.
มวลสารวิเศษ พระสมเด็จวัดระฆังฯ คุณค่าดั่งเพชรเม็ดงามพระสมเด็จวัดระฆังฯ กลุ่มองค์ครูนั้น นอกจากพิมพ์ทรง เส้นสายลายเซ็น ที่มีความเป็นเอกลักษณ์แล้ว เนื้อหามวลสารยังมีลักษณะเฉพาะตัว หรือที่เรียกว่าเนื้อนิยม มีความงดงามโดดเด่น ยากที่จะทำเลียนแบบได้
@@@@@@@
ตรียัมปวาย ได้อธิบายถึงลักษณะเด่นของเนื้อพระสมเด็จฯ ว่าต้องมีลักษณะสำคัญคือ
“พิจารณาได้ง่าย” หรือ “เนื้อจัด” โดยขยายความว่าหมายถึง “ความละเอียด ความนุ่ม ความแกร่ง น้ำหนัก ความหนึก ความฉ่ำ ความซึ้ง การแตกลายงา การแตกลายสังคโลก การลงรักเก่าทองเก่า การลงทองล่องชาดเก่า แป้งโรยพิมพ์ และทรายเงินทรายทอง ...”
ปัจจัยที่มีผลต่อสุนทรียะ หรือความวิจิตรงดงามของพระสมเด็จวัดระฆังฯ ของท่านเจ้าประคุณฯ สมเด็จโตนั้น มีอยู่มากมายหลายประการ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขอนำเสนอแนวทางพิจารณา โดยเริ่มจากขั้นตอนแรกในการสร้างพระสมเด็จฯ คือขั้นตอนการทำมวลสารวิเศษ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อลักษณะของเนื้อพระที่ปรากฏออกมา
ครูอาจารย์หลายท่าน อธิบายไปในทิศทางใกล้เคียงกัน พอสรุปได้ว่า ...
มวลสารที่ใช้สร้างพระนั้น ประกอบด้วย มวลสารหลักคือ ปูนขาวที่ทำจากปูนเปลือกหอย ดินสอพองที่มีใช้มาแต่โบราณกาล มีน้ำมันตังอิ้ว หรือน้ำอ้อย เป็นตัวประสานเนื้อพระเข้าด้วยกัน และยังมีมวลสารย่อย
เช่น เม็ดพระธาตุ (เม็ดปูนขนาดเล็กมีสีขาวออกเหลือง) ปูนเก่าจากพระพุทธรูปที่ชำรุด ก้อนสีเทา เศษอิฐแดง (บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนพระกำแพงซุ้มกอ) เศษชิ้นส่วนสีดำของก้านธูป (หรืออาจเป็นขี้เถ้าจากการเผาเปลือกหอย) เศษจีวร เศษไม้ (ไม้ไก่กุ๊ก) เม็ดทรายเงิน เม็ดทรายทอง (น่าจะมาจากทองคำเปลวที่ถูกตำละเอียด) ผงเกสรดอกไม้ ข้าวสุก และกระดาษฟาง เป็นต้น
และที่สำคัญก็คือ ผงวิเศษ 5 ประการ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ได้ปลุกเสก เพื่อให้พระสมเด็จวัดระฆังฯ ของท่าน ทรงคุณอันวิเศษ ตามคติการสร้างพระเครื่องที่สืบทอดกันมา ...
@@@@@@@
นิรนาม ผู้ชำนาญการพระเครื่อง ผู้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาพระสมเด็จฯ ลงในนิตยสาร “พรีเชียส” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ และนิตยสาร “อาณาจักรพระเครื่อง” ของอาจารย์ปรีชา เปี่ยมธรรม ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า
“... เยื่อกระดาษได้จากกระดาษฟางหรือกระดาษสา มาแช่น้ำข้ามคืน จนกระดาษละลายเป็นเมือกดีแล้ว จึงนำเอามากรองเพื่อเอาเยื่อกระดาษมาผสมผสานบดตำลงไป เชื่อกันว่าตัวเยื่อกระดาษนี้เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังฯ มีความหนึกนุ่ม เนื้อจึงไม่แห้งและกระด้าง ...”
นิรนาม ยังได้บอกอีกว่า ท่านมหาช้วน อดีตเจ้าอาวาสวัดบางจาก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม (ท่านมหาช้วนเป็นคนเปิดกรุ สมเด็จหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก) เล่าให้ฟังว่า ขุนบางช้าง ผู้เคยมีส่วนช่วยหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก สร้างพระสมเด็จวัดบางจาก บอกกับท่านว่า ส่วนผสมที่สำคัญก็คือ ตัวเมือกกระดาษ หรือเยื่อกระดาษนั่นเอง ที่ทำให้เนื้อพระสมเด็จของหลวงพ่ออ้น มีความหนึกนุ่มไม่แพ้เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักสะสมว่า มีความใกล้เคียงกับเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังฯ มากที่สุด
(หลวงพ่ออ้น วัดบางจาก เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังฯ ระยะหนึ่ง และน่าจะได้มีส่วนช่วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ ด้วยเช่นกัน) ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์) ผู้เขียนหนังสือประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 ได้กล่าวถึง “ผงวิเศษ 5 ประการ” ไว้ว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ได้กวดขันในการปั้นดินสอพอง เป็นอันมาก เพื่อหวังจะให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ในการเขียนพระคาถา เพื่อทำผงวิเศษนี้
@@@@@@@
ดินสอพองของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต มีส่วนประกอบ คือ
“ดินโป่ง 7 โป่ง, ดินตีนท่า 7 ท่า, ดินหลักเมือง 7 หลัก, ขี้เถ้าไส้เทียนบูชาในพระอุโบสถ, ขี้ไคลเสมา, ขี้ไคลประตูวัง, ขี้ไคลเสาตะลุงช้างเผือก, กระแจะตะนาว (กระแจะที่ปรุงด้วยเครื่องหอม มีจันทน์แดง จันทน์หอม จันทนา และไม้หอม), น้ำบ่อ 7 รส, ดินสอ (ดินขาว), ดอกไม้พืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ใบหรือดอกก็ได้) พลูร่วมใจ (โคนก้านของใบชนกัน) พลู 2 ทาง ...”
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ท่านเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ผสมเข้ากันดีแล้ว ประพรมด้วยน้ำพระพุทธมนต์ ปั้นเป็นแท่งดินสอ เขียนหัวใจพระคาถาต่างๆ ในกระดานชนวน แล้วลบออก
โดยผงวิเศษ 5 ประการ ที่เกิดจากการเขียนพระคาถาดังกล่าวประกอบด้วย
1. ผงปัถมัง มีอานุภาพทางอิทธิฤทธิ์ อยู่ยง คงกระพัน แคล้วคลาด
2. ผงอิธะเจ มีอานุภาพทางเมตตามหานิยม
3. ผงมหาราช มีอานุภาพทางเสน่ห์ ป้องกันและถอนคุณไสยได้
4. ผงพุทธคุณ มีอานุภาพทางด้านเมตตามหานิยม กำบัง สะเดาะ และล่องหน
5. ผงตรีนิสิงเห มีอานุภาพทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปัดป้องสิ่งอัปมงคลเสนียดจัญไร
ตรียัมปวาย อธิบายว่า ผงวิเศษทั้งหมดเป็นชุดเดียวกัน โดยท่านเจ้าประคุณฯ เริ่มจากการเขียนพระคาถา เพื่อทำผงปัถมังเป็นอันดับแรก แล้วจึงลบออก จากนั้นจึงนำผงที่ได้มาปั้นเป็นดินสอใหม่ เพื่อเขียนพระคาถาบทที่สอง เพื่อทำผงอิธะเจ แล้วจึงลบออก ทำเช่นนี้ต่อไป จนได้ผงตรีนิสิงเห เป็นผงวิเศษสุดท้าย กรรมวิธีทำผงวิเศษ กระทำในพระอุโบสถ ผงวิเศษทั้ง 5 จึงทรงกฤติยาคมเข้มข้นที่สุด
พระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นลักษณะพระเนื้อผง ซึ่งเป็นเนื้อที่มีความละเอียดโดยธรรมชาติ แม้ที่บอกว่าเป็นเนื้อหยาบแต่ก็ต้องมีความละเอียดอยู่ในตัว ตรียัมปวาย ได้อธิบายขยายความในเรื่องนี้ว่า
“เนื้อที่ละเอียดเกินไป มักจะขาดความซึ้งไปบ้าง เช่นเนื้อเกสรดอกไม้และเนื้อปูน จะมีความซึ้งน้อยกว่าเนื้อกระแจะจันทน์ แต่ถ้าเป็นเนื้อที่ค่อนข้างหยาบ เช่น เนื้อกระยาสารทและเนื้อขนมตุ้บตั้บ มีความซึ้งเหมือนกัน แต่ขาดความนุ่มนวล และถ้าเป็นเนื้อกระแจะจันทน์ จะเป็นเนื้อที่มีความละเอียดพอดี”
เนื้อผงเดิมๆ จะมีคุณสมบัติที่แตกเปราะได้ง่าย จึงต้องมีการใส่ส่วนผสมอื่นๆ เช่นน้ำอ้อย หรือน้ำมันตังอิ๊ว ที่มีคุณสมบัติทำให้เนื้อพระสมเด็จฯ มีความเหนียวและยึดเกาะตัวกัน เพื่อให้ขึ้นรูปได้ง่ายและยังสามารถรักษารูปทรงได้เป็นร้อยปีโดยไม่แตกเปราะในภายหลัง พบว่าในพระสมเด็จวัดระฆังฯ และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม มักจะปรากฏคราบน้ำมันตังอิ๊วให้เห็นบนผิวพระไม่มากก็น้อย การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น เป็นลักษณะของ “ปูนตำ”
@@@@@@@
โดย ตรียัมปวาย พูดถึงขั้นตอนการสร้างพระ ที่มีการตำโขลกส่วนผสมต่างๆ ลงในครกเข้าด้วยกัน ปูนตำชนิดนี้อาจจัดเข้าประเภท “ปูนน้ำมัน” เนื่องจากมีการผสมน้ำมัน คือน้ำมันตังอิ๊ว เข้าไปด้วย ปูนน้ำมันนี้ถือว่าเป็นวัสดุที่ใช้ในงานปั้นปูน ที่เป็นงานประณีตศิลป์แขนงหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ และเป็นหมวดหมู่หนึ่งของช่างสิบหมู่คือ ช่างปูน ในการตำปูนจะต้องกะปริมาณให้พอดี เพราะเมื่อผสมกับน้ำมันตังอิ๊วแล้ว ถ้าไม่มีการเก็บรักษาอย่างถูกต้องจะมีการแห้งแข็งตัวเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้
ขั้นตอนการตำปูนนี้ มีความสำคัญมาก วิธีการตำตามตำราโบราณนั้น น่าจะมีผลต่อการแยกแยะเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังฯ กลุ่มเนื้อองค์ครูออกจากเนื้อประเภทอื่น หนังสือของ ตรียัมปวาย บอกแต่เพียงว่า ในขั้นตอนการทำมวลสารวิเศษ นั้น เป็นการนำเอามวลสารต่างๆ มาตำโขลกเข้าด้วยกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะได้มาซึ่งเนื้อพระสมเด็จฯ ที่มีความงดงามวิจิตร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น จะต้องใช้ความชำนาญ ในการผสมมวลสารต่างๆ ที่เป็นสูตรเฉพาะตัวในอัตราส่วนที่เหมาะสม
การตำมวลสารให้มีความละเอียดด้วยวิธีการและระยะเวลาที่ถูกต้อง รวมถึงการเตรียมปูนขาวจากการเผาปูนเปลือกหอย ที่จะต้องผ่านขั้นตอนที่พิถีพิถัน ตามองค์ความรู้ของช่างชั้นครู ระดับช่างสิบหมู่ หรือช่างทองหลวงในราชสำนัก ที่เข้ามาช่วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต สร้างพระสมเด็จฯ กลุ่มองค์ครู ในขณะนั้น
@@@@@@@
น่าสนใจว่า งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มีความโดดเด่นไม่แพ้ช่างสิบหมู่ กล่าวกันว่า งานศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองเพชรนั้น เหมือนกับอยุธยาที่มีชีวิต และยังมีเอกลักษณ์เฉพาะในด้านกรรมวิธีการผลิตปูนปั้น ... อาจนำมาเทียบเคียง เพื่อช่วยอธิบาย ในเรื่องนี้ได้
เช่น ในการเตรียมปูนขาวที่ได้จากการเผาปูนเปลือกหอยนั้น ต้องนำปูนขาวไปแช่น้ำหมักทิ้งไว้เป็นเวลา 1 เดือน เรียกว่า การหมักปูน เพื่อลดความเค็มของปูน (ลดความเป็นด่าง) ทั้งยังช่วยให้ปูนเหนียว เมื่อนำไปใช้จะจับตัวได้ดี (มีความเป็นไปได้ว่า ที่มีการทดสอบโดยใช้ขมิ้น แล้วพบว่าไม่ทำปฏิกิริยากับเนื้อพระสมเด็จฯ อาจเกิดด้วยสาเหตุนี้
แต่ทั้งนี้การทดสอบด้วยวิธีนี้อย่างเดียว ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าจะเป็นพระแท้) การตำปูน ที่ต้องใช้วิธีการตำที่เหมาะสม รู้ได้จากประสบการณ์ของผู้ตำ เมื่อนำไปทำพระ จึงจะได้เนื้อพระที่มีความละเอียดหนึกขึ้นเงา และยังมีการผสมเยื่อกระดาษที่มาจากกระดาษฟางในปูนที่ตำที่คล้ายกับสูตรการทำพระสมเด็จฯ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของสกุลช่างเมืองเพชร
@@@@@@@
อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ พลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุณาให้ข้อมูลว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ที่เนื้อสวยจัดๆ นั้น เนื้อพระมีความงดงามประดุจเพชรเม็ดงามเลยทีเดียว ...
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครู อีกองค์หนึ่ง เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ องค์ตำนาน ที่งดงามมากอีกองค์หนึ่ง มีตำหนิพื้นฐานตรงตามตำรา มีเส้นสายลายเซ็นเชิงช่างเป็นกลุ่มองค์ครูที่คุ้นตา มีการลงรักปิดทองคำเปลวเก่า ให้ความรู้สึกมีมนต์ขลัง ตัดปีกกว้างกว่ากรอบแม่พิมพ์ มีตำหนิสำคัญคือเม็ดพระธาตุขนาดเล็กปรากฏให้เห็นหลายจุด
เนื้อพระมีความหนึกนุ่มผสมหนึกแกร่ง เนื้อมีความละเอียดซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญมากของพระสมเด็จวัดระฆังฯ (ถึงแม้จะมีลักษณะเนื้อหยาบเมื่อเทียบกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม แต่ในความเป็นจริงแล้วลักษณะของพระเนื้อผงจะต้องมีความละเอียดเป็นพื้นฐาน) มีวรรณะงดงามซึ้งตาเป็นสีขาวอมเหลือง มีรอยรูพรุนขนาดเล็ก ที่น่าสนใจคือด้านหลังองค์พระเป็นแบบหลังเรียบ ขอบองค์พระมีรอยกระเทาะแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติความเก่า ถือว่าเป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์
URL :
https://www.thairath.co.th/lifestyle/amulet/2852057ไลฟ์สไตล์ > พระเครื่อง | ไทยรัฐออนไลน์ | 9 เม.ย. 2568 12:00 น.