออกกำลัง หรือหายใจโดยปกตินั่นแหละ แต่เมื่อยังไม่ทำสมาธิ ก็ยาว คือว่า หยาบ เมื่อเช่นนี้ก็ให้ทำสติให้รู้อยู่ เข้ายาวก็ให้รู้ ออกยาวก็ให้รู้
คราวนี้เมื่อทำสมาธิ จิตละเอียดเข้า ลมหายใจก็ละเอียดเข้า ช่วงหายใจก็สั้นเข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ให้รู้ คือว่าเข้าสั้นก็ให้รู้ ออกสั้นก็ให้รู้
@@@@@@@
ต่อจากนี้ก็ศึกษา คือ สำเหนียกกำหนดให้รู้กายทั้งหมดนี้ ในปฏิสัมภิทามรรคอธิบายว่า กายมี ๒ คือ รูปกายและนามกาย รูปกายได้แก่ รูปขันธ์ ก็ให้รู้ว่า รูปขันธ์มีอิริยาบถในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร อิริยาบถใหญ่เป็นอย่างไร อิริยาบถน้อยเป็นอย่างไร ตลอดจนให้รู้ลมหายใจ ซึ่งก็จัดว่าเป็นรูปขันธ์เหมือนกัน นี้เรียกว่ารูปกาย และให้รู้นามกาย คือให้รู้ความคิดให้รู้สัญญาคือ ความกำหนดในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร คอยกำหนดให้รู้ทั้งรูปกายและนามกายทั้งหมด
แต่ว่าในข้อนี้ในวิสุทธิมรรคอธิบายแคบเข้ามาว่า กายทั้งหมดนี้หมายถึงกองลมทั้งหมด ซึ่งโดยปกติเมื่อหายใจเข้า ลมก็จะตั้งต้นที่จมูกกลางที่หทัยลงไปถึงนาภี เมื่อขาออกก็จากนาภีมาหทัยแล้วก็มาจมูก ก็ให้กำหนดรู้ให้ตลอดสายทั้งเข้าทั้งออก
คราวนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๔ คือ ศึกษาสำเหนียกกำหนดสงบระงับกายสังขาร คือ ลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออกกำหนดลมหายใจที่เป็นไปโดยปกติ ที่เมื่อจิตละเอียด หายใจก็ละเอียดเข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็รักษาความละเอียดไว้ และคอยกำหนดจิตให้ละเอียดยิ่งขึ้น และรักษาลมหายใจที่ละเอียดนั้นไว้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น
ปล่อยให้เป็นไปตามปกติธรรมดาที่เป็น ไม่เกร็งตัว ไม่บังคับลม ถ้าไปเกร็งตัว ไปบังคับลม ก็อาจจะทำให้เกิดเกร็งกาย หายใจฮืดฮาด เป็นปลุกตัว ทำให้ร่างกายบางทีก็เอะอะตึงตัง ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นวิธีปฏิบัติในอานาปานสติ วิธีปฏิบัติในอานาปานสตินั้น ต้องกำหนดให้ละเอียดยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นสี่ขั้น
แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น สำหรับขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ก็กำหนดไปตามที่เป็น สำหรับในขั้นสี่ก็เป็นผลที่ละเอียดเข้าความสำคัญจึงอยู่ในขั้นที่สาม ขั้นที่สามนั้นในเบื้องต้น ก็อาจจะต้องคอยตามลมเข้า ตามลมออก ตามลมที่เข้าก็คือส่งจิต จากนาสิกไปอุระ (หรือหทัย) แล้วก็ไปนาภี ขาออกก็จากนาภีมาอุระ แล้วก็ออกนาสิก เช่นนี้ จิตยังไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้กำหนดจุดไว้จุดหนึ่งเพียงจุดเดียว
@@@@@@@
ในตำราปฏิสัมภิทามรรคและวิสุทธิมรรค ท่านสอนให้กำหนดจุดที่ลมกระทบ ในที่ต้นทางเข้าและในที่ปลายทางออก คือ ถ้าคนจมูกยาวก็ที่กระพุ้งจมูก ถ้าคนจมูกสั้นก็ที่ริมฝีปากเบื้องบน แต่ว่าที่ไหนนั้น ก็สุดแต่ละบุคคล ให้สังเกตดูว่าเมื่อหายใจเข้า ลมกระทบที่ไหนก่อน ที่ริมฝีปากเบื้องบนหรือที่กระพุ้งจมูก ก็ให้กำหนดไว้ที่จุดนั้น และเมื่อออก ลมออกก็จะมากระทบที่นั่น
จุดที่ลมกระทบเมื่อเข้าและเมื่อออกนั้น เรียกว่า นิมิต แปลว่า ที่กำหนดจิต เมื่อกำหนดจิตไว้ที่กำหนดไว้ ดังนี้
เมื่อหายใจเข้าลมกระทบที่นิมิต คือ ที่กำหนดจิตอันนี้ก็รู้
เมื่อลมหายใจออกมากระทบที่นิมิต ที่กำหนดจิตอันนี้ก็รู้
และเมื่อให้จิตกำหนดอยู่ในจุดนี้ รู้อยู่เสมอดังนี้ ก็ชื่อว่า ได้รู้กองลมทั้งหมด
เปรียบเหมือนอย่างว่า คนเลื่อยไม้ ก็มองกำหนดดูอยู่ที่ไม้ตรงที่เลื่อยเลื่อยอยู่ ก็เห็นไม้ที่ตรงนั้นด้วย เห็นเลื่อยอยู่ที่ตรงนั้นด้วย กำหนดอยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว ไม่ต้องดูเลื่อยทั้งหมดที่เสือกไปเสือกมาทำการเลื่อย ดูอยู่จุดเดียว คือที่ไม้ตรงเลื่อยถูกนั้นเพียงจุดเดียว และเมื่อเห็นอยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว ก็เป็นอันว่าได้เห็นทั้งหมด กำหนดจิตให้อยู่ตรงนี้จุดเดียว
ในการที่ตั้งสติกำหนดอยู่ที่จุดเดียวนี้ เพื่อจะช่วยให้จิตกำหนดมั่นคง ท่านก็สอนวิธีเป็นอุบายสำหรับช่วยต่างๆ เช่น สอนให้นับ
ดังในวิสุทธิมรรคสอนให้นับ นับช้านับเร็ว
นับช้า ก็คือ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑, เข้า ๒ ออก ๒, เข้า ๓ ออก ๓,
แล้วก็ ๔-๔, ๕-๕ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๕-๕ แล้วต่ออีกเป็น ๖-๖
แล้วกลับไป ๑-๑ จนถึง ๗-๗ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๘-๘
แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๙-๙ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๑๐-๑๐
แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๕-๕ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๖-๖ ......
ย้อนไปใหม่ดังนี้อยู่เสมอ จนจิตเชื่องเข้าพอจะอยู่ที่ ก็เปลี่ยนเป็นนับเร็ว คือ ไม่นับคู่ แต่ว่านับเดี่ยว หายใจเข้า ๑ หายใจออก ๒ เป็นต้น เมื่อจิตเชื่องเข้าอยู่ที่แล้วก็ทิ้งการนับ กำหนดอยู่ที่จุดนั้นเสมอ ไม่ให้คลาดเคลื่อนไป
แต่ว่าบางอาจารย์ก็สอนอย่างอื่น ให้หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ แต่ว่าวิธีเหล่านี้เป็นวิธีอุปกรณ์ สุดแต่ว่าใครจะชอบอย่างไร ใครจะใช้วิธีนับ ใช้นับอย่างที่สอนไว้ในวิสุทธิมรรค หรือจะใช้อย่างอื่นก็สุดแต่จะชอบ เช่นว่า จะนับ ๑ ไปจนถึง ๑๐ ทีเดียว แล้วกลับนับ ๑ ถึง ๑๐ ใหม่ อย่างนี้ก็ไม่ขัดข้องอะไร เพราะเป็นอุบายเท่านั้น
@@@@@@@
๑. ต้องมีอาตาปะ แปลว่ามีความเพียร หมายความว่าตั้งใจไว้ว่าจะทำสมาธิเป็นเวลาเท่าไร เมื่อไร ก็ต้องทำตามที่ตั้งใจ รักษาสัจจะคือความตั้งใจจริงเอาไว้ และก็ทำให้ได้จริงตามที่กำหนดไว้ ไม่ให้เหลวไหล เบื่อก็ต้องทนให้ครบตามที่ตั้งใจไว้
๒. ต้องมีสัมปชานะ คือ ความรู้ตัว คือให้มีความรู้อยู่เสมอ ไม่ให้เผลอตัว ยิ่งสมาธิละเอียดเท่าไร ก็ต้องให้มีความรู้แจ่มใสขึ้นเท่านั้น ถ้าหลับไปเสียหรือว่าดับไปเสีย เช่นว่าปล่อยใจให้ตกวูบไปก็จะเป็นสัปหงกหรือว่าเป็นหลับไป หรือว่าถ้าเผลอตัวดังนี้ ก็ชื่อว่าขาดสัมปชานะ ไม่ถูกต้อง ต้องให้มีสัมปชานะคือความรู้อยู่
๓. สติ คือ ความระลึกกำหนด ต้องมีสติระลึกกำหนดอยู่ที่อารมณ์ของสมาธินั้นให้แน่วแน่ อย่าปล่อยให้สติเลื่อนลอย ถ้าปล่อยให้สติเลื่อนลอยไปก็จะกลายเป็นคนใจลอยกลายเป็นมีโทษ เท่ากับว่ามาหัดให้เป็นคนใจลอย เพราะฉะนั้น ต้องตั้งสติกำหนดไว้ที่อารมณ์ของสมาธิให้มั่นคง แพล็บไปข้างไหนก็ต้องจับเข้ามาเอาไว้ที่อารมณ์ของสมาธินั้น และ
๔. ไม่ยินดียินร้ายอะไรๆ ในโลกนี้ ในตอนนี้ก็หมายเพียงแต่ว่า ไม่ยินดีในอารมณ์ของสมาธิ ไม่ยินดีในนิมิตของสมาธิที่ปรากฏ ซึ่งเป็นตัวกิเลส เพราะถ้าไปยินดีในอารมณ์ของสมาธิ ก็อาจที่จะทำเกินพอดี อย่างบางคนนั่งจนไม่รู้เวลาที่จะพัก ไม่รู้เวลาที่จะบริโภค ถ้ายิ่งไปติดไปเพลินในนิมิตของสมาธิด้วยแล้ว ก็จะยิ่งไปกันใหญ่
ในด้านตรงกันข้ามก็เหมือนกันต้องไม่ยินร้ายในอารมณ์ของสมาธิ ในนิมิตของสมาธิ คือ เมื่อตั้งใจจะทำแล้ว ถึงตอนต้นจะไม่ชอบ ต้องพยายามฝืนใจไปทำไปให้จงได้ และเมื่อประสบนิมิตที่ไม่ชอบ ก็ต้องคิดว่า ไม่ใช่เป็นของจริง แต่เป็นของที่เป็นสัญญชะ คือเกิดจากสัญญา หรือเป็นภาพอุปาทานทั้งนั้น ไม่มีความจริงอะไร
ไม่ให้เกิดความยินดีตื่นเต้นในอารมณ์ ในนิมิตของสมาธิ ไม่ให้เกิดความยินร้ายตกใจกลัวในอารมณ์ ในนิมิตของสมาธิทุกๆ อย่างทำความรู้ให้ตั้งมั่น ทำสติให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสมาธิเท่านั้น จนกว่าจะหมดเวลาที่เราได้กำหนดไว้
@@@@@@@
จิตที่เป็นสมาธิท่านว่า เป็นจิตที่ควรแก่การงาน เห็นได้ชัด ดังเช่นในการอ่านหนังสือ จะอ่านหนังสือสักหน้าหนึ่ง ถ้าใจฟุ้งซ่าน บางทีก็ต้องอ่านหลายเที่ยว และยังจะกำหนดความให้เกิดความเข้าใจก็ไม่ค่อยได้ จำก็ไม่ค่อยได้ แต่ถ้าอ่านด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นและแน่วแน่ ก็จะอ่านได้รวดเร็วกว่า และจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งดีกว่า
เพราะฉะนั้น การที่หัดทำสมาธินี้ จึงเป็นกิจที่ชอบ อาจจะใช้จิตที่เป็นสมาธินี้ไปเล่าเรียนศึกษา หรือจะไปบำเพ็ญประโยชน์อะไรก็ได้เป็นอันมาก ตามที่แสดงมานี้ เป็นเรื่องของอานาปานสติ โดยย่อก็เพียงนี้
ขอบคุณที่มา : หนังสือ "บันทึกกรรมฐาน" โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ผู้จัดพิมพ์ : รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก