บทความ ยุคอารยะ : ตอนที่ 1 คำถามจากโลกของทุนนิยม
ข้าพเจ้าเริ่มต้นเขียนบทความนี้ในวันที่ 2 เมษายน 2554 ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของภาคใต้ประเทศไทยเรา กำลังวิกฤตหนัก จากภาพข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์หลายสำนัก แสดงให้เห็นถึงมหันตภัยใหญ่ที่ธรรมชาติกำลังลงโทษมนุษย์ในแบบที่เราไม่เคย คาดคิดมาก่อนว่าจะมากมายถึงขนาด จมหมดไม่เหลือทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ไม่ เพียงในประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญปัญหาสำคัญของโลก แต่ทุกประเทศทั่วโลกก็เป็นแบบเดียวกันนี้ ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคม 2554 เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองไครเชิร์ส ประเทศนิวซีแลนด์ ถัดมาไม่กี่วัน ธรณีพิโรธที่ญี่ปุ่นก็สร้างความเสียหายมหาศาลตามมาแบบไม่ให้ทันตั้งตัว
อีกทั้งคลื่นยักษ์สึนามิที่เข้าทำลายล้างชุมชนชาวญี่ปุ่นถึง 4 จังหวัด คนตายนับหมื่น หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัด โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ทั่วญี่ปุ่นก็เสียหายจนเกิดรังสรั่วไหลออกมาสร้าง ความเดือดร้อนให้ผู้คนหนักมากเข้าไปอีกจาก นั้นไม่เท่าไร เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พม่าซึ่งหลายๆปีจะมีสักหน ก็เขย่าขวัญคนไทยให้ตกใจอีกครั้ง คราวนี้ใกล้ตัวเข้ามาทุกที และพม่าเองก็มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไปไม่น้อย เหยียบเข้าเดือนเมษายน 2554 แล้วจากนั้นก็ถึงคิวประเทศไทยที่รักของเรา ถูกกระหน่ำจากลมพายุที่มาราธอนอยู่หลายวันจนเกิดน้ำป่าไหลหลาก สะสมจากยอดเขาสูงลงสู่เมืองเบื้องล่างทั้งหมด ซ้ำมาไม่มาเปล่า หอบเอาดินโคลนและก้อนหินบนภูเขาลงมาถมทับหมู่บ้านที่ขวางทางแทบไม่เหลือเค้า เดิมให้เห็นโลกเรากำลังป่วยหนักอยู่หรือ ? นี่คือคำถามที่พวกเราทุกคนกำลังคิดตรงกันอยู่
ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปี 2537 ในตอนที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กสาวจากบ้านนอก แบกเอาความหวังความฝันเข้ามาในเมืองใหญ่ ทุกอย่างช่างดูสดสวยในวัย 17 ปี ยังอ่อนต่อโลกและไม่เดียงสาอะไรนัก เรามีความคิดเหมือนๆกับเด็กบ้านนอกฐานะไม่ดีทั่วไปที่ว่า กรุงเทพฯมีโอกาส มีอนาคตที่จะทำให้ความฝันของเราเป็นจริงได้ ในแบบที่เราเคยได้รับการปลูกฝังมาจากโฆษณาและละครทีวีบ้านเราทุกเช้าเย็นแต่เมื่อมาถึงเข้าจริงๆ เมืองหลวงกลับไม่ได้สวยหรูเหมือนที่เคยวาดฝัน ที่อาจจะดีและมีทุกอย่าง แต่ก็มีทุกอย่างไว้สำหรับเหล่าชนชั้นกลางไปถึงเศรษฐีมหาเศรษฐี ที่สามารถใช้ชีวิตแบบพรีเมี่ยม ส่วนคนที่แบกฝันมาจากบ้านนอกก็มีที่ทางให้อยู่ในส่วนของผู้ให้บริการ ลูกจ้าง ชนชั้นแรงงานราคาถูก ที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในเมืองใหญ่ค่าครองชีพสูง แบบนี้จริงๆ
เมื่อเรียนจบออกสู่ตลาดงาน เป็นสาวออฟฟิศซึ่งดูดีขึ้นมาหน่อย เราก็ได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของคนเมืองที่ต้องดิ้นรน เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น ฝ่าฟันรถติดมหาวินาศทุกๆวัน มาถึงที่ทำงานก็มีแต่ความเคร่งเครียดกดดัน การแก่งแย่งแข่งขัน หามิตรแท้ได้ยากสักหน่อยเพราะตลอดเวลามีแต่คำถามว่า จะสามารถเอาตัวรอดให้ถึงสิ้นเดือนได้อย่างไร หลายๆคนในเมืองหลวงจึงถูกลากจูงไปด้วยเหตุผลแบบเดียวกันแทบจะเป็นแพทเทิร์น คือ ประคองตัวให้ถึงสิ้นเดือนได้อย่างไร? หากรายได้ดีขึ้นมาหน่อย ก็มีเงื่อนไขประเภท ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ จะหาให้พอได้อย่างไร?
ยิ่งนานวัน ความฝันที่เคยมียิ่งมอดไหม้ลง และวิถีชีวิตที่ถูกตีกรอบไว้ด้วยค่าครองชีพและเงินเดือน ยิ่งแสดงความขัดแย้งกับสิ่งที่ต้องการลึกๆภายในจิตใจอย่างเห็นได้ชัด ทำไมเราต้องมีบ้าน มีรถ แค่นี้หรือที่มนุษย์เราต้องการ เมื่อเจ้านายพยายามใส่ข้อมูลในแบบทุนนิยมเข้ามาในสมองของพนักงานในบริษัทฯ ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกระอาเบื่อหน่ายและโหยหาความหมายและสาระสำคัญของชีวิตมากขึ้นไปอีก นี่น่ะหรือ ที่ทุกๆคนต้องมี ต้องได้ บ้าน กับรถ ที่ผ่อนเกือบจะชั่วชีวิต และมีชีวิตให้ผ่านแต่ละเดือนไปด้วยความเคร่งเครียดและยากลำบากเพียงเพื่อจะ ขึ้นชื่อว่า ประสบความสำเร็จ มีบ้าน มีรถ นี่เราอุตส่าห์ร่ำเรียนมาแทบเป็นแทบตายก็เพื่อการมีบ้านมีรถ แค่นี้จริงๆหรือ?
หลายๆคนที่ข้าพเจ้าเคยได้คุยกัน ต่างคิดตรงกันเรื่องนี้ว่า ทำไมคนเราทุกวันนี้ต้องดิ้นรนกันมากมายขนาดนั้น มันคือความจริงของชีวิตจริงๆหรือเปล่า โลกนี้ยังมีที่ว่างสำหรับคนที่ไม่ต้องการผ่อนบ้านผ่อนรถหรือไม่ กอรปกับพี่ๆน้องๆหลายคนรวมถึงตัวข้าพเจ้าเอง เคยพลาดพลั้งเป็นเหยื่อบัตรเครดิตหลายใบ มีชีวิตกับหนี้สินจำนวนมากทุกๆเดือนจนไม่พอใช้จ่าย เราใช้เวลาเคลียร์หนี้สินเหล่านี้เป็นเวลาหลายปีจึงจะหลุดพ้น เป็นบทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับโลกทุนนิยมที่ไม่ใช่ของจริงมากเข้าไปอีกนึกย้อนไปตอนนั้นเป็นหลายปี ข้าพเจ้านับเป็นหญิงเก่งที่ทำงานแข่งกับผู้ชายได้สบายๆ แต่ชีวิตกลับมีแต่ความกดดันมหาศาล จากการใช้ชีวิตสำเร็จรูปตามแบบฉบับคนเมือง บัตรเครดิตหลายใบ อยากซื้อ อยากได้อะไร ก็ผ่อนเอา จนทำให้ค่าใช้จ่ายไม่พอ เครียดและกดดันหาทางออกไม่ได้ ต่างจากในตอนนี้ เป็นแม่บ้านธรรมดาๆ ที่รักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญให้ทานอยู่ตลอดเวลา อาราธนาศีล 5 ทุกเช้า ไม่เห็นต้องเก่งอะไรตรงไหน
แต่ชีวิตกลับมีความสุขสบาย มีกินมีใช้ ไม่ต้องขวนขวายมาก ไม่ต้องลำบากก็มีข้าวของเงินทองเหลือเฟือ เหลือพอที่จะแบ่งคนอื่นได้อีกด้วย นั่นยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้นไปอีกว่า วิถีชีวิตของพวกเราทั้งหลายที่ถูกสั่งสอนกันมาว่า ให้แข่งกันเรียน แข่งกันทำงาน หาแฟน มีลูก ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วก็ตายตามๆกันไปนั้น มันเป็นของจริงแล้วหรือ ? หรือว่าจริงๆแล้วพวกเรากำลังถูกหลอก ?ข้าพเจ้าเองในฐานะพุทธศาสนิกชนผู้สนใจธรรมะ เคยศึกษาถึงยุคสมัยที่หลายๆคนฝันใฝ่ว่าจะได้ไปเกิดในยุคนั้น คือยุคของพระศรีอาริยเมตไตร พระพุทธเจ้าองค์ต่อไปจากพระศรีศากยมุณีองค์ปัจจบุนของเรานี้ คำเล่าลือว่า คนในยุคนั้น ต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรมเท่านั้นจึงจะไปเกิดได้ เพราะยุคพระศรีฯนั้น เป็นยุคที่มีแต่ความสุขสบายทุกประการ
ผู้คนทั้งหลายที่ไม่สวยไม่งามไม่มีอยู่เลย คนอดอยากยากจนก็ไม่มี มีแต่คนร่ำรวย อยากกินอะไรก็ไม่ต้องหุงหาอาหาร เพียงแต่เปิดภาชนะตั้งไว้ ของกินก็มาปรากฏเองด้วยบุญฤทธิ์ แถมไม่ต้องเก็บล้างอีก คนยุคนั้นไม่ต้องทอผ้าใส่ เพราะอยากได้เครื่องนุ่งห่มใดก็ไปสอยเอาจากต้นกัลปพฤกษ์ ต้นไม้วิเศษที่ขึ้นอยู่ 4 มุมเมือง ผู้คนสมัยนั้นมีกิจที่ต้องทำก็คือ นั่งๆนอนๆฟังเพลงอย่างสบายใจเท่านั้น การต้องออกไปทำงานอย่างยากลำบากเหมือนในยุคนี้ไม่มีหลายคนอาจแย้งว่า ฟังดูเพ้อฝันสิ้นดี แน่นอนละ ถ้าเราอยู่ในยุคที่ต้องปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ ก็คงทำใจเชื่ออะไรแบบนี้ไม่ได้ แต่ก็แบบเดียวกัน หากเราไปเล่าให้คนยุคพระศรีฯฟังว่า คนสมัยพระศรีศากยะมุณี ต้องหุงหาอาหาร ต้องปลูกข้าวด้วยความยากลำบาก ต้องทำงานสารพัดเพียงเพื่อแลกค่าใช้จ่ายน้อยนิดให้พอประทังชีวิต ต้องทอผ้าใส่เองหรือไม่ก็ซื้อเอา คนในยุคพระศรีฯคงได้แต่เกาหัวแกรกๆ เพราะจินตนาการไม่ถึงเหมือนกัน ว่าคนเราต้องดิ้นรนลำบากกันขนาดนั้นจริงๆหรือ ?
ที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งสิ้น ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่รักได้ตั้งคำถามดังเช่นที่ข้าพเจ้าตั้ง ว่าโลกของทุนนิยมในปัจจุบันของเราทั้งหลายนี้ เป็นความจริงแล้วหรือไม่? เหตุใดที่ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกอย่าง แต่ผู้คนกลับยากจนลง เราได้เห็นคนอดอยากมากมายในหลายประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีเครื่องจักรที่ทันสมัยมากในการทอผ้า ใน 1 ชม. สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าได้เป็นร้อยๆตัว แต่ทำไมเรายังเห็นคนยากจนที่มีเสื้อใส่แค่ตัวเดียวเดินอยู่ตามข้างถนน ?
เรามีอุตสาหกรรมอาหารที่ทันสมัย สามารถผลิตข้าวปลาอาหารเลี้ยงคนได้เกือบทั้งโลก แต่ทำไมเรายังได้เห็นคนอดอยากคุ้ยหาขยะกินอยู่ ?เรามีระบบการเงินการธนาคารที่อัพเดตแบบเรียลไทม์ ซื้อขายทุกอย่างแบบล่วงหน้า แต่ก็ยังมีบางคนต้องขอทานเศษสตางค์อยู่ตามสะพานลอย ?
เรามีนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะออกมาปีหนึ่งๆหลายรุ่น แต่ทำไมประชากรอีกหลายล้านคนต้องแออัดยัดเยียดอยู่ในระบบการคมนาคมที่ล้าสมัย ?เรามีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายในชีวิต แต่ก็ยังมีคนอีกหลายล้านคนต้องทำงานขายแรงงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ?
และอีกสารพัดคำถามว่า ทำไม ทำไม ทำไม ? ทำไมเทคโนโลยีที่โฆษณาชวนเชื่อกรอกหูกรอกตาเราทุกวันนี้ ไม่ได้ช่วยให้คนจำนวนมากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับเป็นตรงกันข้ามที่ไปเพิ่มพูนเงินในกระเป๋าของคนบางกลุ่มแค่หยิบมือ เดียวในโลก ให้ร่ำรวยชนิดใช้อีกกี่พันชาติก็มีวันหมด เว้นเสียแต่ว่า ทั้งบ้าน ทั้งรถ ที่พวกเราๆท่านๆอดทนมุมานะหาเงินผ่อน และอุปกรณ์ไฮเทคราคาแพงที่เราหาเงินซื้อมา เป็นเพียงเครื่องมือผลิตความมั่งคั่งร่ำรวยให้คนแค่บางกลุ่มในโลกนี้ โดยผ่านโฆษณาชวนเชื่อที่มอมเมากรอกหูพวกเรามาตั้งแต่เด็กๆว่า คุณต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน แต่งงาน มีบ้าน มีรถ มีของไฮเทคทุกอย่าง แล้วชีวิตจะประสบความสำเร็จ ด้วยระบบสินเชื่อของเราจะช่วยให้ฝันคุณเป็นจริงได้ !
นั่นมันก็ไม่ต่างจากหนูตะเภาที่ตั้งหน้าตั้งตาถีบจักรอย่างเหนื่อยยากลำบากทั้งวัน เพียงเพื่อแลกกับถั่วไม่กี่เมล็ดก่อนที่มันจะตายไปคำถามนี้กระตุ้นเตือนข้าพเจ้า เมื่อได้พบกับหญิงชราขอทานเนื้อตัวมอมแมมเหม็นหึ่ง ในร้านเซเว่นอีเลเว่นตอนห้าทุ่มกว่าๆของวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หญิงชราขอทานเข้ามาในร้านในตอนดึกที่ไม่ค่อยมีคน เธอคงคำณวนแล้วว่าเป็นเวลาที่คนน้อยที่สุดจึงรีบเดินเข้ามาแล้วตรงปรี่ไปยัง ชั้นวางบะหมี่กระป๋อง ท่ามกลางสายตาของพนักงานร้านที่จับจ้องด้วยความไม่ไว้วางใจ
ข้าพเจ้าแอบมองดูเธออยู่ห่างๆ เห็นเธอหยิบบะหมี่กระป๋อง 2 ยี่ห้อขึ้นมาพิจารณาอยู่นาน ก็ไม่ตัดสินใจเลือกสักที ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเธอคงมีเงินไม่พอแน่ๆ ไม่เช่นนั้นไม่ยืนอยู่นานขนาดนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจหยิบตะกร้าแล้วเดินเข้าไปยืนให้กับหญิงชราแล้วบอกกับเธอว่า“ คุณป้าอยากได้อะไรก็หยิบเอาเถอะค่ะ เดี๋ยวหนูจ่ายเอง”
ด้วยความงุนงงระคนกับดีใจ ดวงตาแห้งๆของเธอฉายประกายขึ้นมาโดยพลัน เธอรับเอาตะกร้าไปถือ แล้วหยิบเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใส่ลงไปแค่ 3 ห่อ แล้วยื่นให้ข้าพเจ้า เธอคงไม่อยากรบกวนมากไปกว่านี้ แต่ข้าพเจ้ายิ้มและบอกเธอว่า“แค่นี้เองหรือคะ ที่บ้านคุณป้ามีกี่คน”
“ 3 คนจ้ะ” หญิงชราตอบ ข้าพเจ้าจึงรับเอาตะกร้าใบนั้นมาถือไว้เองแล้วบอกกับเธอว่า
“ถ้างั้นหนูจะเลือกซื้อของกินของใช้ให้ละกันนะคะ”
จากนั้น การช๊อปปิ้งที่สนุกและมีความสุขที่สุดของข้าพเจ้าและหญิงชราคนนั้นก็เริ่ม ขึ้นโดยมีสายตาพนักงานร้านติดตามดูด้วยความสนใจ เราเดินไปที่ชั้นวางของใช้พวกแชมพูสบู่ยาสีฟัน และหยิบทุกอย่างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตลงไปในนั้นเหมือนไม่แคร์ว่า แต่ละอย่างมีมูลค่าแปะอยู่เท่าไรโปรดติดตามตอนต่อไป
ที่มา http://www.naksompra.com/index.php?mo=3&art=606528
ขอขอบคุณ http://board.palungjit.com/f6/บทความ-ยุคอารยะ-โดย-มนสิชา-พงศตานนท์-285999.html