นางสิริมา"หญิงโสเภณีผู้บรรลุโสดาบัน"
๐ กำเนิดนางสิริมา ในสมัยพุทธกาล มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่าเวสาฬี เป็นเมืองที่มั่งคั่งกว้างใหญ่ไพศาล มีประชาชนมากมาย เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร การค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีพ่อค้าต่างเมืองเดินทางมาติดต่อค้าขายอย่างคับคั่ง และหนึ่งในความเสื่อม แต่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองคือ มีหญิงงามเมืองที่มีความงดงาม ชื่อว่า อัมพปาลี
(คือเธอมีความงามมาก สมัยนี้เรียกว่านางงาม สมัยนั้นเรียกว่างามเมือง)
นางเป็นสตรีผู้เลอโฉม มีผิวพรรณผุดผ่องเฉิดฉายยิ่งนัก น่าดู น่าพอใจ และนางยังเป็นผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมซึ่งประกอบไปด้วย การฟ้อนรำ และการขับร้อง ซึ่งหาผู้ใดเปรียบเทียบได้ยาก บุคคลทั้งหลายที่มีความต้องการพานางไปร่วมอภิรมย์ด้วย จะต้องจ่ายค่าตัวคืนละห้าสิบกหาปณะ ครั้งหนึ่งพวกพ่อค้าชาวกรุงราชคฤห์ได้ไปทำธุรกิจที่เมืองเวสาฬี ก็คิดว่าเมืองเวสาฬีนี้รุ่งเรืองงดงามเพราะมีนางอัมพปาลีเป็นหญิงงามเมือง
(คือพ่อค้าก็มักจะคิดไปแบบนี้ ซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ค่อยถูกต้องอะไรเท่าไหร่ คือมองเห็นเม็ดเงิน และมองเห็นความเพลิดเพลิน คือผู้ที่ข้องอยู่ในกาม ที่นี่คือกามภพ ที่อยู่ของผู้ที่ข้องอยู่ ก็มีความคิดที่แปรปรวนกันไปอย่างนี้ จากเมืองราชคฤห์มาเห็นเมืองเวสาฬี)
เพราะมีนางอัมพปาลีนี่แหละที่เวสาฬี พ่อค้าจึงเข้าใจว่าจึงทำให้มีคนต่างเมืองหลั่งไหลกันเข้ามามากมาย เพราะได้ยินกิตติศัพท์ของนางอัมพปาลี ทำให้ธุรกิจการค้าทางด้านอื่นๆ เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย (คือเข้าใจว่าเธอเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดเอานักธุรกิจต่างเมืองเข้ามา ก็ทำให้มีการค้าขายกันเกิดขึ้นจนเจริญรุ่งเรือง แต่ที่จริงมันเป็นคนละเรื่อง มันเป็นกรรมของเธอต่างหาก แต่นี่คือความเข้าใจ คือพวกที่มุ่งแต่เศรษฐกิจ แต่ไม่คิดเรื่องจิตใจก็จะคิดกันอย่างนี้)
พ่อค้ากลุ่มนั้นจึงพากันเข้ามากราบถวายบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารถึงอานุภาพ ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเวสาฬีให้ทราบว่าเวสาฬีนี้เจริญรุ่งเรืองมาก แล้วกราบถวายบังคมว่า
“เมืองเวสาฬีมีนางอัมพปาลี เมืองราชคฤห์ของเราควรจะมีหญิงงามเมืองอย่างเธอบ้าง”
(พระเจ้าพิมพิสารตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต และพวกนักธุรกิจก็พยายามมากระทุ้งกันอยู่เรื่อยๆ มีทั้งมหาอำมาตย์ เสนาบดี นักธุรกิจ ก็อ้างเหตุผลกันต่างๆ นาๆ ท่านก็ไม่อยากขัดใจ จึงตรัสอนุญาต ตามสะดวก) ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จงไปดูว่ากุมารีคนไหนที่มีลักษณะงดงาม และมีคุณสมบัติเช่นนั้น แล้วตั้งให้นางเป็นหญิงงามเมืองเถิด
(เพราะฉะนั้นคนสวยๆ สมัยนั้นยุ่งเลย ต้องไปเป็นอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวทะเลาะกัน เอามาเป็นของกลางซะ ใครจะใช้บริการก็จ่ายเงินซะ ส่วนหนึ่งเป็นของเธอ อีกส่วนหนึ่งเข้ารัฐ ถนนหนทางที่เดินอาจจะได้มาจากภาษี) ในขณะนั้นในเมืองราชคฤห์มีกุมารีคนหนึ่งชื่อ สารวดี นางเป็นหญิงผู้เลอโฉมสะคราญตา น่าเสน่หา ทั้งเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก
พวกพ่อค้าชาวกรุงราชคฤห์เหล่านั้น จึงได้ตั้งนางสารวดีกุมารีเป็นหญิงงามเมืองกลางกรุงราชคฤห์
(คงจะไปตกลงต่อรองอะไรกัน แล้วก็จูงใจ คงไม่ได้บังคับหรอก ว่างานนี้มันง่าย ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร แค่สวยๆ ร้องรำทำเพลงให้เพราะๆ บริการ แล้วเธอจะได้เงินมาก นางก็ตกลง เพราะวิบากกรรมของเธอนั่นแหละทำให้เธอดูแต่ ได้ อย่างเดียว แต่ไม่ได้ดู เสีย) เมื่อนางสารวดีได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว นางจึงฝึกฝนการฟ้อนรำขับร้อง ดีด สี ตี เป่า จนมีความชำนาญ ทำให้นางมีค่าตัวคืนละหนึ่งร้อยกหาปณะ
นางสารวดีประกอบอาชีพเป็นหญิงงามเมืองได้ไม่นานก็เกิดความประมาท ขาดการระมัดระวังตัว จึงตั้งครรภ์
นางสารวดีได้ปกปิดเรื่องการตั้งครรภ์ของเธอไว้ได้จนถึงกำหนดคลอด ในวันคลอด ทันทีที่นางทราบว่า บุตรที่คลอดออกมาเป็นชาย นางก็ตัดสินใจที่จะให้คนนำบุตรของนางไปทิ้งเสียแต่วันนั้น เพราะมีความคิดเห็นว่าบุตรชายไม่สามารถสืบทอดอาชีพโสเภณีได้ (คิดเพียงสั้นๆ แค่นี้ คิดสั้นตั้งแต่มาเป็นโสเภณีเพราะเห็นแก่เม็ดเงิน พอพลาดมีเด็กขึ้นมา ก็คิดสั้นๆ ว่าเป็นลูกชาย เป็นโสเภณีต่อสืบทอดไม่ได้)
นางได้สั่งให้สาวใช้คนสนิท (แสดงว่ารวยมาก จนกระทั่งมีสาวใช้) นำลูกชายของตนใส่ในกระด้งเก่าๆ นำไปทิ้งที่กองขยะ กำชับให้ระวังไม่ให้ใครรู้เห็น สาวใช้ก็ทำตามคำสั่งทุกประการ เวลาที่นำทารกไปทิ้งนั้นก็เป็นเวลากลางดึก ในเช้าวันนั้นเอง เจ้าชายอภัย พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร กำลังเสด็จเข้าเฝ้าพระราชบิดา ได้เสด็จผ่านมาทางนั้น ได้เห็นฝูงการุมล้อมเด็กนั้นอยู่ จึงได้ตรัสถามมหาดเล็กว่า
“ฝูงการุมล้อมอะไร”
มหาดเล็กจึงรีบเข้าไปดู เห็นทารกเพศชายอยู่ในกระด้ง จึงถือกลับมาแล้วกราบทูลให้ทรงทราบว่า “ฝูงกากำลังรุมล้อมทารกเพศชายอยู่พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยจึงถามมหาดเล็กว่า
“ทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า”
มหาดเล็กจึงกราบทูลว่า
“ทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยเมื่อทราบว่าทารกยังมีชีวิต จึงรับสั่งให้นำทารกกลับไปที่วังของตน แล้วนำให้แม่นมเลี้ยงดูอย่างดี
(มีทั้งบุญทั้งกรรม กรรมไปเกิดเป็นลูกโสเภณี แต่บุญเจ้าชายเอาไปเลี้ยง มันต้องแยกกัน ชนกกรรมนำมาเกิดเป็นลูกโสเภณี แต่บุญบันดาลให้เจ้าชายเอาไปเลี้ยง บุญปาบมันอยู่ในตัวนั่นแหละ) ต่อมาภายหลัง ทารกนั้นเมื่อเจริญเติบโตแล้ว ได้ศึกษาวิชาแพทย์จนเชี่ยวชาญ และก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์หลวงประจำสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร นามว่าชีวกโกมารภัจ แปลว่า กุมารที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงไว้
ต่อมาภายหลังนางสารวดีก็ได้ตั้งครรภ์อีก แต่ได้คลอดออกมาเป็นธิดา เธอก็ดีใจสุดขีด นางจึงได้เลี้ยงเอาไว้สืบทอดตระกูลหญิงงามเมืองของตน (กลัวตระกูลเธอหายไป) แล้วตั้งชื่อลูกหญิงของตนว่า สิริมา แปลว่า นางผู้มีสิริ นางสิริมาเมื่อเติบโตขึ้นมา ก็ได้เป็นหญิงมีรูปงามมาก เป็นที่ปรารถนาของชายหนุ่มทั้งหลาย จึงได้รับตำแหน่งสืบทอดกิจการจากนางสารวดีผู้เป็นมารดาของเธอ (หนุ่มๆ ก็มาเมียงมองเธอกันอย่างนี้ เธองาม..)
เธอต้องคอยรับแขกที่มีทรัพย์ประเภทตระกูลกษัตริย์ เศรษฐี หรือพวกอำมาตย์ โดยมีค่าบริการวันละหนึ่งพันกหาปณะ
(เพราะเธอยังเป็นเด็กสาวอยู่ และก็แม่ก็ถ่ายทอดวิทยายุทธให้ แล้วปลูกฝังว่า ลูกสิริมา ลูกจำไว้ ลูกอย่าเอาหัวใจมอบให้ชายหนุ่มใดๆ ทั้งสิ้น ลูกจงคิดแต่เงิน เงิน เงิน อย่างเดียวเท่านั้น และลูกพยายามทำตัวให้น่ารัก พูดจาหวานๆ ไม่ขัดคอ ยอตะบัน รับรองพันกหาปณะเนี่ยจะได้บ่อยๆ และจะได้ทิปต่างๆ อีกเยอะแยะ ก็สอนวิทยายุทธวิธีเอาอกเอาใจ ตั้งแต่ถอดรองเท้า ถอดถุงเท้า อะไรเรื่อยไปเลย) ภิกษุรูปนั้นได้ฟังเพื่อนเล่าดังนี้ ก็กระหายใคร่จะได้เห็นนางสิริมาบ้าง จึงถามถึงลำดับของตนว่าจะได้ไปเมื่อใด ก็ทราบว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นลำดับของตนดีใจมาก