.
‘ปิดโหมดเครียด’ ด้วย Relaxation Response และกิจกรรมเล็กๆ ที่ตัดเสียงรบกวนทั้งภายนอกและภายใน
Summary
• เรามักได้ยินว่าวิธีการรับมือกับสถานการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ คือการ 'พยายามฟื้นคืนกิจวัตรของตัวเอง' แต่มันเป็นสิ่งที่ทำยากกว่าพูด หลายๆ คนจึงต้องการตัวช่วย หนึ่งในตัวช่วยนั้นคือการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา Relaxation Response หรือการปิดโหมดเครียด

เมื่อเราอ่านคู่มือวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โดยเฉพาะภัยพิบัติที่ขัดขวางการใช้ชีวิตของเรา คำแนะนำที่โผล่ขึ้นมาบ่อยๆ คือ ‘พยายามฟื้นคืนกิจวัตรของตัวเอง’
เป็นคำแนะนำที่เข้าใจได้ ในระหว่างที่เราพยายามรักษาจิตใจของตัวเอง กิจวัตรของเราก่อนหน้าจะถูกเหตุการณ์เหล่านั้นขัดขวาง ทำหน้าที่เหมือนหมุดหมายที่เราอยากจะไปให้ถึง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราลองทำดูจริงๆ การหวนคืนสู่กิจวัตรที่เราเคยทำทุกวันนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำอย่างมาก เพราะเรายังมีความวิตกกังวลเล็กๆ น้อยๆ ยังมีห้วงอารมณ์แปลกประหลาดที่เรายังไม่สามารถสลัดหลุดออกจากตัวอยู่
นอกจากเรื่องที่อยู่ภายใน ยังมีปัจจัยภายนอกอีก ทั้งข่าวสารที่กระตุ้นความกังวลแต่ก็จะไม่ตามก็ไม่ได้ โซเชียลมีเดียที่ไหลไปไม่หยุดพาอารมณ์ความรู้สึกมากมายมาหาเรา แถมยังมีคนรอบข้างที่เราต้องคอยดูแล
ดูเหมือนว่ากว่าเราจะไปถึงจุดที่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เราอาจต้องอาศัยตัวช่วยหลายๆ อย่าง บางคนอาจต้องการความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ บ้างก็อาจจะต้องทำโซเชียลดีท็อกซ์บางรูปแบบ หรือสำหรับบางคน เราอาจจะต้องลองเสริมอะไรใหม่ๆ เข้ามาในกิจวัตรของเราด้วย ก่อนหน้านี้ไทยรัฐพลัสเคยพูดถึงวิธีการเช่น การ Grounding ผ่านการใช้งานศิลปะมาเป็นตัวช่วยมาก่อน แต่อีกหนึ่งรูปแบบกิจกรรมที่เราสามารถนำเข้ามาใช้ไ้ด้คือ กิจกรรมที่ใกล้เคียงกับการทำสมาธิ
@@@@@@@
การทำสมาธิที่ว่าเราไม่ได้หมายถึง การหลับตานั่งฟังบทสวดมนต์ และไม่ได้หมายความถึง Guided Meditation ที่มีครูคอยบรรยายสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้เราจดจ่อ แต่เราหมายความถึงกิจกรรมที่จะ ‘ปรับโหมด’ สมองเราชั่วขณะ ให้เราตัดสิ่งรอบข้างออก แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เราหัวโล่งจนจมอยู่กับความคิดของตัวเอง
ตัวอย่างของกิจกรรมแบบที่ว่าคือการถักไหมพรม การประกอบโมเดลพลาสติก การชงชา ฯลฯ ซึ่งเมื่อมองดูโดยผิวเผิน ดูไม่มีจุดร่วมอะไรกันเลย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบแบบเดียวกันต่อสมองของเรา นั่นคือมันทำให้ร่างกายเราเกิดปฏิกิริยาชื่อว่า ‘Relaxation Response’
โดยปกติแล้ว เมื่อเราเครียด ร่างกายจะเข้าสู่โหมด ‘สู้หรือหนี’ (Fight or flight) ที่ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนทำให้เราหัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง หายใจถี่ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าร่างกายคิดว่าเรากำลังตกอยู่ในอันตรายและเราต้องตัดสินใจทุกอย่างอย่างรวดเร็ว
แม้ว่า Fight or flight จะทำให้เราเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์อันตรายได้ ในชีวิตประจำวันของเราความเครียดไม่ได้มาจากสัตว์นักล่าอย่างเดียวอีกต่อไป มันอาจจะมาจากอีเมลที่เจ้านายส่งมาทวงงาน หรือจากห้องแชตของเพื่อนที่งานเราเพราะเราไม่ได้ตอบ และบ่อยครั้งร่างกายของเราตีความความเครียดเกินความพอดี ซึ่งทำให้เราเหนื่อยจากการเข้าโหมดนี้อย่างไม่สมเหตุสมผล
@@@@@@
เฮอร์เบิร์ต เบนสัน ผู้ก่อตั้งสถาบัน Harvard’s Mind/Body Medical Institute คือผู้บัญญัติคำว่า Relaxation Response ขึ้นในหนังสือของเขา เขาเรียกมันว่าเป็นขั้วตรงข้ามของ Fight or flight response และเป็นเหมือนการกดปิดการตอบสนองสู้หรือหนี ซึ่งสามารถทำได้ผ่านทั้งการหายใจเข้าออกเป็นจังหวะและการเล่นโยคะ และการทำกิจกรรมแบบการถักไหมพรมได้ด้วย
เหตุที่การถักไหมพรมถึงมอบความผ่อนคลายให้กับเรา เป็นเพราะว่าการเคลื่อนมือเป็นท่าทางซ้ำไปซ้ำมาทำให้หัวใจเราเต้นช้าลง ความดันเลือดต่ำลง และลดฮอร์โมนที่ก่อความเครียด เช่นเดียวกันกับเวลาเราเล่นโยคะ
หากใครเคยถักไหมพรมหรือทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมือเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ซับซ้อนแบบนี้ จะเข้าใจความรู้สึกดังกล่าว มันเป็นกิจกรรมที่เปลี่ยนห้วงความคิดของเรา ในขณะที่เราจดจ่ออยู่กับงานคราฟต์ตรงหน้า เราก็ไม่ได้นึกถึงมันในระดับที่เครียดหรือกดดัน คิดเพียงว่าเราจะถักไปทิศไหน ลายอะไร ยาวเท่าไหร่
หากใครที่ต้องการเวอร์ชั่นที่คิดน้อยยิ่งกว่าการถักไหมพรมที่เรามีอิสระทำยังไงก็ได้ การประกอบโมเดลพลาสติกก็มักมาพร้อมกับคู่มือ ที่เราเพียงทำตามได้สบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก หรือถ้าใครเป็นสายของกิน การพักสมองด้วยการชงชาเขียวและชงกาแฟก็สามารถทำให้เราเข้าโหมดนี้ได้
เราโฟกัสกับสิ่งเล็กๆ ตรงหน้าของเราเกินกว่าจะไปเล่นมือถือหรือไปคิดมากต่อปัญหาชีวิต จนเรียกได้ว่ามันอนุญาตให้เราตัดเสียงรบกวนทั้งภายนอกและภายในได้ในชั่วขณะหนึ่ง
@@@@@@@
อีกเหตุผลที่การใช้วิธีทำสมาธินี้แตกต่างจากวิธีการอื่นๆ คือปลายทางเราจะได้บางอย่างออกมา อาจมาในรูปแบบหมวกไหมพรม ผ้าห่มนุ่มๆ ชาเขียวอร่อยๆ หุ่นยนต์พลาสติกตัวน้อย หรือรถถังคันจิ๋วสักคัน การได้รับผลผลิตเช่นนั้นออกมาสามารถเพิ่มพูนความพอใจในตัวเองและได้สะกิดต่อมความคิดสร้างสรรค์ของเรา
เพราะอย่างนี้เองเราอาจจะสามารถ ‘ถักทอ’ นำกิจกรรมเช่นนี้เข้าไปอยู่ในกิจวัตรประจำวันของเราอาจช่วยลดความเครียดของเรา มีห้วงเวลาที่เราไม่ต้องสนใจเรื่องราวต่างๆ ในโลกสักชั่วโมงสองชั่วโมง และช่วยเป็นอีกก้าวในการเดินหน้ากลับสู่กิจวัตรเดิมของเราได้ ใครจะรู้ ระหว่างทางเราอาจจะได้รับงานอดิเรกใหม่ๆ มาอยู่ในมือก็ได้
แล้วถ้าวิธีนี้ไม่เวิร์คสำหรับเรา ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลย เพราะว่าอย่างน้อยเราก็ได้ของเจ๋งๆ ที่เราสรรค์สร้างขึ้นมาเองอยู่ในมืออยู่ดี ขอขอบคุณ :-
creator : ทัศนา พุทธประสาท | 3 เม.ย. 68
Thairath Plus › Everyday Life › Live & Learn › Lifestyle
URL :
https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/105327อ้างอิง : researchgate.net, journals.sagepub.com, aarp.org, nytimes.com, psychologytoday.com