ยักษ์วัดแจ้ง กับ ยักษ์วัดโพธิ์
ยักษ์วัดแจ้ง
วัดแจ้ง หรือปัจจุบันเรียก วัดอรุณราชวราราม มีพญายักษ์ยืนอยู่ ๒ ตน มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่น ยักษ์สีขาวชื่อ สหัสเดชะ ยักษ์สีเขียวชื่อทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายรูปลักษณะและเครื่องแต่งตัว สร้างแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัศว่าเป็นฝีมือปั้นของหลวงเทพรจนา (กัน) เฝ้าอยู่หน้าซุ้มประตูยอดมงกุฏ
วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาพูดว่า วัดแจ้ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก
ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามใน พ.ศ. 2327ที่มา วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยักษ์วัดโพธิ์
ยักษ์วัดโพธิ์นั้น ตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป ยักษ์กายสีแดง มีนามว่า พญาสัทธาสูร และยักษ์กายสีเขียว นามว่า พญาขร ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนแรกผมก็เข้าใจว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีน หรือ ลั่นถัน เป็นยักษ์วัดโพธิ์ที่เขาว่ากัน จึงเอาความสงสัยไปหาข้อมูลได้ความมาตานนั้น ยักษ์วัดโพธิ์สองตนจะมีรูปร่างเล็กกว่ายักษ์วัดแจ้งมาก
แต่ดูจากชื่อเสียงเรียงนามของยักษ์วัดแจ้งแล้ว ก็คงพอจะเข้าใจ เพราะเป็นยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นยักษ์ที่เอ่ยถึงบ่อย หมายความว่าเป็นดารานำของเรื่องเลยทีเดียว ทั้งยักษ์ สหัสเดชะ (อาจออกมาบางบท) ยักษ์สีเขียวชื่อทศกัณฐ์ (บทดาวร้ายนำของเรื่อง)
เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า สหัสเดชะ เป็นหนึ่งในยักษ์ทวารบาลสองตน ที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่กับทศกัณฐ์ เพราะถือว่าเป็น ยักษ์ที่มีฤทธิ์มากดุจเดียวกับทศกัณฐ์ แต่ผมใคร่สงสัยและสันนิษฐานว่า ยักษ์สองตนคือ สหัสเดชะและทศกัณฐ์น่าจะอยู่ที่วัดแจ้งก่อน แล้วปั้นเพิ่มเติมที่วัดพระแก้วอีกแห่งหนึ่ง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลก ในทะเบียนนานาชาติ
วัดพระเชตุพนในประวัติการสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้าง เดิมเรียกว่า “วัดโพธาราม” หรือ “วัดโพธิ์” ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ใน พ.ศ. 2331
โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ?วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส? เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วิหารพระพุทธไสยาส สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงโปรดให้พระองค์เจ้าลดาวัลย์เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยได้สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารภายหลัง โดยมีขนาดเท่ากับพระอุโบสถ บริเวณผนังของวิหารนั้น ด้านบนมีภาพเขียนสีเรื่อง มหาวงศ์ และผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพสีเกี่ยวกับพระสาวิกาเอตทัคคะ 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 ท่านและอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 ท่าน
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ โดยลวดลายของมงคล 108 ประการนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีนที่มา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำเนิดท่าเตียน
ตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืนยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย
ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา
ตลาดท่าเตียนในปัจจุบัน มีท่าเรือข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ข้างๆ เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ชื่อ สวนสาธารณะนาคราภิรมย์ มองเห็นวิวฝั่งวัดอรุณฯ และแม่น้ำเจ้าพระยาได้ชัดเจนขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://news.trekaseen.com/?p=13067 (Post By Hot ice)