การระงับเวร
อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อชินิ มํ อหาสิ เม
เย เจ ตํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ
อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อชินิ มํ อหาสิ เม
เย จ ตํ นูปนยฺหนฺติ เวรํ เตสูปสมฺติ
คำแปล
บุคคล ใด ผูกเวรว่า ผู้นี้ได้ด่าเรา
ได้ตีเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของเรา
เวรของผู้นั้น ย่อมไม่ระงับลงได้
ส่วนบุคคลใด มิได้ผูกเวรไว้เช่นนั้น
เวรของผู้นั้นย่อมระงับลงได้
อธิบายความ คำว่าผูกเวร ในความหมายทางศาสนา หมายถึงการผูกใจเจ็บหรือพยาบาทนั่นเอง
บุคคล ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกยิ่งนานเท่าใด ก็ยิ่งถูกมรสุมแห่งชีวิตมากเท่านั้น มรสุมดังกล่าวนี้เช่น มีคนด่าเสียดสีบ้าง มีคนมาทุบตีประหัตประหารบ้าง ในการแข่งขันในเกมชีวิต เขาชนะเราบ้าง และเราอาจถูกลักถูกขโมยของอันเป็นที่รักบ้าง
เมื่อ ถูกกระทำเช่นนี้ ใครผูกเวร ผูกพยาบาท ก็ต้องจองเวรกันอยู่เรื่อยไป มีการกระทำและกระทำตอบอยู่เสมอไม่สิ้นสุดลงได้ บางทีหลายชั่วอายุคน จองเวรกันอยู่หลายชาติก็มี
ส่วนบุคคลผู้พิจารณาเห็นโทษของการจองเวร ไม่ผูกเวรใครผิดพลาดต่อตนก็ให้อภัยเสีย ประกอบด้วยขันติและเมตตา มีอุดมคติ ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นทางดำเนินชีวิต และถือว่าบุคคลประกอบกรรมอันใด ย่อมจะได้รับผลแห่งกรรมอันนั้นด้วยตนเอง พยายามคุ้มครองรักษาตนให้บริสุทธิ์อยู่ด้วยใจอันมั่นคง บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่มีเวร เมื่อไม่มีเวร ภัยจักมีจากไหน
แนว คิดอย่างนี้ มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่ จงดูตัวอย่างเรื่องพระจักขุบาลในเรื่องที่หนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว ท่านมีเวรในอดีตด้วยการประกอบยา ทำให้หญิงคนหนึ่งตาบอด มาในชาติสุดท้าย ท่านจึงมีภัย คือการตาบอดในขณะทำความเพียร อาจมีคนคัดค้านว่า ท่านตาบอดเพราะทำความเพียรโดยไม่นอนต่างหาก หาใช่เพราะกรรมเก่าแต่ประการใดไม่ ถามว่าก็อะไรเล่าชักนำ หรือดลบันดาลใจให้ท่านเห็นดีเห็นงามในการประพฤติเช่นนั้น มิใช่แรงบันดาลแห่งกรรมเก่าดอกหรือ? แรงกรรมมีอำนาจเหนือสติปัญญา สมดังที่พระศาสดาตรัสว่า "นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ" ไม่มีกำลังใดเสมอด้วยกำลังแห่งกรรม" ถ้าสติปัญญามีอำนาจเหนือแรงกรรมแล้ว จะมีนักปราชญ์ หรือบัณฑิตใดเล่า จะต้องตกอับ หรือผิดพลาดในชีวิต
ดังนั้น บัณฑิตจึงไม่ควรก่อเวร ไม่ควรผูกเวร เพื่อจักได้ระงับเวรทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เรื่องประกอบ พระติสสะ


พระ ติสสะ เกี่ยวข้องเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าคือเป็นพระโอรสแห่งพระปิตุฉาของพระ ศาสดา จึงนับเนื่องเป็นเจ้าชายพระองค์หนึ่งแห่งศากยวงศ์ พระติสสะ บวชเมื่อแก่แล้ว ปรากฏว่าเป็นคนมีลาภสักการะมากผู้หนึ่ง ชอบห่มจีวรสีสวย รีดเรียบ และนั่งวางภูมิอยู่ที่โรงฉันซึ่งมีเสนาสนะสงฆ์ล้อมรอบ
วันหนึ่งภิกษุ อาคันตุกะหลายรูป มาเฝ้าพระศาสดาผ่านมาเห็นพระติสสะ นั่งภูมิฐานอยู่ เข้าใจว่าเป็นพระเถระ จึงเข้าไปทำความเคารพ
พระติสสะ ทำเฉยไม่แสดงความเคารพตอบพระผู้ใหญ่ ไม่รู้จักประมาณตน มิได้กระทำสิ่งที่ควร เช่น สามีจิกรรม (การแสดงความเคารถอันควรแก่ฐานะ) เป็น ต้น จึงถูกพระอาคันตุกะตำหนิพระติสสะก็เกิดขัตติยมานะขึ้น ถือตนว่าเป็นพระญาติของพระศาสดา พระศาสดาตรัสตำหนิพระติสสะนานาประการที่ไม่ได้กระทำกิจอันควรแก่อาคันตุกะ เช่น มิได้ลุกขึ้นต้องรับ มิได้ถามถึงการรับบริขาร มิได้ถามถึงธรรมเนียม, ความต้องการน้ำดื่ม ไม่นำอาสนะมาให้ มิได้ถามโดยเอื้อถึงการนวดมือนวดเท้า เป็นต้น
แล แล้ว พระพุทธองค์รับสั่งให้พระติสสะขอโทษพระอาคันตุกะเหล่านั้นเสีย แต่พระติสสะไม่ยอมทำ อ้างว่าพระเหล่านั้นด่าท่านก่อน พระพุทธองค์ตรัสว่า "ติสสะ! โทษของเธอมีอยู่ จงขอโทษพระเหล่านี้เสีย" ถึงกระนั้นพระติสสะก็หายอมไม่ พระทั้งหลายจึงทูลว่าพระติสสะหัวดื้อ ว่ายากสอนยาก
พระ พุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! พระติสสะจะเป็นผู้ว่ายากสอนยากแต่ในบัดนี้ก็หาไม่ แม้ในชาติก่อนก็เคยเป็นผู้ว่ายากสอนยากมาแล้วเหมือนกัน"
เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลขอร้องให้เล่าเรื่องในอดีต พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า
ใน อดีตกาล มีดาบสรูปหนึ่ง ชื่อเทวละ อยู่ในเขตหิมวันตประเทศ 8 เดือนแล้ว เข้ามาสู่เมืองพาราณสีต้องการพักอยู่สัก 4 เดือน เพื่อได้ลิ้มรสเปรี้ยวและเค็มบ้าง มาขอพักอาศัยอยู่ ณ โรงทำหม้อของช่างหม้อคนหนึ่ง
ในเย็นวันเดียวกันนั้นมีดาบสอีกรูปหนึ่ง ชื่อนารทะมาจากหิมวันตประเทศเหมือนกัน และมาขอพักที่โรงทำหม้อของช่างหม้อคนเดียวกัน
"ท่านผู้มีอายุ!" นารทะกล่าว "ถ้าไม่เป็นการหนักใจ ข้าพเจ้าขอพักในโรงทำหม้อของท่านสักคืนหนึ่งเถิด"
ช่าง หม้อต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ จึงกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ! ในโรงทำหม้อของข้าพเจ้ามีดาบสท่านหนึ่งมาพักอยู่แล้ว ก่อนหน้าท่านเพียงเล็กน้อย หากท่านตกลงกับดาบสนั้นได้ก็เชิญท่านตามสบายเถิด"
นารทะจึงทำความตกลงกับเทวละๆ ยินยอม บอกว่าท่านเลือกนอนเอาได้ตามปรารถนา
เมื่อ ถึงเวลานอน นารทะได้กำหนดไว้แล้วว่า เทวละนอนตรงนั้นๆ เพื่อตนออกไปธุระเวลากลางคืนจักได้ไม่กระทบกระทั่งกัน แต่พอเวลานอนจริง เทวละกลับไปนอนขวางประตูเสีย
ตอน ดึก นารทะออกไป จึงเหยียบเอาชฎา และก้านคอเทวละโกรธมาก แม้นารทะพยายามขอโทษเท่าไรก็ไม่ยอม กล่าวคำสาปว่า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาให้ศีรษะของนารทะแตกเป็น 7 เสี่ยง
ฝ่ายนารทะก็กล่าวบ้างว่า ใครมีความผิดขอให้ศีรษะของผู้นั้น แตกเป็น 7 เสี่ยง
ก็ นารทะนั้นเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมา ระลึกชาติและเหตุการณ์ได้ถึง 80 กัปป์ คือในอดีต 40 กัปป์ ในอนาคต 40 กัปป์ จึงลองใคร่ครวญดูว่า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมา ศีรษะของใครจักแตก ได้รู้ว่า ศีรษะของเทวละจักแตก เกิดจิตเมตตา จึงใช้อานุภาพของตนห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้น
เมื่อ พระอาทิตย์ไม่ขึ้น กลางคืนนานเกินไป ประชาชนก็เดือดร้อน จึงพากันเฝ้าพระราชา ขอให้ทำให้พระอาทิตย์ขึ้น พระราชาทรงสำรวจพระจริยาวัตรทั้งปวงของพระองค์ ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไรๆ ทรงเฉลียวพระทัยถึงการวิวาทของพวกนักพรตว่าอาจมีในนครของพระองค์ จึงตรัสถามประชาชน, ทรงทราบว่า เมื่อวานนี้มีนักพรตประเภทดาบสสองท่านมาพักที่บ้านช่างหม้อใกล้เมือง
พระ ราชาทรงแน่พระทัยว่า การที่พระอาทิตย์ไม่ขึ้นครั้งนี้ คงเนื่องมาจากการทะเลาะของดาบสทั้งสองเป็นแน่นอน จึงเสด็จไปพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนเป็นอันมาก ได้ทรงทราบเรื่องทั้งปวงจากเทวละดาบส ตรัสถามว่าทำอย่างไรเทวละจึงจะพ้นอันตราย นารทะดาบสถวายพระพรว่า ต้องให้เทวละขอโทษท่าน เมื่อท่านคลายฤทธิ์ พระอาทิตย์ขึ้นมา เทวละก็จะปลอดภัย พระราชาทรงขอร้องให้เทวละดาบสขอโทษ แต่เทวละไม่ยอม พระราชาจึงรับสั่งให้จับเทวละดาบสแล้วให้หมอบลงแทบเท้าของนารทะ
นา รทะทูลว่า การขอโทษดังนี้ เทวละมิได้ทำด้วยความเต็มใจ หาพ้นโทษไม่ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาศีรษะจะต้องแตกเป็น 7 เสี่ยง นารทะจึงออกอุบายให้นำเทวละลงไปแช่ในสระน้ำให้เอาดินเหนียวพอกศีรษะไว้ พอท่านคลายฤทธิ์ ให้เทวละดำไปผุดที่อื่นเสีย
เทวละดาบสได้ทำดังนั้น นารทะคลายฤทธิ์ พระอาทิตย์ขึ้นมา เทวละดำน้ำลงไปผุดในที่อีกแห่งหนึ่ง ส่วนดินเหนียวได้แตกเป็น 7 เสี่ยง
พระศาสดาตรัสประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้นคือ พระอานนท์ เทวละดาบสเป็นพระติสสะหัวดื้อ ส่วนนารทะดาบส คือพระองค์เอง
แลแล้วได้ตรัสกับพระติสสะว่า
"ดู ก่อนติสสะ! เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า ผู้โน้นฆ่าเรา ประหารเรา ชนะเรา ลักสิ่งของๆ เรา เวรของผู้นั้นย่อมไม่ระงับลงได้ ส่วนผู้ใดไม่คิดดังนั้นเวรของเขาย่อมระงับลง"
(โดยอาจารย์ วศิน อินทสระ)http://www.oknation.net/blog/diamond/2009/07/04/entry-1